ตาลโตนด เสน่ห์ “โนนไทย” ลมหายใจ ที่ยังรอผู้สานต่อ


ตาลโตนด เสน่ห์“โนนไทย”

ลมหายใจ ที่ยังรอผู้สานต่อ

 

ทุ่งโล่งคันนาเตี้ยๆ ต้นตาลรวมกันเป็นกลุ่มๆ สูงต่ำสลับกันไป ฤดูทำนาภาพระดับสายตามองเห็นสีเขียวของใบข้าวลู่เองตามแรงลม สบายตาเพลินหัวใจไม่น้อย...

หมดหน้านามองทอดสายตาออกระดับเดียวกันอาจเห็นละอองฝุ่นเป็นม่านสลัวสลับแสงระยิบระยับ ยอดตาลเอนลู่ตามแรงลม ชวนให้จินตนาการไปว่า ตาลผ่านผู้คน ผ่านแรงลม ผ่านสภาพแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ อย่างไรมาบ้างกว่าที่จะสูงใหญ่ให้ผลผลิต สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ ชาวบ้านมาหลายชั่วอายุคน

บ้านหลักร้อย หมู่ที่ 9 ตำบลโนนไทย อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา ณ ที่แห่งนี้ยังพอมีร่องรอยแห่ง “อาชีพค้าตาล”(ขอเรียกว่า “ค้าตาล”เนื่องจากตาลหนึ่งต้นสร้างเป็นผลผลิตที่หลากหลาย) ให้ได้เห็นกันอยู่

ทุกๆ เช้า “ตาหว่อ” หรือที่มีชื่อชื่อจริงว่า นายทองมี ทาสันเที๊ยะ ชาวบ้านหลักร้อย ชายวัยบ่ายคล้อยแห่งชีวิต แต่ยังแข็งแรงราวกับหนุ่มฉกรรจ์ ปีนขึ้นต้นตาลอย่างคล่องแคล่วเพื่อเก็บน้ำตาลที่บ่ายวานนี้แกนำขวดน้ำอัดลมขนาดลิตรกว่าๆไปรองไว้ ซึ่งแต่เดิมใช้กระบอกไม้ไผ่แต่ปัจจุบันกระบอกไม้ไผ่เริ่มหายากจึงมีการปรับเปลี่ยนวัสดุรองรับน้ำตาลไปตามยุคพลันที่แกลงจากต้นตาลพร้อมน้ำตาลสดเกือบเต็มกระบอก แกจะมีพาชนะใบใหญ่ใส่น้ำตาลรวมๆกันไว้ บางวันน้ำตาลในถังใหญ่จากที่เก็บรวบรวบรวมไว้ แทบจะเดินทางไม่ถึงบ้าน ก็มีผู้มารับซื้อใต้โคนต้นตาลนั้นเลย

 

ตาหว่อ เลือกที่จะแบ่งขายเพียงบางส่วนเหลือไว้บางส่วนเพื่อนำกลับบ้าน ไปแปรรูปเป็นผลผลิตน้ำตาลก้อน

น้ำตาลก้อนจากตาลโตนดนี้มีรสชาติหอมหวาน เป็นวัตถุดิบปรุงรสได้หลากหลายเมนูทั้งของคาวของหวาน แถมตาลโตนดมีสรรพคุณทางสมุนไพรอีกต่างหาก

ตาหว่อ นำน้ำตาลสดที่ได้มากรองด้วยผ้าขาวบาง เพื่อให้ได้น้ำตาลที่สะอาดบริสุทธิ์ จากนั้นก็เตรียมติดเตาถ่านจากฟืนแห้ง หรือก้านตาลแห้ง อันเป็นเสน่ห์อีกอย่างของการทำตาลโตนดแบบโบราณ ติดไฟไว้พร้อมแล้ว น้ำตาลสดรองผ้าขาวบางเรียบร้อย จากนั้นก็ตั้งกระทะใบใหญ่ เทน้ำตาลลงไปแล้วค่อยๆเคียว ทำอย่างใจเย็น โดยใช้ไม้พายคนให้ทั่วกระทะ จนได้ที่ รวมๆเวลาก็หลายชั่วโมงพอควร 

โดยแต่ละครั้งจะใช้น้ำตาลประมาณ 10 ลิตร เพราะถ้ามากเกินกว่านี้อาจเกิดปัญหา ในตอนที่จะนำตาลไปหยดเป็นแผ่นๆ ถ้าทำไม่ทันน้ำตาลที่เคี่ยวอาจเกิดการแข็งคากระทะเสียหายได้ นี่อาจเป็นหนึ่งปรัชญาที่ได้จากการเคี่ยวตาล เพราะ 1 กระทะที่เคี่ยวสอนให้รู้จักคำว่าความพอดี พอประมาณในสิ่งที่ตนทำได้ ทำไหว เพราะหากจะทำมากกว่านี้ก็ต้องเพิ่มจำนวนกระทะ เพิ่มจำนวนคนเข้าไป

คงเพราะเหตุนี้ตาหว่อ จึงได้แบ่งขายน้ำตาลบางส่วนให้แก่ผู้มารับซื้อที่ ณ จุดขายใต้โคนต้นตาลนั่นเอง

อ้อ...ลืมบอกไป

ตาหว่อ ให้ลองชิมน้ำตาลสดๆ หลังจากที่ลงจากต้น โดยเทน้ำตาลจากขวดพลาสติกใส่ลงในขันอลูมิเนียมโบราณ ซึ่งมีคุณสมบัติเก็บความเย็นได้ดีระบายความร้อนได้เร็ว รสชาติน้ำตาลสดจากโคนต้นจึงหวานหอมเย็นชื่นใจเกินบรรยายเชียวละ ยิ่งบรรยากาศบ้านทุ่งด้วยแล้ว ได้ทั้งรสชาติและอรรถรสพร้อมๆกัน

น้ำตาลที่กินสดๆ กับแบบที่ต้มแล้วจะแตกต่างกันเล็กน้อย โดยแบบที่ต้มรสชาติจะหวานขึ้นเล็กน้อย แต่ความหอมจะลดลง สาเหตุที่ต้องต้มก่อนเพราะน้ำตาลสดเก็บไว้ไม่ถึง 10 นาทีจะเริ่มบูด แต่ถ้านำไปทำเป็นน้ำตาลเมาก็ไม่ต้องต้ม หมักกับแก่นมะเกลือเผาได้เลยก็จะได้เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่มจากภูมิปัญญา   

การทำตาลโตนด กินระยะเวลาราว 2-3 เดือนหลังหน้านา (ประมาณ ม.ค.-ต้นเดือน มี.ค.) เพราะช่วงนี้ตาลจะออกใหม่ ขายได้ทั้งน้ำตาล ทั้งลูกตาลอ่อน ขณะที่หัวตาลยังทำอาหารได้อีกหลายเมนู หลังจากพ้นระยะนี้ไปแล้ว ก็ต้องรอเก็บเกี่ยวผลผลิตอีกทีตอนตาลสุก นำลูกตาลสุกไปทำขนมตาลขาย

ในช่วงตาลอ่อนนี้ สามารถสร้างรายได้ให้คุณตาหว่อและชาวบ้าน จากการทำอาชีพค้าตาล ตกวันละประมาณวันละ 500 บาท

หลังจากเคี่ยวน้ำตาลในกระทะจนได้ที่ หยอดเป็นก้อนๆ วางผึ่งบนตระแกรง เมื่อผึ่งแห้งเรียบร้อย ก็จะบรรจุใส่ภาชนะแบบพื้นบ้านที่เรียกว่า “กระโสบ” ทำจากกาบใบตองหรือใบอ้อย เพื่อให้คงความหอมกรุ่นของกลิ่นน้ำตาลและไม่ให้น้ำตาลละลาย จากนั้นชาวบ้านจะนำไปวางขายทั่วไปในตลาดโนนไทย รวมทั้งร้านค้าย่อยในหมู่บ้านต่างๆ เพื่อให้ผู้ผ่านไปผ่านมาซื้อหาติดไม้ติดมือเป็นได้ทั้งของฝาก เป็นได้ทั้งของใช้ติดก้นครัว ราคาย่อมเยา “กระโสบ”หนึ่ง บรรจุ 15 แผ่น ราคา 20 บาท ถ้าซื้อที่ละมากๆก็จะตก “กระโสบ”ละ 15 บาท หรือถูกว่านั้นตามแต่ต่อรองราคากันได้

 

 

 

บ่ายคล้อยแห่งชีวิตของคุณตาหว่อ แม้จะยังเรี่ยวแรงที่พอทำได้ ทำไหวอยู่ และเจ้าตัวก็ยังบอกว่ายังไหว ไม่เหนื่อยมาก เพราะเป็นกิจกรรมที่คุ้นชิน แต่ในบางจังหวะของการพูดคุยกับสิ่งที่ได้เห็น กลับเป็นแววตาที่แกเหม่อลอยในบางจังหวะ แกมองออกไปยังท้องทุ่งกว้าง นั่นหมายถึงหมู่ตาลโตนดกลุ่มใหญ่ ที่เพิ่งปีนป่ายเก็บผลผลิตลงมาทุกๆ วัน ก็พอรู้ได้ว่าลึกๆแล้วก็แอบหวั่นอยู่เหมือนกันว่าถ้าสิ้นแกไปแล้ว จะมีใครมาสานต่ออาชีพหรือไม่

หรือหมู่ตาลโตนด กลุ่มใหญ่ จะถูกแปลงสภาพให้เป็นอย่างอื่นพร้อมอาชีพค้าตาลของตาหว่อที่จบสิ้นลงพร้อมลมหายใจ

วิเคราะห์ท้ายเรื่อง
“ตาลโตนด” ยังพอมีให้เห็นอยู่มากในพื้นที่อำเภอโนนไทย เป็นเสน่ห์ที่ธรรมชาติให้มา การสานต่อสิ่งที่มีอยู่แปลงเสน่ห์ที่ดึงดูดให้เกิดเป็นเม็ดเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เพื่อก้าวสู่การเป็นชุมชนที่พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

ตามโมเดล สร้างเศรษฐกิจจากทุน 3 ก้อน (ทุนชุมชน ทุนความคิดสร้างสรรค์ ทุนสนับสนุนจากภายนอก) ภาพที่ฉายชัดในประเด็นนี้ คือการมีทุนชุมชน หรือของดีดั้งเดิมของชุมชนที่เข้มแข็งอยู่แล้ว มีเสน่ห์ในตัวเป็นจุดขายที่แทบจะไม่ต้องลงทุนสร้างภาพลักษณ์ ทั้งสภาพภูมิประเทศที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ การคมนาคมสะดวก ไปกลับได้ในวันเดียว มีหมู่ตาลขึ้นเป็นกลุ่มๆ มีเรื่องเล่ามากมายไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนขบวนของนายฮ้อยผ่านย่านนี้ รวมทั้งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมขอม ทุนก้อนนี้รอเพียงการปัดฝุ่นสร้างเรื่องราวให้เกิดคุณค่า เพื่อเป็นจิ๊กซอว์ของมูลค่าทางเศรษฐกิจ

เพียงแต่จะเริ่มจากจุดไหนดี ในมุมมองของผมคิดว่าเดินเรื่องจากหมู่ตาลโตนดก็ไม่เลวนะครับ 

 

ส่วนทุนอีก 2 ก้อน คือ เรื่องความคิดสร้างสรรค์ และ ปัจจัยสนับสนุนจากภายนอก
เรื่องความคิดสร้างสรรค์
ณ ตอนนี้เห็นความเข็มแข็งของการรวมตัวของช่างภาพอิสระในพื้นที่อยู่พอสมควร โดยเฉพาะเฟสบุ๊คกลุ่มสาธารณะ “วิถีไทย...วิถีทุ่ง” มีการถ่ายภาพมุมต่างๆของพื้นที่โนนไทย ทั้งกิจกรรมต่างๆ วิถีชีวิต บรรยากาศยามเช้ายามบ่าย โพสลงสู่โลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง จุดนี้เป็นการเปิดพื้นที่สู่โลกออนไลน์ด้วยความสร้างสรรค์ ซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องเติมเต็มด้วยเรื่องเล่าแนบท้ายให้เกิดบรรยากาศที่มากกว่าให้เห็นภาพด้วยตาเปล่าสัมผัสเองด้วยใจ

“กลุ่มวิถีไทย...วิถีทุ่ง” ควรตั้งวงคุยแลกเปลี่ยนภาพเป็นเรื่องเล่า และเพิ่มจำนวนประชากรกลุ่มให้มากขึ้นเรื่อยๆ อาจแปลงจากกลุ่มเป็นแฟนเพจ แล้วตั้งชื่อเพื่อดึงดูดความสนใจ บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่เช่น “เสน่ห์โนนไทย เที่ยวได้ทั้งปี” เพราะภาพที่มีอยู่เป็นอาวุธได้ในระดับหนึ่ง แต่หากแนบท้ายเรื่องเล่าที่น่าสนใจ จะส่งผลต่อการแชร์ต่อไปยังกลุ่มอื่นๆ หรือไม่ก็ส่งต่อความน่าสนใจไปยังสื่อสารมวลชนได้ไม่ยากนัก

นอกจากนี้ จำเป็นจะต้องประสานความร่วมมือกับชุมชนข้างเคียง เพื่อร่วมกันเป็นจิ๊กซอว์เศรษฐกิจชุมชน เช่น กินข้าวเช้าดูกิจกรรมปีนต้นตาลเก็บน้ำตาลบ้านนี้ สายๆดูกิจกรรมการผลิตน้ำตาลก้อน ตกบ่ายชมทุ่งดูคนปีนต้นตาลเพื่อวางกระบอกบรรจุน้ำตาล เป็นต้น

และทุกๆ กิจกรรม หากมีการสร้างกลุ่มมักคุเทศน้อย ก็ยิ่งจะเสริมเสน่ห์การท่องเที่ยวชุมชนได้อีกทาง   

ปัจจัยสนับสนุนจากภายนอก
ในก้อนนี้ อยากให้มองในเรื่องของสิ่งที่ง่ายที่สุด คือ หน่วยงานรัฐใกล้บ้านๆ เช่น เทศบาลฯ อบต.พัฒนาชุมชน เป็นต้น แต่เรื่องนี้ชาวบ้านจำเป็นต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง อาจเป็นผู้นำตัวจริง หรือผู้นำโดยธรรมชาติ เช่น ลูกหลานชาวบ้าน หรือ คนใดคนหนึ่งในกลุ่ม “วิถีไทย...วิถีทุ่ง” เป็นผู้ประสานความร่วมมือ เพื่อหาทุนสนับสนุน หรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่ทางหน่วยงานราชการในพื้นที่จัดขึ้น เป็นการแสดงตัวตนของกลุ่ม เป็นการแสดงเจตนาร่วมว่าอยากให้เกิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นในชุมชน อย่างน้อยก็จะสามารถหาทุนเพื่อการศึกษาดูงานในบริบทเดียวกันที่ประสบความสำเร็จ ด้านการท่องเที่ยวชุมชน ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายร้านค้าประชารัฐ เป็นต้น

เรื่องตาลโตนดโนนไทย ที่ผมได้ข้อมูลจากพี่ “Somsak Nilpa” หรือที่รู้จักเรียกจนชินปากว่าพี่หมอแห่งโรงพยาบาลโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา เป็นอีกต้นทางแห่งความสำเร็จในอนาคตอันใกล้

ต้นทุนจิตอาสาและความคิดสร้างสรรค์มาเต็ม อีกนิดเดียวครับ ช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดแรงกระเพื่อมเพื่อโนนไทยบ้านเรา เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ที่มีศักยภาพอีกแห่งของประเทศ สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไป

สู้ๆ ครับ ...... 

 

เรื่อง : ปรีชา นาฬิกุล

ข้อมูล / ภาพ : Somsak Nilpa    

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube