“ปลูกฮัก”โมเดล
แก้วิฤตราคาข้าว ของชาวยโสฯ
ชาวนาไทยโดนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดมาตลอดทั้งปี 59 ก็ว่าได้ เพราะต้องเผชิญทั้งภัยแล้ง ทั้งน้ำท่วม แถมราคาข้าวดิ่งเหวแทบจมธรณินทร์ กระทรวงพาณิชย์ออกมาชี้แจงสาเหตุว่า เป็นเพราะผลผลิตข้าวของโลกเพิ่มขึ้น 2.4% การบริโภคข้าวของโลกลดลง 1.5% เป็นไปตามหลักดีมาน-ซับไพรส์ ความต้องการน้อยกว่าผลผลิต จึงกดให้ราคาดิ่งลง ราคาข้าวเปลือกตำสุดในรอบ 10 ปี บางพื้นที่ชาวนาต้องตัดใจขายในราคาสุดจะเจ็บช้ำ ราว 6,800-7,000 บาท/ตัน[1]
รัฐบาลและเอกชน ต่างระดมสรรพกำลังช่วยเหลือชาวนาเป็นการเร่งด่วน แต่ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าทุกมาตรการจะแก้ปัญหาระยะยาวได้มากน้อยเพียงใด หรือเป็นเพียงแค่การช่วยเหลือเยียวยาแบบไฟไหม้ฟาง แล้วควันก็จางจากไป
จะมีอะไรดีเท่ากับการลุกขึ้นมาช่วยเหลือตัวเองอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อสร้างให้เกิดความยั่งยืน หรือ Sustainable จริงไหมครับพี่น้อง...!
“ปลูกฮักลงบนแผ่นดินเกิด ปลูกความสมัครสมานสามัคคีให้หมู่เฮา เกษตรกรไทยต้องลืมตาอ้าปากได้สักวัน เมื่อข้าวราคาตกต่ำคนกินข้าวต้องเกื้อกูลกัน...”
คำเว้าซื่อๆ ของ “วิทย์ มหาชน” หรือนายรัตน์พิโพธิ ทวีกันย์ อดีตนักร้องนักแต่งเพลงชื่อดัง ในฐานะกรรมการ “เครือข่ายปลูกฮัก” (รวมๆ แล้วคือคนเอนกประสงค์ เป็นทั้ง ผอ.ยันภารโรง) วันนี้เขาอาสาคืนแผ่นดินเกิดเมืองบั้งไฟโก้ จ.ยโสธร เพื่อรวบรวมเกษตรกรให้เป็นกลุ่มก้อน เปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรในแนวใหม่ เป้าหมายคือเปลี่ยนแปลงแผ่นดินยโสฯ ให้เป็นเกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่ให้ได้
มีโอกาสได้พูดคุยทำให้นึกถึงโมเดลของการสร้างโอกาสให้แก่เศรษฐกิจชุมชนจากทุน 3 ก้อน (ทุนของการรวมกลุ่มชุมชน ทุนสนับสนุนจากภายนอก และทุนความรู้และการสร้างสรรค์) ที่เคยเขียนเล่าความไปแล้วในตอนก่อนหน้า [2]
เครือข่ายปลูกฮัก มีความเข้มข้นในเรื่องของทุนการรวมกลุ่มของชุมชน และทุนความรู้และความคิดสร้างสรรค์ แต่ทุนสนับสนุนจากภายนอกยังเป็นจุดอ่อน แต่ก็ไม่เสียหายนัก เพราะถือเป็นเรื่องของอนาคต
“เรารวมตัวกันประมาณปี 56 โดยมีเป้าหมายร่วมกันอยากพลิกโฉมแผ่นดินเกิด จากเป็นจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยติดอันดับต้นๆ ของประเทศ นับจากท้ายกระดาน อยากให้พี่น้องเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี ขั้นต้นเริ่มจากได้มีการพูดคุยกับนายก อบต.ในแถบบ้านเกิด เช่น ต.ลุมพุก ต.ม่วง ในเขต อ.มหาชนะชัย มีความเห็นไปในมุมเดียวกันว่า เราต้องสร้างพี่น้องเกษตรกรให้ลืมตาอ้าปากให้ได้
จากนั้นก็มาวิเคราะห์พื้นที่ของเราว่าอะไรที่มีความโดดเด่น มีความเป็นไปได้ในการผลักดันให้เป็นสินค้าเชิดหน้าชูตา แรกๆเราจึงรวมกลุ่มผู้ปลูกแตงโม ทำเป็นแตงโมอินทรีย์ เมื่อได้ผลผลิตก็มาสร้างตลาดเองผ่านกิจกรรมต่างๆ และเคยผลักดันถึงขั้นทำแตงโมติดบาร์โคด สามารขายได้ในซุเปอร์สโตร์ หลังจากแตงโมอินทรีย์เริ่มเป็นที่รู้จัก มีตลาดรองรับเป็นที่แน่นอนแล้ว เราก็มาประเมินผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด เราจึงมองไปที่การผลิตข้าวอินทรีย์
สำหรับเรื่อง "ข้าว" ตั้งแต่ต้นฤดูการผลิต เราประเมินกันไว้บ้างแล้วว่าราคาข้าวอาจมีความเปลี่ยนแปลง จึงเตรียมแผนรับมือไว้ โดยการรวมกลุ่มพี่น้องชาวนารายไหนต้องการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำนามาเป็นแบบอินทรีย์ ก็เริ่มทำความเข้าใจกัน สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานราชการก็เริ่มดีขึ้น เนื่องจากเราต่อยอดจากเรื่องของการทำแตงโม ขณะนี้เครือข่ายปลูกฮักของทั่วจังหวัดยโสธรมีอยู่ราว 1,000 คน เราพยายามยกระดับตั้งแต่ด้านวัตถุดิบ เริ่มพัฒนาข้าวหอมมะลิยโสธร ให้ได้การรับรองในระดับ "T1" คือข้าวที่ปรับเปลี่ยนจากเคมีเป็นอินทรีย์ในปีที 1
ด้านผลิตภัณฑ์เรามีการรวมเครือข่ายโรงสีชุมชน เพื่อแปรรูปผลผลิตเอง และสร้างตราสินค้าเป็นของเราเอง ซึ่งจุดนี้เป็นการพลิกโฉมชาวนาในเครือข่ายเราได้อย่างเห็นผล เมื่อราคาข้าวตกต่ำ แต่เราขายคุณภาพ ขายความตั้งใจขายอัตลักษณ์ของเรา แม้จะเหนื่อยแต่ก็เป็นหยาดเหงื่อที่มีความสุข เราส่งข้าวไปขายตามจุดต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นเครือข่ายที่เราสร้างขึ้นมาและส่งเสริมกันแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสายทหาร สายตำรวจ สายค่ายมวย สายตลาดชุมชนต่างๆ เขาซื้อข้าวเราด้วยความต้องการอย่างแท้จริง ไม่ใช่ซื้อเพราะขอให้เขาซื้อ เราเอาคุณภาพเป็นตัวนำกรรมการ “เครือข่ายปลูกฮัก” กล่าวผ่านแววตาที่มุ่งมั่นผสานรอยยิ้มอย่างมีความสุข
ผมลองขึงเฟรมวิเคราะห์ถึงความสำเร็จในขั้นต้น ของเครือข่ายปลูกฮัก ลองดูพบว่า ความเข้มข้นของทุนชุมชน และทุนความคิดสร้างสรรค์ เป็นหัวลากความสำเร็จในขั้นนี้
ด้านทุนชุมชน มีผู้นำและผู้ร่วมทางที่มีจิตอาสามองเป้าหมายร่วมกันอย่างชัดเจน เปลี่ยนวิธีคิดเพื่อสร้างผลลัพธ์ร่วมกันในแนวใหม่
ทุนความคิดสร้างสรรค์ ต้องยกให้วิทย์ มหาชน ที่เป็นทั้งศิลปินทั้งนักแต่งเพลง เขาได้นำองค์ความรู้ด้าน Creative.ใส่เข้าไปเต็มๆ โดยใช้สื่อโซเชี่ยวทั้งในนามส่วนตัว และในนามกลุ่ม เป็นเครื่องมือสื่อสาร เขาเชื่อมโยงงานอีเว็นท์ต่างๆ ที่มีสายสัมพันธ์เดิมจากทั้งกลุ่มศิลปิน รวมไปถึงค่ายมวย ที่ครั้งหนึ่งเขาก็เคยอดีตเป็นนักมวย ความช่ำชองเรื่องของการประยุคใช้จึงค่อยๆเกิดผลให้ได้เก็บเกี่ยวความสำเร็จนั้น
ข้าวอินทรีย์ภายใต้แบรนด์ “ข้าวยโสธร” ผลผลิตของ “เครือข่ายปลูกฮัก” วิ่งชนทุกโอกาสหาตลาดแบบจรยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นการออกร้านกับหน่วยงานต่างๆ ผ่านหลายๆ โครงการ ไม่ว่าจะเป็น “ทัพฟ้าช่วยชาวนาไทย” “นครบาลช่วยขายช่วยเพิ่มรายได้ให้ชาวนาไทย” “คอมมานโดช่วยชาวนา” “ค่ายมวยช่วยชาวนา” เป็นต้น
ผมย้อนไทม์ไลน์ของกลุ่ม รวมไปถึงเซิสข่าวจากกูเกิล เพื่อเข้าไปดูตัวเลขของคำสั่งซื้อ เห็นแล้วชื่นใจแทนครับ ตัวเลขกลมๆของเดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมาเท่าที่ประเมิน น่าจะถึง 10 ตันเข้าไปแล้ว บรรจุ 5 กก.ต่อถุง ตัวเลขงามๆ น่าจะสัก 3 แสนกว่าๆ คงสร้างความสุขให้พี่น้องเครือข่ายในทุกส่วน
ไม่แน่โมเดลการรวมกลุ่มนี้ อาจทำให้ตัวเลขรายได้ประชากรต่อหัวของจังหวัดยโสธรจากลำดับรั้งท้าย ขยับขึ้นมาอีกหลายอยู่กลางๆตางรางก็เป็นได้
สิ่งที่วาดหวังไว้คงไม่ไกลเกินเอื้อม เอาใจช่วยครับพี่น้องเครือข่ายปลูกฮักทุกท่าน