แหวกพงหญ้าแฝก ... ชวนคิดสร้างเศรษฐกิจใหม่
“เครือข่ายคนรักษ์แฝก” ชื่อนี้ผมได้ยินมาสักระยะหนึ่ง ถือเป็นมดงานสานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวง ร.๙ ของเราอย่างขันแข็ง มีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน (๒๕๕๙) ที่ผ่านมาได้มีการจัดงานรวมเครือข่ายจากทั่วประเทศ ภายใต้ Concept : “รักษ์หญ้าแฝก เทิดไท้องค์ภูมินทร์”[1] โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิชัยพัฒนา กรมพัฒนาที่ดิน ปตท. เป็นต้น เจาะเข้าไปดูข้อมูลเชิงลึกจึงรู้ว่า เครือข่ายนี้ รวมตัวกันตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ มีสมาชิกทั่วประเทศราว ๒,๐๐๐ ราย รวมพื้นที่ปลูกหญ้าแฝกราว ๑,๐๐๐ ไร่ ผลิตกล้าแฝกเพื่อขยายพันธุ์ตกปีละประมาณ ๖,๙๐๐,๐๐๐ กล้า
ให้ข้อมูลพอเป็นแบ็คกราวน์กราวกันสักนิดเพื่อจะเห็นทิศเห็นทางในการเล่าต่อนะครับ
ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม “การประชุมรายงานผลการดำเนินงาน ของเครือข่ายคนรักษ์แฝก ประจำปี ๒๕๕๙” ด้วยการติดสอยห้อยตาม ดร.สุนทร คุณชัยมัง ผู้อำนวยการมูลนิธิสัมมาชีพ ในการบรรยายพิเศษหัวข้อ “เครือข่ายหญ้าแฝกกับความเป็นไปได้ในการสร้างเศรษฐกิจชุมชน (Community Economy)”
บรรยากาศในการบรรยายครั้งนี้ ถือเป็นมิติใหม่ เพราะไม่ใช่เพียงแค่ผู้ฟังจะตั้งหน้าตั้งตาฟังและคอยจดเล็คเชอร์เพียงอย่างเดียว แต่มีบรรยากาศแห่งการแลกเปลี่ยนที่เป็นกันเอง เติมสิ่งที่ขาดให้กันและกัน และคอยเสริมแกร่งจุดแข็งให้แกร่งยิ่งขึ้นอีกด้วย
“ประเทศไทย กับการศึกษาดูงาน ควรปรับมุมคิดกันได้แล้ว การศึกษาดูงานของประเทศไทย มีแต่ข้าราชการที่มีโอกาสได้ไป และไปในที่ดีๆ แต่กลับไม่ค่อยมีการขยายผลเท่าที่ควร ไม่มีการนำตัวอย่างมาทำจริงๆ จังๆ ควรต้องปรับให้คนอื่นๆ มีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานบ้าง...”
สมาชิกเครือข่ายท่านหนึ่งเปิดประเด็นแลกเปลี่ยนขณะการบรรยายมาถึงครึ่งทาง เป็นทั้งคำถาม เป็นทั้งข้อคิดเห็น เพื่อแชร์ไอเดียกันอย่างออกรสออกชาด
ซึ่งอยู่ในช่วงของการยกกรณีตัวอย่างความสำเร็จในการสร้างเศรษฐกิจชุมชน อันเป็นความสำเร็จจากการผนวกรวมของทุน ๓ ก้อน ได้แก่ ทุนของการรวมกลุ่มในชุมชน ทุนความคิดสร้างสรรค์ และทุนจากภายนอก
ถึงตรงนี้ ดร.สุนทร จึงได้ขยายความกรณีตัวอย่าง "ชุมชนบ้านนาต้นจั่น" อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ชุมชนนี้มี คุณเสงี่ยม หรือ แม่เสงี่ยม แสวงลาภ ประธานกลุ่มโฮมสเตย์บ้านนาต้นจั่น ซึ่งเคยไปดูงานที่เมืองโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น อันเป็นเมืองต้นแบบของโอท็อปโมเดล
แม่เสงี่ยม ถือเป็นชาวบ้านธรรมดา แต่มีความคิดทันสมัย เปิดรับมุมมองใหม่ เติมองค์ความรู้เข้าไปอย่างต่อเนื่อง ชุมชนบ้านนาต้นจั่น เป็นการผสานวิถีการผลิตเดิม กับวิถีการผลิตใหม่ จึงได้ผลลัพธ์ใหม่ออกมา
วิถีเดิมของหมู่บ้านแห่งนี้คือความเป็นชุมชนเกษตรชายป่า หลังอิงเขา มีพื้นที่ลุ่มทำไร่ทำนาบางส่วน วิถีชีวิตผูกพันกับการเกษตร แต่สภาพที่ว่ามานั้นกลับมีจุดแข็งของความเป็นธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์มองซ้ายแลขวาก็ได้บรรยากาศที่สบายตา จุดแข็งนี้เองเมื่อมาเติมความคิดสร้างสรรค์ลงไป ก็กลายเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีโฮมสเตย์ มีบริการให้นักท่องเที่ยวได้ปั่นจักรยานชมหมู่บ้าน สูดออกซิเจนบริสุทธิ์ให้เต็มปอด จอดจักรยานเซลฟี่โพสต์ลงโซเชียล (ทำให้คนรู้จักบ้านนาต้นจั่นมากขึ้น)
เลือกซื้อสินค้าจากชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าจากผ้าทอมือ ซึ่งเส้นด้ายย้อมโคลน มีสีที่แปลกตา มีความนุ่มนวลเมื่อสัมผัส ยกระดับข้าวเปิ๊บ อาหารพื้นๆของชาวสุโขทัยให้กลายเป็นอาหารขึ้นชื่อเป็นสินค้าเชิงวัฒนธรรมที่นักท่องเที่ยวต้องลิ้มลอง
จากจุดแข็งเติมเต็มด้วยความคิดสร้างสรรค์ ชาวชุมชนบ้านนาต้นจั่นจึงได้ผลลัพธ์ใหม่เกิดขึ้น มีรายได้จากการท่องเที่ยว การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน การรวมกลุ่มที่เข็มแข็งสามารถนำรายได้ เป็นทุนไหลเวียนให้แก่สมาชิก
แม่เสงี่ยม เป็นตัวอย่างหนึ่งจากการได้มีโอกาสไปดูงาน แล้วนำสิ่งที่ได้เป็นมาประยุคให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ เพื่อผลลัพธ์ใหม่ที่ยั่งยืน
ถึงตรงนี้ สมาชิกบางท่านต่างเย้ากันเล่นพอได้ครื้นเครงกันล่ะ
“ปีหน้า ชาวหญ้าแฝกไปดูงานกันแล้ว...ละ (ฮา!!!)”
หลังจากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นยกกรณีตัวอย่างทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว ก็มาถึงไฮไลท์ของการบรรยายครั้งนี้ ดร.สุนทร ได้ให้ข้อเสนอในการยกระดับ “เครือข่ายรักษ์หญ้าแฝก” สู่การสร้างเศรษฐกิจชุมชน ด้วยการบวกรวมเครือข่ายใน ๒ ข้อ คือ ๑.เครือข่ายหญ้าแฝกบวกกับเครือข่ายเศรษฐกิจ และ ๒.เครือข่ายหญ้าแฝกบวกกับเครือข่าย CSR
โดยลักษณะงานของเครือข่ายหญ้าแฝกมาจากงานด้านอนุรักษ์ และงานด้านเครือข่าย ในข้อที่ ๑ ใช้จุดแข็งที่มีอยู่ผสานกับเครือข่ายอื่นๆที่มีความใกล้เคียงกัน เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร (วิสาหกิจชุมชน) กรมพัฒนาชุมชน (พ.ช.) ประชารัฐ
ข้อที่ ๒.ใช้เครือข่ายหญ้าแฝกบวกรวมกับเครือข่าย CSR. เช่น มูลนิธิลูกโลกสีเขียว ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย – Adpc , PLANT : People Loving and Nurturing Trees , CSR INTERNSHIP PLATFORM
“การสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ใหม่ขึ้น ไม่ใช่ทำงานเพียงแค่คนหนึ่งคนใด องค์กรหนึ่งองค์กรใด แต่เกิดจากการทำงานด้วยการผสานพลัง ทำงานกันเป็นฝูง จึงจะเกิดความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง จึงจะได้ผลลัพธ์ใหม่ได้เกิดขึ้น” ดร.สุนทร กล่าวสรุปก่อนจบบรรยาย