ถอดรหัสยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ไม่ทิ้งพอเพียง


ถอดรหัสยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

มั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ไม่ทิ้งพอเพียง

 

หลังๆมานี่คำว่า “โรดแม็ป” เอย… 

“แผนฯ 12” เอย…

“ยุทธศาสตร์ชาติ” เอย...

 

คำเหล่านี้มักเห็นผ่านตา ได้ยินผ่านหูอยู่บ่อยๆ อาจบ่อยจนชิน เข้าถึงรายละเอียดเพียงระดับผิวเผินเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องเชิงนโยบาย เป็นประเด็นเชิงโครงสร้าง แต่ก็จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ไว้ รับทราบไว้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองเรา

โรดแมป ถูกจุดประเด็นขึ้นหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ก้าวเข้ามาบริหารประเทศ เป็นเสมือนสัญญาประชาคมที่จะต้องเดินตาม ประเด็นหลัก 4 เรื่อง คือ 1.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 2.ทำประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญ 3.ออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และ 4.จัดการเลือกตั้ง 

2 ข้อแรกดำเนินการบรรลุโรดแมปแล้ว สองข้อหลังอยู่ระหว่างดำเนินการ

แผนฯ 12 คือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ใช้ในปี 2560-2564 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ เป็นผู้จัดทำเพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศให้สะท้อนบริบทความเปลี่ยนแปลงทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน แผนฯ12 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2559 มี 10 ยุทธศาสตร์ (หัวข้อยุทธศาสตร์อยู่ท้ายบทความ) 

 

ยุทธศาสตร์ชาติ คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในระยะ 20 ปี (2560 - 2579) ซึ่งเป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 65 เขียนไว้ชัดเจนว่า

 

 

"รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทําแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน เพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว การจัดทํา การกําหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย และสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วย ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้”

เนื้อในของร่างยุทศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้นมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ในที่นี้จะพยายามสังเคราะห์ส่วนสำคัญๆออกมาให้มากที่สุด

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดวิสัยทัศน์อย่างเป็นทางการว่า “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

กระชับคำให้จำง่ายๆ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สู่ไม่ทิ้งพอเพียง” โดยสาระสำคัญคือการขับเคลื่อนใดๆ แม้ว่าเราจะก้าวไกลเพียงไร ประเทศไทยก็จักเดินตามรอยในหลวงรัชการที่ 9 ซึ่งพระองค์ได้ทรงพระราชทานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้เป็นแนวทางให้แก่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า

 

 

การขับเคลื่อนประเทศใน 20 ปี ข้างหน้ามีอยู่ 6 ยุทธศาสตร์ ซึ่งโดยหลักการง่ายๆคือ แม้การเมืองเปลี่ยนผู้บริหารเปลี่ยน แต่แนวทางการขับเคลื่อนประเทศต้องเป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์ชาตินี้ (ทุก 5 ปี จะมีการทบทวนยุทธศาสตร์)

ในภาพรวมด้านเศรษฐกิจต้องเพิ่มขีดความสามารถที่หลากหลายขึ้น เช่น ส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่ผลิตจากทรัพยากรชีวภาพ ให้มีขีดความสามารถในการผลิตสินค้า โดยใช้วัตถุดิบจากชุมชน มีกระบวนการผลิตได้มาตรฐาน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หรือ Bio economy. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยองค์ความรู้มีงานวิจัยพัฒนานาเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ หรือ Productivity Innovation drive.

รายได้ประชาชนต่อหัวต้องสูงขึ้น ก้าวพ้นกับดักความยากจน ภาครัฐมีการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อความคล่องตัวมีประสิทธิภาพ “จิ๋วแต่แจ๋ว” สู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมสีเขียว เติบโตไปพร้อมๆกับการดูแลสภาพแวดล้อมและชุมชนยั่งยืนไปพร้อมๆกัน

มาดูประเด็นยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้านกันบ้างว่ามีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง

ยุทธศาสตร์ที่  1  ด้านความมั่นคง
           ประเทศชาติต้องมีความมั่นคง มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ มีเสถียรภาพในทุกๆด้าน สร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มอาเซียนและประชาคมโลก เตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติต่างๆเพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความสามารถในการแข่งขัน
          หัวใจหลักของยุทธศาสตร์นี้คือการพัฒนาขีดความสามารถในทุกมิติทางเศรษฐกิจ ก้าวสู่ประเทศที่มีนวัตกรรมใช้ในกระบวนการผลิต มีการต่อยอดวัตถุดิบที่มีอยู่ให้มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปต้องได้รับการยกระดับที่มีมูลค่าสูงขึ้น อุตสาหกรรมได้ประโยชน์เกษตรกรก็ได้ประโยชน์เป็นการเกื้อกูลกัน นอกจากนี้กลุ่มผู้ประกอบการระดับชุมชน หรือ SMEs ต้องมีกลไกลขับเคลื่อนให้เติบโตไปพร้อมๆกัน เพื่อความแข็งแกร่งที่ยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพคน
“คน” ในชาติต้องเป็น คนดี คนเก่ง สุขภาวะที่ดี
“ดี” คือ มีคุณธรรม จริยธรรม มีวินัย ภูมิใจในชาติ มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ
“เก่ง” คือ ไผ่เรียนรู้ เชี่ยวชาญตามความถนัด มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถพัฒนานวัตกรรมแห่งอนาคต เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศ
“สุขภาวะดี” คือ มีองค์ความรู้ที่เพียงพอดูแลสุขภาพตนและคนรอบข้างได้เป็นอย่างดี

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาสและความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม
          สาระสำคัญคือการกระจายโอกาสและสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขณะเดียวกันต้องขับเคลื่อนทุนทางสังคม หรือต้นทุนทางวัฒนธรรมให้เกิดมูลค่าส่งผลต่อความเข้มแข็งทางสังคม และมีการสื่อสารสู่สังคมอื่นๆให้มากขึ้นผ่านกลไกลของสื่อมวลชนให้แต่ละชุมชนได้มีโอกาสได้เผยแพร่ในวงกว้างต่อไป

ยุทธศาสตร์ที่ 5 สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
          “คนอยู่รอดสิ่งแวดล้อมต้องอยู่ด้วย” ประโยคนี้อาจเป็นหัวใจหลักของยุทธศาสตร์นี้ โดยจะต้องมีการเร่งอนุรักษ์ฟื้นฟูในส่วนที่ถูกทำลายไป เร่งวางมาตรการต่างๆเพื่อรักษาสิ่งที่ยังอยู่ให้คงอยู่ตราบชั่วลูกหลาน ต้องมีการวางระบบบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพทั้ง 25 ลุ่มน้ำ เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมแนวทางและขยายผลการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ใช้กลไกลทางเศรษฐศาสตร์และนโยบายการคลังเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ
          หัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์นี้ คือ “จิ๋วแต่แจ๋ว” ต้องมีการผ่าโครงสร้างหน่วยงานราชการปรับปรุงบทบาทหน้าที่ลดความซ้ำซ้อนวางระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปรับปรุงกฎหมายต่างๆให้มีความทันสมัยเป็นสากลมากขึ้น สร้างกลไกลป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ พัฒนาระบบบริการประชาชนให้ดีขึ้น

 

ในทัศนะผู้เขียนยังมองว่าอย่างน้อยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนี้ เป็นเสมือนกระดูกงูของเรือ เพราะการสร้างเรือขึ้นมาแต่ละลำต้องวางกระดูกงูก่อนเป็นอันดับแรก กระดูกงูเปรียบเสมือนโครงสร้างของเรือ เมื่อวางไว้เป็นโครงร่างที่แข็งแกร่งสวยงาม ปลายทางที่ได้ก็คือลำเรือที่ทั้งแข็งแกร่งและสวยงามตามแปลนที่วางไว้ หากมีการแตะโครงสร้างกระดูกงู ส่งผลให้กระดูกงูผิดเพี้ยนไปจากเดิม เรือลำนั้นคงมีรูปร่างที่ผิดไปจากแปลนและอาจใช้งานไม่ได้ สุดท้ายเวลาที่เสียไปกับสิ่งได้มาก็คงไม่คุ้มค่า

 

ค่อยๆ ศึกษาทำความเข้าใจ ค่อยๆ ขับเคลื่อนประเทศไทยไปด้วยกันครับ     

 

 *******

ประเด็นยุทธศาสตร์ตามแผนฯ 12
1.ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพมนุษย์
2.ยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมลดความเหลือมล้ำ
3.ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
4.ยุทธศาสตร์การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
5.ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน
6.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการภาครัฐการป้องกันทุจริตประพฤติมิชอบและธรรมมาภิบาลในสังคมไทย
7.ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์
8.ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีวิจัยและนวัตกรรม
9.ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ
10.ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต

 

อ้างอิง

file:///C:/Users/114/Downloads/795966_National%20strategic%20plan%2020%20years_260760%20(2).pdf

file:///C:/Users/114/Downloads/plan12-thaila.com_.x85369%20(2).pdf

https://news.thaipbs.or.th/content/264852

http://www.nesdb.go.th/download/document/%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%...(%E0%B8%9E.%E0%B8%A82560%20-%202579).pdf 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube