โดยนายวีระ นิจไตรรัตน์ และนายพงศธร กลางแท่น
พนักงานฝ่ายงาน CSR บริษัท อิมเมจพลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
วันที่ 13 สิงหาคม 2558
จากภาคเกษตรกรรมสู่ภาคอุตสาหกรรม
อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ตามเขตปกครองมี 17 ตำบล 73 หมู่บ้าน ในอดีตเคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของจังหวัด ชาวบ้านทำนาเป็นอาชีพหลัก นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา เนื่องจากมีแม่น้ำบางปะกงเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงผู้คนสองฝากฝั่ง ลำคลองน้อยใหญ่มีน้ำใสไหลเย็นมายาวนาน ง
ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับคนอำเภอบ้านโพธิ์อย่างรวดเร็ว กล่าวคือที่ดินบริเวณนี้เป็นเขต สปก.ชาวบ้านมีครอบครัวใหญ่ไม่สามารถแบ่งให้กับลูกหลานได้อย่างเพียงพอ คนที่เรียนหนังสือจะไม่กลับบ้านมาทำการเกษตรอีก ฤดูกาลหมุนเวียนไม่เหมือนอย่างเดิม มีน้ำเค็มไหลเข้ามาถึงเขตเกษตรกรรม ที่ดินที่เคยเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ จึงถูกซื้อขายเปลี่ยนมือ มีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ทยอยกันเข้ามาตั้งในบริเวณนี้กว่า 170 แห่ง คนหนุ่มคนสาววัยแรงงาน พากันละทิ้งภาคเกษตรกรรมเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม แหล่งที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ถูกประกาศให้เป็นเขตอุตสาหกรรมแทน
ความวิตกกังวลทำให้เกิดการรวมตัวเฝ้าระวังกันเอง
คนบ้านโพธิ์พากันวิพากษ์วิจารณ์การเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานจะทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย เกิดกลิ่นเหม็น เกิดโรคภัยต่างๆ ความวิตกกังวลดังกล่าวทำให้เกิดการร่วมตัวกันต่อต้านการเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรมในระยะแรก
แกนนำชุมชนมีโอกาสเข้าร่วมเรียนรู้การทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากเครือข่ายลุ่มน้ำบางปะกง ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารพัฒนาเอเชีย ( ADB) มีการพบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันของคนสองฝั่งลำน้ำบางปะกงอย่างต่อเนื่อง
แกนนำชุมชนเห็นว่าแนวทางการพูดคุยร่วมกันของทุกฝ่ายน่าจะเป็นทางออก จึงได้ขอให้นายอำเภอเชิญชาวบ้าน ท้องที่ท้องถิ่น โรงเรียน และผู้ประกอบการ มาประชุมพูดคุยหาทางออกร่วมกันอย่างตรงไปตรงมา ทุกฝ่ายได้รับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน ได้รับทราบความต้องการ ได้รับรู้ความจริงที่เกิดขึ้น เวทีนี้จึงได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย
ฝ่ายโรงงานพยายามให้ความรู้กับชุมชน โดยการพาชาวบ้านไปเรียนรู้ดูงานระบบบำบัดของเสียจากโรงงานนอกพื้นที่เพื่อสร้างความเชื่อมั่น พร้อมกับเปิดเวทีประชาคมระดับชุมชนสร้างความเข้าใจ จนชาวบ้านยอมรับ โดยเฉพาะบริษัท โตโยต้า ได้รับการยอมรับจากชาวบ้านมาก
ไตรภาคีกลไกขับเคลื่อน ; ชมรมสิ่งแวดล้อมอำเภอบ้านโพธิ์
รัฐธรรมนูญปี 50 เขียนไว้ในประเด็น “สิทธิชุมชนเพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน” แกนนำชุมชนได้นำมาพิจารณาร่วมกัน และเห็นว่าชุมชนบ้านโพธิ์นั้นประกอบด้วย ชาวบ้าน ท้องถิ่นท้องที่ ข้าราชการ ผู้ประกอบการ เด็กนักเรียน และครูบาอาจารย์ จึงร่วมกันจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
ปัจจุบันคนบ้านโพธิ์มีการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป็น “ชมรมสิ่งแวดล้อมอำเภอบ้านโพธิ์” มีคณะกรรมการชมรมจำนวน 15 คน ประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายต่างๆฝ่ายละ 3 คน ได้แก่ ชาวบ้าน ท้องที่ท้องถิ่น (อปท.และกำนันผู้ใหญ่บ้าน) ผู้ประกอบการ ราชการ และโรงเรียน
คณะกรรมการชมรมมีแนวทางการทำงานที่สำคัญคือ สนับสนุนให้แต่ละภาคส่วนมีความเข็มแข็งจัดการตัวเอง เช่นฝ่ายผู้ประกอบการจะมีการประชุมกลุ่มผู้ประกอบการกันเอง และคัดเลือกตัวแทนเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการในชมรม และมีตัวแทน 1 คนทำหน้าที่ประสานงานกับภาคส่วนอื่นๆอย่างใกล้ชิด จัดให้โรงงานขนาดเล็กไปเรียนรู้ดูงานระบบบำบัดของเสียจากโรงงานขนาดใหญ่
โรงเรียนพุทธิรังสีพิบูลย์ (รร.ประจำอำเภอ) มีการฝึกเด็กนักเรียนในนาม “นักรบสิ่งแวดล้อม นักสืบสายน้ำ” ประมาณ 10 คน ทำกิจกรรมเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมสืบทอดกันรุ่นต่อรุ่น
เจ้าหน้าที่ อบต. คลองประเวศทำหน้าที่ประสานงานของชมรม เนื่องจากนายก อบต.ประเวศเป็นประธานชมรมคนปัจจุบัน
จะทะเลาะกันทำไม ; ทุกภาคส่วนคือคนบ้านโพธิ์
คณะกรรมการชมรมมีการประชุมร่วมกัน 2 เดือนครั้ง แต่ถ้ามีเรื่องร้องเรียนเข้ามาก็สามารถเรียกคณะกรรมการประชุมได้ทันที มีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันคร่าวๆคือ
ท้องที่ท้องถิ่นจะเป็นฝ่ายรับเรื่องร้องเรียน ทีม “นักรบสิ่งแวดล้อม นักสืบสายน้ำ” จะทำหน้าที่ออกไปตรวจสอบคุณภาพน้ำตามข้อร้องเรียนที่มีเข้ามา โดยมีสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 13 กรมควบคุมมลพิษให้การสนับสนุนด้านวิชาการ และเด็กๆจะเขียนรายงานถึงปัญหาสาเหตุของน้ำเน่าเสียส่งให้คณะกรรมการชมรม เพื่อให้คณะกรรมการชมรมนำไปแจ้งกับผู้ร้องเรียน
ชมรมจะมีแผนงาน 2 ด้านคือแผนงานด้านการให้ความรู้ เช่นกิจกรรมค่ายนักสืบสายน้ำ กิจกรรมไปศึกษาเรียนรู้งานนอกสถานที่ เป็นต้น และแผนงานด้านการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม โดยวันที่ 20 กันยายนของทุกปี จะมีกิจกรรม “กตัญญูสายน้ำ”
การจัดกิจกรรมแต่ละครั้งอาศัยการระดมทุนจากภาคส่วนต่างๆ เป็นครั้งๆ ไป ไม่มีกองทุนกลาง วิธีลุงขันกันทำงานนี้ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ต้องแบกภาระเรื่องงบประมาณไว้เพียงฝ่ายเดียว
นอกจากนี้โรงงานยังจัดกิจกรรม เปิดประตูโรงงานให้ชาวบ้านเข้าไปเยี่ยมชมโรงงานได้อย่างเปิดเผย เพื่อลบภาพโรงงานละเมิดกฎหมาย สร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี
คนบ้านโพธิ์อยู่เย็นเป็นสุข ใครใครก็อยากมาอยู่บ้านโพธิ์
จากการทำงานมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปีของแกนนำ กล่าวได้ว่าทำให้คนบ้านโพธิ์อยู่เย็นเป็นสุข ผู้ประกอบการกับชุมชนได้คุยกันโดยตรงมากขึ้น ชมรมสิ่งแวดล้อมบ้านโพธิ์เป็นสื่อสารกลาง ช่วยลดความขัดแย้งระหว่างโรงงานกับชุมชนลงได้ ลดงานการร้องเรียนของข้าราชการทั้งในระดับอำเภอ และระดับจังหวัด
นอกจากนี้เวทีการพูดคุยยังทำให้เกิดความร่วมมือ เกิดการทำงานแบบบูรณาการ เนื่องจากทุกฝ่ายสมัครใจเข้ามาทำงานร่วมกัน ต่างไปจากเมื่อก่อนที่เห็นว่าถ้าไม่ใช่ปัญหาของตัวเองก็ไม่อยากมา เพราะเปลืองตัว
บ้านโพธิ์ ; วันนี้
แกนนำทุกภาคส่วนมีวิธีคิด และทัศนคติที่ดี เชื่อมั่น และให้ความสำคัญกับการทำงานแบบมีส่วนร่วม ผลึกกำลังกันทำงาน ทำงานแบบบูรณาการ
แกนนำฝ่ายโรงงานมีทัศนะว่า “เราก็ต้องการใช้น้ำดีๆ ต้องการหายใจอากาศบริสุทธิ์ ดังนั้นเราจึงต้องทำทุกอย่างให้มันดี เพื่อตัวเอง เพื่อคนบ้านโพธิ์”
แกนนำชุมชนมีท่าทีประนีประนอม “ทุกคนเป็นคนบ้านโพธิ์ จะทะเลาะกันไปทำไม” ทุกฝ่ายจึงก้าวผ่านความขัดแย้งไปได้ ทำงานอย่างเปิดเผย จริงจัง ต่อเนื่องมายาวนาน พิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่คนแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ทำให้ได้รับการยอมรับ และทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ
การทำงานแบบเปิดใจ จริงใจต่อกัน โดยอาศัยเวทีการพูดคุยกันเป็นประจำทำให้เกิดความเข้าใจ และไว้วางใจกัน บ้านโพธิ์จึงเป็น “ชุมชนน่าอยู่ นิเวศสมดุลยั่งยืน” รูปธรรมหนึ่งของการจัดการเครือข่ายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ