บ้านห้วยหินลาดใน ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มีข้อสังเกตที่สำคัญคือการเป็นพื้นที่ชายขอบของ 3 จังหวัด จากการแบ่งเขตการปกครองโดยรัฐ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ และพะเยา
ในมิติระยะทางและกายภาพ พื้นที่นี้ห่างไกลออกไปจากตัวจังหวัดทั้ง 3 แห่งเกือบเท่ากัน คือ ประมาณ 150 - 200 กิโลเมตร และต้องเลาะเข้าไปตามป่าหุบเขา มีความชันสูงจากระดับน้ำทะเล 800 - 900 กิโลเมตร นอกจากนี้ จุดที่ตั้งของหมู่บ้านห้วยหินลาดในยังอยู่ตรงกลางระหว่างอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย กับอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ (ในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย) จึงทำให้อำนาจการบริหารจัดการพื้นที่แบบทางการอาจมีความลักลั่นระหว่างท้องที่
ในอดีตที่พื้นที่นี้ไม่มีถนนเข้าถึงจึงทำให้ถูกมองผ่านจากรัฐทั้งในแง่การปกครอง การบริหารจัดการ การส่งเสริมพัฒนา รวมไปถึงข้อมูลข่าวสารที่เข้าไปได้ยาก แต่ในทางตรงกันข้าม หมู่บ้านห้วยหินลาดเป็นหมู่บ้านที่มีอยู่ประมาณ 20 หลังคาเรือนที่ตั้งอยู่ในบริเวณป่าธรรมชาติและเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ปูน, โป่งเหม็น (ประกาศ พ.ศ. 2525) และอุทยานแห่งชาติขุนแจ (ประกาศ พ.ศ. 2538) ที่นี่จึงเป็น 'ศูนย์กลางอำนาจการจัดการป่า' ที่ซ้อนทับไปกับการบริหารจัดการของรัฐด้วย
การจัดการอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน : 'สภากองไฟ' (หลัง 2517)
สภากองไฟ : พัฒนาจากแบบไม่เป็นทางการเป็นแบบการหารือที่ เป็นทางการ ที่มีผู้นำการสนทนา และผู้นำทาง พิธีกรรม ร่วมดำเนินการ มีการจัดโครงสร้าง การ แบ่งงาน การมอบหมายงาน
สภากองไฟ เป็นพัฒนาการของการปรึกษาหารือจากการล้อมวงผิงไฟคุยกันไปตามประสาคนชนบทในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งมีสภาพเป็นชุมชนในพื้นที่สูงและมีอากาศหนาวเย็นโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว การคุยกันข้างกองไฟที่ห้วยหินลาดในได้นำเอาประเด็นที่ชุมชนประสบเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้โดยรัฐ เช่น การประกาศเขตป่าสงวนและการประกาศเขอุทยานแห่งชาติทับหมู่บ้าน การตัดถนนที่ทำให้ความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างรุกเข้ามาได้ง่าย การทำไร่ข้าวโพดที่ทำลายสมดุลระหว่างการทำมาหากินกับการอยู่กับป่า การสัมปทานและการทำลายป่า ฯลฯ มาหารือเพื่อสร้างข้อตกลงหรือหาแนวทางต่อรองกับภายนอกร่วมกัน
ที่มา
จาก พ.ศ. 2517 ที่มีการสร้างถนนเส้นเวียงป่าเป้า - พร้าว 'ปรีชา ศิริ' ผู้นำธรรมชาติของหมู่บ้านห้วยหินลาดใน ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตามมา โดยสังเกตจากความเปลี่ยนแปลงของบางพื้นที่ภายนอกที่เกิดเป็นปัญหาทางสังคมขณะเดียวกันการรุกทำลายสิ่งแวดล้อมได้รุกเข้าหามากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้เริ่มชักชวนคนในหมู่บ้านมาพูดคุยหารือ ต่อมา การพูดคุยมีลักษณะทางการขึ้นโดยได้เลือกนัดหมาย วันที่ 10 ของทุกเดือนเป็นวันประชุมเนื่องจากต้องการให้ตรงกับ 'วันพระ' ในการนัดครั้งแรก
ใน พ.ศ. 2535 การประชุมดังกล่าวมีการจัดตั้งโครงสร้างที่ชัดเจน โดยที่ประชุมเลือกให้ ปรีชา ศิริ (ผู้นำธรรมชาติ) และ นุ ปะปะ (ผู้นำพิธีกรรม) เป็นประธานดำเนินการประชุมร่วมกัน มีการแบ่งงานเพื่อแยกกันไปดูแลในด้านต่างๆ เช่น กลุ่มดูแลป่า กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มกองทุน กลุ่มสวัสดิการ และกลุ่มเยาวชน
ผลจากสภากองไฟ
1. การเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีพลัง
ใน พ.ศ. 2535 หมู่บ้านห้วยหินลาดในนำเอาวิถีจารีตที่เคยใช้ในการจัดสรรพื้นที่และใช้ประโยชน์จากป่ามาสร้างเป็นกฎระเบียบชุมชนขึ้นผ่านที่ประชุม 'สภากองไฟ' ซึ่งเป็นหน่วยทางสังคมหน่วยหนึ่ง เพื่อกำหนดเป็นกรอบทิศทางการปกครองที่ยอมรับร่วมกัน นอกจากนั้นยังได้มีการแบ่งบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ โดยโครงสร้างที่มีความชัดเจนนี้เป็น กรอบเงื่อนไขสำคัญในการเข้าร่วมเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) ซึ่งมีประเด็นขับเคลื่อนทางสังคมในเรื่องสิทธิชุมชนและการผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชน ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวที่มีลักษณะการรวมตัวดังกล่าวสามารถสร้างการต่อรองและทำให้สิทธิในการอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากป่าของชุมชนได้รับการยอมรับมากขึ้น
2. การกำหนดวิถีชีวิตและทิศทางเศรษฐกิจ
นอกจากการสร้างกรอบทิศทางการปกครองร่วมกันผ่านวงประชาสังคมภายในหมู่บ้านแล้ว การประชุม 'สภากองไฟ' ยังเป็นพื้นที่สำหรับการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิต ซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจหมายถึงการสร้างตัวตนพร้อมกับคำอธิบายชุดใหม่ในการเลือกรับ ไม่รับ หรือต่อรองกับภายนอก โดยเฉพาะชุดวาทกรรมที่ว่าด้วยการอนุรักษ์หรือการส่งเสริมเศรษฐกิจที่เป็นการเอื้อมมือเข้ามาจัดการโดยรัฐ เช่น
1) รื้อมายาคติ 'ไร่เลื่อนลอย' สู่ 'ไร่หมุนเวียน' เพื่อการอนุรักษ์ป่า
ไร่เลื่อนลอย : รูปแบบการทำเกษตรที่ปลูกพืชซ้ำบนพื้นที่เดิมจนกระทั่งดินเสื่อมสภาพไม่สามารถปลูกอะไรได้อีกก็จะย้ายแปลงปลูกหรือแผ้วถางบุกเบิกป่าไปเรื่อยๆ เป็นที่มาของมายาคติว่าด้วยชาวเขาเป็นผู้บุกรุกป่า (ที่มาภาพ: ปกรณ์ คงสวัสดิ์.กระบวนการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์เพื่อตอบโต้รัฐ กรณีศึกษาชาวปกาเกอญอ บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ. เชียงราย.รายงานวิชา Individual Study I และ II หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร,2548)
ไร่หมุนเวียน : รูปแบบการทำเกษตรของชาวปกาเกอญอ แม้จะมีการโยกย้ายพื้นที่เพาะปลูก แต่เป็นการทิ้งเวลาให้ดินฟื้นสภาพความอุดมสมบูรณ์ และมีการขอบเขตที่แน่ชัดในวงรอบ 7- 10 ปี ไม่มีการบุกเบิกป่าไปเรื่อยๆที่มาภาพ: ปกรณ์ คงสวัสดิ์.กระบวนการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์เพื่อตอบโต้รัฐ กรณีศึกษาชาวปกาเกอญอ บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ. เชียงราย.รายงานวิชา Individual Study I และ II หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร,2548)
ไร่หมุนเวียนเป็นรูปแบบการผลิตตามวิถีดั้งเดิมที่สามารถมองได้ด้วยกรอบความมั่นคงทางอาหาร นั่นคือ การมีข้าวและอาหารเพียงพอบริโภคตลอดทั้งปีไม่ใช่การปลูกเพื่อขาย พื้นที่ที่ใช้ทำนาและไร่หมุนเวียนของชาวห้วยหินลาดในจะมีขอบเขตพื้นที่แน่ชัด แยกออกมาจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของชุมชนซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ มีลำห้วย 14 สาย ที่จะไหลไปรวมกับห้วยแม่ฉางข้าวและไหลออกสู่แม่น้ำใหญ่
ชุมชนห้วยหินลาดในใช้มติทางสังคมผ่านสภากองไฟเพื่อยืนยันใน 'วิถีปกาเกอญอ' ขณะเดียวกันก็เป็นการยืนยันในข้อตกลงระหว่างพื้นที่ใช้สอยกับพื้นที่อนุรักษ์ให้เป็นรูปธรรม กำหนดความหมายความแตกต่างระหว่าง 'ไร่เลื่อนลอย' กับ 'ไร่หมุนเวียน' รวมไปถึงการนำความเชื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ เช่น การผูกรกเด็กแรกคลอดไว้กับไม้ใหญ่ที่ออกผลได้หรือป่าเดปอ การกำหนดเขตพื้นที่ป่าศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกับพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งแนวทางเหล่านี้ ปรีชา ศิริ เล่าว่า ใช้ในการอธิบายต่อเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแสดงให้เห็นว่าการอนุรักษ์เกิดขึ้นได้อย่างไร
ปัจจุบัน การจัดการพื้นที่ดังกล่าวส่งผลให้สามารถรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สมบูรณ์ได้ราว 10,000 ไร่ ทำให้คนพื้นราบด้านล่างได้รับประโยชน์จากน้ำที่เพียงพอและใสสะอาด ในด้านอากาศยังมีงานวิจัยที่ระบุว่าผืนป่าแห่งนี้ยังทำหน้าที่กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2,642,299 ตันต่อปี ในขณะที่การปลดปล่อยคาร์บอนต่อปีจากกิจกรรมการเกษตรของหมู่บ้านมีเพียงร้อยละ 0.8 เท่านั้น (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย.ภูมิปัญญาไร่หมุนเวียน:กรณีศึกษาบ้านห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย:2557)
2) สร้างเศรษฐกิจใหม่
ด้วยความกังวลในอิทธิพลของภัยคอมมิวนิสต์และอิทธิพลทางเศรษฐกิจของโลกทำให้นับตั้งแต่ พ.ศ. 2504 รัฐมีนโยบายต่อชาวเขาทั้งในแง่กายภาพและเศรษฐกิจ นั่นคือการตัดถนนเข้าสู่พื้นที่ทุรกันดารและสนับสนุนพืชเศรษฐกิจใหม่เพื่อทดแทนฝิ่น เช่น ข้าวโพด หรือพืชโครงการหลวงอย่างการปลูกพลับ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ที่สนับสนุนให้ทำโฮมสเตย์เพื่อปรับหมู่บ้านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือการส่งเสริมการปลูกป่าแผนใหม่ของกรมป่าไม้ เป็นต้น
ชุมชนห้วยหินลาดในได้ใช้สภากองไฟในการออกแบบทางเศรษฐกิจของชุมชน เช่น การปลูกข้าวโพดเมื่อวิเคราะห์และเล็งเห็นถึงผลเสียร่วมกันแล้วจึงได้ปฏิเสธอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับการทำโฮมสเตย์หรือการปลูกป่าตามแผนของกรมป่าไม้ ซึ่งมองว่าขาดการมีส่วนร่วมและอิสระในการดูแลจัดการโดยชุมชน ส่วนพืชโครงการหลวงได้นำพลับเข้ามาบ้างเนื่องจากเป็นพืชที่มีอยู่ในป่าที่นี่อยู่แล้ว การปรับเปลี่ยนจากการหมักใบเมี่ยง ซึ่งเคยเป็นสินค้าที่นิยมในท้องถิ่นแต่เสื่อมความนิยมไปในระยะหลัง และวิธีการยุ่งยากให้เป็นการขายใบชาตามคำแนะนำของชาวจีนฮ่อ (ต้นเมี่ยงคือต้นชาป่า เป็นพืชชนิดเดียวกับชาอัสสัม ) การเก็บหน่อไผ่ขาย (มีข้อตกลงและฤดูกาลเก็บ) และการขายน้ำผึ้งซึ่งภายหลังมีการเพาะเลี้ยงแบบพึ่งพาธรรมชาติและดูแลการขายโดยกลุ่มเยาวชน เป็นต้น
3) การตั้งกองทุนดูแลป่า
เพื่อสร้างการบริหารจัดการพื้นที่ป่าที่นอกเหนือจากการดูแลจัดการในแง่กฎหมายโดยรัฐ ทุกครัวเรือนจะหักรายได้ 10 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 1 กิโลกรัมจากผลผลิตต่างๆที่ได้ประโยชน์จากป่าเข้ากองทุนเพื่อใช้บริหารจัดการดูแลทรัพยากรร่วมกัน
4 ) สร้างเครือข่าย 4 หมู่บ้านใกล้เคียงและเครือข่ายภายนอก
ในอีกงานหนึ่งที่สภากองไฟยังได้เข้าไปมีส่วนในการจัดตั้งการทำงานรูปแบบเครือข่าย 4 หมู่บ้านใกล้เคียงและเข้าร่วมกับเครือข่ายภายนอก เพื่อเพิ่มระดับการต่อรองกับการรุกเข้ามาของสัมปทานป่าไม้ โครงการจากภายนอก และการทำไม้เถื่อน โดยการประชุมของหมู่บ้านจะเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเพื่อกำหนดบทบาทและชี้แจงความคืบหน้าต่างๆในการทำงานกับเครือข่าย
ทั้งนี้ สภากองไฟยังเป็นพื้นที่ 'องค์ความรู้' อีกด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่มีการทำงานเป็นเครือข่าย ทำให้หมู่บ้านห้วยหินลาดในมีตัวแทนออกไปศึกษาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้กับพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งการเป็นพื้นที่ที่หลายฝ่ายเข้ามาเรียนรู้ ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ จำนวนมาก ซึ่งหมู่บ้านห้วยหินลาดในจะใช้การประชุมถ่ายทอดความรู้ต่างๆเพื่อปรับพื้นฐานความเข้าใจของคนในหมู่บ้านให้ใกล้เคียงกัน รวมทั้งใช้สร้างความเข้าใจกับภายนอก
บทวิเคราะห์
Social Construction สังคมร่วมสร้างที่มีบทบาทมากกว่ากฎหมาย
'สภากองไฟ' คือ ทุนทางสังคมที่เป็นการต่อยอดวัฒนธรรมชุมชนเดิมและถือว่าเป็น 'หน่วยทางสังคม' ซึ่งมีความไม่เป็นทางการแต่นำมาใช้พูดคุยในเนื้อหาที่เป็นทางการ เป็นเสมือนตัวเชื่อมรอยต่อความห่างไกลของข้อมูลข่าวสารและเป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชน เพื่อยกระดับทุนทางสังคมที่เคยกระจัดกระจายให้มารวมเป็นพลังที่ผลักไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยแบบสังคมร่วมสร้างจึงทำให้มีความเข้มข้นและมีบทบาทในเชิงพื้นที่ที่มากกว่ากฎหมาย
ความสัมพันธ์เศรษฐกิจ สังคม ปกครอง
ความสัมพันธ์เศรษฐกิจ สังคม ปกครอง แบบทั่วไปจะมีลักษณะแยกออกจากกัน แต่จะมีพื้นที่บางส่วนสัมพันธ์กัน หากสัดส่วนสมดุลจะทำให้ความสัมพันธ์เป็นไปได้ด้วยดี แต่หากบางพื้นที่ขยายตัวมากเกินไปก็จะสร้างแรงกระทบไปยังพื้นที่อื่นหรือเป็นความขัดแย้งได้
อย่างไรก็ดี รูปแบบความสัมพันธ์เศรษฐกิจ สังคม ปกครอง ของหมู่บ้านห้วยหินลาดในมีความแตกต่างจากความสัมพันธ์ทั่วไป คือ การที่มีวงสังคมเป็นแกนกลางที่นำเอาพื้นที่ของปกครองหรือเศรษฐกิจเข้ามาร่วมด้วย ซึ่ง 'สภากองไฟ' ถือเป็นหน่วยทางสังคมที่เป็นพื้นที่กลางของความสัมพันธ์ เพื่อกลั่นกรอง สร้าง หรือผลักออกเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจหรือระเบียบข้อบังคับทางการปกครองที่ใช้ครอบคลุมและขับเคลื่อนชุมชนร่วมกัน
ก้าวต่อไปในอนาคต
ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาด้วยการนำของ 'ปรีชา ศิริ' และการนำทุนทางสังคมมาใช้ ทำให้หมู่บ้านห้วยหินลาดในประสบความสำเร็จอย่างมากในการบริหารจัดการตนเองและการดูแลรักษาฐานทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระแสความเป็นเมืองกำลังรุกเข้าไปปรับเปลี่ยนสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีใหม่ๆได้ถูกพัฒนาขึ้นและกลายเป็นส่วนหนึ่งที่คุ้นเคยในวิถีของคนรุ่นใหม่ทั้งในแง่ของความสะดวกสบายหรือการสื่อสารซึ่งจะสามารถเข้าไปปรับฐานคติดั้งเดิมให้แปรเปลี่ยนไปได้
การรุกของกระแสดังกล่าวคงเป็นสิ่งที่ชุมชนห้วยหินลาดในเองต้องเผชิญในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก แม้ว่าจะที่ผ่านมาชุมชนจะมีการสืบสานงานต่อเยาวชน แต่ขณะเดียวกันความนิยมในการส่งบุตรหลานเรียนหนังสือที่สูงขึ้นก็อาจสร้างเป็น Generation Gap ภายในขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเข้าถึงง่ายอย่าง เช่น สมาร์ทโฟนซึ่งสามารถทำให้ภาพความสะดวกสบายหรือ 'สาร' ต่างๆสามารถสื่อผ่านเข้ามาได้มากก็อาจเป็นอีกแรงกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
จากข้อสังเกตเหล่านี้จึงเกิดเป็นคำถามต่อไปถึงกระบวนการจัดการภายในชุมชนบ้านห้วยหินลาดในว่า ด้วยรูปแบบที่เป็นมาแต่เดิมจะมีขีดจำกัดหรือต้านทานแรงจากภายนอกที่ส่งผลต่อภายในได้หรือไม่ และหากจะขยายขีดความสามารถที่เคยมีเพื่อมองหาวิธีการรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงควรจะต้องเป็นแบบใด ทั้งนี้ ทีมงานประเมินความเป็นไปในมีข้อเสนอเบื้องต้น นั่นคือ การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและปรับวิถีเข้าไปสู่การทำธุรกิจซึ่งอาจเป็นในรูปแบบของ Social Business ,Social Enterprise หรือ Cluster Building อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดด้านรูปแบบจำเป็นต้องมองหาความร่วมมือและศึกษาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป ดังหนึ่งในโครงสร้างตัวอย่างที่อาจนำมาใช้เป็นกรอบวิเคราะห์ต่อไป ได้แก่