“อัยเยอร์เวง” อเมซอนแห่งอาเซียน


"อัยเยอร์เวง" อเมซอนแห่งอาเซียน

ด้ามขวานไทย...คือดินแดนไม่สิ้นมนต์ขลัง ผมกำลังพาท่านไปทำความรู้จักกับการจัดการท่องเที่ยวชุมชน ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

 

มนต์เสน่ห์ของที่นี่มากมายนัก ไม่ว่าจะยลทะเลหมอก ล่องแก่งท่องลำธาร กินก๋วยจั๊บแช่ขา เยือนหมู่บ้านเงาะป่า พักโฮมเสตย์ ฯลฯ สารพัดที่จะดีไซน์โปรแกรม นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศต่างหลั่งไหลเข้ามาเปิดประสบการณ์ใหม่ อยู่เสมอ

มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณ “อารี หนูชูสุข” ปลัดนักพัฒนาแห่งตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา บ่อยครั้ง ผ่านโลกโซเชียล ซึ่งแรกๆ ก็ไม่รู้ว่าท่านเป็นถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ประชาชนรักใคร่นับถืออย่างมากมาย สำหรับผมถือเป็นพี่น้องบนถนนสายอักษร เพราะชอบขีดชอบเขียนบันทึกเรื่องราวผ่านโลกโซเชียลมาด้วยกัน และเราเคยเขียนบล็อกที่โอเคเนชั่น (เว็บไซต์ในเครือเนชั่น) ระยะหลังๆ ปลัดอารี ขยันสื่อสารผ่านเฟสบุ๊คคอยอัพเดทสถานการณ์การท่องเที่ยวอยู่บ่อยครั้ง จำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือรายได้ที่เข้าสู่ชุมชน ผมไม่ลังเลที่จะกระซิบถามตัวเลขสถิติเชิงเศรษฐกิจ จากการท่องเที่ยว ได้ความว่า  

“เราสรุปตัวเลขของปี 2559 (ม.ค.-ธ.ค.) จำนวนนักท่องเที่ยวราว 240,000 คน รวมรายได้ราว 36,000,000 บาท ขณะที่ปี 2563 เราตั้งเป้าตัวเลขนักท่องเที่ยวไว้ที่ 720,000 คน รายได้ 216,000,000 บาท อย่างไรก็ตามยังแอบลุ้นอยู่ว่าอาจจะทะลุหลักล้านคน หากมีแรงกระเพื่อมจากการบอกต่อผ่านโลกโซเชียล และรายการโทรทัศน์ช่องต่างๆ ที่มาลงพื้นที่ถ่ายทำรายการอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้คนมาเยือนอัยเยอร์เวงเพิ่มมากขึ้น”

อัยเยอร์เวงมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติอยู่มาก ทุกหมู่บ้านต่างมีของดี สามารถจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวที่เชื่อมกันได้หมด ชาวชุมชนกลายเป็นเจ้าของกิจการอย่างน่าภูมิใจ ปลัดหนุ่มเปิดเผยแผนงานการขับเคลื่อนให้ฟังอย่างเป็นขั้นเป็นตอนว่า

“ราวปี 2545-2546 มีโอกาสศึกษาหลักสูตรการบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รุ่นที่ 2 ศูนย์จังหวัดสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งเป็นหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า เรียนทุกเสาร์อาทิตย์ 1 ปีเต็ม เรียนเข้มข้น มีสอบ เหมือนปริญญาโท ทำให้รู้จักอาจารย์ไพบูลย์ โพธิสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญวิชากลยุทธ์การบริหาร อาจารย์ ดร.อรทัย ก๊กผล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญวิชาว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน และอีกหลายท่าน ทำให้นำความรู้มาปรับใช้จริง  

กิจกรรมในการเรียนครั้งนั้น มีการวิเคราะห์ศักยภาพเชิงพื้นที่เพื่อเขียนแผน ขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืน จึงเสนอไอเดียผ่านเวทีการเรียนรู้และขับเคลื่อนเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ คือ การกำหนดวิสัยทัศน์ "ภายในปี ..2020 ตำบลอัยเยอร์เวง คือ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติระดับอาเซียน (อเมซอนแห่งอาเซียน) ราษฎรมีคุณภาพชีวิตดี มีความสมานฉันท์ ภายใต้ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และเป็นแหล่งผลิตสินค้าการเกษตรคุณภาพสูง" ซึ่งทุกวันนี้เริ่มเป็นที่รู้จักในทุกเวทีการประชุมระดับจังหวัดว่า “อัยเยอร์เวง อเมซอนแห่งอาเซียน” ทุกแผนงานขับเคลื่อนไปตามจังหวะเร็วบ้าง ช้าบ้างตามแต่ความพร้อมที่พึงมี”

ปลัดอารี ได้ขยายความกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ให้เห็นภาพชัดขึ้น ตามศักยภาพ โดยแบ่งออกเป็น 6 โซน ประกอบด้วย 1.ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 2.ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 3.จุดแวะพักรินทาง 4.ท่องเที่ยวผจญภัย 5.ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และ 6.ท่องเที่ยวเพื่อการศึกษาเกษตรโฮมเสตย์

 

รายละเอียดทั้ง 6 โซน ดังนี้
1. โซนเอ (ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ) ประกอบด้วย ป่าฮาลา-บาลา ตั้งอยู่ปากคลองฮาลา, หมู่บ้านฮาลา (หมู่บ้านที่สาบสูญ), แหล่งชมนกเหงือกสัตว์ป่าฮาลา, ชนเผ่าซาไกหรือเงาะป่า และน้ำตกฮาราซะฮ์ ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่ ม.2 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา
2. โซนบี (แหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ) ประกอบด้วย บ่อน้ำร้อนบ้านนากอ, น้ำตกนากอใหญ่, น้ำตกนากอเล็ก, ถ้ำนางพราย และแกรนแคนยอนนากอ ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 9 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา
3. โซนซี (แหล่งท่องเที่ยวแวะพักริมทาง) ประกอบด้วย จุดชมทะเลหมอกอัยเยอร์เวง (ม.4), น้ำตกเฉลิมพระเกียรติ ร.9 (ม.2, ม.5)) และน้ำตกละอองรุ้ง (ม.6) ทั้งหมดตั้งอยู่ริมถนนทางหลวง 410 เส้นทางสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปีนัง - ปัตตานี
4. โซนดี (แหล่งท่องเที่ยวผจญภัย) ประกอบด้วย จุดชมทะเลหมอกกุนุงซิลิปัต (ม.1),น้ำตกช่องแคบ (ม.1), ,ล่องแก่งคายัค-ช่องแคบอัยเยอร์เวง (ม.1), น้ำตกอัยเยอร์ควีนล่าง (ม.2) และแหล่งตกปลาแม่น้ำ (ม.3, ม.6 ) ซึ่งทุกแห่งตั้งอยู่บริเวณสายแม่น้ำปัตตานี เรียบถนนทางหลวง 410
5. โซนอี (แหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์) ประกอบด้วย หมู่บ้านประวัติศาสตร์จุฬาภรณ์พัฒนา 10, น้ำตกจุฬาภรณ์, (ม.10),น้ำตกหินขาว (ม.8),น้ำตกสายมาเลย์ (ม.8) และต้นไม้ใหญ่ที่สุดในภาคใต้
6. โซนเอฟ (แหล่งท่องเที่ยวเพื่อการศึกษาการเกษตรโฮมสเตย์) ประกอบด้วยสวนเกษตรโบราณ (เที่ยวไปชิมไป) (ม.5), หมู่บ้านปิยะมิตร 3 (ม.7) แหล่งผลิตผักน้ำ และน้ำตกสอยดาว (ม.7) ซึ่งทุกแห่งตั้งอยู่บนเส้นทางถนนโยธาธิการ กม.27 – คอกช้าง

นั่นคือแผนงานโดยภาพรวมที่มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกฝ่าย ผมมองว่าเนื้องานหลายชิ้น เคลื่อนตัวไปได้อย่างรวดเร็วส่วนหนึ่งมาจากความเอาใจใส่อย่างจริงจังของคนระดับนำ ที่มีใจรักที่ทุ่มให้เกินร้อย

 

ผมชวนปลัดอารี ยกกรณีตัวอย่างการประกอบกิจการภายในชุมชน โดยชาวชุมชนเป็นเจ้าของกิจการและมีรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งแทบไม่ต้องค้นข้อมูลเพิ่ม ปลัดอารีบอกเล่าได้เป็นฉากๆ จนต้องสะกิดเบาๆ ว่าพอแล้วครับพี่

เริ่มจาก ทะเลหมอกเขากุนุงซิลิปัต (ฆูนุงสีรีปัต)

ชาวบ้านเรียกกันว่า "ภูเขาหิน" อยู่ห่างจากเมืองเบตง ไปตามเส้นทางหมายเลข 410 (ยะลา-เบตง) ประมาณ 28 กิโลเมตร ที่นี่รับประกันได้อรรถรสที่สุด เพราะต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเดินทางขึ้นเขาในทางดินลูกรังประมาณ 3 กิโลเมตร และเดินเท้าปีนเขาอีกประมาณ 60 นาที จึงจะถึงจุดที่พัก กางเต้น ก่อนเดินไต่เขาขึ้นไปตามเขาสันมีด เพื่อไปสู่จุดสุดยอดเขาหินอีก 300 เมตร สามารถยืนชมความสวยงามยามเช้าของทะเลหมอก ได้ประมาณห้าสิบคนมองเห็นรอบทิศทาง 360 องศา

ทะเลหมอกเขากุนุงซิลิปัต มีชาวชุมชนเป็นเจ้าของกิจการ คอยรับนักท่องเที่ยวค่าใช้จ่ายตกราว 600 บาทต่อคน เป็นค่านำเที่ยว รักษาความปลอดภัย ลูกหาบ รถยนต์ อาหารว่าง 2 มื้อ ข้าว 1 มื้อ และเต็นท์พักแรม (จัดบริการเป็นกรุ๊ปละ 5 คน /กรุ๊ป)

 

 

ก๋วยจั๊บแช่ขา–ล่องแก่ง

ก๋วยจั๊บแช่ขา กิจการของชาวบ้านตระกูล "ตระกูลสะอะ" กำลังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวมาลิ้มรสไม่ขาดสาย ด้วยรสชาติที่กลมกล่อมถูกใจ และบรรยากาศเป็นธรรมชาติท่ามกลางแมกไม้ขุนเขา ผสานเสียงสายน้ำไหล เสน่ห์อีกอย่างคือที่นั่ง เป็นแผ่นไม้ ตอไม้ ก้อนหินธรรมชาติ ตามแต่ลูกค้าสะดวก แต่เน้นให้ลูกค้าช่วยกันรักษาความสะอาด มีการจัดเก็บขยะเป็นอย่างดีเน้นการดูแลธรรมชาติไปด้วยในตัว เมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมามีลูกค้ามาลิ้มรสอย่างเนื่องแน่น ส่วนหนึ่งมาจากพลังการบอกต่อปากต่อปาก อีกส่วนมาจากพลังโซเชียลที่ทำให้คนสนใจอยากเข้าลิ้มชิมรถก๋วยจั๊บแถมได้สัมผัสธรรมชาติที่งดงาม

 

การล่องแก่งแม่น้ำปัตตานี ในตำบลอัยเยอร์เวง มีด้วยกัน 5 ราย เป็นเรือคายัคไฟเบอร์ 4 ราย เรือยาง 1 ราย จุดที่เป็นเกาะแก่งน้ำไหลเชี่ยว ชาวบ้านเรียกภาษาปากว่า สายน้ำตกช่องแคบหลังอนามัย อยู่ หมู่ที่ 1 บ้านอัยเยอร์เวง (หลังอนามัย กม.29) ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ให้บริการนักท่องเที่ยวหลายโปรแกรม วันละ 2 รอบ รอบ 9.00 -12.00 น. และ 13.00 - 16.30 น.

โปรแกรมการล่องแก่ง มีความท้าทาย ความยากง่ายแบ่งได้ตามระยะทาง เริ่มที่ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ใช้เวลาราวชั่วโมงครึ่ง ถือเป็นระดับก็ราบเรียบขั้นเริ่มต้น เล่นได้ตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไปผู้ปกครองมั่นใจได้ เพราะมีสต๊าฟดูและอย่างใกล้ชิด ที่เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไป

ระดับปานกลาง ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 ชั่วโมง ที่มีจุดทดสอบหัวใจ 3-4 ด่าน ให้คุณสนุก มีจุดพักทานน้ำและของว่าง จุดแวะพักถ่ายภาพ กับไม้ใหญ่ริมน้ำที่สวยงามมาก ส่วนใหญ่ทุกคนอยากจะกลับมาเล่นอีกในวันข้างหน้า

ระดับเอ็กสตรีม ระยะทางกว่า 3.5-5  กิโลเมตร (ถ้ามีน้ำมากไปได้ไกลระยะ 5-6 กิโลเมตร) ถือว่าได้รับความนิยมมากที่สุด มีความท้าทายผ่านเกาะแก่ง คดเคี้ยวมากมาย และกำลังเตรียมศึกษาเส้นทางและพัฒนาการล่องแก่งให้เพิ่มขึ้นตามความต้องการของนักท่องเที่ยว แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก

มนต์เสน่ห์แห่งแดนด้ามขวานอัยเยอร์เวง มีทะเลหมอกอันนุ่มนวลราวกับท้าทายให้แหวกว่ายอยู่กลางสายหมอกอันละมุน แต่อีกมุมหนึ่งกลับมีความสมบูรณ์ของผืนป่าเย้ายวนให้ค้นหา ตำบลอัยเยอร์เวง จึงยังมีสิ่งสวยงามให้ได้สัมผัสอีกมากมาย การขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าแห่งยุทธศาสตร์การเป็นอเมซอน แห่งอาเซียน จึงเป็นความท้าทายยิ่ง แต่ก็เป็นความท้าทายที่เข้าใกล้ความสำเร็จทุกขณะ

เป็นกำลังใจให้ สู้ต่อไปครับ พี่น้องอัยเยอร์เวง

******

ขอบคุณภาพจาก : http://oknation.nationtv.tv/blog/บล็อก ศณีรา

อ้างอิง

 

ทะเลหมอก

http://oknation.nationtv.tv/blog/localbetong/2018/02/01/entry-1

ล่องแก่ง

http://oknation.nationtv.tv/blog/localbetong/2018/01/19/entry-2

ก๋วยจั๊บแช่ขา

http://oknation.nationtv.tv/blog/localbetong/2016/04/06/entry-1

 

Please download and install pdf.js!

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube