อ่านบทความต้นฉบับ ‘การลงทุนในมรดกโบราณคดี ขุมทรัพย์ทางเศรษฐกิจที่ถูกลืม’
บทความ ‘การลงทุนในมรดกโบราณคดี ขุมทรัพย์ทางเศรษฐกิจที่ถูกลืม’ ของ พชรพร พนมวันฯ และ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ เผยแพร่ใน thaipublica.org เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 58 สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสทางความรู้และเศรษฐกิจที่อาจพลาดไปจากความเมินเฉยในความสำคัญของประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในส่วน ของภาครัฐ ชุมชน หรือแม้แต่เอกชนเองก็ตาม
บทความได้ยกตัวอย่างทางสถิติของการพัฒนา ‘แหล่งโบราณคดี’ กับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยวเท่านั้น หากแต่ยังกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาที่สร้างความยั่งยืนทั้งในด้านอาชีพและรายได้ เช่น ในรัฐวอร์ชิงตัน ซึ่งทุ่มงบประมาณกว่า 83.5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2000-2004 ในโครงการทางโบราณคดี ผลจากการลงทุนก่อสร้างผลกำไรกว่า 221 ล้านเหรียญสหรัฐ ช่วยสร้างงานกว่า 2,320 ตำแหน่งให้พลเมือง และมีผลกำไรจากการลงทุนของรัฐคงอยู่ที่ตัวเลข 8.9 ล้านต่อปี ในภาพรวมรัฐได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ที่ 153%
ในส่วนภาคเอกชนนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ยื่นข้อเสนอในการปรับปรุงอัตราภาษีให้แก่บริษัทที่ลงทุนในโครงการด้านการอนุรักษ์โบราณสถานนโยบายนี้ได้ช่วยขับเคลื่อนภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมโครงการบำรุงโบราณสถานต่างๆ ทั้งยังได้ช่วยประชาสัมพันธ์โครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ องค์การ National Park Service ของสหรัฐอเมริการายงานว่า นโยบายการฟื้นฟูภาษีซึ่งเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1976 ได้นำไปสู่การลงทุนในภาคเอกชนกว่า 55 พันล้านเหรียญ เป็นอัตราสูงถึง 5:1 เมื่อเทียบกับการลงทุนจากภาครัฐ เฉพาะในปี 2010 ภาคเอกชนได้ทุ่มงบประมาณกว่า 3.4 พันล้านเหรียญและส่งเสริมการสร้างงานกว่า 41,641 ตำแหน่ง
หันกลับมามองที่บ้านเรา ตัวอย่างหนึ่งที่บทความนี้ยกขึ้นมาเปรียบให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นก็คือ กรณีของจังหวัดชลบุรีหรือ ‘พัทยา’ ที่มีเที่ยวต่างชาติจำนวนนับล้านคนเดินทางมาในแต่ละปี แต่อีกด้านหนึ่งที่สะท้อนความล้มเหลวในการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในมิติอื่นๆเข้ามาก็คือ เขาเหล่านั้น(อาจรวมทั้งเรา) กลับไม่รู้เลยว่าบริเวณแห่งนี้ คือแหล่งอารยธรรมเก่าเเก่และเป็นชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่ใหญ่มากแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ในทางโบราณคดีการค้นพบโครงกระดูก ‘เจ้าแม่แห่งโคกพนมดี’ นับว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญมากเลยทีเดียว)
เช่นเดียวกับที่ผู้เขียนทั้งสองของบทความชิ้นนี้ซึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และเข้ามีส่วนในโครงการค้นคว้าด้านโบราณคดีกับนักวิจัยชั้นนำของโลกในการศึกษาพื้นที่แถบ ‘ลุ่มแม่น้ำบางปะกง’ ซึ่งทำให้พบหลักฐานที่เชื่อได้ว่า พื้นที่เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทางทะเลที่ติดต่อกับ ‘เส้นทางสายไหมโบราณ’ เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นอีกหลายแห่งที่มีลักษณะคล้ายกันนี้ถูกค้นพบอยู่ทั่วประเทศไทย โดยพื้นที่เหล่านี้มีการค้นพบวัตถุโบราณนอกจากในส่วนของวัฒนธรรมร่วมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ยังมีที่มาจากอารยธรรมของเปอร์เซีย โรมัน กรีก และจีน อันเป็นเครื่องยืนยันว่าดินแดนในแถบประเทศไทยนี้เป็นแหล่งรวมทางวัฒนธรรมและวัตถุทางประวัติศาสตร์ที่หลากหลายทรงคุณค่า หากเทียบกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น ตุรกี อิตาลี และกรีซ ก็จะเห็นว่าพวกเขาต่างชื่นชอบการผสมผสานระหว่างเรื่องราวประวัติศาสตร์และความสวยงามของท้องทะเล แต่อดีตอันเต็มไปด้วยเรื่องราวและอารยธรรมอันเก่าแก่ของเรากลับถูกแยกขาดจากชายหาดอันเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเรา
บทความชิ้นนี้ ยังได้ตั้งประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งโดยเน้นว่าเป็นความตั้งใจของผู้เขียน นั่นคือ การสร้างความตระหนักถึงคุณค่าที่จะเกิดขึ้นจากการยกระดับคุณภาพของโครงการขุดค้นและปรับปรุงการบริหารจัดการพื้นที่ทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ ผ่านการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน
เพราะนอกจากเยาวชนไทยจะถูกค่านิยมทางสังคมลดทอนสำนึกทางคุณค่าต่อวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีแล้ว ปัญหาที่ยังคงฝังรากอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเราอีกประการคือ การมองว่าการลงทุนทางประวัติศาสตร์เป็นการลงทุนที่ไม่ทำให้เกิดกำไร ‘ภาคเอกชน’ มักมองการลงทุนทางมรดกและวัฒนธรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแคมเปญด้าน CSR เท่านั้น ส่วน ‘รัฐบาล’ ซึ่งมอบความรับผิดชอบในส่วนนี้แก่กรมศิลปกรจัดงบประมาณสำหรับการประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์ให้กับโครงการเช่นนี้น้อยที่สุดในหมู่โปรแกรมการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลทั้งหมด ในขณะที่ ‘ชุมชนท้องถิ่น’ มุ่งหาประโยชน์จากการขุดค้นวัตถุโบราณเพื่อมาขายทอดในตลาดมืดมากกว่าการดูแลรักษาซึ่งแท้ที่จริงสามารถนำมาพัฒนาเป็นหนึ่งในช่องในทางการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม บทความเสนอว่า อุตสาหกรรมการพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์นี้จะสามารถเติบโตร่วมไปกับอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆได้ ผ่านการสร้างจิตสำนึกด้านอัตลักษณ์ตัวตนและความเป็นเอกภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชน และท้ายที่สุด ผลของการพัฒนาเช่นนี้ก็กลับกลายเป็น ‘องค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์’ สำหรับศึกษาและพัฒนาต่อไป ดังนั้น ความสัมพันธ์ของมรดกทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจจึงอยู่ในรูปแบบที่ต่างฝ่ายต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน
ในประเทศไทยเราสามารถเห็นตัวอย่างของความสัมพันธ์ดังที่กล่าวมานี้ได้จาก ‘แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง’ ซึ่งได้ก่อให้เกิดการขยายผลขุดค้นแหล่งโบราณคดีในบริเวณใกล้เคียง และเกิดการสร้างงานจากการเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยว อาทิ การขายของที่ระลึกเครื่องปั้นดินเผาและการผลิตสินค้าหัตถกรรมชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างความสำเร็จเช่นนี้ในต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ในเมืองบอดรัม ประเทศตุรกี ที่ได้พลิกพื้นที่ทำสวนไร่นาและทำประมงให้กลายเป็นแหล่งพื้นที่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (creative industries)
จากบทความนี้ประกอบกับเมื่อไม่นานนี้ ทาง IMP ได้เข้าไปมีส่วนในการออกแบบเครือข่าย ‘เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ’ 5 จังหวัด ได้แก่ ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี ทำให้ศักยภาพของความเป็นเครือข่ายและที่สำคัญคือ ท่ามกลางการเติบโตขึ้นเป็น ‘เมืองอุตสาหกรรม’ เหล่านี้ เรามองเห็นถึงความพยายามจากภาคเอกชนหลายๆแห่งที่พร้อมจะร่วมเติบโตเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตเล็กๆที่น่าสนใจเช่นเดียวกันว่า เมืองทั้ง 5 แห่ง ล้วนเป็นแหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและมีความเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นฉะเชิงเทราที่เจ้าของบทความดังที่กล่าวมาบ้างแล้ว หรือการค้นพบเรือเปอร์เซียโบราณที่มีอายุกว่าพันปีที่ล่มลงตรงบริเวณจังหวัดสมุทรสมุทรสาครอันสะท้อนความเป็นเมืองท่าเก่าแก่ก่อนการถือกำเนิดของกรุงศรีอยุธยา เมืองโบราณศรีมโหสถในยุคทวารวดี ที่จังหวัดปราจีนบุรี หรือกระทั่งแหล่งโบราณสถานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ต่างๆที่พบในจังหวัดระยองอันเป็นแหล่งอารยธรรมภาคตะวันออกที่สำคัญซึ่งเหล่านี้ล้วนมีเรื่องราวและเรื่องเล่าที่เชื่อมร้อยกันและสามารถพัฒนาไปต่อได้
ที่มาภาพ : ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในอนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๕๔ ฉบับที่ ๑๐ ประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๕๗
แม้ว่าเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอาจจะให้น้ำหนักไปที่ด้านสิ่งแวดล้อม หากแต่จะคิดต่อรวมไปถึงการจัดการ ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ หรือมิติอื่นๆด้วยแล้ว การพัฒนาอย่างยั่งยืน ความภาคภูมิใจ และโอกาสเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่ทั้งคนในและนอกพื้นที่สามารถทำร่วมกันได้โดยไม่เกิดความขัดแย้งและมันน่าจะเป็นปลายทางของความพยายามที่เกิดขึ้นได้จากผู้คนทุกภาคส่วนนี้