"ปากกาหนึ่งด้าม หนังสือหนึ่งเล่ม" กับเด็กหญิง มาลาลา ยูสซาฟไซ


ปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างมากมาย ในปากีสถานเองก็เช่นกัน มาลาลา ยูสซาฟไซ เป็นคนหนึ่งที่รับผลกระทบดังกล่าว ชื่อของเธอเริ่มเป็นที่รู้จักหลังการเขียน Blog ผ่านสำนักข่าว BBC ของอังกฤษ โดยใช้นามแฝงว่า “กุลมาไค” ( گل مکئ  เป็นภาษาถิ่นภาษาหนึ่งในปากีสถาน มีความหมายที่สื่อถึง ผู้หญิงที่เป็นวีรสตรีจากนิทานพื้นบ้าน)

มาลาลา ใช้พื้นที่สื่อสารบนโลกออนไลน์ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ภายใต้การปกครองในเขตอิทธิพลของกลุ่มตาลีบัน ทั้งเรื่องการสั่งห้ามเด็กผู้หญิงไปโรงเรียน การห้ามเด็กหญิงสวมเสื้อผ้าสีสดใส ไปจนถึงสถานการณ์ความวุ่นวายภายในประเทศ และการแก้ปัญหาอย่างฉาบฉวยของรัฐบาล บันทึกผ่านBlog ทำให้เธอเป็นที่ยอมรับ  ชื่นชม และให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆเรียกร้องเรื่องการศึกษา สิทธิเสรีภาพ และรับรางวัลต่างๆอย่างต่อเนื่อง มาจนถึง ตุลาคม ปี 2012 มาลาลา ถูกยิงบริเวณศีรษะด้านซ้ายมือด้วยฝีมือของกลุ่มตาลีบันขณะโดยสารอยู่บนรถบัสหลังโรงเรียนเลิก อาการของเธอสาหัสจนต้องถูกส่งตัวไปรับการรักษาในประเทศอังกฤษ เรื่องราวของเธอถูกนำมาสร้างเป็นสารคดี ถูกพูดถึงไปทั่วโลก จน ได้รับเลือกจากนิตยสาร Time เป็นบุคคลแห่งปี 2012

หลังรอดตายอย่างปาฏิหาริย์ในปี 2013  มาลาลา ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบล ในสาขาสันติภาพ ถือเป็นผู้เข้าชิงที่มีอายุน้อยที่สุดเพียง 16 ปี  นอกจากนั้น เธอยังได้รับรางวัลเกียรติยศสูงสุดด้านมนุษยชนของ Amnesty International award ไปจนถึงรางวัลสิทธิมนุษยชน "ซาคารอฟ" และอื่นๆอีกมากมาย มาลาลา ยังถูกเชิญจากองค์การสหประชาชาติให้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2013 ที่จัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติแก่เธอในเรื่องแนวคิดการต่อสู้เรียกร้องการศึกษาสำหรับเด็กและสตรี  จึงเรียกวันนี้ว่า "Malala  Day" โดยสุนทรพจน์ของมาลาลา ได้กล่าวไว้คร่าวๆ ดังนี้

มีนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและคนทำงานด้านสังคมหลายร้อยคน ที่มิได้ลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิของตัวเองเท่านั้น แต่ต่อสู้เพื่อบรรลุเป้าหมายของการสร้างสันติภาพ การศึกษา และความเท่าเทียม มีคนหลายพันคนถูกผู้ก่อการร้ายฆ่า และบาดเจ็บอีกหลายล้านคน ข้าพเจ้าเป็นเพียงหนึ่งคนในนั้น กลุ่มตาลิบันได้ยิงข้าพเจ้าที่ศีรษะข้างซ้าย พวกเขายังยิงเพื่อนของข้าพเจ้าด้วย พวกเขาคิดว่ากระสุนจะทำให้เราเงียบเสียงได้ แต่พวกเขาล้มเหลว และจากความเงียบงันนั้นยิ่งมีเสียงนับพันก่อเกิดขึ้น

"พวกก่อการร้ายคิดว่าจะทำให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนเป้าหมายและหยุดความตั้งใจได้  แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปในชีวิตของข้าพเจ้าเลย ข้าพเจ้ามาพูดที่นี่เพื่อสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาสำหรับเด็กทุกคน ข้าพเจ้าต้องการให้ลูกหลานของตาลีบัน และกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ได้รับการศึกษาเช่นเดียวกัน เราจะเห็นความสำคัญของแสงสว่างเมื่อเรามองเห็นความมืดมน เราเห็นความสำคัญของเสียงเมื่อเราถูกทำให้เงียบงัน เช่นเดียวกัน เมื่อเราอยู่ในเขตสวาต ตอนเหนือของปากีสถาน เราเห็นความสำคัญของปากกาและหนังสือ เมื่อเราเห็นปืน มีคำพูดที่กล่าวว่า "ด้ามปากกาทรงพลังกว่าดาบ" มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ

"วันนี้ ข้าพเจ้าเน้นเรื่องสิทธิผู้หญิงและการศึกษาของเด็ก เพราะพวกเขาทนทุกข์ที่สุด แต่ก่อนนักเคลื่อนไหวผู้หญิงจะขอให้ผู้ชายช่วยลุกขึ้นยืนและช่วยต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเขา แต่ตอนนี้เราจะทำด้วยตัวเองเราเรียกร้องต่อรัฐบาลทุกแห่งให้รับรองว่าจะจัดการศึกษาภาคบังคับที่ฟรีทั่วโลกสำหรับเด็กทุกคน เราต้องการให้มีโรงเรียนและการศึกษาสำหรับอนาคตที่สดใสของเด็กทุกคน ฉะนั้นขอให้เราร่วมกันต่อสู้กับการไม่รู้หนังสือ ความยากจน และการก่อการร้าย ให้เราหยิบหนังสือ ปากกาของเราขึ้นมา มันเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุด เด็กหนึ่งคน ครูหนึ่งคน หนังสือหนึ่งเล่ม และปากกาหนึ่งด้ามสามารถเปลี่ยนโลกได้ การศึกษาเป็นวิธีแก้ปัญหาทางเดียว การศึกษาต้องมาก่อน

หลังเป็นเจ้าของสถิติผู้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ที่มีอายุน้อยที่สุด ในปี 2014  ชื่อของ มาลาลา  กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก  เรื่องราวของเธอถูกตีพิมพ์ออกเป็นหนังสือในชื่อ “I Am Malala”  ปัจจุบันเธอยังคงเคลื่อนไหวและรณรงค์เพื่อการศึกษาของเด็กทั่วโลก  สำหรับรางวัลโนเบลที่ได้รับมานั้นเธอกล่าวว่า

มันเป็นรางวัลสำหรับเด็กที่หวาดผวาและต้องการสันติภาพ และรางวัลสำหรับเด็กที่ไม่มีปากมีเสียง ผู้ต้องการการเปลี่ยนแปลง

บันทึกและสุนทรพจน์ฉบับเต็ม อ่านได้ที่

http://prachatai.com/journal/2013/07/47683

http://www.bbc.co.uk/news/magazine-19899540

http://www.komchadluek.net/detail/20141211/197517.html

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube