ผศ.ดร.ควบเกษตรกร แห่งสำนักกระบี่วิเวก จ.เลย


 

ผศ.ควบเกษตรกร แห่งสำนักกระบี่วิเวก จ.เลย

         

ชื่ออย่างเต็มยศ คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดอกเตอร์ประยุทธ วรรณอุดม หรืออาจารย์โต้ง ของผองศิษย์นิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย รวมทั้งผมด้วย

แม้จะมี ผศ.ดร.นำหน้าชื่อ แต่ความเป็น ดร.ลูกเกษตรกรจากเมืองอุดรธานี (ปัจจุบันตั้งรกรากอยู่ที่ จ.เลย) ยังคงฉ่ำลึกอยู่ใน DNA เช่นเดียวกันกับความคลั่งไคล้และใหลหลงในนิยายกำลังภายใน ถึงขนาดที่ว่าควบม้าตัวใหญ่มาสอนหนังสือเลยทีเดียว

“สำนักกระบี่วิเวก” ถูกใช้เป็นชื่อสวนเมล่อนอินทรีย์ที่อาจารย์โต้ง บรรจงประคบประหงมแบบ “Intensive care ใส่ใจอย่างยิ่งยวด”

ผมเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวผ่านหน้าเฟสบุค พยายามส่งเทียบเชิญให้มาเป็น Blogger กิตติมศักดิ์หลายครั้ง เพื่อให้มาช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการผสานวิถีเกษตรกร แต่อาจารย์โต้งยังบอกคำเดิมว่าครูไม่ค่อยว่าง แต่ทุกครั้งที่ผมส่งคำปรึกษาไปก็ได้รับการอรรถาธิบายจนได้ความรู้เพิ่มมาอีกเป็นกุรุส

เมล่อนแห่งสำนักกระบี่วิเวก เป็นการผสานความลงตัวทั้งงานวิชาการ งานครีเอทีฟ งานการตลาดที่ทั้งแปลกและพิสดาร แต่รวมๆคือความลงตัว ถึงขั้นเป็นต้นแบบได้ แถมความสำเร็จจากการลงแรง ด้วยจิตวิญาณครูก็ไม่หวงวิชาและพร้อมที่จะแบ่งปันอีกด้วย

และนี้คือ เรื่องราวที่อาจารย์โต้งได้ถ่ายทอดลงบนหน้าเฟสบุกเมื่อไม่นานมานี้ เสมือนเป็นคำตอบให้แก่ทุกคนว่า กว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความเพียร

ผศ.ดร.ประยุทธ วรรณอุดม ท่านว่าไว้ ดังนี้

“โพสต์นี้ เป็นกำลังใจให้คนในวงการทั้งวงการวิชาการ และวงการคนอยากลองปลูกเมล่อนนะครับ

อยากบอกว่า ตำแหน่ง ผศ.นั้น ถ้าตั้งใจจริง ก็ขอได้ไม่ยาก เมล่อนนั้นถ้าใส่ใจก็ปลูกได้ แม้จะดูยาก แต่ก็ไม่เกินความสามารถคนรักเมล่อนหรอกครับ

นี่เป็นตัวอย่างการปลูกเมล่อนในกระบะ บนพื้นปูน อยากบอกว่า แม้ว่าที่บ้านใคร ไม่มีที่ทางกว้างขวาง ขอพื้นที่ว่างแค่ 6x6 เมตร ทำโรงเรือนสักนิด ตั้งกระบะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 1 เมตร ยาว 4 เมตร สูง 20 เซ็น ใช้พลาสติกขนาดใหญ่ปูรองพื้น เจาะรูสักหน่อยให้ระบายน้ำได้

เอาขุยมะพร้าวที่ล้างน้ำดีแล้วรองพื้นกระบะที่ว่า จากนั้นเอาดินดีๆใส่ เลือกพันธุ์เมล่อนที่ชอบมาเพาะ พอได้ต้นกล้าอายุเจ็ดวันก็ปลูกเมล่อนลงไป ให้แดดส่องถึง รดน้ำหมักที่หาได้ ใส่ปุ๋ยสูตร เสมอ เช่น 17 17 17 ใกล้โคนต้น ตอนปลูกได้สิบสี่วัน และให้ปุ๋ยสูตรตัวท้ายสูงๆ เช่น 14 7 35 หลังจากแขวนลูกแล้ว ก็จะได้กินเมล่อนที่ปลูกด้วยมือตัวเองรับรองว่าจะภูมิใจไม่รู้ลืม

การปลูกเมล่อนทำให้ข้าพเจ้าเรียนรู้หลายอย่าง อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าการทำผลงานวิชาการนั้น เป็นเรื่องง่ายมากๆถ้ามีความขยัน เพราะไม่ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ ขึ้นอยู่กับตัวเองล้วนๆ ถ้าคิดว่าการขอผลงานวิชาการนั้นยาก ให้อ่านเรื่องราวของข้าพเจ้าดู

มีคนบอกว่าเมล่อนนั้น ปลูกไม่ยาก แต่ดูแลให้รอดตายจนได้ผลผลิตนั้น เป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะเป็นพืชคุณหนู แถมเป็นคุณหนูบนหอคอยงาช้างอีกต่างหาก ด้วยเหตุว่า เมล่อนนั้นอ่อนแอ บอบบางพร้อมที่จะตายได้ทุกเมื่อ เราจึงต้องปลูกเมล่อนในโรงเรือนเพื่อควบคุมปัจจัยหลายๆ อย่างให้ดีที่สุด

คุณหนูเมล่อนนั้นเป็นพวกจุกจิก เรื่องมากเธอไม่อดทนต่ออะไรเลย อากาศร้อนมากเกินไป ก็ตาย อากาศเย็นมากไป ก็ตาย ดินแห้งเกินไป ดินแฉะเปียกเกินไป ก็ตาย หมักปุ๋ยคอกไม่ดีทำให้ดินเค็มเกินไปก็ตาย มีเชื้อโรคพิสดารที่ติดมากับปุ๋ยคอก ส่งผลถึงรากถึงต้นก็สลด เฉาตายไปดื้อๆ ร้อนมากผสมดอกไม่ติดก็เสียแรงเปล่า ผสมแล้วดอกฝ่อไปก็มาก บลาๆๆๆ เผลอๆเกิดโรคประหลาดๆ ที่เจ้าของสวนรู้ไม่เท่าทันก็ตาย แถมเวลาตายสามารถทำให้เจ้าของสวนร้องไห้น้ำตาท่วมได้เลย เพราะมันอาจพร้อมใจกันตายแบบยกโรง !!!!หมายความว่า สิ่งที่ทุ่มเทลงไป ทั้งทุน ทั้งเวลา ทั้งแรงกายแรงใจนั้น หายวับไปกับตา

เจ้าของสวนอาจบาดเจ็บตั้งแต่เพียงเล็กน้อย จนถึงสาหัสสากรรจ์ คนไม่ปลูกเมล่อน อาจจะไม่เคยล่วงรู้ถึงความรู้สึกของคนปลูกเมล่อน ตอนที่ต้องถอนต้นเมล่อนที่เป็นโรคทิ้ง เพราะไม่อยากให้ต้นอื่นติดโรคไปด้วย ทั้งเศร้าเสียใจ เสียดาย สงสาร หดหู่ กล้ำกลืนฝืนใจ อาลัยอาวรณ์ แม้ว่าเลี้ยงดูจนเมล่อนติดลูกเป็นผลแล้ว โตมากแล้ว ก็ยังมีปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลได้อีกมากมายไม่รู้จบ โดยเฉพาะหน้าฝน ฝนตกมากไปความชื้นสูง ก็มีผลต่อรสชาติ แถมยังทำให้ลูกเมล่อนก้นแตก แม้จนกระทั่งกำลังจะเก็บผลผลิต ก็ยังต้องคอยระวังเรื่องการงดน้ำ ดูแลให้รากเมล่อนยังคงแข็งแรง จนได้เมล่อนคุณภาพดี รสชาติหวานประทับใจ ก็เรียกได้ว่าต้องประคบประหงมกันทุกวันทุกคืนจริงๆ

เมล่อนจึงต้องปลูกแบบ Intensive care ใส่ใจอย่างยิ่งยวด ไม่ใช่ปลูกแบบปล่อยตามเวรตามกรรม ต้องประณีต ใส่ใจทุกขั้นตอน ผิดพลาดนิดเดียว แค่นิดเดียวเท่านั้นจริงๆ (เช่น ลืมปิดน้ำ ขาดน้ำ หรือมีเพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว เล็ดลอดเข้าไปในโรงเรือน) ก็ทำให้เมล่อนมีอันเป็นไปได้สารพัด

ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงลองปลูกเมล่อน ด้วยความอยากรู้ว่าเหตุใดจึงปลูกได้ยากนัก ผลคือ ทำให้ข้าพเจ้า สรุปได้ว่า การทำผลงานวิชาการขอ ผศ. รศ.นั้นโคตรง่าย อย่างน้อยก็ง่ายกว่าเมล่อน เพราะง่วงยังนอนได้ เหนื่อยยังพักได้ พลาดมาแก้ไขได้ ลงทุนลงแรงไปตามอัตภาพ

แต่เมล่อน.... เหนื่อยก็พักไม่ได้ ร้อนแสนร้อนก็ต้องทน เพราะบางครั้งต้องแข่งกับเวลา เช่น ช่วงผสมดอก จะรีรอชักช้าไม่ได้ ในโรงเรือนกลางแดดเปรี้ยงๆ ร้อนยิ่งกว่าเตาอบ อาบเหงื่อเปียกไปทั้งตัวไม่เคยแห้ง ก็ต้องทนอยู่ในนั้นหลายชั่วโมง เพราะดอกที่บานในวันนั้น ต้องรีบผสมให้เสร็จในวันนั้น ไม่เช่นนั้น ดอกที่อยู่ในในตำแหน่งที่ดี จะเหี่ยวหุบไป เรียกว่า พลาดแล้ววววว

ข้าพเจ้าใช้เวลา 1 ปี ในการทำผลงานขอ ผศ. และได้ ผศ.มาหลายปีแล้วโดยไม่ต้องแก้ไข แต่ใช้เวลามากถึง 3 ปี ในการเรียนรู้เมล่อน กว่าจะเริ่มปลูกจนได้ผล แต่กระนั้น เรื่องของเมล่อนก็ยังไม่จบ ยังต้องเรียนรู้ต่อไปอีกมาก ต้องแก้ไขปรับปรุงต่อไปอีกมาก

ท้าทายดีไหมล่ะ????...”

            บัดนี้ เจ้าสำนักกระบี่วิเวก ผู้เป็นทั้งผศ.ควบเกษตรอีกตำแหน่ง แม้จะเป็นเกษตรกรผู้ปลูกเมล่อนอินทรีย์ที่แปลงไม่ใหญ่มาก แต่ก็ Smart.เลยทีเดียวละ พร้อมแล้วที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้จากการตรากตรำทำจริง สู่ชุมชน สู่ท้องถิ่น สู่จอมยุทธ์ใหญ่น้อยทั่วทั้งยุทธจักร ให้นำไปปรับใช้ได้ตามสะดวกใจ

            แวะทักทายท่านเจ้าสำนักได้นะครับ ที่ “สำนักกระบี่วิเวก 333 หมู่ที่ 10 บ้านน้ำภู ต.เมือง อ.เมือง จ.เลย”    

            พูดคุยถูกคอได้ความอย่างไร ก็เขียนมาเล่าสู่ฟังได้ครับ

 

หมายเหตุ : ขอบคุณภาพจาก FB  : ประยุทธ วรรณอุดม 

 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube