ร่วมด้วยช่วยกันผลักดัน ปลายทางกระทรวงน้ำฯ
แม้ประเทศไทย ได้ชื่อว่าแผ่นดินสุวรรณภูมิอันอุดมสมบูรณ์ น้ำท่าไม่เคยขาดแคลน ร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรือง จากอดีตส่งผ่านมาถึงปัจจุบันมีให้เห็นมากมาย ตลาดน้ำอายุนับร้อยๆ ปี มีให้ได้เซลฟี่อัพลงสื่อสังคมออนไลน์ก็เยอะแยะ นั่นย่อมสะท้อนอะไรบางอย่าง แม้ไม่อาจย้อนกลับไปเป็นเช่นเดิมได้ แต่ก็ยังมีความพยายามสร้างสรรค์สิ่งดีให้กลับมา
โครงการศึกษาและจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมแบบบูรณาการและมีส่วนร่วม เป็นอีกหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนเรื่องน้ำทั้งระบบให้มีการจัดการทีดี เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดให้ตรงจุดสอดคล้องกับบริบทความเปลี่ยนแปลง
จังหวัดสมุทรปราการ เป็นอีกที่ ที่ผมได้มีโอกาสร่วมสังเกตการณ์การรับฟังความคิดเห็น ความน่าสนใจของที่นี้อยู่ที่ การสะท้อนปัญหา สะท้อนสาเหตุของความทุกข์ แต่ชาวสมุทรปราการแปลงความทุกข์นั้นเป็นพลัง เพื่อแก้ปัญหาที่ยังยืน ทั้งภาคราชการ ผู้ประกอบการ และภาคประชาชน แม้จะมีการถกประเด็นอย่างเมามันส์ แต่ก็ร่วมด้วยช่วยกันวาดภาพ เสนอทางออกที่หลากหลาย แต่มีปลายทางเดียวกันที่เห็นชัดเจน คือ “เรื่องของน้ำ ต้องมีกระทรวงน้ำเกิดขึ้น เพื่อกำกับดูแลอย่างจริงจัง”
ภาคราชการ
มีการสะท้อนมุมมองเรื่องปัญหาอย่างน่าสนใจ พอสรุปสาระสำคัญหลักได้สองสามเรื่อง คือ การขาดฐานข้อมูลกลาง เนื่องจากข้อมูลการใช้น้ำ ข้อมูลคุณภาพน้ำ ข้อมูลความต้องการน้ำอยู่กระจัดกระจายหลายหน่วยงาน บางครั้งระเบียบข้อปฏิบัติของหน่วยงานที่ไม่เป็นฟอร์มเดียวกันก็กลายเป็นอุปสรรคไปโดยปริยาย จึงทำให้ประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาลดลงไปด้วย ที่ชัดเจนที่สุดในเรื่อง ฐานข้อมูลกลาง มีการยกตัวอย่าง เช่น ข้อมูลของ โรงฟอกหนัง โรงฟอกย้อม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมก็ว่าได้ แม้มีอัตราการขยายตัวที่ไม่มากนักในช่วงหลัง แต่ก็เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้น้ำในปริมาณที่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่รายงานข้อมูลการขอใช้น้ำยังเท่าเดิม หรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำในสมุทรปราการ
กำลังของเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ต่อสภาพความเป็นจริง เช่น หน่วยงานกำกับดูแลการใช้น้ำบาดาลในพื้นมีเพียงไม่กี่คน แต่จำนวนโรงงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ความต้องการใช้น้ำในพื้นที่มีปริมาณมาก แต่ปริมาณน้ำที่มีอยู่ไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากขาดแหล่งกักเก็บน้ำ นอกจากนี้น้ำเค็มก็ลุกล้ำทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องระบายน้ำลงทะเลเพื่อขับไล่น้ำเค็ม เป็นต้น
ปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสียในพื้นที่ ภาคครัวเรือนไม่มีการบำบัดที่ถูกต้อง บางจุดมีการขออนุญาตก่อสร้างต้องแนบแบบการบำบัดที่ถูกต้อง แต่แนวปฏิบัติไม่มีการดำเนินการอย่างแท้จริง ปลาตายน้ำเสียเนื่องจากปัญหาขยะ ปัญหาการลักลอบปล่อยน้ำเสียจากโรงงาน
อย่างไรก็ตามแม้มีข้อจำกัด แต่ก็ใช่จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ยังมีหลายเรื่องที่หน่วยงานในพื้นที่ร่วมแรงกันลุยหลายโครงการ เช่น การดำเนินงานด้านการพัฒนาและฟื้นฟู ภายใต้แผนการดำเนินงานเรื่องเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “บางปูโมเดล” งบประมาณ 2 หมื่นล้าน เพื่อการบูรณาการเรื่องบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างเมืองที่มีคุณภาพในพื้นที่บางปู เพื่อเป็นพื้นที่ตัวอย่างก่อนที่จะนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ โดยมีเป้าหมายให้ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงาน และภาคส่วนอื่นๆร่วมกันขับเคลื่อน
นอกจากนี้ ในส่วนของชลประทานจังหวัดดำเนินโครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำจากสมุทรปราการไปให้ชลบุรีใช้ เกษตรจังหวัด มีการจัดทำโครงการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำน้อยลงในการทำเกษตรกรรม เช่น ปัจจุบันปลูกข้าวใช้น้ำน้อย โดยปัจจุบันการปลูกข้าวใช้น้ำประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตร จากเดิมใช้ราว 1,400 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังมีการใช้วิธีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชอื่นๆ และนวัตกรรมต่างๆ เพื่อลดการใช้น้ำให้น้อยลง
ขณะที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีการดำเนินโครงการกำจัดวัชพืช และกำจัดขยะอย่างถูกวิธี โดยตั้งเป้าหมาย การรณรงค์และดำเนินการอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยหลายพื้นที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น คลองสำโรงพัฒนาที่ดิน จังหวัดสมุทรปราการ มีการสนับสนุนในการสร้างบ่อน้ำขนาดเล็กตามไร่นาเพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรในเรื่องของน้ำในการทำการเกษตร
ข้อเสนอแนะ
จากการระดมความคิดเห็น ต่างเห็นสอดคล้องกันว่า ควรมีการดำเนินงานเพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวสาร และจัดทำแหล่งข้อมูลกลางเพื่อใช้ในพื้นที่ ควรมีการจัดเก็บข้อมูล และอัพเดทข้อมูลอย่างถูกต้อง และหามาตรการตรวจสอบกำกับที่ดี เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด ควรมีการศึกษาข้อมูลที่ชัดเจนถึงแหล่งกำเนิดปัญหา เพื่อหาทางแก้อย่างตรงจุด และให้ความรู้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายการศึกษาวิธีกำจัดขยะและนำขยะไปใช้ประโยชน์ เช่น การจัดทำโรงขยะขนาดเล็ก ควรมีการรณรงค์เรื่องการจัดเก็บขยะที่ถูกต้อง สร้างจิตสำนึก ปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานให้มากขึ้นเพื่อการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพ การนำรายได้จากการจัดเก็บเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านการพัฒนาและการอนุรักษ์
ควรมีการแก้ไขกฎระเบียบที่มีความซ้ำซ้อน ไม่เอื้อต่อการบริหารจัดการ และหากเป็นไปได้ ท้ายที่สุดต้องผลักดันให้เกิดหน่วยงานกลาง เพื่อดูแลเรื่องนำอย่างจริงจัง ต้องร่วมกันผลักดันให้ถึงขั้นมีกระทรวงน้ำ เกิดขึ้นในประเทศไทย
ผู้ประกอบการ
มีการสะท้อนภาพรวมของปัญหา ไม่แตกต่างกัน โดยมองว่า ในพื้นที่สมุทรปราการ ยังเผชิญปัญหาเก่าๆ คือ ปัญหาน้ำแล้ง / น้ำท่วม และน้ำทะเลหนุน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตทั้งสิ้น เรื่องของคุณภาพน้ำ ผู้ประกอบการก็ต้องเพิ่มขั้นตอนการบำบัดน้ำเพื่อนำมาใช้ในการผลิต เนื่องจากน้ำบาดาลและน้ำประปา ที่นำมาใช้ในการผลิตไม่ได้คุณภาพ ค่าทางเคมีต่างๆ ไม่เสถียร (ขึ้นๆ ลงๆ) ทำให้ต้องเพิ่มขั้นตอนการผลิตเพื่อปรับค่าทางเคมีของน้ำให้ได้มาตรฐานของการผลิตเสียก่อน
ทั้งนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ มีความกังวลใจเกี่ยวกับปริมาณน้ำใช้ในพื้นที่ในอนาคต เนื่องจากปัญหาน้ำทะเลหนุนทำให้เกรงว่าน้ำประปาจะจ่ายเข้าภาคอุตสาหกรรมไม่เพียงพอ และคุณภาพน้ำประปาไม่ดี การขยายตัวของชุมชน ทำให้น้ำทั้งเพื่ออุปโภคบริโภคไม่เพียงพอ คลองสาธารณะบางสายถูกรุกล้ำ ไม่มีพื้นที่รับน้ำ ระบายน้ำ เกิดปัญหาเรื่องน้ำท่วมซ้ำซ้อน
ปัญหาการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของพื้นที่กฎระเบียบข้อกำหนดจากหน่วยงานราชการมีความซ้ำซ้อน การใช้น้ำในกระบวนการผลิต ทั้งน้ำประปากับน้ำบาดาลมีการกำหนดสัดส่วน ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง การดำเนินโครงการด้านสาธารณูปโภคในพื้นที่ ไม่มีความเชื่อมโยง ต่างคนต่างทำไม่มีการบูรณาการ พื้นที่สมุทรปราการ ขาดแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ ทำให้ประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง ดังนั้น โรงงานในพื้นที่มีความพยามยามเพื่อการลดปริมาณการใช้น้ำกระบวนการผลิตให้น้อยลงเพื่อไม่ให้มีการใช้น้ำในพื้นที่เยอะเกินไป และเพื่อลดในเรื่องของต้นทุนค่าใช้จ่ายในระยะยาว โรงงานในพื้นที่มีการควบคุมการปล่อยน้ำเสี /น้ำทิ้งลงสู่แม่น้ำลำคลอง โรงงานในพื้นที่มีความพยามยามในการนำเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย โดยนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ (3 R) อาทิ การนำมารดน้ำต้นไม้ การนำเข้าบ่อบำบัดแล้วเป็นแหล่งเลี้ยงปลา หรือการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดไปใช้ในห้องน้ำ เป็นต้น
ข้อเสนอแนะ
ผู้ประกอบการ โยนประเด็น “การจัดตั้งกระทรวงน้ำ” เป็นเรื่องแกนของการถก เนื่องจากมองในทิศทางเดียวกันว่า ปัญหาเดิมๆ ที่เกิดขึ้น วิธีแก้ก็ไม่ต่างจากเดิมมาก สิ่งที่เจอคือขั้นตอนกฎระเบียบต่างๆ หน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำมีอยู่หลายส่วน กระจัดกระจายหลายกระทรวง งบประมาณก็อยู่กระจัดกระจาย หากมีการรวบรวมผู้เกี่ยวข้องมาอยู่ที่เดียวกัน มีเจ้าภาพชัดเจนเชื่องว่าจะเป็นความหวังของผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง อย่างน้อยก็จะได้ไม่ต้องคอยลุ้นใจตุ๊มๆ ต่อมๆ ว่า แล้งปีนี้น้ำจะพอไหม ต้องสำรองน้ำไว้ใช้อย่างไรถึงจะไม่กระทบต่อกระบวนการผลิต เป็นต้น
ภาคประชาชน
ก่อนอื่นต้องบอกว่า ภาคประชาชนในพื้นที่สมุทรปราการมีความเข้มแข็งมาก มีเครือข่ายที่เข้มแข็งเหนียวแน่นถึงกัน มีแนวความคิดเป็นเชิงวิทยาศาสตร์ มีตั้งสมมุติฐาน พิสูจน์สมมุติฐาน สรุปบทเรียน แล้วนำข้อเสนอร่างออกมาอย่างเป็นแผน อย่างเนี๊ยบ!!!
เรื่องปัญหา ก็มองไปในทิศทางไม่แตกต่างกันกับภาคราชการ และผู้ประกอบการ คือเห็นปัญหาร่วมกันเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง เนื่องจากลำคลองบางสายถูกลุกล้ำโดยการตั้งชุมชนขวางทางน้ำไหล ขณะที่คลองดั้งเดิมบางเส้นถูกแปลงร่างกลายเป็นถนนให้รถวิ่ง
เรื่องคุณภาพน้ำ ภาคประชาชนก็ยอมรับว่าภาคครัวเรือนคือส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดปัญหาต่อคุณภาพน้ำ เนื่องจากชุมชนขยายตัวระบบจัดการของเสียชุมชนยังจัดการได้ไม่ดีนัก น้ำทิ้งจึงลงสู่คลอง
เมื่อมองเห็นปัญหา ภาคประชาชนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ค่อยๆ ร่วมแรงร่วมใจกัน ดำเนินกิจกรรมเพื่อการฟื้นฟูเยียวยาแหล่งน้ำ “ทำเท่าที่แรงมี ทำเท่าที่พอทำได้” เป็นคอนเซ็ปท์ของภาคประชาชน โดยมีการยกตัวอย่างกิจกรรมที่ดำเนินการแล้ว อย่างน่าสนใจ เช่น การดำเนินงานเพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูด้านการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ โดย สภาองค์กรชุมชน สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา LDI ดำเนินโครงการชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ โดยเริ่มจากปี 2542 เริ่มดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องการลุกล้ำ ทำทุกคลอง เป้าหมายหนึ่งอำเภอหนึ่งคลอง โดยในปี 55- 56 เริ่มทำกังหันบำบัดน้ำ ต่อมาในปี 58-59 ใช้วิธีเพื่อนช่วยเพื่อน ช่วยชาวบางเพียง ทำข้อเสนอไปยังภาครัฐผลักดันให้ผู้ว่าราชการ นอกจากนี้ยังมีการดำเนินโครงการนักสืบสายน้ำ / การเติม EM ลงแหล่งน้ำทุกวันศุกร์ / น้ำหมักชีวภาพ ตรวจวัดคุณภาพน้ำทุกเดือน / การทำกิจกรรม Boat rally เพื่อได้สำรวจคุณภาพน้ำและพัฒนาการท่องเที่ยวไปในตัว และยังมุ่งเน้นในการปลูกจิตสำนึกเรื่องการจัดเก็บขยะ / ปลูกพืชผักพื้นบ้าน สภาองค์กรชุมชน ดำเนินโครงการฟื้นฟูคลองสำโรง / เริ่มที่จัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งน้ำในพื้นที่ กฟผ. ให้ทุนในการจัดทำโครงการเพื่อดูแลลำคลอง ต่อเนื่องหลายปี เช่น ดูแลคลองบางฝ้าย / สนับสนุนวิทยากรทำ EM และ EM ball
ข้อแสนอแนะ
แผนระยะสั้น
ควบคุมต้นทางของปัญหาน้ำเสียอย่างจริงจัง และปลูกจิตสำนึกผู้ประกอบการ ไม่กำจัดของเสียด้วยการเผา ควรมีคณะทำงาน ดำเนินการด้านศูนย์ข้อมูลน้ำระดับจังหวัด สำรวจข้อมูลแหล่งน้ำ / จำนวนคลอง / คัดแยกปัญหาเป็นเรื่องๆ เป็นคลองๆ ใช้ภาคีเครือขายภาคประชาสังคมร่วมกันสำรวจ โดยอุตสาหกรรมจังหวัด ควรเป็นเจ้าภาพให้ทุนสนับสนุน ควรมีการขยายองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำสู่ชุมชนให้มากขึ้น
ระยะกลาง/ระยะยาว
เสนอให้มีการขุดลอกคลอง และสร้างความเป็นเจ้าของคลองให้กับประชาชนเพื่อช่วยกันในการดูแลแม่น้ำลำคลอง ผลักดันให้มีบ่อดักไขมัน /บ่อบำบัดระดับชุมชน การจะมีแผนงานสร้างเขื่อน หรือนโยบายอื่นๆที่มาจากรัฐบาล ควรคำนึงถึงบริบทของพื้นที่ สอดรับความต้องการที่แท้จริง ควรมีการจัดตั้งกองทุนบริหารจัดการน้ำ เพื่อเยียวยาผู้ไดรับผลกระทบ (เสนอให้นำงบซีเอสอาร์ของโรงงาน มาเป็นกองทุนสนับสนุน) โดยออกกฎเพื่อบริหารจัดการร่วมกันซึ่งประกอบด้วยคณะทำงานจากทุกภาคส่วน
ควรมีการจัดตั้ง “กระทรวงน้ำ” ขึ้นเป็นกลไกองค์กรหลักเพื่อศึกษาวิเคราะห์ร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำ ในการดำเนินการต่างๆ ต้องเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนทุกขั้นตอน การอนุรักษ์ ฟื้นฟู กิจการเลี้ยงปลาเศรษฐกิจ จัดตั้งให้สภาองค์กรชุมชน เข้าไปมีส่วนร่วมกับการทำงาน / ประชุม ร่วมกับ กรอ. ต้องมีการกำหนดแผนการทำงานอย่างบูรณาการจากทุกภาคส่วน ฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่แก้มลิง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กำหนดนโยบาย มีแผนงาน มีผู้รับผิดชอบชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนให้มีประสิทธิภาพ จัดทำผังเมืองที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ไม่ใช่เพียงมองมิติการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม
จะเห็นได้ว่า แม้จะมีความคิดเห็นที่หลากหลาย มีทางออกหลายช่องทาง แต่เสียงสะท้อนที่ออกมาแม้ไม่ใช่การทำโพลจากสำนักโพลที่มีชื่อเสียง แต่เชื่อแน่ว่า โพลในใจของชาวสมุทรปราการที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจากทั้ง 3 ภาคส่วน มีปลายทางเดียวกัน คือ ประเทศไทยควรมีกระทรวงน้ำ เกิดขึ้น เพื่อบูรณาการการทำงานอย่างจริงจัง
หมายเหตุ : โครงการศึกษาและ