สมุทรสาครเสนอฟื้นฟูแก้มลิง บริหารจัดการน้ำตามรอยพ่อ


สมุทรสาครเสนอฟื้นฟูแก้มลิง

บริหารจัดการน้ำตามรอยพ่อ

 

ฝนมาน้ำท่วม ฝนทิ้งช่วง เจอทั้งภัยแล้ง ทั้งน้ำเค็มหนุน...!  

สมุทรสาคร มหานครแห่งสายน้ำแต่ใช้น้ำไม่ได้...!

ปัญหาสุดคลาสสิคที่ชาวสมุทรสาครต้องเผชิญ แต่ก็สามารถยิ้มสู้ทุกครั้งเมื่อภัยมา แต่ในใจลึกๆแล้ว เชื่อว่าชาวสมุทรสาครยังคงวาดหวังให้เกิดการบูรณาการ ด้านการบริหารหารจัดการน้ำที่ดี  

โครงการศึกษาและจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมแบบบูรณาการและมีส่วนร่วม เป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพื่อหาทางออกอย่างเหมาะสม วางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างมีระบบในเชิงโครงสร้าง

 

มีโอกาสไปเข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น 3 ฝ่ายทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคม ต้องขอชื่นชมในหัวจิตหัวใจของทุกท่านที่ได้เปิดมุมมองสะท้อนข้อเท็จจริง และเสนอทางออกอย่างเป็นขั้นตอน ที่เรียกได้ว่าหยิบขึ้นมาขับเคลื่อนได้ทันที เกาถูกที่คันทายาเพียงนิดก็หายแล้ว

 

ภาครัฐ มองในเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำ มีอาการเครื่องยนต์ติดๆดับๆ นโยบายส่วนกลางอาจไม่สอดคล้องต่อบริบทของพื้นที่ งบประมาณขับเคลื่อนกระจัดกระจายอยู่หลายหน่วยงาน บางครั้งติดเงื่อนไขด้านขั้นตอนกฎระเบียบต่างๆ

แนวทางการแก้ปัญหา ภาครัฐมองในทิศทางเดียวกัน คือ ต้องบูรณาการร่วมกัน กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆก็ควรที่จะมีการแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทของความเปลี่ยนแปลง หน่วยงานต่อหน่วยงานต้องหันหน้ามาพูดคุยกันเยอะขึ้น ทำงานร่วมกันมากขึ้นใช้รูปแบบ Third party เป็นข้อเชื่อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำต้องช่วยกันเสนอแนวทางการแก้ปัญหาไปยังรัฐบาลบ่อยขึ้น แม้จะไม่ได้รับการตอบสนองในทันที แต่การนำเสนอโครงการต่างๆต้องขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยมีการอัพเอทสถานการณ์อยู่เสมอย่อมส่งผลดีในอนาคตอันใกล้

ภาคเอกชน มองว่าเรื่องน้ำเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนกิจการพอสมควร เนื่องจากเจอปัญหาด้านราคา และด้านคุณภาพน้ำ ด้านราคาคือซื้อน้ำประปาราคาค่อยข้างสูงจากการประปาภูมิภาค เมื่อเทียบกับโรงงานในลักษณะเดียวกันที่อยู่ในพื้นที่การให้บริการของประปานครหลวงต้นทุนต่างกันมาก ในเชิงธุรกิจถือว่าเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันอย่างมาก หันมามองที่คุณภาพน้ำใต้ดิน ผู้ประกอบการยังมองว่าไม่คุ้มต่อการนำขึ้นมาใช้ในกระบวนการผลิต เพราะต้องมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนจึงจะสามารถใช้ในกระบวนการได้ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก

 

แนวทางแก้ปัญหา เอกชนมองว่า ควรมีคณะกรรมการจัดตั้ง Third party เข้ามาเป็นหน่วยงานกลาง ในการทำงานบูรณาการความร่วมมือการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ ชุมชน การกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสียอย่างยั่งยืน ดำเนินงานตามแผน และเข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานว่าตรงตามแผนงานหรือไม่ การพัฒนาโครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำสาธารณะให้ดีขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ได้ โรงงานสามารถดูดน้ำมาใช้ได้ และลดค่าใช้จ่ายของทางโรงงานโดยโรงงานต้องขออนุญาต ซึ่งทางโรงงานยินดีที่จะให้ความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวหากภาครัฐมีโครงการหรือการดำเนินงานด้านนี้อยู่แล้ว

 

ภาคประชาสังคม มองว่าปัญหาเรื่องน้ำทั้งกระบวนการควรนำแนวทางพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการบริหารจัดการ เพราะในพื้นที่สมุทรสาครได้รับพระมหา กรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น จากพระองค์ท่านที่ได้ดำริให้มีโครงการแก้มลิง “คลองมหาชัย-คลองสนามชัย” ถือเป็นแก้มลิงโครงการแรกๆ แก้มลิงดังกล่าวช่วยให้จังหวัดสมุทรสาคร มีน้ำที่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และใช้ในภาคการเกษตร เป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่ช่วยผลัดดันน้ำเค็มไม่ให้รุกล้ำพื้นที่มากเกินไป

 

ปัจจุบันพื้นที่แก้มลิงถูกลุกล้ำเข้าไป บางจุดตื้นเขิน บางจุดเสื่อมโทรมจากวัชพืชทางน้ำ หากได้รับการบูรณะที่ดี มีการขุดลอก มีการกำจัดวัชพืช เชื่อว่าจะสามารถช่วยให้ชาวสมุทรสาครกลับมามีรอยยิ้ม เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งน้ำ มีน้ำอุปโภคบริโภคที่เพียงพอ

 

ภาคประชาสังคมยังได้ยกตัวอย่าง กิจกรรมที่ร่วมกันขับเคลื่อนในพื้นที่ ที่น่าสนใจ เช่นเรื่องคลองภาษีเจริญโมเดล เป็นโครงการที่เริ่มต้นจากการสะท้อนปัญหาจากภาคประชาชนที่เริ่มจากการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลเรื่องของปัญหาน้ำเสียในพื้นที่ จากนั้นได้นำเสนอประเด็นปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนมีการจัดตั้งเป็นคณะทำงานที่มาจาก 3 ภาคส่วน ทั้งราชการ เอกชน และประชาชน มีการประชุมกันทุกเดือน มีผู้ว่าราชการเป็นประธาน  

ทั้งนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ให้คณะกรรมการเข้าเยี่ยมชมกิจการ เข้าไปดูส่วนการบริหารจัดการน้ำภายในโรงงาน โดยมีเป้าหมายหลักคือโรงงานฟอกย้อม และจะขยายไปยังโรงงานประเภทอื่นๆในระยะต่อไป

 

นี่เป็นเพียงบางส่วนจากการได้เข้าไปสังเกตการณ์ แล้วนำมาเล่าต่อ ได้เห็นความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่ได้ร่วมกันเปิดมุมมองที่หลากหลาย ช่วยกันหาทางออกที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ การดำเนินโครงการศึกษาและจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมแบบบูรณาการและมีส่วนร่วม จะเป็นจิกซอร์ตัวสำคัญที่จะทำให้แผนงานด้านบริหารจัดการน้ำในทุกองคาพยพของประเทศไทยเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพแก้ปัญหาได้อย่างถูกทาง  

 

เดินหน้าประเทศไทยร่วมกันครับ

 

หมายเหตุ : โครงการศึกษาและจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมแบบบูรณาการและมีส่วนร่วม ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินโครงการโดย สถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube