กระเบนราหูตายเป็นเบือ คนลุ่มน้ำแม่กลองลุกขึ้นสู้


กระเบนราหูตายเป็นเบือ  คนลุ่มน้ำแม่กลองลุกขึ้นสู้

         กรมโรงงานอุตสาหกรรม อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 สั่งปรับเงินโรงงานราชบุรีเอทานอล เป็น  จำนวน 400,000 บาท  เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (24 ต.ค.59) ในกรณีเกิดอุบัติเหตุน้ำกากสุดท้ายที่ผ่านการบำบัดแล้วรั่วไหลสู่แหล่งน้ำ โดยน้ำทิ้งจากโรงงานมีค่าเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เป็นเหตุให้ปลากระเบนราหูและสัตว์น้ำอื่นๆ ตายเป็นจำนวนมาก  
          นอกจากนี้ยังได้ออกคำสั่งให้โรงงานดังกล่าวปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และหากพบว่าเป็นต้นเหตุ ทำให้ปลาตายก็จะต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด

“ย้อนเหตุโศกนาฏกรรมลุ่มน้ำแม่กลอง”
         ปลากระเบนราหู แห่งลุ่มน้ำแม่กลองลอยตายเกลื่อน ถูกเผยแพร่ทั้งจากสื่อกระแสหลัก และถูกแชร์ต่อผ่านโซเชียลไปอย่างรวดเร็ว นับจากช่วงปลายเดือนกันยายน กินเวลาราว 2 สัปดาห์ นับรวมจำนวนซากปลากระเบนราหูที่จบชีวิตกว่า 50 ตัว สร้างความสะลดหดหู่ยิ่งนัก อะไรคือสาเหตุ อะไรคือแนวทางป้องกันที่ยั่งยืน และใคร ที่ต้องแอ่นอกรับผิดชอบ และที่ต้องเตรียมแผนงานสร้างป้องกันที่ยั่งยืน จึงเป็นประเด็นที่ควรฉุกคิดวิเคราะห์ แลไปข้างหน้า เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ ทั้งกรมประมง กรมควบคุมพลพิษ กรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุ
          ที่สุดแล้ว วันที่ 21 ต.ค. 59 กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ออกมาแถลงผลพิสูจน์อย่างเป็นทางการพบว่า  สาเหตุการตายของปรากระเบนราหู  เนื่องจากค่าแอมโมเนียอิสระในแหล่งน้ำสูงเกินค่าความปลอดภัยของสัตว์น้ำถึง 18 เท่า โดย คพ.ได้ทำการทดลองด้วยวิธีจำลองการไหลเวียนของน้ำ เพื่อวัดแอมโมเนียอิสระอย่างต่อเนื่องทุก 15 นาที เป็นเวลา 46 ชั่วโมง  ซึ่งผลการทดลองพบว่าค่าแอมโมเนียอิสระ เพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น  โดยมีค่าเริ่มต้น  0.10 มิลลิกรัมต่อลิตร เพิ่มขึ้นเป็น 1.1 มิลลิกรัมต่อลิตร  ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอย่างเฉียบพลันของปลากระเบนราหู

“ภาคประชาสังคมเดินหน้าเยียวยาลุ่มน้ำแม่กลอง”
          นายณัฏฐนันท์ กรัตสุวรรณ หรือ “หมี อัมพวา” ภาคประชาสังคมลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งเป็นคนแรกๆ ที่เปิดประเด็นเรื่องนี้ออกสู่สาธารณะ บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า
          “ต้องออกตัวก่อนว่า ผมเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาๆ คนลุ่มน้ำแม่กลอง ที่รักและหวงแหนสายน้ำแห่งนี้ วันที่ 27 ก.ย.59 เป็นวันแรกผมพบปลากระเบนตายโดยบังเอิญ เพราะปกติผมจะมีกลุ่มปั่นจักรยานในพื้นที่อยู่แล้ว เราปั่นกันทุกวัน พอเห็นก็ถ่ายรูป และส่งข้อมูลต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ลงมาตรวจสอบ และมีโพสลงเฟสบุ๊คส่วนตัว จนมีการแชร์ภาพต่อๆกัน นำไปสู่การตรวจสอบ
          สถานการณ์ล่าสุด ตอนนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม สั่งการให้ประมงจังหวัดจัดประชุม เพื่อรวบรวมความเสียหายยื่นฟ้องเรียกค่าชดเชยจากโรงงาน แต่ที่ไปประชุมมาทางประมงให้ผู้เสียหายคำนวณค่าความเสียหาย และยื่นฟ้องเองเป็นรายๆไป อาจจะอำนวยความสะดวกให้เราน้อยไป แต่ผู้เสียหายก็ยินดีดำเนินการตามที่ประชุม
          จากการพูดคุยกับผู้ได้รับความเสียหาย ทั้งจากผู้เลี้ยงปลากะพง หอยแครง ผู้ตกกุ้ง เบื้องต้น ได้ประเมินความเสียหายเป็นตัวเลขกลมๆ ราว 15 ล้านบาท  ซึ่งเป็นเพียงการประเมินจากผู้เลี้ยงปลากะพง ราคาปกติ กิโลกรัม (ก.ก.) ละ 200 บาท เราคำนวณความเสียหาย ที่  170 บาท / ก.ก.  ซึ่งความเสียหายต้องมากกว่านั้น เราก็จะว่าไปตามกระบวนการฟ้องร้องต่อศาล”

“คืนชีวิตให้สายน้ำ คืนความสุขให้คนลุ่มน้ำแม่กลอง”
          “หมี อัมพวา” เล่าถึงแนวทางการอนุรักษ์และเฝ้าระวังสายน้ำเพื่อให้เกิดความยั่งยืนว่า
“กลุ่มเครือข่ายต่างๆในลุ่มน้ำแม่กลองทั้งสาย เรามีอยู่หลายกลุ่ม เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เราร่วมกันทำงานอย่างแนบแน่น แต่ก็เป็นเพียงรูปแบบจิตอาสา  ดังนั้น จึงได้นั่งคุยกัน และเห็นร่วมกันว่าต้องมองข้ามความเสียหายครั้งนี้ไป เพื่อสร้างเกราะป้องกันที่ยั่งยืน จึงเห็นตรงกันว่าต้องรวมกลุ่มให้เป็นทางการ เพื่อการทำงานอย่างต่อเนื่อง มีเจ้าภาพรับผิดชอบที่ชัดเจน เราออกโมเดลร่วมกันว่า จะจัดตั้งองค์กรซึ่งอาจจะใช้ชื่อว่า “เครือข่ายเฝ้าระวังลุ่มน้ำแม่กลอง” หรือชื่ออื่นๆ เพื่อให้สามารถส่งตัวแทนร่วมประชุม หรือเข้าร่วมคณะทำงานกับหน่วยงานราชการได้
          อยากได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการให้การสนับสนุนอุปกรณ์การทำงาน เช่น เครื่องมือตรวจวัดคุณภาพน้ำ จัดให้มีการอบรมความรู้เรื่องการตรวจสอบเบื้องต้น มีเวทีถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนความรู้ สร้างองค์ความรู้ร่วมกัน ด้านงบประมาณอาจจะมาจากส่วนราชการ และผู้ประกอบการ หากมีการดำเนินงานในลักษณะดังกล่าว เชื่อว่าลุ่มน้ำแม่กลองตลอดทั้งสาย จะได้รับการเยียวยาอย่างยั่งยืน”
          คงต้องช่วยให้กำลังใจ คนลุ่มน้ำแม่กลองให้ก้าวข้ามฝันร้ายในครั้งนี้ สู่การตั้งคณะกรรมการเครือข่ายขับเคลื่อนแผนงานอย่างจริงจังต่อไป   

ขอบคุณภาพจากเฟสบุ๊ค : R Mee Ampawa 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube