ความรับผิดชอบต่อสังคม : ความจริงที่มิอาจปฏิเสธ


ความรับผิดชอบต่อสังคม : ความจริงที่มิอาจปฏิเสธ

พิสาร  หมื่นไกร

 

     สถานการณ์ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันทวีความรุนแรงและมีความซับซ้อนของปัญหาเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากข้อความพาดหัวข่าว

    “ชาวชัยภูมิ2อำเภอฮือประท้วงต้านโรงไฟฟ้าใหญ่สุดในอีสาน  ไม่ผ่านประชาพิจารณ์ชาวบ้าน” (http://www.oknation.net/blog/print.php?id=799721 สืบค้นเมื่อวันที่ 19 ส.ค.57)

    “เสียงร่ำร้อง 6 ปี  จากเหมืองทองคำ 6 หมู่บ้าน  ถึงศาลปกครองกลาง กรุงเทพฯ” (http://www.greenworld.or.th/greenworld/population/2348  สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ส.ค.57)

    “ส.ต้านโลกร้อน จี้  คสช.สั่งปิดโรงงานไออาร์พีซีไฟไหม้ซ้ำซาก” (http://www.thairath.co.th/content/428506 สืบค้นเมื่อวันที่ 13 ส.ค.57)

     จากข้อความข้างต้น ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการณ์ความขัดแย้งในเรื่องของผลกระทบที่ผลประโยชน์จากการดำเนินกิจการของกลุ่มองค์กรภาคธุรกิจหรือกลุ่มทุน ขัดแย้งต่อผลประโยชน์และความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่กิจการของกลุ่มธุรกิจตั้งอยู่ โดยเหตุการณ์ในข้างต้นถือได้ว่าเป็นเพียงเศษเสี้ยวแห่งความขัดแย้งหลักในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ปัญหาทางสังคม ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ล้วนเป็นภาพสะท้อนที่มิอาจปฏิเสธได้ว่า สาเหตุสำคัญนั้นมาจากทิศทาง กระบวนการการพัฒนา โดยเฉพาะแนวทางการพัฒนาตามแบบทันสมัย(Modernization Model) ที่พัฒนาและก่อกำเนิดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ภายใต้ความพยายามขยายอิทธิพลครอบงำระบบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและการเมือง โดยการนำเสนอถึงมุมมอง “ประเทศไม่พัฒนา ยากจน ล้าหลังและไม่มีความศิวิไลซ์” นำโดยสหรัฐอเมริกา จึงเป็นเหตุผลสำคัญอย่างเร่งด่วนในฐานะของผู้นำหรือศูนย์การอำนาจโลก ที่ต้องส่งออก ผลักดัน “การพัฒนา” ภายใต้ข้ออ้างในการช่วยเหลือประเทศที่ล้าหลังหรือประเทศโลกที่สาม โดยเฉพาะการมุ่งเน้นความเจริญเติบโตของภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(Economic Growth)

     การพัฒนาตามแนวคิดเพื่อนำไปสู่ความทันสมัยความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ได้รับการตั้งคำถามและพิสูจน์จากนักวิชาการในหลายสำนักความคิด ถึง “ความล้มเหลว” ที่ล้วนก่อให้เกิดเป็น วิกฤตการพัฒนา ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะในด้านหนึ่งของผลที่เกิดขึ้นกลับไม่สามารถลดความไม่เท่าเทียมระหว่างกลุ่มคน บุคคลในสังคมได้ ซ้ำยังทำให้ช่องว่างแห่งความเท่าเทียมและความแตกต่างนั้นขยายระยะห่างมากขึ้น ฐานทรัพยากรธรรมชาติถูกนำมาตอบสนองกระบวนการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการในการบริโภคและมุ่งเน้นขับเคลื่อนความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอย่างขาดการวางแผนและเล็งเห็นถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและผลกระทบในเรื่องสิ่งแวดล้อม กลายเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และเชื่อมโยงถึงปัญหาสุขภาวะ ความยากจน อาชญากรรมที่มีความหนักหน่วงยิ่งขึ้นตามมา

     สถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นนำมาสู่กระแสการเรียกร้องร้องหรือความตื่นตัวถึงแนวทางการพัฒนาที่ผ่านมาของกลุ่มคนในสังคมทั้งในทางสากลและประเทศ ดังกรณีของการเคลื่อนไหวของกลุ่ม The Club of Rome ในปี 1972 ที่นำเสนอรายงาน “ขีดจำกัดของความเจริญเติบโต”(The Limit to Growth)ที่ว่า หากมนุษย์ในยุคปัจจุบันหากยังไม่เปลี่ยนแปลงโลกทัศน์และค่านิยม จะส่งผลก่อให้เกิดความหายนะ และสามารถทำลายโลกได้ภายในช่วงอายุของเราหรือดีที่สุดคือในคนรุ่นถัดไป(ปริญญ์ ปราญชญานุพร อ้างอิงใน พระประมวล บุตรดี,2552 หน้า1)

     รายงานฉบับดังกล่าว ส่งผลทำให้เกิดกระแสการทบทวนแนวทางการพัฒนาและการตื่นตัวในวงกว้างในทางสากล ดังจะเห็นได้จากการประชุมการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่อง “สิ่งแวดล้อมและการพัฒนา”ในปี ค.ศ. 1987 ที่คณะกรรมการระดับโลกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา(The World Commission on Environment and Development : WCED )ได้จัดทำรายงานที่เป็นที่รู้จัก คือ “รายงานบรันดท์แลนด์” (The Brundtland Report) (พระประมวล บุตรดี,2552 หน้า1-2)

     ซึ่งรายงานดังกล่าวได้กล่าวถึงทิศทางในการพัฒนาที่จะเป็นทางออกการพัฒนาในนาม “การพัฒนาที่ยั่งยืน"(Sustainable Development)ที่ต้องเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาสังคมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นในเรื่องเฉพาะความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

     โดยต่อมาแนวคิดในเรื่องของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเกิดเป็นกระแสที่สำคัญในการที่องค์กรระหว่างประเทศ ดังจะเห็นได้จาก สหประชาชาติ(The United Nations)ร่วมกับภาคธุรกิจ ได้จัดประชุม World Economic Forum ในปี 1999 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เลขาธิการสหประชาชาติ นายโคฟี่ อันนัน ได้กล่าวสุนทรพจน์โดยมีเนื้อหาสำคัญ คือ การเรียกร้องให้องค์กรภาคธุรกิจแสดงถึงความเป็นพลเมืองที่ดีของโลก(Good Global Citizenship) ด้วยการเคารพต่อหลักการที่เป็นข้อตกลงสากลในเรื่องสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม ในทุกพื้นที่ที่องค์กรภาคธุรกิจประกอบกิจการอยู่ โดยเสนอบัญญัติ 9 ประการซึ่งต่อมาเพิ่มเป็น10 สำหรับองค์กรธุรกิจ ในนาม The Global Compact หรือ The UN Global Compact

     ในปี ค.ศ.2000 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศกรอบแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยความเป็นพลเมืองที่ดีขององค์กรธุรกิจที่มีผู้นำที่สร้างสรรค์และยอมรับพันธะสัญญาด้วยความสมัครใจจนในที่สุดพัฒนามาสู่กระแสแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ

     นับได้ว่าตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษ ที่ 20 สังคมเริ่มตระหนักถึงผลกระทบในด้านลบที่เกิดจากการดำเนินอุตสาหกรรมหรือการดำเนินธุรกิจที่วางบนพื้นฐาน เน้นผลกำไรเป็นเป้าหมายสูงสุด ซึ่งการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ในช่วงแรกจะเห็นได้ว่าพัฒนามาจากกระแสของการเรียกร้องของประชาชน จนในปัจจุบัน ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ได้กลายเป็นแนวทาง ข้อกำหนดทางการค้ายุคใหม่ที่สร้างกระแสให้องค์กรธุรกิจตื่นตัวและดำเนินการ และแสดงออกถึงความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น

     สำหรับประเทศไทย ในอดีตการดำเนินงาน “ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร” มักจะอยู่ในรูปของการบริจาค หรือ การอาสาช่วยเหลืองานของส่วนร่วม เป็นหลัก โดยที่ผ่านมาสังคมไทยยังไม่ได้มีการเรียกลักษณะในข้างต้นว่า“ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร”

     จนหลังวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ในปี 2540 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศโดยเฉพาะกลุ่มทุนด้านการเงิน รัฐบาลไทยและนักลงทุนจากสถาบันการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทที่ประสบปัญหาและต้องการการช่วยเหลือยกระดับ ธรรมาภิบาล(Corporate Governance)ให้สูงขึ้นเพื่อแลกกับการช่วยเหลือ จนเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและกระแส                ธรรมาภิบาลได้ถูกกำหนดให้เป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจและได้รับการตอบสนองเพิ่มขึ้น จนพัฒนาเป็นกระแสของการดำเนิน“ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร” และเริ่มที่มีการพูดคุยกันอย่างจริงจังในสังคม

     ประกอบกับการที่ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ทั้งองค์กรภาครัฐและภาคธุรกิจให้การยอมรับในเรื่องของข้อกำหนดและมาตรฐานระหว่างประเทศ ดังการนำมาตรฐานขององค์กรมาตรฐานระหว่างประเทศ(The International Organization for Standardization: ISO)มาดำเนินการในด้านต่างๆเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการ จึงถือได้ว่าจุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ กระแสแนวคิดและการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรได้มีการลงหลักและเริ่มก่อรูปความชัดเจนขึ้นในสังคมไทย

    ซึ่งการดำเนินการตามแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ได้ท้าทายกรอบแนวคิดในการดำเนินธุรกิจในแบบดั้งเดิมที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าและบริการเพื่อก่อให้เกิดกำไรสูงสุดและการรักษาผลประโยชน์ของเจ้าของและผู้ถือหุ้นถูกการตั้งคำถามและเรียกร้องจากสังคมและกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการประกอบการขององค์กรธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม

     ประกอบกับ ความเป็นโลกาภิวัตน์ การเปิดเสรีทางการค้าได้ผลักดันให้ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นเรื่องที่มีบทบาทมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่“ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร” ถูกกำหนดให้อยู่ในนโยบายด้านการค้าในระดับกลุ่มเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพราะข้อจำกัดของกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับต่างยังคงไม่เพียงพอหรือมีความครอบคลุมที่จะทำให้องค์กรธุรกิจเองมีการดำเนินการอยู่ในจรรยาบรรณที่ดี การผลักดันในเรื่อง“ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร” จะเป็นเครื่องมือช่วยในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ในส่วนกฎหมายหรือระเบียบต่างๆไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ เกิดเป็นบรรทัดฐานความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ในการประกอบการอย่างโปร่งใส ไม่เอาเปรียบและดูแลช่วยเหลือสังคม ซึ่งนำไปสู่การเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีความยั่งยืนควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งของสังคม

     การดำเนินการขององค์กรธุรกิจด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ถือได้ว่าเป็นการตอบรับ หรือ แก้ไขปัญหาที่องค์กรธุรกิจสร้างไว้ให้แก่สังคม รวมทั้งเป็นกระบวนการในการที่จะสร้างภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภคและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก

     แต่ทั้งนี้ในการดำเนินงาน “ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร” ยังคงพบกับข้อวิพากษ์ วิจารณ์จากสังคมถึง การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจที่ในบางองค์กรมีลักษณะฉาบฉวย เป็นเพียงการโฆษณาประชาสัมพันธ์องค์กร มากกว่าที่คำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับสังคมอย่างแท้จริง ดังความเห็นของ ดร.สุทธิศักดิ์ที่กล่าวไว้ในวารสารสื่อพลังไว้อย่างน่าสนใจว่า “จุดเริ่มต้นอยู่ที่ระยะเวลาที่ผ่านมาสังคมไทยมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปมาก ว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร เป็นเพียงกิจกรรมที่คืนกำไร เสริมสร้างสังคมด้วยความเอื้ออาทร สงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาสเท่านั้น โดยละเลยการพิจารณาให้ลึกลงไปว่ากำไรนั้นได้มาอย่างไร กิจการที่ดำเนินการอยู่นั้นเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่” โดย ดร.สุทธิศักดิ์เห็นว่าประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นสาระสำคัญของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร

     จากที่กล่าวมาในข้างต้น จะเห็นได้ว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร” เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นที่ภาคธุรกิจต้องมีความทุ่มเทและพัฒนาองค์กรและธุรกิจของตนเองบนพื้นฐานความรับผิดชอบ ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมให้ธุรกิจและสังคมพัฒนา เติบโตไปร่วมกันในทิศทางที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนร่วมกัน

     ถึงแม้ว่าการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรจะเกิดขึ้นโดยจิตสำนึกภายในกิจการเอง หรือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกเป็นผู้ผลักดัน หรือกระแสสังคมรวมทั้งมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจเป็นแรงผลักก็ตาม ซึ่งในปัจจุบันองค์กรธุรกิจได้ให้ความสำคัญและมีการพัฒนา ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญในการดำเนินงาน“ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร” คือ การค้นหารูปแบบ กระบวนการ กลยุทธ์ที่เหมาะสมในการดำเนินงาน“ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร”เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ที่สามารถเป็นโอกาสในการดำเนินงานธุรกิจ การดูแล รักษาสภาพแวดล้อม  สร้างความสมดุลของการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการดำเนินกิจการด้วยความโปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาล ซึ่งผลสำเร็จที่เกิดจะนำไปสู่การพัฒนา สร้างเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรธุรกิจได้ในระยะยาวและก่อให้เกิดความปรกติสุขในสังคม

 

บรรณานุกรม

พระประมวล บุตรดี. (2552). การดำเนินกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจกับ

การพัฒนาชุมชน:กรณีศึกษาฝายชะลอน้ำ ชุมชนบ้านสบหก จังหวัดลำปาง .วิทยานิพนธ์

พช.ม. ,มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรุงเทพฯ

วรพรรณ เอื้ออาภรณ์. (2555). DNA CSR แบบไทยๆตามกระแสโลก. กรุงเทพฯ:บริษัท เซจ อินเตอร์

              เนชั่นแนล จำกัด.

โสภณ  พรโชคชัย. (2551). CSR ที่แท้.พิมพ์ครั้งที่ 5 (2553). กรุงเทพฯ : มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่ง

              ประเทศไทย.

โสภณ  พรโชคชัย. (2557). CSR ดีๆที่ต้องใส่ใจ. CSR THAILAND VOL10. (ฉบับพิเศษ), (หน้า 24-30).

 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube