จิบกาแฟอีสาน กรุ่นกลิ่นเกื้อกูล


จิบกาแฟอีสาน

กรุ่นกลิ่นเกื้อกูล

วัตถุดิบราคาถูกย่อมหมายถึงต้นทุนการผลิตสินค้าที่ต่ำเตี้ย ต้นทุนที่ต่ำเตี้ยย่อมหมายถึงกำไรอย่างมหาศาล...

แม้บางครั้งผู้ผลิตวัตถุดิบอาจไม่คิดอะไร หรือคิดอยู่แต่ก็เก็บความเจ็บปวดไว้ในใจ ปลอบตัวเองเบาๆ ว่าก็ได้ค่าวัตถุดิบแล้วนี่นา...

แต่ในใจลึกๆ แล้วเขากลับแอบน้ำตากระเซ็นทุกครั้ง เมื่อซื้อผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากวัตถุดิบที่เขาเป็นผู้ป้อนให้ด้วยราคาที่สูงขึ้นหลายเท่า

เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟหลายรายอยู่ในอาการนั้น...

สิไปต่อหรือพอซำนี้...??? (ควรเดินต่อหรือหยุดไว้แค่เพียงเท่านี้) คำตอบสุดท้ายถามใจท่านดู หลังจากที่ได้ฟังเรื่องราวของเกษตรกรผู้เป็นปลูกและแปรรูปกาแฟ แห่งผืนดินอีสานสองกรณีศึกษาต่อไปนี้  

****

 

วิลัย จันจิต
คนบ้านายูง

เป็นคนเพชรบูรณ์ แต่ได้แฟนคนอำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี เขาเป็นเขยใหม่ที่คิดไม่เหมือนใคร จนถูกใครๆ มองว่าคือคนบ้า เพราะทำในสิ่งที่คนแถบนั้นบอกว่า “บ่แม่นหน่อ แม่นแนว” (ไม่ใช่ที่) เพราะเขาพลิกฟื้นผืนดินบ้านพ่อตาปลูกกาแฟ…!!!

เพราะกาแฟไม่ใช่ข้าว ไม่ใช่อ้อย ไม่ใช่ยางพารา ที่คนแถบนั้นเขาปลูกกันนี่นา...

จึงเป็นที่มาของการถูกขนานนามว่าคนบ้า!!! เมื่อสิบปีก่อน แต่วันนี้เขาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าคนบ้าที่ปลูกกาแฟ กลายเป็นผู้ถูกเรียกขานใหม่ว่า “ออลิจินอล แห่งนายูง”

“ปี ๒๕๔๓ คือปีแรกที่ผมเริ่มนำกาแฟมาปลูกในพื้นที่อำเภอนายูง เนื่องจากเห็นพื้นที่ เห็นสภาพดินฟ้าอากาศแล้ว มีความใกล้เคียงกับที่จังหวัดเพชรบูรณ์บ้านเกิด ซึ่งผมมีประสบการณ์ด้านการปลูกกาแฟมาแล้ว จึงตัดสินใจนำพันธุ์กาแฟมาปลูกในช่วงแรกก็ยังไม่มาก พอเริ่มได้ผลผลิตก็ค่อยๆ ขยับขยายจนทุกวันนี้ ส่วนตัวมีอยู่ประมาณ ๗๐ กว่าไร่ และทำเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาและคอยเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้มีความสนใจจริงๆ ทดลองปลูกและแปรรูปกาแฟ ซึ่งเมื่อรวมๆกับสมาชิกที่กระจายอยู่ทั่วอีสานก็น่าจะตกอยู่หลายพันไร่ ผลผลิตเม็ดกาแฟราวปีละไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ตัน”

 วิลัย จันจิต เจ้าของศูนย์เรียนรู้กาแฟครบวงจร และเจ้าของแบรนด์ “ต้นกำเนิดกาแฟป่านายูง by Viliy Coffee” บอกเล่าถึงจุดเริ่มในการปลูกกาแฟ ก่อนกลายเป็นศูนย์เรียนกาแฟครบวงจรในวันนี้

“แรกๆ คนก็ว่าผมบ้า เพราะเราทำในสิ่งที่แตกต่างจากชาวบ้านทั่วไปมาก เห็นพื้นที่ เป็นที่สูงสภาพอากาศชุ่มชื้นเป็นป่า อยู่ติดกับวนอุทยานแห่งชาตินายูง-น้ำโสม จึงนำกาแฟสายพันธุ์อราบิก้า มาปลูกและให้ผลผลิตได้ดี จากนั้นก็ค่อยๆขยายพันธุ์ พร้อมๆ กับการพัฒนาสายพันธุ์อาราบิก้าเป็นของเราเอง ในชื่อ “นายูง ๑” และ “ทิบโรต้า” นอกจากพัฒนาเรื่องต้นพันธุ์แล้ว ผมยังพัฒนาเรื่องรสชาติกาแฟให้มีความกลมกล่อมสร้างความแตกต่างอีกด้วย”

วิลัย เล่าให้ฟังว่า เขาพัฒนากาแฟคั่วบดให้มีรสชาติเข้มข้นมีกลิ่นใกล้เคียงกับยอดกาแฟ กาแฟขี้ชะมด แต่เขาใช้สมุนไพรเป็นตัวสร้างเอ็นไซน์ที่คล้ายคลึงกับของชะมด

“นับถึงวันนี้ก็เกือบ ๒๐ ปี ที่ผมคลุกคลีอยู่กับกาแฟ ทั้งปลูกทั้งแปรรูป และมีโอกาสได้ไปขึ้นบรรยายให้ความรู้เรื่องการปลูกและแปรรูปกาแฟ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่พี่น้องเกษตรกรมาหลายพื้นที่ทั่วประเทศ  จึงพยายามพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง คิดค้นวิธีการแปรรูปให้ได้กาแฟที่มีรสชาติเข้มข้นกลิ่นหอมกรุ่นใกล้เคียงกับกาแฟขี้ชะมด สมุนไพรที่ผมค้นพบก็อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล เป็นพื้ชสมุนไพรที่ชาวบ้านรู้จักเป็นอย่างดี เช่น ต้นอ้ม สมอ ลูกยอ มะขามป้อม เป็นต้น ซึ่งกรรมวิธีก่อนที่จะกลายมาเป็นกาแฟกลิ่นขี้ชะมดก็มีขั้นตอนอยู่พอสมควร (ขออุบไว้ก่อน) หากสนใจจริงๆก็เข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้ไม่หวงสูตร”

ผมกระแซะๆ ถามถึงผลผลิตในปีที่ผ่านมาเพื่อให้เห็นภาพว่ากาแฟพลิกชีวิตเกษตรกรได้จริง

“ผลผลิตเมื่อปีที่ผ่านมา เฉพาะส่วนตัวในนามศูนย์เรียนรู้กาแฟครบวงจร (๗๐ ไร่) ได้ผลผลิตราว ๗ ตัน แปรรูปเอง ๓ ตัน ที่เหลือขายเข้าโรงงานเพราะเรามีกำลังผลิตอยู่เท่านี้ ราคาของกาแฟคั่วบดเมื่อแรรูปแล้วจะตกอยู่ที่กิโลฯละไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพการคัดเกรดเพื่อการทำตลาด ขณะที่เมื่อรวมกับสมาชิกในเครือข่ายผลผลิตรวมกันอยู่ที่ ๑๕๐ ตัน ในจำนวนนี้ยังมีการแปรรูปเองค่อนข้างน้อย เกษตรกรส่วนใหญ่ขายเป็นกาแฟดิบซึ่งจะตกอยู่ที่กิโลละ ๗๐ บาทขึ้นอยู่กับคุณภาพเม็ดกาแฟ ส่วนตัวผมยังพยายามอยากส่งเสริมให้พี่น้องผู้ปลูกกาแฟให้หันมาแปรรูปผลผลิตเอง ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เรียนรู้ไป อย่างน้อยก็ทำให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าจากการขายกาแฟดิบ”  

แม้ไม่บอกตัวเลขกลมๆ แต่ผมคำนวณคร่าวๆ รายได้ต่อปีก็มากโข เป็นเกษตรกรเงินล้าน เป็นคนบ้าที่สร้างความเปลี่ยนแปลงเชียวล่ะ

“ทุกวันนี้ผมมีความสุขในแบบที่ผมเป็น เช้าๆ เปิดร้านกาแฟหน้าบ้านต้องรับผู้มาเยือน และนั่งรอใส่บาตร ก่อนหลวงพ่อกลับวัดก็ถวายกาแฟ ถวายน้ำชาจากดอกกาแฟถือว่าได้ทำบุญ และเป็นความสุขที่ได้จากการทำอาชีพปลูกกาแฟ ขณะที่ศูนย์เรียนรู้กาแฟครบวงจรของผมเคยรองรับคณะศึกษาดูงานมากมายจากทั่วประเทศทั้งมาในนามหน่วยงานราชการ ทั้งมาในนามกลุ่มเกษตรกร องค์ความรู้ที่ผมมีผมถ่ายทอดให้หมดทุกขั้นตอนไม่มีปิดลับอะไร หากสนใจจริงๆจะลงมือปลูก ลงมือสร้างอาชีพก็พร้อมสนับสนุนด้านองค์ความรู้ แนะเทคนิคตั้งแต่กาแฟลงดินไปจนถึงมือผู้บริโภค อย่าไปกลัวการสร้างแบรนด์ของตัวเอง แม้จุดเริ่มต้นอาจจะเหนื่อยหน่อย แต่เมื่อเริ่มอยู่ตัวแล้วเราจะหายเหนื่อยแถมมีพลังอย่างมากที่จะต่อสู้ต่อไป”

วิลัย จันจิต คนบ้านายูง กล่าวปิดท้าย

 

****  

 

แตงไทย ดวงสาพล

แห่ง NAVY Coffee 

เกษตรกรเต็มขั้นเจ้าของไร่ผู้การ แห่งอำเภอนาด้วง จังหวัดเลย ผู้ครอบครองกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า ราว ๕ ไร่  ที่ลุกขึ้นมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเองภายใต้แบรนด์ NAVY coffee” เรื่องราวของเกษตรกรรายนี้นั้น เหมือนตกกระไดพลอยโจน หลังจากที่รู้สึกได้ว่าถูกคนกลางผู้รับซื้อเม็ดกาแฟที่ไม่เป็นธรรมจนเกษตรกรแทบจะโค่นต้นกาแฟทิ้งประชดราคา

“เริ่มปลูกกาแฟมาระยะหนึ่ง แต่เพิ่งได้ผลผลิตเป็นปีที่ ๒ ก่อนหน้านั้นก็ทำสวนสำไร่ ปลูกพืชหลายชนิด ไม่ว่าอินทผลัม ผักหวานป่า เมล่อน กาแฟ  ปลูกแบบผสมผสานเป็นส่วนป่า นำผลผลิตออกจำหน่ายทั่วไป ในส่วนของกาแฟเริ่มได้ผลผลิตก็เก็บเม็ดกาแฟดิบออกขายให้กลุ่มผู้รับซื้อ เหมือนพี่น้องที่ปลูกทั่วๆไป แต่ได้ฉุกคิดขึ้นว่าทำไมจึงมีราคารับซื้อที่ถูกมาก ในปีแรกผลผลิตไม่เยอะเท่าไรก็เลยยอมๆเลยตามเลยไป แต่เมื่อฤดูกาลผลิตที่ ๒ เราก็ยังถูกกดราคาอีก จึงเริ่มปรึกษาเพื่อนๆ ที่ปลูกกาแฟด้วยกัน เรามาเปิดเป็นจุดรับซื้อที่ราคาเป็นธรรมไม่กดขี่เกษตรกร และร่วมกันมองอนาคตไปด้วยกันถึงการแปรรูปกาแฟ”

แตงไทย ดวงสาพล เจ้าของไร่ผู้การกล่าวเป็นการเปิดเรื่อง ก่อนบทสนทนาจะพรั่งพรูราวน้ำหลาก

 “ในพื้นที่อำเภอนาด้วง สามารถผลิตเม็ดกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าได้ดี ไม่แพ้โรบัสต้าจากแหล่งชุมพร มีเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรวมกันหลายร้อยไร่ แรกๆที่กาแฟเข้ามาในนาด้วงนั้น ก็จะมีผู้ส่งเสริมการปลูกขายต้นพันธุ์ให้แต่ยังไม่มีสัญญาการรับซื้อเม็ดกาแฟ มาระยะหลังๆจึงเริ่มมีผู้รับซื้อ พี่น้องนาด้วงก็ปลูกกาแฟเสมือนเป็นพืชแซมสวนเพราะมีพืชนิดอื่นๆอยู่แล้ว ปีแรกๆ ผู้รับซื้อก็ให้ราคาเป็นที่พอใจแต่ระยะหลังๆ เกษตรกรก็เหมือนถูกกดราคาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงชักชวนเกษตรกรจำนวนหนึ่งออกมาตั้งกลุ่มรับซื้อเม็ดกาแฟด้วยราคาที่เป็นธรรม เพราะเรามีแหล่งแปรรูปที่เป็นพันธมิตรเครือข่ายของเรา และเร็วๆนี้เราจะมีโรงคั่วกาแฟเป็นของเราเอง ซึ่งปัจจุบันนอกจากกาแฟคั่วบดเรายังมีผลิตภัณฑ์อย่างอื่นที่ผลิตจากไร่ เช่น สบู่กากกาแฟ สบู่ฟักข้าว ชาดอกกาแฟ เป็นต้น การทำตลาดก็ใช้วิธีเปิดขายหน้าร้าน และออกงานแสดงสินค้าที่จังหวัดจัดขึ้น ถือว่าเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น”

คุณแตงไทย วิเคราะห์อนาคตของกาแฟอีสาน อย่างน่าสนใจว่า

“พื้นที่ภาคอีสานมีการปลูกกาแฟเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งขายเข้าโรงงานและเริ่มมีการแปรรูปเอง ตราบใดที่กาแฟในท้องตลาดยังขายดี สังเกตจากโฆษณาที่หน้าจอทีวี มีกาแฟหลายชนิดหลายยี่ห้อ เราจำแทบไม่ไหว ก็เท่ากับว่าการตลาดยังไปได้ดี เป็นช่องทางแห่งผู้ปลูกกาแฟที่ควรหันมาศึกษาการแปรรูปสร้างผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเองไว้เพื่ออนาคต เพราะการศึกษาการแปรรูปกาแฟทุกวันนี้ถือว่าเปิดกว้างมาก มีแหล่งเรียนรู้ต่างๆที่เป็นชาวไร่กาแฟเองที่ประสบความสำเร็จหลายที่พร้อมให้คำปรึกษา หรือจะเข้ามาทำความรู้จักและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันก็ยินดี”

 

****

เรื่องราวของเกษตรกรทั้ง 2 ตัวอย่าง สะท้อนให้เห็นว่าการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบเพียงอย่างเดียวนับวันจะไม่ตอบโจทย์ชีวิตของเกษตรกรเสียแล้ว เพราะการกดราคาวัตถุดิบมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย โดนกันถ้วนหน้าสิ่งหนึ่งที่ผมสัมผัสได้คือผู้ที่ประสบความสำเร็จ พร้อมส่งต่อองค์ความรู้แก่คนจริงเสมอ

จิบกาแฟอีสานได้รสชาติที่เข้มข้นถึงใจ แถมได้ความหอมกรุ่นกลิ่นความเกื้อกูล ที่ส่งถึงกัน  

 

***

หมายเหตุ

: วิลัย จันจิต ศูนย์เรียนรู้กาแฟครบวงจร ๔ หมู่ ๒ บ้านเพิ่ม ต.นาแค อ.นายูง จ.อุดรธานี

: แตงไทย ดวงสาพล ไร่ผู้การ ๖๖ หมู่ ๘ บ้านราษฎรประดิษฐ์ ต.นาด้วง อ.นาด้วง จ.เลย

Please download and install pdf.js!

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube