ท่องเที่ยวชุมชม ชุมชนเพื่อชุมชน สถานประกอบการ จากสิ่งที่มีอยู่


ท่องเที่ยวชุมชม ชุมชนเพื่อชุมชน

สถานประกอบการ จากสิ่งที่มีอยู่

 

 

“มองทุกอย่างให้เป็นไปได้ แล้วแปลงความเป็นไปได้ สร้างให้เกิดขึ้นจริง

ท่องเที่ยวชุมชนก็เช่นกัน มีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น

เพียงแต่ต้องเติมความรู้ลงไป แล้วใช้เครื่องมือหรือวิธีบริหารจัดการสมัยใหม่

เสน่ห์ของชุมชนคือมนต์ขลังที่ดึงนักท่องเที่ยวลงสู่ชุมชนได้ ไม่ยากนัก...”

 

ดร.สุนทร คุณชัยมัง ผู้อำนวยการมูลนิธิสัมมาชีพ เปิดมุมมองให้กับ “เครือข่ายคนรักษ์แฝก” เนื่องในโอกาสบรรยายพิเศษเรื่อง “เครือข่ายหญ้าแฝก – การประกอบการที่ชุมชน” เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ณ โรงแรมกานต์มณีพาเลช กรุงเทพฯ

 

เป็นครั้งที่ 2 แล้วที่ผู้จัดงานได้เชิญดร.สุนทร ไปบรรยาย และผมได้เข้าไปร่วมสังเกตการณ์ เครือข่ายคนรักษ์แฝก มีเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ผมมองเห็นคือมีความเป็นพวกพ้อง เป็นพี่เป็นน้อง เป็นกลุ่มก้อน อย่างเหนี่ยวแน่น แม้จะมาจากต่างถิ่นต่างที่กันก็ตาม บางส่วนเป็นคนเดิม บางส่วนเป็นคนใหม่ แต่ก็คือคนไทยหัวใจรักษ์แฝกเช่นกัน

 

ดร.สุนทร เสนอโมเดลการท่องเที่ยวชุมชนของประเทศอังกฤษเป็นตัวอย่าง จากกรณี “เมืองสแตรทฟอร์ด” บ้านเกิดของ “วิลเลียม เชกสเปียร์” กวีเอกชื่อก้องโลก เมืองนี้ห่างจากกรุงลอนดอนประมาณ 180-190 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 2 ชั่วโมง สามารถเดินทางท่องเที่ยวไปกลับได้ภายในวันเดียว

 

อันที่จริงจุดขายของสแตรทฟอร์ด มีเพียงแค่ความเป็นบ้านเกิดของ “วิลเลียม เชกสเปียร์” เขาก็ใช้เสน่ห์ตรงนั้นที่มีอยู่ดึงดูดความสนใจให้นักท่องเที่ยวมาเยือนบ้านเกิดกวีเอกของโลก จากนั้นก็เชิญชวนชุมชนเล็กๆ 2-3 จุด ซึ่งอยู่ระหว่างเส้นทาง มาร่วมสร้างสีสันการท่องเที่ยว

สิ่งนี้คือการผสานความร่วมมือให้เกิดมูลค่าเพิ่มจากสิ่งที่มีอยู่เดิม โดยไม่ต้องสร้างสิ่งใหม่ สำคัญที่การควบคุมคุณภาพของชุมชน ทั้งในเรื่องความสะอาด เรื่องระเบียบวินัยของชุมชน อย่างน้อยชาวชุมชนต้องช่วยกันรับแขก เป็นเจ้าของบ้านที่ดี แล้วแขกที่มาเยือนจะเกิดความประทับใจ แถมยังช่วยประชาสัมพันธ์ต่อบนโลกออนไลน์ได้อีกต่างหาก

 

หันมาที่บ้านเรา กระแสการท่องเที่ยวชุมชน เริ่มเกิดขึ้นแล้วขยายวงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบต่างคนต่างทำแหล่งที่ประสบความสำเร็จนักท่องเที่ยวก็ไปกันจนล้น พร้อมกับการตั้งคำถามตอนขากลับว่า

 

“แท้ที่จริงแล้วใครได้ประโยชน์กันแน่ ระหว่างชาวชุมชน หรือกลุ่มทุน”

 

 

แต่คำถามที่ว่านี้ใช่ว่าจะเกิดขึ้นกับทุกที่ ยังมีหลายกรณีตัวอย่างจากการจัดการโดยชุมชนเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง เช่น กรณีความเข้มแข็งของกลุ่มโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ใช้จุดเด่นในด้านลักษณะทางภูมิประเทศ เป็นหุบเขาทัศนียภาพสวยงาม ชาวบ้านยังคงทำนาปลูกข้าว ทิวทัศน์สวยงาม มองไปเห็นทิวเขาสลับซับซ้อน ยามหน้านาข้าวเขียวๆ เซลฟี่มุมไหนก็สวยงาม จุดเด่นที่มีอยู่เติมเต็มด้วยไอเดียการท่องเที่ยว ก็เกิดกิจกรรมปั่นจักรยานชมทุ่ง ดูพระอาทิตย์ตกดิน หรือสูดออกซิเจนเช้าวันใหม่ที่ชายทุ่ง

กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นทริปในฝันของคนวัยทำงานที่อยู่ตามเมืองใหญ่ เพราะบางครั้งเคยอ่านเจอตามเฟสบุคที่มีการโพสภาพและข้อความในเชิงการโหยหาสิ่งที่ห่างหาย เช่น

“เม็ดเลือดแดงมีแต่ฝุ่นควัน อยากสูดอ๊อกซิเจนให้ฉ่ำปอดเต็มทีแล้ว...”

“โขทัยฯ ที่รักแล้วเจอกัน...”

“แล้วเจอกัน...(ตามด้วยชื่อสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่น่าสังเกตส่วนใหญ่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชุมชน) สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภค ที่อยากซึมซับอัตลักษณ์ ที่แท้จริงของชาวชุมชน

 

กลุ่มชุมชนบ้านนาต้นจั่น สามารถตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุด ทุกอย่างที่มีในชุมชนจึงไปด้วยกันได้อย่างแนบเนียน สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน ราวปีละ 6 ล้านบาท

 

เมื่อถอดบทเรียนความสำเร็จจากบ้านาต้นจั่น สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือการนำ หรือผู้นำที่มีความเข้มแข็ง เปิดรับโอกาสเปิดรับความรู้ใหม่เสมอ การได้ไปศึกษาดูงานในสถานที่ต่างๆ แล้วเก็บเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาลงมือทำ สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นผู้นำที่พร้อมเป็นนักปฏิบัติการ เพราะเมื่อลงมือปฏิบัติจนเห็นผลแล้วผู้ตามก็พร้อมจะทำตามโดยไร้ข้อแม้

 

อีกประการหนึ่งการได้คนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานของชาวชุมชนมาช่วยเติมเต็มในวงความคิดสร้างสรรค์ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต่างๆออกมาเป็นจุดขายก็ยิ่งตอกย้ำความสำเร็จ  

 

เมื่อนำไปเทียบกับโมเดลทุน 3 ก้อน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน บ้านนาต้นจั่นจึงมีครบ ทั้งทุนชุมชน (ศักยภาพพื้นที่) ทุนความคิดสร้างสรรค์ (กิจกรรมปั่นจักรยานท่องเที่ยว,ใช้สื่อออนไลน์ขยายผล) ทุนสนับสนุนจากภายนอก (กรมพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม JBIC)

 

ไฮไลน์ของการบรรยายวันนั้น ผมยกให้ช่วงถามตอบโดยเครือข่ายผู้รักษ์แฝกท่านหนึ่งจากจังหวัดพะเยา ได้ตั้งคำถามที่เรียกเสียงฮือฮาทั้งห้องว่า

 

“ในพื้นที่ชุมชนอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา มีความเป็นเขตป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีฝูงนกยูงจากป่า มีแหล่งลำธาร มีรอยพระพุทธบาท และอื่นๆอีกมากมาย แต่สิ่งที่ไม่มีคือไม่รู้จะเริ่มอย่างไร เพื่อพัฒนาให้กลายเป็นการท่องเที่ยวชุมชน…

 

ถึงตรงนี้ ดร.สุนทร จึงย้อนกลับไปผู้ตั้งคำถามเพื่อชวนคิด ชวนวิเคราะห์ เพื่อหาวิธีไปต่อ ผมสรุปความได้ว่า

 

สิ่งแรกที่ต้องค้นหาคืออะไรที่เป็นจุดเด่นที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของป่าที่อุดมสมบูรณ์ เรื่องของนกยูง เรื่องแหล่งลำธาร หรือ เรื่องรอยพระพุทธบาท เมื่อตัดสินใจชูเรื่องไหนให้เป็นจุดขาย แล้วลองสำรวจชุมชนข้างเคียงเพื่อหาเพื่อนบ้าน เช่นเดียวกันกับกรณีของ“เมืองสแตรทฟอร์ด” บ้านเกิดของ “วิลเลียม เชกสเปียร์” เมื่อหาเพื่อนบ้านเจอ ลองชวนกันคิดหากิจกรรมเชื่อมโยงเข้าด้วยกันให้ได้

เช่น ดูนกบ้านนี้ ดูพระอาทิตย์บ้านโน้น จากนั้นค่อยๆขยับขยายหาคู่ค้า เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ด้วยการเข้าหาสายการบิน เพื่อให้สายการบินจัดกิจกรรมแบบกรุ๊ปทัวร์ การเข้ามาในอำเภอเชียงม่วน นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาได้ทั้งที่สนามบินเชียงราย และสนามบินน่าน ยิ่งกลายเป็นจุดแข็งเรื่องการเดินทาง สามารถจัดทริปได้ทั้งสองเส้นทางอีกต่างหาก จากนั้นจึงค่อยๆขยายวงไปยังคู่ค้าอื่นๆให้กว้างขวางขึ้น

 

ที่สำคัญ ผู้นำอย่าหยุดคิด ต้องเติมความรู้ใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งการศึกษาดูงานทั้งที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวชุมชน หรือความรู้อื่นๆ เพื่อนำมาปรับใช้

 

แหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่ใกล้เคียง ก็เช่น โฮมสเตย์แม่กำปอง จังหวัดเชียงใหม่ การได้ไปเห็นสิ่งที่ได้คือไอเดียใหม่ๆ จุดไหนที่ดีที่ได้เห็น เมื่อเราลงมือทำก็เสริมจุดดีให้ดียิ่งขึ้น ถ้าเจอจุดไหนที่เป็นจุดอ่อนก็หาทางแก้ไขให้ดีขึ้น

 

เล่ามาถึงตรงนี้แล้ว เชื่อเหลือเกินว่าหลายท่าน คงเริ่มมองกลับเข้าไปยังชุมชนของตน หรือแม้กระทั้งชุมชนข้างเคียง เพื่อเฟ้นหาจุดแข็ง เพื่อคล้องแขนไปด้วยกัน การท่องเที่ยวชุมชน โดยชุมชนเพื่อชุมชน สถานประกอบการก็คือชุมชน ผลที่ได้ก็คือชาวชุมชน มองทุกอย่างให้เป็นไปได้ แล้วแปลงความเป็นไปได้เป็นความจริง

 

เห็นทางที่จะไปแล้ว ลุยครับพี่น้อง 

 

 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube