ผืนดินแห่งจิตวิญญาณ ผืนผ้าครามแห่งชีวิตจริง !!!


ผืนดินแห่งจิตวิญญาณ

ผืนผ้าครามแห่งชีวิตจริง !!!

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาสได้เดินชมงาน Thailand Industry Expo 2018 (2-5 ส.ค.61) จัดโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี มีการออกบูทแสดงนวัตกรรมมากมาย เทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตยันนวัตกรรมชาวบ้าน กรณีตัวอย่างน่าสนใจมากมายมีเวลาจะทยอยเล่าสู่ฟังครับ

“นิภาวัน บุดแฮด” เจ้าของแบรนด์ “นิภาวัน NIPAWAN ผ้าย้อมคราม จากอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร เป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ เขาไม่เพียงสร้างรายได้ให้ครอบครัวตัวเองมั่นคงเท่านั้น แต่เขายังสร้างโอกาสให้คนในชุมชนมีรายได้จากงานผ้า สร้างความภาคภูมิใจในสืบทอดอัตลักษณ์ของชาวชุมชน ในการทำผ้าฝ้ายย้อมคราม

ปลูกฝ้าย 5 ไร่ ปลูกคราม 10 ไร่ สู่ผ้าผืนจากฝ้ายย้อมครามสร้างรายได้หลักแสน พลิกชีวิต “นิภาวัน” อดีตมนุษย์เงินเดือน สู่การเป็นเจ้าของกิจการ จากกิจกรรมดั้งเดิมของรุ่นพ่อรุ่นแม่ 

วัตถุดิบทุกอย่างเป็นของตนเองทั้งหมดคือการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต ซึ่งเป็นไปตามหลักการเบื้องต้นของการเพิ่ม Productivityเขาสร้างโอกาสให้คนในชุมชนมีรายได้จากกิจกรรมยามว่าง เดือนละหลายพันบาทจนถึงหลักหมื่น ในแบบที่เรียกว่าทำมากได้มาก ไม่จำกัดลิมิตร กิจกรรมที่สร้างรายได้ประกอบด้วย

  • การมัดลาย                            200 - 350 บาทต่อหัว (1 หัวเท่ากับ 2 เมตร)
  • ทอผ้าราคาเหมา                   1,500 - 1,600 บาทต่อหูก (1 หูกเท่ากับ 20 เมตร)
  • การย้อมเส้นด้าย, การเก็บคราม, การเก็บฝ้าย จ่ายค่าแรงเป็นรายวันหรือตามตกลง

กิจกรรมที่เกิดขึ้นเหล่านี้กลายเป็นเงินหมุนเวียนที่เกิดขึ้นในหมู่เครือญาติเดือนละหลายหมื่นบาท

 

“นิภาวัน” สร้างโอกาสทางธุรกิจด้วยการออกร้านตามงานอีเว็นท์ต่างๆ ทั่วประเทศ เปิดขายออนไลน์ และเปิดหน้าร้านที่บ้านตัวเอง 

“ชีวิตตอนนี้มีความสุขดี ไม่ต้องดิ้นรนใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เหมือนแต่ก่อน แรกๆ การกลับบ้านไปสานต่อกิจกรรมรุ่นพ่อรุ่นแม่ ก็มีความรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ ต่อต้านอยู่นิดๆ แต่พอค่อยๆ ตั้งสติ ตั้งตัวได้ ก็มีความสุข

ผ้าที่ขายได้แต่ละผืนราคาอย่างต่ำก็ 6,000-10,000 บาท ยังมีรายได้จากการขายคราม (น้ำครามสำหรับย้อมผ้า) รวมๆ ต่อเดือนก็ได้หลายหมื่นบาทบางเดือนก็ถึงหลักแสน ทั้งหมดนี้ไม่ได้ตกที่เราเพียงคนเดียว รายได้ที่เข้ามาทุกบาท นำพาความสุขให้กับอีกหลายครอบครัว ซึ่งทั้งหมดก็คือเครือญาติกันทั้งสิ้น เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การได้ออกงาน ออกร้านในสถานที่ต่างๆ เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่และได้ไอเดียต่างๆ มาประยุคใช้”

ผมชวนเปิดประเด็นเรื่อง การยกระดับตนเองจากการมีผ้าผืน สู่การออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นอีก และการเป็นธุรกิจที่ครบวงจรมากขึ้น ซึ่งเธอกล่าวว่า

“ขออยู่ในนามผู้ผลิตผ้าผืนที่มีคุณภาพอย่างนี้จะดีกว่า เพราะการไขว่คว้าหาโอกาสใหม่นั้น แม้จะเป็นสิ่งที่ดี และพอมีหน่วยงานหลายแห่งชักชวนไปซึมซับความรู้ แต่ก็เป็นสิ่งที่เราไม่ถนัด ขอทำในสิ่งที่ถนัดให้ดีที่สุด แค่นี้ก็ภูมิใจแล้ว เพราะได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข ดูแลคนในครอบครัว ดูแลคนในชุมชนที่เป็นเครือยาติกันหมด ถือเป็นสิ่งที่ภูมิใจที่สุดแล้ว”

 

ผืนดินดั้งเดิมที่ปลูกต้นฝ้าย ปลูกต้นคราม ตามวิถีชีวิตของชาวเทือกเขาภูพานสกลนคร กลายเป็นงานผ้าฝ้ายย้อมครามที่เป็นอัตลักษณ์สืบทอดมาช้านาน กิจกรรมจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ เมื่อมีคนรุ่นใหม่ยื่นมือเข้ามาสานต่อ แม้รายได้ที่กลับเข้ามาจะไม่มากนัก แต่พลังที่ได้จากการลงมือทำนั่นยิ่งใหญ่มาก

 

ผ้าหนึ่งผืน มาจากผืนดินแห่งจิตวิญญาณ เป็นผืนผ้าแห่งชีวิตจริง !!!

 

 

 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube