“ทุเรียนสามชัย”
ความภูมิใจ ของชาวกาฬสินธุ์
อึ้ง!!! ทุเรียนสามชัย กาฬสินธุ์ 5 ลูกครึ่งแสน[1]
ประมูลทุเรียนสามชัยกาฬสินธุ์ จำนวน 5 ลูก ราคาครึ่งแสน[2]
5 ลูก ล่อครึ่งแสน! ประมูลทุเรียนสามชัย กรอบนอกนุ่มใน[3]
พาดหัวข่าวที่สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 พ.ค. 2561 ภายในงานเปิดตัวโครงการ kalasin Green Market ณ แม็คโคร สาขากาฬสินธุ์) แม้ราคาทุเรียนสามชัย กาฬสินธุ์จะไม่ถีบตัวสูงเท่าก้านยาวของเมืองนนท์ หรือหลง-หลินลับแล แห่งเมืองอุตรดิตถ์ เมื่อนำขึ้นห้างไปจัดประมูล
แต่นี่คือความภูมิใจของชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ทั้งจังหวัด เป็นการการันตีถึงความอุดมสมบูรณ์ในฐานะเมืองดินดำน้ำชุ่ม ปลูกอะไรก็งามได้ผลผลิตดี ซึ่งอาจหมายรวมไปถึงการปลูกรักด้วย คำโบราณอีสานได้ว่าไว้ถึงเมืองกาฬสินธุ์มีความอุดมสมบูรณ์เป็นที่ลุ่มมีน้ำชลประทานจัดสรรให้ทำนา ทำไร่ตลอดปี ใครได้เป็นเขยกาฬสินธุ์เสมือนได้อนาคตที่ดีตามไปด้วย สาวกาฬสินธุ์จึงเป็นที่หมายตามาปลูกรักจากหนุ่มๆ ทั่วอีสานนั่นเอง
บ้านหนองแซง ตำบลสำราญ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นพิกัดของสวนทุเรียนสามชัย ต้นทางของทุเรียนที่ประมูลในงานดังกล่าว ซึ่งรายได้จากการประมูลจังหวัดจัดสรรไปใช้ในกิจกรรมด้านการกุศลต่อไป
พื้นที่ 1 ไร่ 3 งาน กับทุเรียน 60 ต้น ให้ผลผลิตที่สมบูรณ์ 56 ต้น คิดเป็น 93% ของการให้ผลผลิต ซึ่งฤดูกาลผลิตปี 2561 นี้เป็นปีที่ 2 ของสวนทุเรียนสามชัย ถือว่าน่าพอใจยิ่ง เจ้าของสวนประเมินว่าปีนี้จะสามารถคว้าเงินแสนเข้ากระเป๋าได้อย่างสบาย หลังจากฤดูการแรกเมื่อปีที่ผ่านมาเก็บผลผลิตขายได้แปดหมื่นบาท และเชื่อว่ารายได้จะสามารถขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากผลไม้ชนิดอื่นๆ ที่เป็นกองกำลังสนับสนุนเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเงาะ มังคุด ลองกอง สละ เรียกได้ว่าสวนที่เมืองจันทบุรีมีอะไร ที่สามชัยก็มีทั้งสิ้นเช่นกัน
“เดิมพื้นที่ ที่ใช้ปลูกทุเรียน เป็นที่ซึ่งเคยทำไร่อ้อย ไร่มัน เหมือนพี่น้องชาวสามชัยทั่วไป จนเมื่อพ่อย้ายมาอยู่ที่กาฬสินธุ์เป็นหลัก จึงหันมาลงมือปลูกทุเรียนอย่างจริงจัง”
เก๋ พรนิภา เดชรัมย์ เจ้าของผู้ดูแลสวนทุเรียนสามชัย ให้ข้อมูลเป็นการปูพื้นที่มาที่ไป ก่อนจะค่อยๆ ลงรายละเอียดให้กระจ่างว่า
“ความสำเร็จของสวนทุเรียนแห่งนี้ ต้องยกให้คุณพ่อเป็นผู้นำพา พ่อเป็นคนจังหวัดจันทบุรี ที่พื้นเพทางบ้านพ่อทำสวน ทุเรียนอยู่แล้ว ตั้งแต่เล็กจนโต เก๋ใช้ชีวิตสลับกันไประหว่างกาฬสินธุ์กับจันทบุรี ซึมซับชีวิตการเป็นลูกชาวสวนมาตั้งแต่เกิด พ่อบอกว่าดินของสามชัยกับที่เมืองจันท์ ไม่แตกต่างกันมาก แต่ที่ต่างนั้นคือเรื่องอากาศ ดังนั้นหากเราปลูกทุเรียนต้องให้ความสำคัญกับการดูแลมากเป็นพิเศษเพราะเหมือนเป็นการทดลองปลูก แต่ก็มั่นใจว่าพ่อต้องพาเราทำให้สำเร็จจงได้ จึงเป็นที่มาในการเริ่มต้นปลุกทุเรียน ในพื้นที่ 1 ไร่ 3 งาน ที่เพิ่งให้ผลผลิตปีนี้เป็นปีที่ 2”
หลังจากทดลองปลูกและมีแนวโน้มว่าจะได้ผลผลิตที่ดี จึงได้มีการขยายพื้นที่ปลูกเพื่อรองรับอนาคตอันสดใส เก๋และคู่ชีวิต ซึ่งเปรียบเสมือนผู้รับถ่ายทอดองค์ความรู้โดยตรงจากพ่อ จึงได้ช่วยกันขยายพื้นที่ปลูกอีกโซนหนึ่งใกล้ๆ กัน ราว 8 ไร่ ปลูกทุเรียนหมอนทองได้ประมาณเกือบ 400 ต้น ทุ่มสรรพกำลังอย่างเต็มความสามารถ ดูแลเป็นอย่างดีจนต้นสมบูรณ์ ในส่วนขยายเพิ่มนี้คาดว่าจะให้ผลผลิตสู่ตลาดในราวปี 2564
เก๋ บอกเล่าถึงความต่างของทุเรียนสามชัยกับทุเรียนเมืองจันท์ รวมถึงวิธีดูแลรักษาในเบื้องต้นว่า
“ดินของอำเภอสามชัยมีความเป็นดินปนทราย ส่งผลให้เนื้อทุเรียนร่อนกว่าเมื่อเทียบกับเมืองจันทบุรี มีอัตราแป้งสูง กลิ่นไม่ฉุน มีความกรอบในตัว เรียกได้ว่ากรอบนอกนุ่มใน ถือเป็นจุดเด่นของที่นี่ การดูแลให้น้ำจะต้องให้อย่างสม่ำเสมอ ชุ่มชื้นได้แต่ไม่แฉะ โดยที่สวนจะขุดบ่อบาดาลเอาน้ำขึ้นมาใช้เสริมๆ กันไปกับน้ำตามธรรมชาติ ที่โชคดีในพื้นที่ติดกับหางเขื่อนลำปาวจึงไม่มีปัญหาเรื่องระบบน้ำ
หลังจากที่สวนเริ่มให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ ก็มีพี่น้องเกษตรกรทั้งใกล้เคียงและที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด ต่างอำเภอเข้ามาศึกษาดูงาน มาขอความรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางสวนเราก็ยินดีให้ความรู้และเป็นที่ปรึกษา ความตื่นตัวนี้เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้พื้นที่อีสานจะกลายเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ แต่ที่สำคัญการทำสวนทุเรียนต้องทุ่มเวลาให้อย่างมาก เรียกได้ว่าเหมือนเราดูแลลูกเลยก็ว่าได้ เพราะระยะเริ่มต้นถึงให้ผลผลิตการดูแลก็อย่างหนึ่ง ระยะที่ให้ผลผลิตแล้วก็มีวิธีดูแลอีกอย่างหนึ่ง ชาวสวนต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ได้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง”
นางพรรณวดี วิทักษ์บุตร เกษตรอำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้เสมือนเป็นญาติสนิทของเก๋และครอบครัว ในฐานะเจ้าหน้าที่ราชการที่ใกล้ชิดประชาชนกล่าวถึงความสำเร็จของ สวนทุเรียนสามชัยว่า
“สวนทุเรียนสามชัยแห่งนี้ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำเกษตรอย่างครบวงจร มีพืชหลากหลายปลูกสลับกันไป เป็นการให้พืชพึ่งพากันตามธรรมชาติ แต่ต้องยอมรับว่าที่นี่ทำได้เพราะมีประสบการณ์มาก่อน การปลูกทุเรียนไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้ การนำประสบการณ์มาปรับใช้จนได้ผลผลิตที่ดี จึงเป็นที่มาของความสำเร็จของสวนแห่งนี้
หลังจากที่เกษตรกรเห็นความสำเร็จก็เริ่มมีคำถามเข้ามามากว่า เกษตรฯ สามชัยจะส่งเสริมให้พี่น้องปลูกทุเรียนในพื้นที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องตอบว่าในมุมเกษตรฯ ยังไม่มีนโยบายสนับสนุนส่งเสริม แต่ไม่ขัดขวางความตั้งใจ หากเกษตรกรที่มีความพร้อมจะปลูกอย่างจริงจัง
ซึ่งความพร้อมในที่นี้ คือมีที่ดินจำนวนหนึ่ง มีระบบน้ำที่เพียงพอ มีเวลาในการดูแลใกล้ชิด ถ้าตั้งใจจริงอย่างที่กล่าวเกษตรฯก็พร้อมจะเป็นตัวกลางประสานให้พบกับเจ้าของสวน เพื่อให้ได้เรียนรู้ในด้านต่างๆ ตั้งแต่เริ่มไปจนถึงได้ผลผลิต ในเบื้องต้นก็ให้คำแนะนำพี่น้องไปว่าหากอยากทดลองปลูกทุเรียน ควรเริ่มจากปลูกในพื้นที่สวนหลังบ้าน บ้านละ 2-3 ต้นก่อน แล้วค่อยๆ ดูแล เรียนรู้ไปในตัว เพราะกว่าทุเรียนจะให้ผลผลิตก็ใช้เวลานับจากปีที่ห้าเป็นต้นไป จากนั้นจึงค่อยขยายองค์ความรู้ แตกหน่อต่อยอดออกไปจะดีที่สุด”
เมื่อฤดูกาลก่อนเคยได้นำเรื่องราวของสวนทุเรียนสวนลุงเสริม อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ[4] มาคราวนี้มีเรื่องของสวนทุเรียน อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ มาเสนอ จะเห็นได้ว่า “ทุเรียนราชาแห่งผลไม้ไทย” กำลังเดินทางไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศแล้ว แต่กว่าจะให้ผลผลิตเกษตรกรต้องให้การดูแลประคบประหงมเป็นอย่างดี
หัวใจเพียวๆ และความเพียรล้วนๆ เป็นที่มาแห่งความสำเร็จ!!!
ไม่แน่ในวันข้างหน้าท่านอาจกลายเป็นเจ้าของสวนทุเรียนแห่งความภูมิใจของจังหวัดบ้านเกิดของท่าน เช่นเดียวกับสวนทุเรียนสามชัย ความภูมิใจของชาวกาฬสินธุ์
สู้ต่อไปครับพี่น้องเกษตรกรไทย