วินเทจคาร์ รถถังพลังรัก


 

 

วินเทจคาร์   

รถถังพลังรัก

 

 

“ความรัก” มีพลานุภาพมหาศาล พลังแห่งรักทำได้ทุกอย่าง สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกตัวเองว่า “กระป๋องคาร์” รถยนต์วิจเทจ จากเศษวัสดุก็เช่นกัน มันคือผลผลิตที่มาจากพลังแห่งรักล้วนๆ

 

 

“วัชรพงษ์ พาพาน” หรือ “ต้อง กระป๋องคาร์” หนุ่มนักประดิษฐ์ แห่งหมู่บ้านหนองจิก ต.พระธาตุ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ทุ่มเทกำลังกายผสานพลังรัก ใช้ทักษะช่างที่มีอยู่ในตัว อันได้มาจากการผจญภัยเป็นลูกจ้างทั่วสารทิศ สร้างสิงประดิษฐ์จากเศษวัสดุเหลือใช้เพียงเพื่อเป็นของขวัญวันเกิดให้กับลูกชาย หมายใจให้ลูกชายและทุกคนในครอบครัวจดจำสิ่งประดิษฐ์นี้ไปชั่วชีวิต!!!

 

 

“จุดเริ่มแค่อยากให้ของขวัญวันเกิดลูกชาย แค่อยากให้เขาจดจำในสิ่งพ่อได้ทุ่มเทสร้างให้เขา แต่พอเริ่มมีคนเห็นผ่านโลกโซเชียล ก็ติดต่อขอให้ผลิตให้ จึงได้ทุ่มเทอย่างจริงจังและลาออกจากงานประจำกลับมาอยู่บ้าน อยู่กับครอบครัว เริ่มผลิตเพื่อขายตามออร์เดอร์ลูกค้าจริงๆตอนนี้ขายออกไปแล้ว 14 คัน ลูกค้ามาจากหลายที่ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ก็ซื้อไปขับเล่น ตกแต่งร้าย ออกงานโชว์”

 

 

“ช่างต้อง” เล่าถึงจุดเริ่มเล็กๆ ก่อนขยายกลายเป็นธุรกิจขนาดย่อมของคนช่างฝัน

 

 

ถังน้ำมันเปล่าขนาดบรรจุ 200 ลิตร วางเรียงรายอยู่ริมรั้งข้างบ้านหลายสิบถังนั่นเป็นวัตถุดิบต้นทางราคาถูก แต่สามารถสร้างมูลค่าได้อีกโข เมื่อผสานเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ “ช่างต้อง” ออกตัวไว้ตั้งแต่แรกที่ได้คุยกัน เขาบอกเสมอว่าผมไม่ได้เรียนจบขั้นสูงจากสถาบันไหน วุฒิการศึกษาอย่างเป็นทางการคือ ม.ปลาย จากกศน. แค่ใจรักและมีทักษะทางช่างมา เคยไปทำงานเป็นลูกจ้างร้านซ่อมมาแล้วหลายแห่ง ออกจากบ้านเกิดไปหาทำงานต่างถิ่นเหมือนลูกหลานชาวอีสานคนอื่นๆ ครูพักลักจำจากการทำงานในที่ต่างๆมาปรับใช้จนสามารถหาเลี้ยงชีพได้

 

 

“ชีวิตผมก็เคยออกจากบ้านไปทำงานหลายที่เหมือนเพื่อนๆในหมู่บ้าน เคยทำงานที่ จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.ลพบุรี งานที่ทำส่วนใหญ่เป็นด้านช่างเชื่อม อายุเกณฑ์ทหารก็จับได้ใบแดง ฝึกทหารที่ค่ายใน จ.ขอนแก่น ปลดประจำการก็ไปหาทำงาน ชีวิตก็วนๆอยู่อย่างนี้ ปลายปี 2560 ผมนั่งดูปฏิทินอีกไม่กี่วันจะเป็นวันเกิดของลูกชาย อยากให้ของขวัญวันเกิดเขาสักชิ้น รถยนต์ของเล่นที่เคยเห็น รถโบราณต้นแบบที่เขามีขาย (อยากได้ใจจะขาด) ราคาสูงมาก อยากได้ก็คงไม่มีปัญญา

 

 

ผมมองเศษวัสดุรอบๆตัว เหลือบไปเห็นถังน้ำมันเก่า มันก็น่าจะทำอะไรได้หลายๆอย่าง จากนั้นก็เริ่มออกแบบวางโครงร่างคร่าวๆในหัว แล้วค่อยๆหาวัสดุต่างๆ ไปหาซื้อเศษเหล็กจากร้านของเก่า เอาเงินเก็บที่มีอยู่ไปซื้อเครื่องยนต์ (เครื่องเอนกประสงค์ทางการเกษตร) รวบรวมของได้ก็ลงมือทำคันแรกขึ้นมาและมอบให้ลูกชายเป็นของขวัญแห่งความภูมิใจ”

 

 

จากจุดเริ่มเล็กๆ ดังกล่าวบวกด้วยพลังแห่งโซเชียล กลายเป็นธุรกิจเล็กๆที่เขาสามารถลาออกจากงานมาอยู่กับครอบครัวมีรายได้ประจำแบบพออยู่ได้

 

 

 

“หลังจากรถต้นแบบออกมา ผมก็โพสลงเฟสฯบุ๊คตามปกติ เริ่มมีคนไลค์คนแชร์มากขึ้น ถามเข้ามามากขึ้นมีคำสั่งซื้อเข้ามาล๊อกแรก 3 คัน ลูกค้าจาก จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.ขอนแก่น จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ผมออกแบบและผลิตให้ตกคันละ 39,000 -57,000 บาท (แล้วแต่ออฟชั่น) แนวคิดจากรถโบราณที่เราเคยจากภาพเก่าๆสมัยรัชการที่ 5 ใช้เศษวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่นเป็นหลัก

 

พูดถึงเรื่องกำไรในราคาที่ผมทำนี้ถ้าดูจากตัวเลขถือว่าไม่มากมายอะไร ผมคิดค่าแรงให้ตัวเองวันละ 400 บาท ต่อคันผมใช้เวลา 25-30 วัน ตีตามตัวเลขแล้วประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน แค่นี้ก็ถือว่าอยู่ได้แล้ว สิ่งที่ได้มากกว่าคือความสุขที่ได้อยู่กับครอบครัว ช่วงที่ไม่ออร์เดอร์รถ ผมก็ทำไม้กวาดขายซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของครอบครัว คิดแค่นี้ก็มีกำไรแล้วครับ”

 

“ช่างต้อง” พยายามสื่อความหมายว่ากำไรที่สุดของชีวิตคือ “กำไรความสุข” ที่ได้อยู่กับครอบครัว ใช้ทักษะที่มีอยู่มาประกอบสัมมาอาชีวะ มันคือความสุขที่ยั่งยืนที่สุขนั่นเอง

 

ผมค่อยๆชวนคุยถึงเทคนิคการขับเคลื่อนของรถยนต์ ซึ่งช่างต้องอธิบายมาเป็นฉากๆ เทคนิคที่พรั่งพรูจนผมต้องแซวกลับว่านี่กำลังคุยกับ “ช่างต้อง” นาดูน หรือกำลังคุยกับกับหัวหน้าวิศวกรเครื่องยนต์จากค่ายรถยักษ์ใหญ่กันแน่ โดยสรุปช่างต้องไม่ธรรมดา

 

เทคนิคที่พรั่งพรูออกมาผมจับใจความได้ว่า

 

รถที่ช่างต้องประดิษฐ์มี 2 แบบ แยกตามการวางเครื่อง แบบแรกใช้เครื่องยนต์อเนกประสงค์หรือเครื่องสูบน้ำเพื่อการเกษตร 6.5 แรงม้า กับอีกแบบใช้เครื่องยนต์รถมอร์ไซต์ขนาด 125 ซีซี มีโซ่เป็นตัวขับเคลื่อน ออกแบบตกแต่งภายนอกตามใจชอบแต่ก็มีกลิ่นอายความคลาสสิคโบราณ

 

เรื่องการขับการเดินทางไปไหนมาไหนหายห่วงเพราะช่างต้องขับทดลองมาแล้ว สารคาม-ร้อยเอ็ด (ถ้าทางบ้านไม่เรียกกลับมาก่อน สงสัยแกคงขับเตลิดไปอีกไกลโข)

 

สิ่งประดิษฐ์แห่งความภาคภูมิใจนี้ ช่างต้องกำลังดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องการจดสิทธิบัตรอย่างเป็นทางการ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความภาคภูมิใจ ผลงานการประดิษฐ์ อันมีต้นทางจากพลังแห่งความรัก “วินเทจคาร์”  

 

สู้ต่อไปเป็นกำลังใจให้เด้อ “ช่างต้อง”

เป็นกำลังใจให้ครับ

 

 

หมายเหตุ : หากพี่น้องท่านใดสนใจอยากได้องค์ความรู้ หรืออยากมีไว้ใช้สักคัน ประสานไปได้ที่เฟสฯ Watcharaphong Phaphan

 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube