“บึ้ม…!!! สนั่น ไฟลุกท่วม เร่งอพยพชาวบ้านกลางดึก...”
“ร้องผู้ว่าฯ เร่งตรวจสอบ รง.ปล่อยน้ำลงคลอง ปลาลอยตายเกลื่อน...”
“ชาวบ้านรวมตัวชูป้าย ค้านขยาย รง.เฟส 2...”
ฯลฯ
พาดหัวข่าวผ่านสื่อในทำนองดังกล่าว มีให้เห็นอยู่เสมอ โดยเฉพาะพื้นที่ ที่มีโรงงอุตสาหกรรมอยู่อย่างหนาแน่น ปัญหาคืออะไร ทางออกควรเป็นอย่างไร การหันหน้าเข้าหากันสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจร่วมกัน สร้างอรรถประโยชน์ร่วมกัน จึงเป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายเริ่มให้ความสำคัญยิ่งขึ้น
จังหวัดระยอง เป็นอีกพื้นที่ที่ค่อนข้างมีข่าวผ่านสื่อเช่นนี้ บ่อยครั้งแต่ในการรับรู้ของประชาชนทั่วไป ตลอดถึงสื่อมวลชนส่วนกลาง ยังคงมองว่าเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาหมักหมมยาวนาน ยากจะแก้ไขเยียวยา แต่ในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอเพราะความรักที่มีให้ต่อจังหวัดระยอง สร้างพลังอย่างมหาศาลเพื่อร่วมกันสร้างเมืองระยองให้น่าอยู่
ภาคประชาสังคม ตลอดจนหน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ในพื้นที่ระยองเริ่มหันหน้าเข้าหากันมากขึ้น มีเวทีที่ได้พบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลถกปัญหาอย่างเปิดอกเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะจังหวัดระยองคือเสาหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มีมูลค่าการลงทุนนับล้านล้านบาท สร้างงานหลายแสนอัตรา
“จะให้เขาปิดโรงงาน ไม่ให้เขาก่อสร้างอีกต่อไป ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเราต้องรู้จักคำว่าน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า โรงงานก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย จึงจะอยู่ด้วยกันยาวๆ” เสียงสะท้อนจากภาคประชาสังคม เปิดประเด็นขึ้นในวง “ประชุมเครือข่ายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Network)” จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นงานโครงการภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยจังหวัดระยองนำร่อง Eco Network.ในสองพื้นที่ได้แก่ ในพื้นที่มาบตาพุบและเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี
ซึ่งหัวใจหลักของงานคือการสร้างความสมดุลให้เกิดความยั่งยืน อุตสาหกรรมอยู่ได้ชุมชนอยู่ด้วย WIN-WIN และ FAIR FAIR
บทสรุปฉบับกระชับจากเวทีพบว่า
ประเด็นปัญหาในจังหวัดระยอง คือ ความไม่สอดคล้องของการจัดสรรงบประมาณลงมาสู่จังหวัดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การขับเคลื่อนในเชิงพื้นที่เป็นไปได้อย่างยากลำบากเนื่องจากขาดงบประมาณสนับสนุนการสร้างสรรค์กิจกรรม แม้ว่าจังหวัดระยอง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในลำดับต้นๆของประเทศ แต่กลับได้รับการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาจังหวัดน้อยมาก นอกจากนี้ยังพบว่าการบังคับใช้กฎหมายไม่เด็ดขาดเท่าที่ควร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยังใช้ลักษณะการพิจาณาด้วยดุลยพินิจ
ขณะที่ด้านสิ่งแวดล้อม พบว่ายังขาดกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องมีแบบแผน จึงทำให้มีความเข้าใจผิดกันอยู่บ่อยครั้ง เช่น เรื่องน้ำเสีย ยังมองว่าเป็นผลมาจากการประกอบกิจการของโรงงานแต่ข้อมูลเชิงวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับพบว่าชุมชนเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเสีย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนั้นยังไม่มีการเผยแพร่ในวงกว้างและยังไม่มีการทำความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงส่งผลต่อความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน มองปัญหาคนละมิติกัน
ใช้ความเป็นเครือข่ายสร้างพลังขับเคลื่อน
จังหวัดระยองมีต้นทุนของเครือข่ายค่อนข้างสูง สมาชิกของแต่ละเครือข่ายมีการเกาะเกี่ยวกันอย่างเหนียวแน่น หากมีการเชื่อมโยงกันจะนำมาสู่พลังขับเคลื่อนที่ทรงพลังจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันสำรวจเครือข่ายพบว่ามีเครือข่ายต่างๆอยู่อย่างคอบคลุม เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) อาสาสมัครพิทักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทสม.) สภาองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม สื่อชุมชน องค์กรอิสระเครือข่ายเยาวชน ภาคท้องถิ่น/ท้องที่/ภาครัฐ เทศบาล(อปท.) สสจ./รพ./อนามัย ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทสจ.) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ภาคอุตสาหกรรม/ผู้ประกอบการ
เห็นเครือข่ายแล้วกระจายงานกันลุย...!!!
ในที่ประชุมเห็นสอดคล้องกันว่าคณะทำงานเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเคลื่อน แต่คณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลางนั้นมีความเป็นทางการและมีโครงสร้างที่ใหญ่มาก ความคล่องตัวในการดำเนินงานอาจจะน้อย จึงมีการเสนอว่าควรมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนที่มาจากทุกภาคส่วน โดยจัดให้มีวาระการประชุม 3 เดือน/ครั้ง โดยหลังจากมีอนุกรรมการดังกล่าว วาระแรกของการประชุม คือเตรียมงานเปิดตัว (Big event.) เพื่อเป็นการประกาศตัวสู่สาธารณะว่า ชาวจังหวัดระยองพร้อมใจจับมือกันก้าวสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน ซึ่งภาพการเปิดกิจกรรมดังกล่าวจะเสมือนเป็นสัญญาประชาคมว่าทุกเครือข่ายใน จังหวัดระยองจะผนึกกำลังกันเป็น “Eco Network.” ที่แข็งแกร่ง โดยอาศัยศักยภาพของเครือข่ายที่มีอยู่เป็นจุดเริ่มต้น และจะทำกิจกรรมสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความใกล้ชิดกัน
นอกจากนี้กระบวนการการเชื่อมโยงเครือข่าย มีความสำคัญยิ่ง ที่ประชุมได้ข้อสรุปเป็นแนวทางในเบื้องต้น คือ ให้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลชุมชนกลางขึ้นเพื่อดำเนินการในการเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่นั้นๆและนำมารวบรวมเข้าเป็นศูนย์ข้อมูลกลางของพื้นที่ โดยเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆผ่านสื่อ Social เช่น Fanpage Facebook หรือการสร้างกรุ๊ป Line รวมไปถึงการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านเว็บไซต์กลางอย่าง www.roypalang.org / เว็บไซต์อุตสาหกรรมจังหวัด / สาธารณสุขจังหวัด เป็นต้น โดยทุกเครือข่ายจะร่วมกันอัพเดทข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และใช้เป็นฐานข้อมูล (Data base.)ที่ สามารถเชื่อมเป็นเครือข่าย Eco Network ได้ทันที
“RAYONG GO TO ECO TOWN 2020” เมืองแห่งอุตสาหกรรมเชิงนิเวศต้นแบบของประเทศ จะขับเคลื่อนไปสู่จุดนั้นได้หรือไม่ ช่วยเป็นกำลังใจให้กัน สู่ปลายทางที่วาดหวังไว้ครับ