เกษตรอินทรีย์ อินดี้มีสไตล์


 

อิทธิพลของการค้าในโลกออนไลน์ยิ่งมากขึ้น มูลค่าการค้าที่พุ่งทะยาน ก็ยิ่งล่อตาล่อใจมากขึ้นเท่านั้น มนุษย์เงินเดือนหลายคนคืนถิ่นเกิด หวังสร้างทางสายใหม่เป็นของตนเอง ประสบความสำเร็จก็มาก ซับน้ำตาแทบไม่ทันก็เยอะ

ที่สุดแล้วความสำเร็จนั้นหนีไม่พ้นการทุ่มแรงกายเทแรงใจ และศึกษาอย่างจริงจัง

มาเล่นๆไม่ได้…!!!

มีกรณีศึกษาเกษตรสายพันธุ์ใหม่ เป็นเกษตรอินทรีย์ อินดี้มีสไตล์ ไปรู้จักกับเขาเลยครับ

 

....

 

“นิวัฒน์ โพสาวัง” หรือชาวบ้านเรียก “หมอโต้ง” เจ้าของสวนผักอินทรีย์ที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติที่งดงามแห่งเทือกเขาภูพาน ดินดีน้ำดีบรรยากาศดี ผลผลิตมีความสมบูรณ์ มีรสชาติเฉพาะที่แม้ใครได้ชิมเพียงครั้งก็อนุมัติใจเป็นลูกค้าประจำได้ไม่ยาก

 

 

“หมอโต้ง” เกษตรอินดี้ แห่งบ้านบัว ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ใช้ที่ดินอันเป็นมรดกตกทอดของครอบครัวจำนวน 1 ไร่ พลิกฟื้นผืนดินสร้างแนวทางอันเป็นของตัวเอง วันแรกๆที่เขาลงมือสร้างทำก็ได้รับเสียงแซ่ซ้องจากชาวบ้านว่าบ้า ที่ทิ้งอาชีพการงานที่มั่นคงมาคลุกฝุ่น แถมทำอะไรต่างจากชาวบ้าน

 

 

ก่อนมาลุยเกษตร “หมอโต้ง” เป็นข้าราชการกรุงเทพมหานคร สังกัดสำนักการแพทย์ เรียนจบจากคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯร่วม 10 ปี ลาออกคืนสู่อ้อมกอดบ้านเกิดเมื่อปี 2560 โดยมีหมุดหมายในใจว่าจะทำเกษตรอินทรีย์ เพราะรู้ดีว่าสุขภาพจะดีควรได้บริโภคสิ่งดีๆเข้าสู่ร่างกาย

 

 

เทรนด์สุขภาพยังไปได้สวย

 

 

“หมอโต้ง” ตระเวนศึกษาหาความรู้ไปเข้าอบรมทุกที่ เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์บนทางสายใหม่ที่เลือก และลงมือทำไปด้วย เพื่อไม่ให้ว่าง ไม่ให้ฟุ้งซ่าน ในปีแรกๆปลูกพริก ปลูกมะเขือ ปลูกอะไรเหมือนๆรุ่นพ่อรุ่นแม่ทำ แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นตอบสมมุติฐานเดิมๆได้ว่า ทำอย่างเดิมย่อมเห็นผลเช่นเดิม จึงเปลี่ยนแนวทันที

 

กลางปี 2561 เริ่มวางแผนปลูกผลักสลัดแบบอินทรีย์ ใช้เมล็ดพันธุ์จากเชียงใหม่ ยกแปลงวางระบบน้ำ ประยุคทุกอย่างจากที่ได้เรียนมา ระหว่างลงมือก็มีชาวบ้านแวะมาเยือนเป็นระยะๆ ทั้งให้กำลังใจทั้งหัวเราะเยาะ ส่วนมากจะเป็นประการหลัง

 

ผักสลัดเริ่มงามเป็นลำดับ จากเสียงหัวเราะเริ่มเป็นเสียงชื่นชมระหว่างที่ลงมือปลูกสลัดเขาใช้เฟสบุ๊ค โพสภาพบรรยากาศให้เพื่อนๆได้เห็นเป็นระยะๆ สลัดรุ่นแรกตัดขายเมือเดือนกันยายนถึงสิ้นปีก็หมด

 

การตลาดเกิดขึ้นแบบปากต่อปากด้วยความบังเอิญ เมื่อเขาส่งให้เพื่อนๆได้ชิมในครั้งแรก ต่างติดใจในรสชาติ ครั้งที่ 2 เพื่อนๆยื่นคำขาดหากไม่คิดตังค์ก็จะเลิกคบ จึงเป็นที่มาของการค้าออนไลน์เวลาที่ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด รถหน่วยบริการเคอร์รี่วิ่งมารับสินค้าถึงหน้าบ้านเพื่อไปกระจายยังพื้นที่ต่างๆ

 

ราคาขาย ในพื้นที่จะตกอยู่ที่ต้นละ 3 – 7 บาท แต่ส่งทางไกลคราคาจะตกอยู่ที่ 17-20 บาท ซึ่งราคาไม่ใช่อุปสรรคใหญ่เพราะผู้บริโภครู้แหล่งที่มาเป็นอย่างดีทุกขั้นตอนจากเฟสบุ๊คยิ่งสร้างความมั่นใจ

 

 

“หมอโต้ง” พูดเรื่องรายได้อย่างถ่อมตนว่าแค่พออยู่ได้ ไม่ลำบากมากสิ่งที่เป็นกำไรมากที่สุดคือความสุขของชีวิตที่ได้อยู่กับธรรมชาติ ได้ทำในสิ่งที่ฝัน และไม่ทิ้งอาชีพที่รักนั่นคือการเปิดคลีนิกเล็กๆเพื่อเยียวยาคนในพื้นที่แค่นี้ก็สุขแล้ว

 

ลองคำนวณเล่นๆต่อรุ่นการผลิต สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรอินดี้รายนี้ได้เท่าไร

 

พื้นที่ 1 ไร่ ทำแปลงปลูก 30 แปลง 120-150 ต้น / แปลง ราคาขาย ตลาดในพื้นที่ 3-7 บาท ตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้นอีก 2 เท่า คำนวณคร่าวๆ ได้ไม่ต่ำกว่า 1,500 บาทต่อแปลง โดยรวมแล้วก็ไม่ต่ำกว่า 45,000 บาทต่อรุ่น

 

“หมอโต้ง” บอกว่ารอบการผลิตใช้เวลา 2 เดือน  1 ปี ทำได้ทั้งหมด 6 เดือน เท่ากับทำสลัดได้ 3 รอบ เงินแสนไหลเข้ากระเป๋า แถมคืนความสุขกลับมาสู่ชีวิตอีกด้วย

 

นายแน่มาก!!!

 

 

……

 

อีกรายมาแนวร้ายกาจมาก ตั้งชื่อสวนอย่างเท่ห์ๆว่า “สวนฮิตเลอร์” อยู่ที่บ้านชาด ตำบลขามป้อม อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น เจ้าของสวนคือ “อภิชาต เพ็งวิชา” หรือ “คิง”

 

“คิง” นำเอาความทรงจำที่เขามีต่อน้องชายผู้จากไปมาตั้งเป็นชื่อสวน เพราะโดยบุคลิกส่วนตัวของ “คิง” เป็นคนดิบๆห่ามๆ รั้นๆอยู่ในที เวลาอยู่ด้วยกันกับน้องชายมักขบเหลี่ยมกัน น้องชายจึงเรียกขานว่า “ฮิตเล่อร์” จึงนำคำนี้มาตั้งชื่อสวน เป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำ

 

 

“คิง” เรียนจบด้านการตลาดจากมหาวิทยาลัยศรีปทุม กรุงเทพฯ จบมาทำงานเป็นนักการตลาดอยู่บริษัทข้ามชาติชั้นนำ อักษรตัวหน้า S อักษรตัวหลังสุด G เงินเดือนก่อนลาออก ตกราว 30,000 บาท

 

ปี 2557 กลับบ้านมาค้นหาตัวตนอีกครั้งว่าเหมาะสมที่จะวางตำแหน่งทางการตลาดให้ตนเองที่จุดไหน กับต้นทุนที่ดินดั้งเดิมของครอบครัวราว 20 ไร่ ที่นากับฝูงวัว จึงเป็นต้นทุนที่เขาต้องต่อยอดด้วยตัวเอง

 

2557 – 2560 “คิง” บอกว่าต้องกินบุญเก่าจากเงินเก็บที่พอมีติดตัว เพื่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ พยายามบริหารต้นทุน ค่อยๆพลิกฟื้นผืนดินปลูกๆ และปลูก พืชผักหลากหลาย ทำไร่นาแบบผสมผสานบางสิ่งบางอย่างที่ทำแตกต่างออกไปจนชาวบ้านว่าบ้า อีกนั่นละ

 

วิถีแห่งนักการตลาด การจัดการต้นทุนได้ดีส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำกำไร เขาจึงศึกษาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมูลวัว โดยพัฒนาน้ำหมักจุรินทรีย์สูตรต่างๆผสมลงไปในมูลวัว กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพ ผลิตเพื่อใช้เอง เหลือจากนั้นก็คือขาย

 

 

“สวนฮิตเลอร์”สามารถสร้างรายได้ทุกวัน ผมชวนคุยเรื่องรายได้ที่ไหลเข้ามา มีทั้งรายได้รายวัน รายเดือน รายปี ถอดรูทสูตรสำเร็จจากทฤษฏีใหม่เป๊ะ

 

รายได้รายวัน จากการขายปุ๋ยมูลวัว และผักสวนครัว (ข่า ตระไคร้ พริก) ซึ่งไม่ต้องเร่ขายที่ไหนมีคนเข้ามาซื้อถึงที่ ราว 600 – 800 บาท

รายได้รายเดือน จากการขายกุ้ยช่ายขาวปลูกแบบอินทรีย์ ราว 30,000 บาท (เก็บ 15 วัน / ครั้ง)

รายได้รายปี จากการขายวัวที่ตกลูกให้ทุกปี ราว 250,000 บาท

 

 

 “คิง” ได้รับคัดเลือกให้เป็นยัง Yong smart farmer ของอำเภอพระยืน และเปิดสวนให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงาน สามารถรองรับคณะศึกษาดูงานกลุ่มย่อมๆไม่เกิน 50 คนได้อย่างสบาย ระหว่างที่พาไปศึกษาเรียนรู้ ณ ฐานต่างๆ เมื่อถึงเวลาอาหาร

 

 

สวนฮิตเล่อร์ จะกลายร่างเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดย่อมๆ ทุกอย่างที่อยู่ในสวนจะถูกนำมาแปรรูปเป็นอาหารอันโอชะให้คณะศึกษาดูงานได้อิ่มหน่ำ เป็นการเรียนรู้แบบดูอิ่มทั้งกายใจไปตามๆกัน

 

นายแน่มาก!!!

 

.....

 

เรื่องราวของเกษตรอินดี้ ทั้งสองรายสะท้อนให้เห็นถึงวิถีการสร้างทางสายใหม่ที่ไม่ย่ำรอยเดิม สิ่งสำคัญที่ค้นพบจากกรณีศึกษานี้คือการเรียนรู้อย่างจริงจัง สร้างช่องทางการตลาดที่สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป  ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นทั้งสองมีฐานคิดอันเดียวกันที่น่าชื่นชมคือ อยากขยายความสำเร็จไปยังพี่น้องในพื้นที่ อย่างน้อยก็สร้างความกินดีอยู่ดีให้แก่พ่อแม่พี่น้องลุงป้าน้าอา ซึ่งทุกคนก็ล้วนแต่เคยเห็นพวกเขาเมื่อครั้งยังเด็กๆ ก่อนจะกลายมาเป็น เกษตรอินทรีย์สายพันธุ์ใหม่  เป็นเกษตรอินดี้ที่สร้างความแตกต่างอย่างเห็นผล

 

 

สู้ต่อไปครับ เป็นกำลังใจให้พวกนายนะ

 

 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube