น้ำคือชีวิต! คลองพระปรงโมเดล
อุตสาหกรรมอยู่ได้ ชุมชนอยู่ด้วย
เพราะใบอนุญาตประกอบกิจการไม่สามารถใช้เป็นใบอนุญาตทางสังคมได้เสมอไป ความขัดแย้งระหว่างเจ้าของกิจการกับประชาชนเจ้าของพื้นที่จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง บางเรื่องจบ บางเรื่องเจ็บ!!! เพราะฝ่ายหนึ่งยึดถือเอกสารเป็นสำคัญ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าผู้มาใหม่สร้างปัญหาสารพัน
“ด่า ก็แล้ว ปิดทางเข้าโรงงานก็แล้ว ฟ้องหน่วยงานเกี่ยวข้องก็แล้ว เขาก็ยังเดินเครื่องทำงานอยู่ เหมือนเดิม แล้วเราจะทำอะไรได้ละ...”
เสียงสะท้อนเล็กๆจากภาคประชาสังคม เครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำพระปรง จังหวัดปราจีนบุรีที่เปิดประเด็นชี้ให้เห็นปัญหาในอดีตที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกับชาวชุมชนที่อยู่ร่วมกันอย่างหวาดระแรง เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงบางอย่างนำมาซึ่งความสูญเสียในบางสิ่ง
“ปี 2549 เครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำก่อตัวขึ้นอย่างเป็นทางการเนื่องจากมองว่า การต่อสู้เพื่อความถูกต้องจะต้องมีเวทีกลางอย่างจริงจัง เพื่อถูกต้องกับการอยู่ร่วมให้เดินไปในทิศทางเดียวกันให้ได้ ก่อนหน้านั้นเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นกับลำน้ำพระปรง เนื่องจากมีปลาตายอย่างผิดปกติ ลำน้ำเปลี่ยนสีไปจากเดิม
แรกๆก็ทำใจว่าอาจเป็นเพราะน้ำใหม่มาปลาเลยตาย เป็นเหตุการณ์ปกติ เป็นไปตามความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ฝนใหม่น้ำทุ่งน้ำท่าไหลรวมกัน ปลาก็น๊อคตายเนื่องจากอ๊อกซิเจนในน้ำไม่เท่ากัน ทำความเข้าใจอย่างนี้มาโดยตลอด แต่ไปๆมาๆ กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะปลาตายอย่างต่อเนื่อง ช่วยๆกันสืบเสาะว่าสาเหตุมาจากอะไร สันนิฐานแบบบ้านๆเชื่อว่าน้ำเสียน่าจะมาจากการปล่อยน้ำลงคลองแบบไม่มีการบำบัด จึงเป็นเหตุให้เรารวมตัวกันเข้าไปโรงงานต่างๆ เพื่อขอดูบ่อบำบัดน้ำเสีย แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากโรงงาน” นายเลื่อน บ่อจักรพันธุ์ เครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำพระปรง เล่าย้อยถึงที่มาของการรวมกลุ่ม
“ไม่เป็นมิตรแปลงให้เป็นมิตร”
“หลังจากที่เรารวมกลุ่มได้อย่างจริงจัง ความเป็นตัวตนก็มีมากขึ้น เข้าไปตามหน่วยงานต่างๆเพื่อขอความร่วมมือก็ง่ายขึ้น จากเดิมกับโรงงานเราเหมือนไม่ใช่มิตร เราก็แปลงให้เป็นมิตร แล้วร่วมกันหาทางออก โรงงานก็เริ่มให้ความร่วมมือ เปิดห้องประชุมให้กินกาแฟด้วย ให้เราได้ไปดูภายในโรงงานว่าเป็นอย่างไร เมื่อได้เห็นทุกซอกทุกส่วนในโรงงานก็มาวางแผนทำงานร่วมกัน จะจัดระเบียบอย่างไร จะเก็บของอย่างไร เริ่มจากง่ายๆแค่จัดเก็บขยะให้เป็นที่ วัตถุดิบบางอย่างที่กองๆอยู่กลางแจ้ง ถูกฝนน้ำก็ชะลงคลอง ตรงนี้ก็ช่วยกันหาที่เก็บใหม่ มีที่บังแดดบังฝน บ่อบำบัดของโรงงานเราก็พูดคุยกันว่าให้เดินเครื่องบำบัดอยู่ตลอดเวลา (อย่าเผลอปิดสวิท) ทำแค่นี้กับหนึ่งโรงงาน ต่อมาโรงงานอื่นๆ ที่เราร่วมกันสร้างมิตรก็ให้โอกาสได้เข้าไปเยี่ยมมากขึ้น แล้วจึงขยายผลไปยังหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ ส่งเจ้าหน้าที่ให้ความรู้อบรมเรื่องการอนุรักษ์และดูแลแหล่งน้ำมากขึ้น
แรกๆไม่มีทุนก็ใช้การลงขัน พอลงขันไปสักระยะหนึ่งงานก่อรูปเกิดร่างขึ้นมาได้ จากนั้นเราก็นำเสนอโครงการเป็นเอกสาร มีข้อมูลอย่างครบถ้วน ก็ได้ทุนสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่มากนักแต่ก็เพียงพอต่อการดูแลลำน้ำพระปรง”
“เสนอแผนสร้างฐานข้อมูล 4 ตำบล 2 แคว 1 ลุ่มน้ำ”
จากเครือข่ายสู่การขับเคลื่อน เวทีประชุมเครือข่ายอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Network.) ของจังหวัดปราจีนบุรี มีการเสนอแผนงานที่น่าสนใจคือการ “จัดทำฐานข้อมูล 4 ตำบล 2 แคว 1 ลุ่มน้ำ” ซึ่งเป็นผลมาจากการระดมความคิดเห็นในวงเวิร์คชอป ที่ประกอบด้วยหลายภาคส่วนในพื้นที่อำเภอกบินทร์บุรี รวมไปถึงผู้ประกอบการหลายแห่งเข้าร่วม โดยหลังจากถกปัญหาในทุกมิติเพื่อ แล้วตกผลึกร่วมกันว่าเรื่องน้ำเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง คนกบินทร์บุรีมีลุ่มน้ำเดียวกันคือลุ่มน้ำปราจีนบุรี มีคลองสาขาหลายสาย ที่ไหลรวมกันหล่อเลี้ยงชีวิตหลายร้อยหลายพันหลังคาเรือน โดยจะใช้โมเดลของกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำคลองพระปรงเป็นแม่แบบ ดำเนินการในพื้นที่
"ประกอบด้วย 1.ต.กบินทร์ 2.ต.วังดาล 3.ต.นนทรี 4.ต.นาแขม 2 แควประกอบด้วย แควหนุมานและแควพระปรงมาบรรจบกัน เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำปราจีนบุรีที่ตำบลกบินทร์ คือ 1ลุ่มน้ำ..."
ทันทีที่มีการเสนอเรื่องนี้ลงในวงเวิร์คชอป ทุกคนค่อยๆ เสนอความร่วมมือตามศักยภาพแห่งตน บ้างให้คน บ้างให้ความรู้ บ้างให้เครื่องไม้เครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานสาธารณสุขจะให้ความรู้ด้านการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำเบื้องต้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความร่วมมือการจัดทำเอกสารต่างๆ ตลอดถึงการเป็นหน่วยงานผู้รวบรวมทำรูปเล่ม ขณะที่โรงงานเสนอให้ความช่วยเหลือด้านยานพาหนะและบุคลากร เพื่อเก็บข้อมูลในการลงพื้นที่
ฐานข้อมูลที่ได้มานั้นจะเป็นมิติใหม่ในเชิงพื้นที่ ที่จะสามารถนำไปอ้างอิงได้ประกอบการจัดทำแผนพัฒนาต่างๆได้เป็นอย่างดี
หลังจบวงเวิร์คชอป มีเสียงหนึ่งเล็ดรอดออกมา
“ถ้ามีข้อฐานข้อมูล เราจะไม่กลัวเลยที่จะเสนอโครงการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนให้กบินทร์บุรี ให้เจริญในทุกมิติ เพราะที่ผ่านมาเสนออะไรเข้าสู่หน่วยงานกลางมักถูกถามกลับมาเสมอว่ามีข้อมูลไหม ทำแล้วได้อะไร เราก็ได้แต่เดินคอตกกลับออกมาจากห้องประชุมแทบทุกครั้งไป...จากนี้ไปเราคงได้เห็นกบินทร์ลุคใหม่ โรงงานอยู่ได้ ชุมชนอยู่ด้วย ช่วยๆประคองกันไปสู่จุดหมาย”
ต้องคอยลุ้น...! คอยให้กำลังใจกันต่อไป ว่าโมเดลขับเคลื่อนเมืองด้วยฐานข้อมูลน้ำ จากแผนงาน “4 ตำบล 2 แคว 1 ลุ่มน้ำ” จะสร้างแรงกระเพื่อมได้เพียงพอหรือไม่