เช็คความพร้อม“สามก้อนเส้า” สร้างโอกาสให้เศรษฐกิจชุมชน


ยุคหนึ่งเราได้ยินคำว่า “OTOP” จนติดหู เห็นจนชินตา ขับรถไม่ว่าจะเป็นถนนสายหลัก สายรอง ก็เห็นศูนย์โอท็อปผุดขึ้นราวดอกทานตะวันบานรับลมหนาว มายุคนี้เราเริ่มได้ยินคำว่า “Thailand 4.0” อารมณ์ก็คล้ายๆ “OTOP”

ทั้ง 2 คำที่ยกขึ้นมานี้มีจุดร่วมเดียวกันอยู่อย่างหนึ่งคือขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติให้ไปข้างหน้า อย่างแข็งแกร่ง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ปลายทางที่ว่านั้น กลับมีความเข้าใจในการขับเคลื่อนแตกต่างกัน  เราจึงเห็นได้ว่าศูนย์โอท็อปบางแห่งยังสามารถขับเคลื่อนกิจการต่อไปได้ แม้ไม่คึกคักเหมือนเมื่อแรกเปิดกิจการ แต่บางแห่งกลับกลายร่างเป็นเพียงที่พักริมทาง ศาลาพักใจวัยรุ่นอกหัก!!! ก็มี 

เช่นกัน “Thailand 4.0”แม้จะเป็นคำที่รู้จักกันจนติดหู แต่การจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร กลับมีการตีความที่แตกต่างกันไป ในที่นี้ขอเปรียบเทียบ“Thailand 4.0” ผ่านบทเพลงเพื่อให้เห็นภาพ แม้อาจไม่ตรงเสียทีเดียวแต่ก็น่าจะใกล้เคียงอยู่บ้าง   

1.0 = เพลงจากบ้านนาด้วยรัก (ร้องโดย “วิเศษ เวณิกา” : โอ้บ้านนาฝนฟ้าไม่อำนวย โชคไม่ช่วยบ้านนาถึงคราระทม แหงนมองเบิ่งฟ้า เมฆฝนลาไหลตามคลื่นลม หมู่เฮาถึงคราวซานซม เข้าเมืองหนีความแห้งแล้ง...)

เป็นยุคแห่งการเกษตรเต็มขั้น ทำนาปีละครั้ง ฝนแล้งก็ทำนาไม่ได้ต้องทิ้งถิ่นฐานเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่เพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว 

2.0 = เพลงฉันทนาที่รัก (ร้องโดย “รักชาติ ศิริชัย” :  ปิดไฟใส่กลอน จะเข้ามุ้งนอนคิดถึงใบหน้า นั่งเขียนจดหมาย แล้วรีบทิ้งไปโรงงานทอผ้า ถึงคนชื่อฉันทนา ที่เคยสบตากันเป็นประจำ)

เป็นยุคแห่งแรงงานเกษตรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรมที่เข้ามาในประเทศไทยในยุคแรกๆ คือโรงงานทอผ้า ซึ่งต้องพึ่งพาแรงงานเป็นหลัก เทคโนโลยีการผลิตยังไม่ซับซ้อนเท่าไร แรงงานภาคเกษตรเข้าสู่โรงงานจึงถูกขนานนามตามเพลงดังว่า สาวฉันทนา

3.0 = เพลงโทรหาแหน่เด๊อ (ร้องโดย “ต่าย อรทัย” : โทรหาแหน่เด้อ จำเบอร์โทรน้องได้บ่ น้องจะเฝ้ารอ อ้ายโทรหาเวลาเลิกงาน มีเรื่องเว้านำอยากคุยสองคนเท่านั้น วันก่อนที่เราพบกันคนหลายน้องเว้าบ่ออก)

ยุคนี้ถือเป็นการเติมเทคโนโลยีเข้ามาสู่กระบวนการผลิตมากขึ้น เพิ่มทักษะแรงงานผ่านกระบวนการเทรนนิ่ง มีการยกระดับแรงงานภาคปฏิบัติสู่การเป็นแรงงานฝีมือ มีการออกใบรับรองต่างๆ เพิ่มเข้ามา การสื่อสารระหว่างบ้านนอกกับเมืองกรุงมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น (เกิดเศรษฐกิจเม็ดใหม่มูลค่ามหาศาล)

4.0 = เพลงบอกรักแต่ไม่รู้สึกว่ารัก (ร้องโดย “ต่าย อรทัย” : บ่ใกล้บ่ไกล แต่เหมือนหายไปจากชีวิต สักนิดสักนิด บ่คิดถึงกันบ้างหรือ เราอยู่ด้วยกัน แต่คุยกันผ่านตัวหนังสือ บอกฮักบอกแคร์คือคือ แต่ลืมหันเบิ่งใจกัน...)

ยุคแห่งเทคโนโลยีเข้มข้น แม้เพลงนี้จะยังไม่ดังถึงขั้นรู้จักทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ถือเป็นการสื่อสารความการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็น 4.0 ได้ชัดเจนที่สุด เรื่องความรักกับเทคโนโลยี แม้จะทำให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือความรู้สึก เช่นเดียวกับเทคโนโลยีที่มีบทบาทในการผลิตมากขึ้นแต่ความเข้าใจหรือความพร้อมรองรับเทคโนโลยีต่างหาก ที่ถูกตั้งคำถามว่า เราพร้อมหรือยัง เราต้องเตรียมการอะไรบ้างถึงจะเป็น “Thailand 4.0”

เล่ามาถึงตรงนี้ ใช่ว่าจะเป็นบทความแนะนำเพลงนะครับ แค่ยกตัวอย่างเพื่อความกลมกล่อมในการทำความเข้าใจ ในเสนอของ ดร.สุนทร คุณชัยมัง ผู้อำนวยการมูลนิธิสัมมาชีพ ในการบรรยายพิเศษเรื่อง “การประกอบกิจการและการสร้างเศรษฐกิจในระดับชุมชน / ท้องถิ่น” จัดโดย บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีผู้นำชุมชนร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอย่างออกรส เพื่อมองสู่ปลายทางเดียวกันคือ สร้างเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง โดยอาศัยศักยภาพที่มีอยู่ สู่การสร้างโอกาสที่ดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่กันกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว หรือสิ่งที่กำลังจะเข้ามาในอนาคตอันใกล้

 

ดร.สุนทร เปิดฉากด้วยภาษาชาวทุ่ง เว้ากันง่ายๆ ยกตัวอย่างใกล้ตัว เช่น จากกรณีความสำเร็จของ “วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (เกษตรทิพย์) จังหวัดศรีสะเกษ” เพียงแค่เอ่ยชื่อส่วนใหญ่ก็ร้องอ๋อ เพราะรู้จักผลิตภัณฑ์บ้านอุ่มแสงเป็นอย่างดี วิสาหกิจแห่งนี้ มีการบริหารจัดการที่น่านำเป็นแบบอย่าง ถือเป็นการบริหารจัดการ supply chain อย่างมีประสิทธิภาพ ทำกันเป็นเครือข่ายทำจนได้เป็นเกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่ เขาทำได้อย่างไร

 

เริ่มจากด้านวัตถุดิบ มีการรวมกลุ่มกันเพื่อปลูกข้าวของสมาชิกให้เป็นกลุ่มข้าวอินทรีย์เพื่อเพียงพอต่อการแปรรูป เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็นำผลผลิตเข้าโรงสีโดยเป็นโรงสีของชุมชน จากนั้นก็นำสินค้าออกสู่ตลาดแต่เป็นสินค้าชุมชนที่มีความแตกต่าง โดยการผ่านรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นขึ้นมาเพิ่มเติม เช่นเป็นสบู่จากรำข้าว เป็นสครับขัดผิด เป็นต้น  

มีจุดน่าสังเกตอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ เมื่อถอดบทเรียนความสำเร็จพบว่า บ้านอุ่มแสง มีผู้นำที่มีความก้าวหน้า มีองค์ความรู้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน และที่สำคัญลูกหลานของชาวอุ่มแสงหลายคนเข้ามาช่วยเป็นไม้เป็นมือในการขับเคลื่อน นั่นเท่ากับว่าองค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์ คือห้องเครื่องสำคัญของความสำเร็จในเคสนี้ โดยเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้ถึง 55 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่าจำหน่ายในประเทศคือ  70 : 30

 

 เอาละซิ...!!!  ถึงตรงนี้ ทั้งผู้นำชุมชน ทั้งผู้แทนของโรงน้ำตาล ที่ร่วมฟังบรรยายในวันนั้น ต่างเร่งเร้าสู่กรณีศึกษาต่อไป เพื่อจะได้นำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดทางของการบรรยายผมสังเกตเห็นบรรยากาศแห่งความเป็นกันเอง จับไม้จับมือปรบมืออย่างสบายอกสบายใจ แสดงว่าที่นี้มีการสร้างความสัมพันธ์ในมิติชุมชนได้เป็นอย่างดี โรงงานอยู่ได้ชุมชนอยู่ด้วย ความสุขร่วมจึงเกิดขึ้น เป็นการปูพื้นฐานสู่การสร้างมิติใหม่ร่วมกันได้หลายอย่าง

 

ดร.สุนทร ได้ให้ข้อเสนอแนะสู่การสร้างมิติใหม่ของครบุรีเพียง 2 ข้อ

1.เช็คความพร้อมของทุนสามก้อนเส้า อันประกอบด้วย ทุนของการรวมกลุ่มชุมชน ทุนสนับสนุนจากภายนอก และทุนความรู้และการสร้างสรรค์

ทุนของการรวมกลุ่มชุมชน
ซึ่งสามารถขยายความได้ไม่ยากนัก เรื่องทุนของการรวมกลุ่มชุมชนนั้น ในพื้นที่ อ.ครบุรี มีความเข็มแข็งในระดับผู้นำท้องถิ่นอยู่แล้ว เว้าภาษาบ้านๆ คือเห็นหน้าเห็นหลังกัน ใครเป็นใครใครมีศักยภาพด้านไหนๆ สามารถแปลงจุดแข็งให้เป็นพลังได้

ทุนสนับสนุนจากภายนอก
ทุนภายนอกนั้น ชัดเจนที่สุดคือใน อ.ครบุรี มีองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ในพื้นที่ เป็นเสมือนสายเลือดทางเศรษฐกิจ ต้องมองหาจุดร่วมให้เกิดขึ้นให้ได้แล้วยกระดับสู่การสร้างกิจกรรมร่วมให้กลายเป็นเศรษฐกิจใหม่  เช่น การนำองค์ความรู้ด้านการเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรสู่เกษตรกร (ตรงนี้มีการดำเนินการอยู่แล้วต้องมีการยกระดับอย่างต่อเนื่อง) นอกจากนี้อาจมีการนำองค์ความรู้จากโรงงานสู่การสร้างช่างผู้มีความชำนาญการเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เช่น ซ่อมรถไถ รถตัดอ้อย ปะยางรถบรรทุก (อาจเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโรงงาน ชุมชน สถานศึกษา) และอื่นๆ

ทุนความรู้และการสร้างสรรค์
ประเด็นนี้คือสิ่งที่กำลังทำอยู่ในวันนั้น คือนำองค์ความรู้ใหม่ๆ นำกระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์ มาเล่าสู่กันฟัง หากนอกจากนี้ก็ควรมีการเติมเต็มความรู้จากสถานที่จริงด้วยการศึกษาดูงานในพื้นที่จริง ดูงานของจริงจากบริบทที่ใกล้เคียงกันเพื่อประยุคใช้ นอกจากนี้หากเป็นการดูงานในส่วนที่มีบริบทแตกต่างกันจะเป็นการช่วยจุดประกายไอเดียได้อีกทางหนึ่ง

 

 

 2. ส่งไม้ต่อให้คนรุ่นถัดไป
ความเปลี่ยนแปลงที่มีพลัง แม้จะต้องอาศัยผู้นำที่แข็งแกร่ง มีวิสัยทัศน์แล้ว จิ๊กซอร์ตัวหนึ่งที่สำคัญต่อความสำเร็จ คือ “คนรุ่นถัดไป” นั่นหมายความว่า ต้องสร้างแรงจูงใจบางอย่างนำพาลูกหลานของชาวชุมชนกลับบ้านเพื่อร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลง

เพราะหลายกรณีศึกษาที่ได้ถอดบทเรียนออกมา คนรุ่นใหม่ มีพลังแห่งความเปลี่ยนแปลง ทำอย่างไรให้เขาเหล่านั้นอยากมาสานก่อกิจการของครอบครัว ทำอย่างไรที่จะให้เขาเหล่านั้นมาสร้างมูลค่าเพิ่มจากสิ่งที่มีอยู่ สิ่งเหล่านี้เหมือนเป็นนามธรรม แต่ก็มีรูปธรรมให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้วหลายกรณี

 

ค่อยๆ คิดค่อยๆ ขับเคลื่อน เช็คความพร้อมเช็คความพร้อม “สามก้อนเส้า” โอกาสสร้างมิติใหม่ให้แก่ชุมชนครบุรี คงไม่ไกลเกินเอื้อม

สู้ๆครับพี่น้องครบุรี 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube