'คนทำงาน' ต้องเตรียมรับมือเมื่อ 'กยศ.' เอาจริงแล้ว


ปัญหาเรื่องการค้างชำระ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ยังคงเป็นปัญหาโลกแตก เมื่อทาง กยศ. ก็อยากให้ผู้ที่จบการศึกษาแล้วใช้คืน ส่วนผู้ที่เป็นหนี้กองทุนที่ยังค้างชำระ ก็มีเหตุผลต่าง ๆ นานา ถึงความไม่พร้อมที่ยังไม่ได้ชำระ

ช่วงเดือนตุลาคม 2558 ที่ผ่านมากองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ออกมาระบุบตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนจนปัจจุบัน 20 ปี กยศ.ใช้เงินจากภาษีประชาชนปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 4 ล้านราย วงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท แต่มีผู้ชำระคืนกองทุนแค่ 40% ส่วนอีก 60% ยังค้างชำระ

โดยกลุ่มที่ค้างชำระ 60% นั้นแยกเป็นกลุ่มที่ไม่ตั้งใจเบี้ยวหนี้ แต่เพราะตกงานหรือมีเงินเดือนไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ กลุ่มนี้นับเป็นความสูญเสียที่เกิดจากรัฐบาลบริหารผิดพลาดโดยไม่ได้พิจารณาว่าสาขาตลอดจนตัวผู้กู้เอง มีศักยภาพพอที่จะชดใช้หนี้ได้หรือไม่ อีกกลุ่มคือกลุ่มที่มีงานทำและได้รับเงินเดือนเพียงพอที่จะชดใช้หนี้ แต่กลับละเลยไม่ชำระซึ่งเคยมีการสำรวจพบว่าผู้ที่จบสาขาแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข มีอัตราการค้างชำระหนี้สูงถึง 50% ทั้งที่เป็นวิชาชีพที่ไม่น่าจะมีปัญหาด้านการเงิน ซึ่งผลกระทบของการไม่ชำระเงินกลับคืนสู่กองทุนนี้เห็นได้ชัดในปีการศึกษา 2558 ที่ กยศ. ได้จำกัดผู้กู้รายใหม่ไม่ให้เกิน 200,000 ราย 

ในด้านการติดตามทวงนี้นั้น กยศ.สูญเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความติดตามทวงหนี้กว่า 3,200 ล้านบาท ขณะที่ได้เงินกลับคืนมา 3,000 ล้านบาท แต่ยังจำเป็นที่จะต้องจ้างทนายต่อ ไม่เช่นนั้นคดีความจะหมดอายุซึ่ง กยศ.จะมีความผิด ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ที่ผ่านมา กยศ.ยกเลิกโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเมื่อปี 2557 และรณรงค์ให้หน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนร่วมโครงการหักเงินเดือน ณ ที่จ่ายแทนซึ่งวิธีนี้จะได้ผลมากกว่า โดยกรณีผู้กู้ยืมยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือน สำหรับผู้ที่ไม่ค้างชำระ เมื่อชำระเสร็จสิ้นแล้ว จะได้เงินคืนร้อยละ 1 ของเงินต้นคงเหลือ สำหรับผู้กู้ที่ค้างชำระ หากยินยอมชำระหนี้เป็นปกติ จะได้ลดเบี้ยปรับ 100% หรือหากไม่สามารถชำระหนี้ให้เป็นปกติได้ กองทุนจะปรับโครงสร้างหนี้ใหม่พร้อมลดเบี้ยปรับ 50% และมีระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามสัญญา ส่วนกรณีผู้กู้ยืมปิดบัญชี สำหรับผู้กู้ที่ไม่ค้างชำระจะได้เงินคืนร้อยละ 3 ของเงินต้นคงเหลือ แต่สำหรับผู้กู้ที่ค้างชำระ จะได้ลดเบี้ยปรับ 100%
 
เตรียมขึ้นเครดิตบูโร-ฟ้องยึดทรัพย์ ปี 2559 จ่อฟ้องอีก 1.3 แสนราย
 
นอกจากนี้ กยศ.ยังระบุว่าจะใช้มาตรการการส่งรายชื่อเข้าสู่ระบบเครดิตบูโร รวมถึงฟ้องยึดทรัพย์ ซึ่งล่าสุดมีผู้ถูกฟ้องและไม่มาชำระคดีตามที่ถูกบังคับคดี จึงถูกยึดทรัพย์ไปแล้ว 786 ราย รวมเป็นเงิน 22 ล้านบาท และมีผู้ที่เข้าข่ายจะถูกยึดทรัพย์อีกจำนวน 4,175 ราย รวมเป็นเงิน 109 ล้านบาท ทั้งหมดเป็นผู้กู้ที่อยู่ในช่วงปีการศึกษา 2547 สำหรับปี 2558 กยศ.ได้ฟ้องร้องผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้แล้ว 120,622 ราย และปี 2559 กยศ. จะฟ้องอีก 1.3 แสนราย
หักเงินเดือนคนค้างหนี้
 
เชิญชวนองค์กรนายจ้างมาทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ กยศ. เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา
 
นอกจากนี้ทาง กยศ. ยังระบุว่าได้เดินหน้าสร้างความเข้าใจ และเชิญชวนองค์กรนายจ้างมาทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ กยศ. เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา โดยที่ผ่านมาได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร บริษัท บาธรูมดีไซน์ จำกัด ในการหักเงินเดือนข้าราชการ พนักงานที่เป็นหนี้ค้างชำระกองทุน กยศ.แล้ว รวมไปถึงกระทรวงศึกษาธิการก็ขานรับการหักเงินเดือนคนค้างหนี้ทั้ง กยศ. และกรอ.ด้วยเช่นกัน ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ผุดโปรโมชัน เพื่อจูงใจให้บุคลากรมาชำระหนี้คืนมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนลดมอบให้ 3 เดือน จากเดิม 12 เดือน ก็จ่ายเพียง 9 เดือนเท่านั้น 
 
โดยได้จัดทำ "มาตรการจูงใจบุคลากรในสังกัดองค์กรนายจ้างที่ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกองทุนฯ" เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา ทั้งการชำระหนี้แบบปิดบัญชี หรือการประนอมหนี้ โดยหลักๆ คือ นายจ้างหักเงินเดือนนำส่ง กยศ. ภายใต้การยินยอมของลูกหนี้ ตามรายละเอียดดังนี้ 
 
1. กรณีบุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมเงินยินยอมให้หักเงินเดือน      
 
กลุ่มลูกหนี้ทั่วไป
- กลุ่มไม่ค้างชําระ หากยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชําระหนี้กองทุน เมื่อชําระเสร็จสิ้นแล้ว กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจํานวนร้อยละ 1 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่เริ่มให้หักเงินเดือน หรือได้รับการลดหย่อนหนี้เป็นจำนวนเท่ากับเงินชำระหนี้ 3 เดือนสุดท้าย
- กลุ่มผู้ค้างชําระ แบ่งได้เป็น 2 กรณีคือ 1. มาชําระหนี้เป็นปกติ และยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชําระหนี้กองทุนจะได้รับการลดเบี้ยปรับ 100 % 2. กรณีไม่สามารถชําระหนี้ให้เป็นปกติได้ กองทุนจะปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ให้แก่ผู้กู้ยืม เมื่อผู้กู้ให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชําระหนี้กองทุน จะได้รับการลดเบี้ยปรับ 50% และมีระยะเวลาผ่อนชําระหนี้ตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามสัญญา
 
กลุ่มลูกหนี้ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง
- กลุ่มไม่ค้างชําระ หากยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชําระหนี้กองทุน เมื่อชําระเสร็จสิ้นแล้ว กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจํานวนร้อยละ 1 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่เริ่มให้หักเงินเดือน หรือได้รับการลดหย่อนหนี้เป็นจำนวนเท่ากับเงินชำระหนี้ 3 เดือนสุดท้าย       
- กลุ่มผู้ค้างชําระ เมื่อผู้กู้ยืมเงินมาชําระหนี้เป็นปกติ และให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชําระหนี้กองทุนจะได้รับการลดเบี้ยปรับ 100%     
 
กลุ่มลูกหนี้ที่ถูกดําเนินคดี
 - กรณีพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ผ่อนชําระเป็นรายเดือน และไม่ค้างชําระหนี้ เมื่อผู้กู้ยืมเงินให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชําระหนี้กองทุน เมื่อชําระเสร็จสิ้นแล้ว กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจํานวนร้อยละ 1 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่เริ่มให้หักเงินเดือน หรือได้รับการลดหย่อนหนี้เป็นจำนวนเท่ากับเงินชำระหนี้ 3 เดือนสุดท้าย       
- กรณีพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ผ่อนชําระเป็นรายเดือน และค้างชําระหนี้ เมื่อผู้กู้ยืมเงินมาชําระหนี้เป็นปกติและให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชําระหนี้กองทุน จะได้รับการลดเบี้ยปรับ 100 %
- กรณีพิพากษาให้ชําระหนี้ทั้งจํานวน เมื่อผู้กู้ยืมเงินเข้าทําบันทึกข้อตกลงในการเจรจาไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดีตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาว่าด้วยการไกล่เกลี่ยลูกหนี้ตามคําพิพากษาชั้นบังคับคดี พ.ศ.2557 และให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือนชําระหนี้กองทุน เมื่อชําระเสร็จสิ้นแล้ว กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจํานวนร้อยละ 1 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่เริ่มให้หักเงินเดือน หรือได้รับการลดหย่อนหนี้เป็นจำนวนเท่ากับเงินชำระหนี้ 3 เดือนสุดท้าย
 
2. กรณีบุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมเงินปิดบัญชี
 
กลุ่มลูกหนี้ทั่วไป
- กลุ่มไม่ค้างชําระ กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจํานวนร้อยละ 3 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่ปิดบัญชี หรือได้รับส่วนลดเงินต้น 3%        
- กลุ่มผู้ค้างชําระ ลดเบี้ยปรับ 100 %
กลุ่มลูกหนี้ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง
- กลุ่มไม่ค้างชําระ กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจํานวนร้อยละ 3 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่ปิดบัญชี หรือได้รับส่วนลดเงินต้น 3%      
- กลุ่มผู้ค้างชําระ ลดเบี้ยปรับ 100 %     
 
กลุ่มลูกหนี้ที่ถูกดําเนินคดี
- กรณีพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ผ่อนชําระเป็นรายเดือน และไม่ค้างชําระหนี้ กองทุนจะให้เงินตอบแทนเป็นรางวัล คิดเป็นจํานวนร้อยละ 3 ของเงินต้นคงเหลือ ณ วันที่ปิดบัญชี หรือได้รับส่วนลดเงินต้น 3%       
- กรณีพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ผ่อนชําระเป็นรายเดือน และค้างชําระหนี้ ลดเบี้ยปรับ 100 %
- กรณีพิพากษาให้ชําระหนี้ทั้งจํานวน ลดเบี้ยปรับ 100 %       
 
อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 ทาง กยศ. มีนโยบายนำบัญชีของผู้กู้ทั้งหมดเข้าเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร ซึ่งจะแสดงสถานะบัญชีของผู้กู้ ทางกองทุนจึงขอความร่วมมือผู้กู้ที่ค้างชำระหนี้ให้เร่งดำเนินการติดต่อมายัง กยศ. เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ต่อไป
 
จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คนทำงานทั้งหลายที่ยังลูกหนี้กองทุนฯ อยู่ ต้องพึงเตรียมตัวรับมือไว้แต่เนิ่น ๆ ครับ. 
 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube