เศรษฐกิจดอกเห็ด "หลินจือ"กาฬสินธุ์


เศรษฐกิจดอกเห็ด ... “หลินจือ” กาฬสินธุ์

 

“ผมคือเกษตรกรคนหนึ่ง เกิดจากดิน อยู่กินติดดิน สิ้นลมก็ลงสู่ดิน

ทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างมา ตั้งใจอยากถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งหมดที่มี ฝากไว้ให้แผ่นดินเป็นวิทยาทาน...”

ประโยคสุดท้ายก่อนวางสาย หลังจากผมโทรสัมภาษณ์ คุณนิมิตร รอดภัย เจ้าของมิตรภาพฟาร์มกาฬสินธุ์ ราว 20 นาที เป็น 20 นาทีที่ไม่มีกั๊ก ให้หมดใจใส่เต็มรัก…!

นิมิตร รอดภัย เกษตรกรวัย 57 ปี บอกเล่าเรื่องราวชีวิตก่อนจะมาเป็นเจ้าของฟาร์มเห็ดผู้มั่งคั่งบนแผ่นดิน จังหวัดกาฬสินธุ์ (มีครอบครัวที่นั่น) ว่า พื้นเพเดิมเป็นคนจังหวัดสมุทรปราการ จบ มศ. 5 แล้วไปเรียนด้านเกษตรที่ วิทยาลัยเกษตรจังหวัดลำปาง (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดลำปาง) ก่อนจะขยับขึ้นเหนือไปอีกนิดเรียนปริญญาตรีและโท ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในสาขาการจัดการด้านการเกษตร จังหวัดเชียงใหม่ สรุปคือซึมซับด้านการเกษตรมาทั้งชีวิต

“ผมขลุกอยู่กับการเกษตรมาทั้งชีวิต ตอนเรียนเกษตรก็สนใจเรื่องการเกษตรทุกชนิด สนใจเรื่องเครื่องกลการเกษตรต่างๆ จบ ปวส.ก็มีมุมคิดมุมหนึ่งตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเกษตรกรเราถึงยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ทำไมเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ ด้านการเกษตรบ้านเราถึงยังไม่เจริญเท่าที่ควรจะเป็น คำถามในใจเหล่านี้ส่งผลต่อการตัดสินใจไปเรียนที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งหวังว่าจะได้ความรู้ด้านการเกษตรให้มากที่สุด จะได้นำมาประยุคใช้จริง ยิ่งเรียนยิ่งเห็นคุณค่าของการเกษตร จบปริญญาตรีและโท ที่นั่น”

เกษตร ป.โท จากแม่โจ้ นำความรู้ที่ได้มาทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมค้นคว้าอย่างไม่หยุดนิ่ง เขาและเพื่อนๆ (ที่ตอนนี้ต่างแยกย้ายไปตามแต่วิถีของแต่ละคนเลือก) ร่วมกันทำวิจัยเพราะเชื้อเห็ดขยายพันธุ์เห็ดชนิดต่างต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2528 จนทุกวันนี้ก็มีความภูมิใจอยู่ลึกๆ ว่าได้นำความรู้ที่ได้มาขยายผลสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่พี่น้องเกษตรกรมากมาย

ผมตัดตอนชวนคุยถึงที่มาที่ไปของการทำเห็ดหลินจือ ซึ่งฟาร์มของเขาทำตั้งแต่เพาะเชื้อยันแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย

“ในฟาร์มของผมทำเห็ด 14 ชนิด เช่น เห็ดขอน เห็ดหูหนู เห็ดกระด้าง พยายามทำให้เกิดรายได้หมุนเวียน เป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน  โบนัสรายปี พูดถึงเห็นหลินจือที่มีความสนใจนั้นเพราะเป็นเห็ดที่มีความมหัศจรรย์ มีสรรพคุณทางยามากมาย แต่ต้องรู้จักการนำสรรพคุณออกมาใช้อย่างถูกวิธี โดยสรรพคุณหลักๆ คือ
     1.ขับสารพิษออกจากร่างกาย
     2.สร้างภูมิคุ้มกัน
     3.ปรับสมดุล
ทั้ง 3 ข้อมีความเกี่ยวเนื่องกันเพราะคนเรานั้นมีสารพิษตกค้างในร่างกาย มากบ้างน้อยบ้าง แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

ผลจากการวิจัยชี้ชัดว่าสารจากเห็ดหลินจือช่วยขับสารพิษได้ เมื่อสารพิษค่อยๆ ถูกขับก็นำมาสู่การมีภูมิคุ้มกันที่ดี ร่างกายเกิดความสมดุลนั่นเอง”

ต่อประเด็นที่ว่าแล้วเห็ดหลินจือบ้านเรากับที่ประเทศจีน มีความเหมือนความแตกต่างอย่างไร เขาได้ไขข้อสงสัยด้วยน้ำเสียงเจือรอยยิ้มว่า

“ทุกอย่างเหมือนกัน แต่ต่างกันที่แหล่งกำเนิด เกิดที่จีน เกิดที่ไทย สุดท้ายก็อยู่ที่วิธีการสกัดออกมา เพราะที่เมืองจีนอย่างที่เรารู้ๆ เดินตลาดซื้อของ ต่อรองราคากันแบบครึ่งต่อครึ่งก็ยังได้ ส่วนเรื่องคุณภาพก็ขอละไว้ เอาเป็นว่าทุกอย่างเหมือนกัน ที่ฟาร์มมีการใช้ประโยชน์จาก 2 ส่วนคือ สปอร์ กับ ดอก ซึ่งวิธีสกัดทำในระบบ LAB ที่มีคุณภาพ มีการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น ยาเม็ดแคปซูล น้ำสกัด ชา กาแฟ สบู่ เป็นต้น”

ผมกระซิบถามถึงรายได้ ตัวเลขกลมๆ ต่อปี ได้ความว่าตกราวๆหลักสิบล้านบาทเลยทีเดียว และในจำนวนนี้กว่าครึ่งมาจากส่วนของเห็ดหลินจือ

*****

 

มีดีกับตัวแต่ไม่เคยเก็บไว้คนเดียว

 

มิตรภาพฟาร์มเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้ผู้สนใจทั่วไปมาศึกษา และนำไปต่อยอดได้อย่างไม่หวงวิชา โดยมีการแบ่งปันความรู้สู่เกษตรกร กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ซึ่งแต่ละปีมีนักศึกษาฝึกงานจากวิทยาลัยการเกษตรแถบภาคอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏเข้ามาฝึกงานอย่างต่อเนื่อง โดยเจ้าตัวก็เดินสายเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งงานถ่ายทอดความรู้เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจ ที่ได้บอกไว้ว่าอยากฝากองค์ความรู้คืนสู่แผ่นดิน

 

ผมถามไปว่าถ้ามีองค์กรเอกหรือหน่วยงานราชการ เข้ามาขอรับการถ่ายทอดองค์ความรู้นี้สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนอย่างเป็นจริงเป็นจัง พร้อมจะให้โมเดลนี้ไปได้หรือไม่ เจ้าตัวบอกไว้อย่างน่าสนใจ

หากว่าองค์ความรู้ที่ผมมี สามารถนำพาพี่น้องเกษตรกรให้อยู่ดีกินดีได้ ผมก็ยิ่งภูมิใจ ยินดีมากๆ หากจะใช้โมเดลเห็ดขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน

หน่วยงานราชการโดยเฉพาะส่วนท้องถิ่นลองรวบรวมคนมีใจ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ปลุกแรงฮึดดูสักตั้ง ลงไปศึกษาอย่างจริงจัง น่าจะพอไปได้นะ แต่ถ้ารู้สึกว่าอาจแรงไม่พอ เกรงขับเคลื่อนไม่สุดทาง ก็ลองชวนเอกชนที่อยู่ใกล้ๆไปด้วยกัน บางทีเอกชนอาจได้งาน CSR รูปแบบใหม่ที่สามารถอธิบายความเปลี่ยนแปลงได้จริง

 

ไม่แน่นะเศรษฐกิจจากดอกเห็ด อาจสร้างแรงกระเพื่อมที่ยิ่งใหญ่ ขับเคลื่อนชุมชนสู่ความยั่งยืน  

จริงไหม...?

 

เรื่อง : ปรีชา นาฬิกุล
ภาพ : นิมิตร รอดภัย / มิตรภาพฟาร์ม ต.ภูดิน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

Please download and install pdf.js!

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube