มีโอกาสเข้าร่วมฟังเสวนา “จับกระแสธุรกิจเพื่อสังคม 2020” จัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพ เนื่องในโอกาสตอบแทนผู้มีอุปการคุณของมูลนิธิฯประจำปี 2559 ในเวทีเสวนาหัวข้อดังกล่าวมีความน่าสนใจอยู่หลายประการที่ไม่อาจจะปล่อยผ่านได้ โดยบุคคลสำคัญที่ขึ้นเวทีแลกเปลี่ยนในวันนั้นประกอบด้วย
คุณธารทิพย์ ศิรินุพงศ์ ผอ.โครงการพัฒนาชุมชน บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ จำกัด (มหาชน)
คุณสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบ็งค์
ดร.สมฤดี ศรีจรรยา ผอ.สถาบันการตลาดเพื่อสังคม
ดร.กรัณย์ สุทธารมณ์ ผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐสามัคคีเพชรบุรี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด
ดำเนินรายการโดย คุณภูมิพันธ์ บุญมาตุ่น ผู้จัดการฝ่ายภาคีสัมพันธ์ มูลนิธิสัมมาชีพ
(จากภาพซ้าย-ขวา คุณภูมิพันธ์ บุญมาตุ่น,คุณธารทิพย์ ศิรินุพงศ์,ดร.สมฤดี ศรีจรรยา,คุณสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์)
คุณโต้ง ภูมิพันธ์ ผู้จัดการหนุ่มจากมูลนิธิสัมมาชีพ เปิดประเด็นชวนคุยได้อย่างน่าสนใจ คำเรียกขานผู้ร่วมเสวนาด้วยคำว่าพี่สะท้อนถึงการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด แล้วคำบอกเล่าเรื่องราวในประเด็นต่างๆ ก็พรั่งพรูออกมาราวน้ำหลาก แต่ก็เป็นน้ำหลากลงบน “ธารสายสาระ” เพื่อสร้างความยั่งยืน หรือ Sustainable ผมขอเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นการระเบิดจากภายใน เกิดขึ้นจากสิ่งที่เป็น ไม่ใช่พยายามเป็น เสวนารูปแบบนี้ถือเป็นมิติใหม่ ที่น่านำไปเป็นแบบอย่างครับ ไม่จำเป็นต้องจ้างพิธีกรชื่อดังมาเป็นผู้ดำเนินรายการ ที่มักจะพยายามโยงเรื่องราวต่างๆนาๆ โยงเข้าเป้าก็ดีไป แต่บางครั้งเคยเจอบางงานก็ออกทะเลไปเลยก็มี
“ด้วยกิจกรรมทางธุรกิจ ก็กลายเป็นเส้นบางๆ ในการลงพื้นที่พอสมควร แต่เราก็สู้ เรามาด้วยความจริงใจ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง พอเริ่มเห็นผลความเปลี่ยนแปลง เส้นบางๆ ที่ว่าก็จะค่อยๆ จางลงไป ความจริงใจเป็นที่ตั้ง แล้วส่วนอื่นๆ จะค่อยๆ ตามมา”
คุณธารทิพย์ ศิรินุพงศ์ ผอ.โครงการพัฒนาชุมชน บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ จำกัด (มหาชน) สะท้อนความรู้สึกถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนชุมชน ในแบบของไทยเบฟฯ ที่ประยุคใช้วิธีการของสัมมาชีพในการขับเคลื่อนกิจกรรม ก่อนจะค่อยๆ ขยายความเพื่อยกตัวอย่างกิจกรรมการดำเนินงานให้ฟัง
“จริงๆ แล้วก็มีหลายโครงการที่ค่อยๆ ทำๆ แต่ที่เห็นผลชัดเจน ที่ขอยกตัวอย่างในวันนี้ คือ โครงการที่เราร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลง ในพื้นที่ ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน ที่นั่นเราลงพื้นที่แรกๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นรับทราบปัญหา เพื่อหาทางแก้ไขที่เหมาะสม ตรงตามความต้องการที่แท้จริง และเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชาวชุมชนยืนได้ด้วยตนเอง
ปัญหาที่เราพบ 2 ข้อใหญ่ๆ คือ ปัญหาสุขภาพ เนื่องจากใช้สารเคมี ในการทำเกษตรอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีสารตกค้างในร่างกาย และอีกปัญหาคือ ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ปัญหาแรกเราวิเคราะห์แล้วเห็นว่าต้องแก้ด้วยการทำเกษตรแบบอินทรีย์ เว้นการใช้สารเคมี ปัญหาที่สองคือต้องหาแนวทางบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรให้เพียงพอ
เราตอบโจทย์การแก้ปัญหาทั้งหมดด้วยการ ทดลองชวนพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ เปลี่ยนวิธีการปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมี และใช้น้ำน้อย จึงลงตัวที่การปลูกฟักทอง เป็นฟักทองอินทรีย์ ระหว่างดำเนินโครงการเราก็หาแหล่งกระจายผลผลิตให้พี่น้องด้วย สิ่งที่เราทำในระยะนี้คือใช้ซัพพลายเชนที่เรามีทุกส่วน (ระดมสรรพกำลังที่มี เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง) ถึงตรงนี้เราก็เบาใจ เรื่องผลผลิตที่ออกมาต้องมีตลาดรองรับ แต่เราต้องรับผิดชอบด้วยการดูแลผลผลิตให้ออกมาดี ขณะที่เรื่องน้ำ เรานำภูมิปัญญาชาวบ้านเข้ามาร่วมในการแก้ปัญหา เกิดเทคโนโลยียาวบ้านขึ้นมาแก้ปัญหา (ยิ้มอย่างภูมิใจ) เรียกว่าการตะบันน้ำ เป็นการส่งน้ำจากที่ต่ำขึ้นไปที่สูง เพื่อรดผลผลิตสามารถบริหารจัดการการใช้น้ำได้อย่างเพียงพอทั่วถึง และค่อยๆแก้ปัญหาทั้ง 2 ข้ออย่างเป็นระบบ ตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริง”
อีกสิ่งหนึ่งที่เหนือความภูมิใจที่ได้ คุณธารทิพย์ สะท้อนมุมมองออกมาอย่างน่าคิด
“เดิมราคาฟักทองที่นั้น 3-4 บาท / กิโลกรัม แต่พอเราเข้าไปร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลง ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ฟักทองชาวบัวใหญ่ ได้เข้าไปขายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งการได้เข้าไปขายในนั้น คือสินค้าต้องมีคุณภาพ จุดนี้คือสิ่งที่ได้จากการประสานพลังทุกส่วนที่เรามีอยู่ จึงทำให้ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ฟักทองที่ตกเกรด (ไม่ได้ขนาด) เราก็นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆที่หลากหลาย เช่น ทำเครื่องสำอาง สามารถเพิ่มมูลค่าได้อีกมาก ทุกวันนี้เกษตรกรชาวบัวใหญ่จึงเป็นห้องเรียน ให้ผู้สนใจทั้งใกล้เคียงและจากที่อื่นๆเข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำไปต่อยอด ในฐานะผู้ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนชุมชน ทำให้ชุมชนยืนได้เอง แค่นี้ก็ภูมิใจมากแล้ว”
คุณสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบ็งค์ นั่งฟังไปด้วย อมยิ้มไปด้วยอย่างมีความสุข จากการได้ยินเรื่องราวดีๆ ที่กลุ่มไทยเบฟฯ สร้างให้กับสังคม เมื่อถึงคิวแบ่งปันเรื่องราวจึงกล่าวว่า
“การขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคม อย่างเป็นรูปธรรม ผมว่าเราควรใช้กลไกจาก LFC (โครงการอบรม ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง : Leadership for Change) ควรมีการหลอมรวมกันอย่างจริงจังตั้งเป็นสถาบันผู้นำ – นำการเปลี่ยนแปลง หรือสถาบัน LFC. ได้ยิ่งดี เพราะกลุ่ม LFC ทั้ง 7 รุ่น รวมกันราว 800 คน ล้วนเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และมีความรู้ความเข้าใจวิธีการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงได้อย่างถูกต้อง
หากมองในมุมมองธนาคาร เรื่องการเข้าถึงแหล่งทุนนั้นอาจไม่ใช่ประเด็น แต่กิจกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อการขับเคลื่อนชุมชนต่างหาก ที่เป็นตัวแปรที่สำคัญ หากขาดความรู้ความเข้าใจย่อมเป็นไปได้ยาก วิสาหกิจหลายแห่งล้มลุกคลุกคลานกว่าจะยืนได้ ก็เพราะขาดความเข้าใจ ทำไปแก้ปัญหาไป สิ่งที่จะทำให้เกิดความเป็นไปได้มากที่สุด ในมุมมองส่วนตัวเชื่อว่า ต้องให้มูลนิธิสัมมาชีพเป็นแกน ในการนำ-พาความเปลี่ยนแปลง ในช่วงต้นต้องคอยเป็นพี่เลี้ยงหลัก
เพราะมูลนิธิสัมมาชีพ คือผู้เข้าถึงปรัชญาธุรกิจเพื่อสังคมมากที่สุด เข้าใจทั้งหลักการธุรกิจ เข้าใจทั้งหลักปรัชญา 3 ห่วง 2 เงื่อนไข (ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน มีความรู้ มีคุณธรรม) หากใช้กลไกมูลนิธิสัมมาชีพเป็นพี่เลี้ยง บวกรวมกับ LFC เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงที่ยังยืนย่อมเกิดขึ้นได้”
ดร.สมฤดี ศรีจรรยา ผอ.สถาบันการตลาดเพื่อสังคม ในฐานะนักการตลาดรุ่นเก๋า กล่าวในเวทีเดียวกันว่า
“โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภคมีปากมีเสียงมากขึ้น การทำการตลาดยุคใหม่ต้องทำการบ้านหนักขึ้นหลายเท่า แค่สร้างความเข้าใจไม่พอ ต้องเข้าไปอยู่ในใจให้ได้ เพราะเงื่อนไขดังกล่าว กิจการเพื่อสังคม ทั้ง CSR ทั้ง SE (CSR : Corporate Social Responsibility, SE : Social Enterprise) จึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้ง CSR ทั้ง SE มีความเชื่อมโยงกับภาพลักษณ์องค์กร ซึ่งต้องระวังให้ดี กิจการที่ดีกิจกรรมที่ดีเพื่อสังคมได้ประโยชน์ย่อมสะท้อนมาเป็นภาพลักษณ์ขององค์กรที่ดีด้วยเช่นกัน ขณะนี้ ทุกองค์กรมีการตื่นตัวเรื่องนี้กันมากถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะเป็นการปูทางเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน”
ดร.สมฤดี ปิดท้ายสั้นๆ แต่ได้ใจความที่ครอบคลุมสำหรับขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคมให้ตรงจุดว่า
“เร็ว โดนใจ ดี”
เร็ว = จับประเด็นเร็ว
โดนใจ = เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
ดี = ทำดี ทำด้วยความจริงใจ
ปิดท้ายที่ ดร.กรัณย์ สุทธารมณ์ CEO หนุ่มแห่ง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีเพชรบุรี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด
“ฟักทองเกรดสองของคุณธารทิพย์ ส่วนหนึ่งก็ส่งมาที่เพชรบุรีครับ” CEO หนุ่มเปิดประเด็น เรียกเสียงฮือฮา เพราะนี้คือตลาดใหม่ที่เกิดจากการเชื่อมโยงของเครือข่าย ที่มีมูลนิธิสัมมาชีพเสมือนเป็นแกนประสานโดยธรรมชาติ
ดร.กรัณย์ ขยายความต่อว่า
“ฟักทองจากเมืองน่านมาที่เพชรบุรี เราก็พยายามสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการทดลองนำมาเป็นส่วนประกอบหนึ่งในขนมหม้อแกง ซึ่งแต่เดิมหม้อแกงเราเป็นเนื้อเผือก พอพัฒนามาเป็นเนื้อฟังทองก็ได้รับความสนใจมากพอสมควร เพราะได้ทั้งรสชาติใหม่แปลกใหม่ และได้ความแตกต่างในผลิตภัณฑ์ กลายเป็นสินค้าที่ขายดี
จบเรื่องฟักทอง มาเรื่องการดำเนินกิจการของบริษัทประชารัฐรักสามัคคี เพชรบุรี จากการดำเนินงานมาครบ 10 เดือน ถือว่าสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้พอสมควร เรายึดหลักที่ว่าช่วยให้พี่น้องมีรายได้มากกว่ารายจ่าย รายได้มาจากไหน ก็มาจากผลผลิตในพื้นที่ มาให้บริษัทประชารัฐช่วยกระจายสินค้า แต่ไม่ใช่เพียงแค่กระจายสินค้า แต่เราก็ค่อยๆ เข้าไปเติมเต็มส่วนที่ขาด โดยเฉพาะด้านองค์ความรู้ โดยเราร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ เช่น สภาองค์กรชุมชน กลุ่มเกษตรกร เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากแบบเดิมให้เป็นเกษตรอินทรีย์ เราค่อยๆขยายพื้นที่เกษตรกรให้เกิดแปลงเกษตรอินทรีย์มากขึ้น มีกลุ่มแปรรูปผลผลิตต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างครอบคลุม แล้วมีเป้าหมายถัดไปคือการต่อยอดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ผมเชื่อว่าโมเดลนี้จะช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน”
เห็นไหมละครับ เรื่องราวดีๆ อย่างนี้ปล่อยผ่านไปได้อย่างไร ต่อประเด็นที่จั่วหัวไว้ ธุรกิจเพื่อสังคม 2020 เข้าใกล้หรือยังไกล “ความยั่งยืน” ผมว่าทุกท่านมีคำตอบในใจแล้วละ
ช่วยๆ กันครับ มีเรื่องราวดีๆ มุมมองใหม่ๆ แนะนำเข้ามาเยอะๆครับ จะได้ช่วยกันติดเทอร์โบความยั่งยืน ให้เกิดขึ้นได้ในเร็ววัน GO.GO.GO.
หมายเหตุ : งานตอบแทนผู้มีอุปการคุณ ประจำปี 2559 เพื่อสรุปภาพรวมการทำงาน และเลี้ยงขอบคุณผู้สนับสนุน ภายใต้ชื่องาน “ก้าวที่ร่วมสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 ณ โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน พระราม 9