ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนไทยแลนด์สู่ 4.0


ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง

ขับเคลื่อนไทยแลนด์สู่ 4.0

มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์ ในกระบวนการกลุ่ม ในโครงการอบรมผู้นำ - นำการเปลี่ยนแปลง Leadership for  Change : LFC รุ่นที่ 7 (กลุ่มย่อยหน่วยงานภาครัฐ) จัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพ จากประสบการณ์ในการทำข่าว รวมถึงได้มีโอกาสเป็นผู้ช่วยวิทยากรในหลายเวที  เห็นความแตกต่างจนอดที่จะหยิบเกร็ดเล็กเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาเล่าต่อไม่ได้

แตกต่างแรกคือ “กระบวนการ”  

แตกต่างต่อมาคือ “การแสดงออกทางความคิดเห็น”

แตกต่างอีกอย่างคือ “การสานต่อความแตกต่าง” สู่การเคลื่อนงานตามศักยภาพของแต่ละคน แล้วใช้การเชื่อมโยงแบบเครือข่าย กลายเป็นชุมชนผู้นำ เพื่อนำความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง

ทราบว่าหลังปิดจ๊อบจบคอร์ส  จะมีการสานต่อโมเดลที่ร่วมกันนำเสนอสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ แม้นว่าจะไม่เกิดมรรคเกิดผลในเร็ววัน แต่จะส่งทางให้รุ่นต่อรุ่นเคลื่อนงานต่อได้  

นี่คือขับเคลื่อนประเทศสู่ยุค 4.0 

ดร.สุนทร คุณชัยมัง ผู้อำนวยการหลักสูตร สร้างเซอร์ไพร์สเล็กๆ แก่ผู้เข้าเรียนด้วยการตั้งคำถาม  “3 ประโยชน์ 1 สานต่อ”

ประโยชน์แก่ตน
ประโยชน์แก่องค์กร

ประโยชน์แก่ส่วนรวม
และ สานต่ออย่างไร

นี่คือแตกต่างแรกที่ได้เห็น เนื่องจากปกติกระบวนการกลุ่มโดยทั่วๆ ไป จะเริ่มที่สร้างความคุ้นเคย เสมือนการละลายพฤติกรรม แล้ววิทยากรกระบวนการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง โยนคำถามลงไปในวง แล้วชวนกันถก ชวนกันคุย บางครั้งเจอวงที่มีคนคุยเก่ง ก็กลายเป็นผู้นำทางความคิด ผู้ร่วมในกลุ่มย่อยก็จะคล้อยตาม ตามตามกันไป

แต่ที่นี่ไม่...! “เพราะนี้คือ เวทีของผู้นำ ที่จะไปสู่การนำความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมไทย”

“3 ประโยชน์”

ประโยชน์ต่อตนเอง
ส่วนใหญ่มองว่าการเข้ามาเติมความรู้ในโครงการผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง คือการเปิดโอกาสให้ตนเองได้รับรู้เกี่ยวกับมูลนิธิสัมมาชีพ ได้รับทราบเกี่ยวกับ บทบาทและการดำเนินงานของมูลนิธิ ซึ่งสามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานได้ในอนาคต ได้ยกระดับความรู้ที่ผ่านการกลั่นกรองจากทีมงาน และวิทยากรมาแล้ว ทั้งเรื่องของ Digital Economy ,  Thailand 4.0   เป็นต้น ความรู้ที่ได้รับมานั้นจะช่วยให้ ตนเองสามารถนำไปพัฒนาประโยชน์ด้านการทำงาน หรือนำไปใช้ในการพัฒนาการวางแผนงานได้ในอนาคต

นอกเหนือจากเรื่องความรู้ที่สิ่งที่ได้ คือ มิตรภาพ ที่การอบรมครั้งนี้เปิดโอกาสให้คนที่ทำงานอยู่ในสายงานเดียวกันได้มารู้จักและแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน ทำให้สามารถแปลงมิตรภาพให้กลายเป็นงาน มีโอกาสได้ขับเคลื่อนงานร่วมกันในอนาคต คำว่าต่างคนต่างทำ ทำงานซ้ำซ้อน จะไม่เกิดขึ้นอีก

 

ประโยชน์ต่อองค์กร
จะเกิดการทำงานในเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะความรู้เรื่องการจัดทำ Action Plan จะมีมิติใหม่เกิดขึ้นอีกมากมาย แผนงานจะไม่ออกมาแบบแท่งๆ ที่ทำแต่ส่วนๆไป แต่จะเป็นการสร้างความเชื่อมโยงในมิติสัมพันธ์ต่างๆได้ลึกขึ้น การได้รู้จักเพื่อนต่างองค์กร แล้วเปิดมุมมองการพัฒนางานร่วมกันเพื่อมีผลลัพธ์ร่วม ย่อมเกิดประสิทธิภาพมากกว่าทำเพียงลำพังองค์กรเดียว  เช่น การนำเอาสินค้าจากในพื้นที่มาใช้เป็นอาหารว่างในการจัดประชุม เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนหรือคนในท้องถิ่น

การนำเอาความรู้ที่ได้รับไปช่วยเผยแพร่ให้กับผู้บริหาร , ประชาชน  , หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน

 

ประโยชน์ต่อส่วนรวม

“ผีเสื้อกระพือปีกหนึ่งตัว ก็สวยงามแค่เพียงหนึ่ง

แต่หากหลายๆตัวมารวมกัน แล้วกระพือปีกร่วมกัน

ย่อมเกิดทั้งพลัง เกิดทั้งความสวยงาม”

ความรู้ที่ได้รับในครั้งนี้ จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวมได้เป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า จะนำสิ่งที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานแบบสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือกันให้เกิดเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน  โดยการปฏิบัติงานร่วมกัน การค้นหา เป้าหมายร่วมกัน ของหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อกำหนดเป้าหมายและนำมาปรับใช้ในการทำงานร่วมกัน การทำงานภายใต้ความเชื่อเรื่องของ ทฤษฏี butterfly Effect ที่เชื่อว่าการทำงานของแต่ละภาคส่วนที่มีการดำเนินการเกิดขึ้นพร้อมกันจะช่วยเหลือสังคมได้อย่างแน่นอน

“1 สานต่อ”
งานสิ่งหนึ่งชิ้นใด ใช่จะสำเร็จได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว และการต่อยอดความรู้สู่การสานต่อองค์ความรู้ เหล่า LFC7 ส่วนใหญ่มองไปในมุมที่สอดคล้องกันว่า พลังแห่งความเป็นเครือข่าย (Network.) จะเป็นตัวช่วยหนึ่งให้งานสำเร็จได้ และสามารถส่งไม้ต่อ ยังรุ่นต่อรุ่นได้ โดยจะเริ่มจากที่การเกาะเกี่ยวกันเป็นรุ่นๆ แล้วเชื่อมโยงไปยังรุ่นก่อนๆ ค่อยๆเคลื่อนงาน ค่อยๆถอดองค์ความรู้ออกมาเพื่อเป็นทางลัด นำสิ่งที่ดีไปต่อยอด นำสิ่งที่เป็นจุดด้อยมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น จากโมเดลนี้ เชื่อว่าจะเป็นการขับเคลื่อนที่ยั่งยืน สู่ความเปลี่ยนแปลง สู่ยุคประเทศไทย 4.0 ที่ยั่งยืน ได้ในอนาคตอันใกล้

ข้อเสนอแนะจากวิทยากร
หลังจากนั่งฟัง ทุกคนเล่าถึง “3 ประโยชน์ 1 สานต่อ” ดร.สุนทร ได้สรุปให้เห็นภาพชัดๆ ลงไปว่า

กระบวนการมีส่วนร่วมแบบที่นำเนื้องานมาเป็นตัวรวม สามารถทำได้ 2 ลักษณะ คือ 1. การรวมกันเพื่อจัดสรรงบประมาณ 2. การทำงานร่วมกันแบบข้ามภาคส่วน (Cross-Sector Collaboration) โดยสร้างกลยุทธ์ที่เหมาะสมเข้าไปแก้ไขปัญหา โดยมีปลายทางเดียวกัน อาศัยความร่วมมือ ตามศักยภาพของแต่ละหน่วยงานตามความถนัด

อีกประเด็นที่ละเลยไปเสียไม่ได้ คือ เรื่องของการเตรียมความพร้อมของชาวบ้าน ทุกหน่วยงานต้องให้ความสนใจ โดยเฉพาะเรื่องทุน 3 ก้อน คือ ทุนความคิดสร้างสรรค์ , ทุนชุมชนเข้มแข็ง และทุนจากภายนอก ในส่วนของทุนความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดซึ่งกำลังประสบกับปัญหาในพื้นที่ซึ่งขาดคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าไปเพิ่มเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมองหาเรื่องของการเพิ่มคนรุ่นใหม่เข้าไปในชุมชน เพื่อให้เกิดทุนที่ครบถ้วนและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

และนี่คือประกายแห่งความเปลี่ยนแปลง ครั้งสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้น ในสังคมไทย ผลิตผลจากโครงการผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง คือกลไกลหนึ่งที่จะขับเคลื่อนประเทศสู่ความยั่งยืน ก้าวข้ามทุกความท้าทาย พาประเทศไทย สู่ไทยแลนด์ 4.0

เป็นกำลังใจ และเอาใจช่วย
สู้ๆ ครับ



 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube