บทเรียนฟื้นแม่น้ำอลิซาเบธ หลายวิธีการ ปลายทางเดียว
มีโอกาสร่วมฟังบรรยาย และร่วมเป็นพี่เลี้ยงการทำเวิร์คช็อปให้กับทีมงาน “โครงการรักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักคุ้งบางกะเจ้า หรือ คบจ.” ถือเป็นเวิร์คช็อปแบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เปิดมุมมองสะท้อนปัญหา มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยแง่มุมต่างๆ มากมายที่ไม่ควรปล่อยผ่าน
บางกะเจ้า ชื่อนี้อาจเริ่มคุ้นชินบนโลกออนไลน์มาสักระยะหนึ่งแล้ว ในฐานะสถานที่ใกล้กรุงเทพฯ ไปมาสะดวก มีกิจกรรมปั่นจักรยานที่เป็นเสน่ห์ ดึงดูดนักปั่นเข้าสู่พื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
หากดูตามแผนที่ หรือจากภาพมุมสูงของบางกะเจ้า จะเห็นความเป็นกระเพาะหมูของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ชัดเจน ลักษณะดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาขยะที่ลอยมากับลำน้ำ เป็นขยะสะสมในคุ้งที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งส่งผลต่อสภาพแวดล้อมไปโดยปริยาย นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่นๆอีกมากมาย ในที่นี้ขอหยิบเพียงเรื่องปัญหาขยะมาเล่าพอให้เห็นภาพ
ดร.สุนทร คุณชัยมัง ผู้ออกแบบหลักสูตรฝึกอบรมดังกล่าว ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษางาน CSR ร่วม 20 ปี จึงได้หยิบประเด็นการฟื้นฟูแม่น้ำอลิซาเบธ รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกามาเล่าให้ฟังเพื่อถอดบทเรียนให้เห็นว่าเขาฟื้นฟูอย่างไร เพราะแม่น้ำแห่งนี้อยู่กับชุมชนขนาดใหญ่มีทั้งอุตสาหกรรมหนัก จึงเกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย สารตกค้างในดิน ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าน้ำเสียทั้งสาย
เขาทำอะไรบ้าง
เขาทำได้อย่างไร
เขาทำร่วมกับใคร
ทำไมเขาถึงทำได้
คำถามเหล่านี้คือประเด็นที่เราต้องถอดบทเรียนเพื่อประยุกต์ใช้
ดร.สุนทร ไขความกระจ่างให้ผู้ร่วมเวิร์คช็อป ว่า
“แม่น้ำอลิซาเบธ เป็นแม่น้ำสายสั้นๆ มีความยาวประมาณ 23 ไมล์ ไหลไปรวมกับแม่น้ำเจมส์ บริเวณปากแม่น้ำก่อนที่ไหลไปยังอ่าว Chesapeake (อ่าวเชซาพีค) แม่น้ำอลิเซาเบธ มีต้นน้ำสาขา 3 สาย คือ สายตะวันตก สายใต้ และสายตะวันออก กระจายไปยัง 4 เมืองของรัฐเวอร์จิเนีย ประกอบด้วย นอร์ฟอล์ค พอร์ตมัธ เชซาพีค และเวอร์จิเนียบีช นับว่าเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของผู้คนของเมือง และยังเป็นแม่น้ำที่เป็นที่ตั้งของท่าเรือพาณิชย์ ท่าเรือถ่านหิน โรงงานอุตสาหกรรม และฐานปฏิบัติการต่อเรือของกองทัพเรือสหรัฐ
จึงเป็นที่รับรู้กันว่าเป็นแม่น้ำที่มีปัญหาความเน่าเสียและการปนเปื้อนสารพิษ (ทั้งในดินที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งมีทั้งสารตกค้างจาก ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และสารผสมโลหะ) และเป็นแหล่งมลภาวะที่มากที่สุดของอ่าวเชซาพีค มีผลการสำรวจค่าของสาร polycyclic aromatic hydrocarbons (PAH) พบว่า มีค่าผิดปกติที่จะนำไปสู่การเป็นสารก่อมะเร็งสำหรับคนและสิ่งที่มีชีวิต”
แค่เปิดเรื่องก็สนุกแล้ว ปัญหาชนิดที่เรียกว่าสาหัสสากรรจ์ เลยทีเดียว แต่เขาก็ยังแก้ได้ แก้อย่างไรละ ตามต่อกันครับ
“จากประเด็นปัญหาดังกล่าวนำมาซึ่งการตั้งคำถาม ที่เกิดจากนักข่าวด้านสิ่งแวดล้อมคนหนึ่ง ที่ชื่อ Marjorie Mayfield Jackson แรกๆเธอตะเวนทำข่าวและคอยตั้งคำถามจากแหล่งข่าวถึงที่มาของปัญหา และมุมมองในการแก้ปัญหา
ในที่สุด Jackson ได้ชักชวนผู้สนใจทำโครงการฟื้นฟู ในปี 1993 (พ.ศ.2536) มีองค์กรที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน จำนวน 100 องค์กร จากนั้นได้มีการสัมภาษณ์ผู้เห็นร่วมในวาระการฟื้นฟูแม่น้ำ 65 คนเพื่อกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงาน นำมาสู่การจัดตั้ง “คณะกรรมการที่ปรึกษา” (Advisory board)จำนวน 30 คน เป็นองค์กรตัวแทนของผู้มีส่วนได้เสียจากภาคส่วนต่างๆเข้ามาทำงานร่วมกัน
การทำงานตามโครงการฟื้นฟูแม่น้ำอลิซาเบธ ได้จัดแบ่งพื้นที่ทำงานออกเป็นจุดๆตามพื้นที่ของแม่น้ำ รวมทั้งสิ้น 18 จุด มีการทบทวนผลการทำงานกันทุกระยะ 6 ปี
หลังจากการรณรงค์อย่างจริงจัง มีคณะทำงานขับเคลื่อนที่มีปลายทางเดียวกัน ผลลัพธ์ที่ได้คือสามารถลดมลภาวะในแม่น้ำลงไปถึง 331 ล้านปอนด์ ฟื้นฟูสภาพพื้นที่ลุ่มน้ำได้ 1,787 เอเคอร์ ลดการใช้วัสดุหรือนำวัสดุมารีไซเคิลได้มากถึง 1 พันล้านปอนด์ ผลพวงที่ได้นั้นยังส่งต่อให้เกิดกระบวนการดูแลแม่น้ำอย่างต่อเนื่องผ่านกลไกลต่างๆ เช่น
River Star ,Pretreatment & Pollution Prevention
คือโครงการ คือ การเชิญชวนโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ ร่วมรณรงค์พลิกฟื้นแม่น้ำ ซึ่งเป็นส่วนงานที่โรงงานทำเพิ่มขึ้นมาจากงานมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่แต่ละโรงงานต้องทำอยู่แล้วตามกรอบของกฏหมาย
The Learning Barge
คือเกิดจุดเรียนรู้พื้นที่ลุ่มน้ำตามสถานีกลางแม่น้ำที่สร้างขึ้นแบบเรือบาร์จ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ.2552)จำนวน 120 แห่ง สามารถรองรับการศึกษาของนักเรียน นักศึกษา ไปแล้ว 20,000 คน
The River Star Homes Program
ในปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ.2554) ได้ขยายพื้นที่ลงไปดำเนินการในแม่น้ำสาขา Lafayette branch เป็นการสร้างความร่วมมือกับประชาชนผู้อยู่อาศัยจำนวน 1,700 ครัวเรือน ในโครงการ The River Star Homes Program ซึ่งมีต้นแบบของการลดการใช้ปุ๋ยเคมีในสนามหญ้าอีกโครงการหนึ่งด้วย”
เมื่อวิทยากรบรรยายมาถึงจุดนี้ ผมสังเกตได้ถึงความตื่นตัว ตื่นตาตื่นใจของผู้เข้าร่วมอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนเป็นระยะๆ ที่มักจะได้ไอเดียใหม่ๆในการปรับใช้เสมอๆ
ดร.สุนทร กล่าวถึงปัจจัยความสำเร็จของโครงการนี้ ว่า
“ความสำเร็จของโครงการมาจากหลายปัจจัย ได้แก่
- มีการการสร้าง Concept Building เจตนารมณ์ร่วมทั้ง 2 ฝั่งน้ำ
- การ Engage ร่วมกับ Polluter ในการสร้าง commitment ร่วมกัน
- การสร้างแรงจูงใจ เช่น จัดกิจกรรมประกวด (Positive Engage)
- Issue สามารถสร้างให้บรรลุการไปข้างหน้าร่วมกัน
- การสร้าง awareness ร่วมกัน ผู้นำมีความชัดเจนในการริเริ่ม
- การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมที่นำไปสู่ความสำเร็จของงาน (Advisory board)
- มีกระบวนการดึงคนเข้ามาร่วมกิจกรรมได้ดี
- มีการ Recheck งาน
ทุกประเด็นถูกหยิบมาเชื่อมร้อยเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการการหยิบปัญหามาสร้างเป็น common agenda - การสร้าง Concept Building เจตนารมณ์ร่วมทั้ง 2 ฝั่งน้ำ มีการจัดประชุม / การทำงานร่วมกัน -การ Engage ร่วมกับ Polluter ในการสร้าง commitment ร่วมกัน (เป็นการสร้างการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาเป็นเรื่องๆ มีการแบ่งพื้นที่ย่อยเป็นจุดๆ / มีการสร้างแรงจูงใจ เช่น จัดกิจกรรมประกวด (Positive Engage) ใช้กลไกของศูนย์เรียนรู้เป็นกระบวนการในการกำกับงาน การสร้างการตระหนัก- awareness ร่วมกัน รวมถึงมีการสื่อสาร การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมที่นำไปสู่ความสำเร็จของงาน (Advisory board) มีกระบวนการดึงคนเข้ามาร่วมกิจกรรมได้ดี มีการ Recheck งาน Issue สามารถสร้างให้บรรลุการไปข้างหน้าร่วมกัน”
บทเรียนจากแม่น้ำอริซาเบธ เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาของคุ้งบางกะเจ้า แต่บทเรียนจากแม่น้ำอริซาเบธ คือวิธีการที่ต้องเรียนรู้เพื่อปรับใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ เพราะความสำเร็จที่ได้มาจากบทเรียนนี้ แท้ที่จริงก็คือการทำงานหลายภาคส่วน การทำงานหลายรูปแบบ แต่มีปลายทางเดียวกันที่ชัดเจน
อ้างอิง :