กระท่อมไม้ไผ่ประกายไอเดีย สร้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชน


 

กระท่อมไม้ไผ่ประกายไอเดีย

สร้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชน

 

 

ไม้ไผ่เอ่ย ทำอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ ทำ.................ก็ได้ (เติมคำในช่องว่าเท่าที่นึกได้ว่า ไม้ไผ่สามารถทำอะไรได้บ้าง)

ไม้ไผ่เอ่ย ทำอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ ทำ.................ก็ได้

ไม้ไผ่เอ่ย ทำอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ ทำ.................ก็ได้

.

.

.

ไม้ไผ่เอ่ยทำอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ ทำ “กระท่อมไม้ไผ่” ก็ได้

 

ผมนึกถึงเกมสนุกๆเมื่อครั้งเข้าค่ายลูกเสือ ฐานเรียนรู้ไม้ไผ่สารพัดประโยชน์ ครูฝึกพาปรบมือร้องเพลง เวียนกันรอบวงเพื่อค้นคิดแง่มุมว่าเราทำอะไรได้บ้างจากไม้ไผ่ ใครตอบช้าไม่ทันเวลาก็จะได้รับการลงโทษพอหอมปากหอมคอ

 

“กระท่อมไม้ไผ่” หลากดีไซน์สารพัดประโยชน์ใช้สอย ที่ “ร้อยพลัง” หยิบเรื่องราวมาเล่าในตอนนี้ เป็นผลงานการสร้างสรรค์โดยนายทหารหนุ่มนักพัฒนา แห่งหมู่บ้านซำภู ต.ช้างตะลูด อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ที่ใช้ทักษะชีวิตจากการทำงานเป็นหน่วยเคลื่อนที่ตามแนวชายแดนตั้งแต่เริ่มรับราชการทหาร การใช้ชีวิตแบบทหารต้องมีความเอนกประสงค์อยู่ในตัว ต้องทำได้ทุกอย่าง ที่ผ่านมาเคยสร้างเพิงพักชั่วคราว สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการดำรงชีวิตด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่พอหาได้ เอาเท่าที่มีแต่ต้องทำให้ดี จึงได้นำทักษะตรงนั้นนำพาชาวชุมชนที่ยังว่างงานอยู่ สร้างกระท่อมไม้ไผ่ เป็นงานสร้างรายได้จุนเจือครอบครัวอีกทางหนึ่ง

 

หมวดโจ้ ร.ท.พนม พลกัลป์ นายทหารหนุ่มผู้ริเริ่มสร้างกระท่อมไม้ไผ่ บอกเล่าที่มาที่ไปว่า

 

 

“ราวปี 2558 เป็นจุดเริ่มของการสร้างกระท่อมไม้ไผ่ เนื่องจากเห็นพี่น้องในพื้นที่จำนวนหนึ่งที่ทำสวนไผ่ ปลูกไผ่ตงตัดหน่อ แต่ราคาตกต่ำจนชาวบ้านคิดจะโค่นไผ่ทิ้ง เพื่อนำที่ดินไปทำอย่างอื่น ในฐานะเป็นคนในพื้นที่ทราบดีว่าวิถีเกษตรกรมักต้องเผชิญกับความผันผวนเรื่องราคา พยายามคิดหาโมเดลเพื่อช่วยเหลือพี่น้องให้มีรายได้เพิ่ม จึงนึกถึงตอนลงพื้นที่ตามแนวชายแดนได้นำไม้ไผ่ มาสร้างเป็นเพิงพักชั่วคราว ใช้ไม้ไผ่สร้างซุ้มพิธีการ หรืออื่นๆอีกมากมาย ก็ใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบต้นทางทั้งสิ้น ชาวบ้านเริ่มตัดโค่นต้นไผ่ จึงขอซื้อลำไผ่มาไว้ แล้วชักชวนคนในชุมชนที่มีทักษะด้านงานช่างมาช่วยกันคิด ช่วยกันออกแบบสร้างเป็นซุ้มไม้ไผ่หน้าบ้าน ก่อนจะขยับขยายกลายมาเป็นกระท่อมไม้ไผ่ทั้งหลัง”

 

 

หมวดโจ้ ค่อยๆนำพาพี่น้องในชุมชนสร้างกระท่อมไม้ไผ่ และภาชนะเครื่องใช้ไม้สอยอื่นๆจากไม้ไผ่ เรื่อยมาจนปัจจุบันกำลังขับเคลื่อนให้กลายเป็นกลุ่มอาชีพเป็นศูนย์เรียนรู้ เป็นโมเดลต้นแบบ ที่พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนอื่นๆไปปรับใช้ ในนาม “กลุ่มกระท่อมไม้ไผ่บ้านซำภู” งานสร้างกระท่อมไม้ไผ่สามารถช่วยให้ชาวชุมชนราว 20 ครอบครัวมีรายได้ตกอยู่ประมาณ 8,000-10,000 บาท ต่อเดือน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามออร์เดอร์ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

“ลูกค้าที่สั่งทำกระท่อมไม้ไผ่และที่ส่งมอบไปแล้วมีอยู่เกือบทั่วประเทศ ทางเหนือไปถึงเชียงราย ทางใต้ไปถึงหัวหิน ทางอีสานก็เกือบทุกจังหวัด ลูกค้ามาจากปากต่อปากและการเข้ามาดูที่หน้าเฟสบุ๊ค ราคาของกระท่อมที่เคยทำเริ่มต้นที่ 25,000 – 50,000 บาท ทำงานตามออร์เดอร์ แชร์ไอเดียกันระหว่างคนทำกับคนสั่ง เพื่อให้เกิดความพอใจ ลูกค้าส่วนใหญ่ที่สั่งทำกระท่อมไม้ไผ่ก็จะนำไปเปิดให้บริการเป็นบ้านพักขนาดเล็กตามรีสอร์ท หรือนำไปทำเป็นร้านกาแฟ หรือที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจ”

 

นับจากจุดเริ่มจนถึงปัจจุบันที่หมวดโจ้ ริเริ่มสร้างงานกระท่อมไม้ไผ่ โดยใช้วัตถุดิบจากสวนของเกษตรกรที่กำลังจะโค่นทิ้ง รวมถึงไม้ไผ่จากหัวไร่ปลายนา ที่มีราคาต่อลำไม่กี่สิบบาทเพิ่มมูลค่าสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว อย่างน้อยก็เป็นการเติมเต็มความสุขจากการสร้างอาชีพที่เกิดจากสิ่งใกล้ตัว กระท่อมไม้ไผ่ ถูกส่งมอบให้ลูกค้าไปแล้ว ราวร้อยกว่าหลัง และมีคำสั่งซื้ออยู่ในมือจำนวนหนึ่ง ถือว่าอัตราการขยายตัวดีมาก เพื่อการันตีความยั่งยืนแห่งอาชีพ ผมจึงตั้งคำถามชวนคิด เพื่อวาดอนาคตร่วมกันให้เกิดการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง   

 

หมวดโจ้ ขมวดปมเพื่อสรุปประเด็นอย่างน่าสนใจว่า

 

“การสร้างงานร่วมกับพี่น้องในชุมชน ถือเป็นความสุขสูงสุดอีกอย่างของชีวิต เพราะเป็นการเดินตามรอยปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 9 เราทำเท่าที่มีแรง เท่าสร้างเท่าที่สร้างได้ไม่ทำอะไรเกินตัว ในอนาคตที่มองร่วมกันคือเราจะสานต่อสิ่งที่ทำอยู่แตกแขนงออกไปให้มากขึ้น กระจายกลุ่มให้เกิด  รายได้ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน แต่มีแรงพอที่จะทำงานได้เราก็ให้ทำงานด้านเรื่องจักสาน สานระแนงไม้ไผ่เพื่อ ใช้ในงานโครงสร้างของกระท่อม ทำเฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง ทำโคมไฟ ทำเครื่องประดับ โดยจะออกแบบให้มีสไตล์ร่วมสมัย ซึ่งเริ่มทดลองทำไปบ้างแล้ว

ขณะที่กลุ่มคนที่มีพลัง มีไฟ จะค่อยๆพัฒนายกระดับให้เขาเข้ามาเป็นช่างฝีมือทำกระท่อมไม้ไผ่ได้ทั้งหลัง พยายามสร้างทีมช่างให้เพิ่มขึ้น รองรับคำสั่งซื้อของลูกค้าที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ด้านวัตถุดิบเราเน้นการรับซื้อไม้ไผ่จากกลุ่มผู้ปลูกไผ่โดยตรงในพื้นที่ ซึ่งถือว่ามีความเพียงพอ”

 

จุดเริ่มเล็กๆ จากการตั้งคำถามทำไม...? ทำไม...? และทำไม...? กลายเป็นไอเดียสร้างสรรค์ “กระท่อมไม้ไผ่” สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ตกอยู่ในชุมชน นำพาซึ่งความสุขที่แท้จริงกลับคืนสู่ลมหายใจผู้ที่เกี่ยวข้อง สุขใดๆจะเทียบเท่า ได้สร้างสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นที่บ้านเกิด กระท่อมไม้ไผ่จึงเสมือน เป็นจุดเริ่มของซีรีย์ชีวิตของชาวชุมชนบ้านซำภู ที่พร้อมจะถูกฉายซ้ำๆให้เป็นโมเดลต้นแบบ อีกหนึ่งกรณีในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจชุมชนจากสิ่งใกล้ตัว

 

 

 

ขอบคุณภาพจาก FB : กระท่อมไม้ไผ่

Please download and install pdf.js!

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube