นายพงศธร กลางแท่น
พนักงานฝ่ายงาน CSR
บริษัท อิมเมจพลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
1.บริบทพื้นที่
1.1 สภาพพื้นที่
คลองพระปรง มีความยาวประมาณ 132 กิโลเมตร มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาที่เป็นรอยต่อของพื้นที่ 3 จังหวัด คือ อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ไหลมาบรรจบกับคลองพระสะทึงที่บ้านปากน้ำ อ.กบินทร์บุรี แล้วไหลลงสู่แม่น้ำปราจีนบุรีก่อนจะรวมกับแม่น้ำนครนายกเป็นแม่น้ำบางปะกงไหลออกสู่อ่าวไทย ในช่วงที่คลองพระปรงไหลผ่าน อ.กบินทร์บุรีนั้น คลองพระปรงได้ไหลผ่านตำบลต่างๆ ในกบินทร์บุรีจำนวน 9 ตำบล ซึ่งหากย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน คลองพระปรงยังใสสะอาด เป็นทั้งแหล่งอาหาร มีกุ้ง หอย ปลา อุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งน้ำใช้ทำการเกษตรของชาวบ้านที่อยู่สองฝั่งคลอง
1.2 สถานการณ์สิ่งแวดล้อม
จังหวัดปราจีนบุรีกลายเป็นพื้นที่รองรับโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในเขตอำเภอกบินทร์บุรี มีโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ มาเปิดดำเนินการอยู่หลายแห่ง ส่วนโรงงานบางแห่งที่ตั้งอยู่ริมคลองพระปรงที่เข้ามาเมื่อประมาณปี 2540 ได้ลักลอบปล่อยน้ำเสียลงสู่คลอง โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งที่น้ำในคลองมีน้อย ทำให้น้ำในคลองเริ่มเน่าเสีย กุ้ง ปลาตัวโตๆ ลอยตายเป็นแพ ที่ยังไม่ตายก็พยายามโผล่หัวขึ้นมาเพื่อหาอากาศหายใจ ทำให้ชาวบ้านจับไปกินได้อย่างง่ายดาย
2.จุดเริ่มต้น
2.1 สถานการณ์แรกเริ่ม
ปี พ.ศ.2549 ชาวบ้านกลุ่มเล็กๆที่อยู่ริมคลองพระปง ได้มีการหารือกันว่าทำไมน้ำจึงเน่าเสีย สัตว์น้ำลอยคอตายทุกปี จนแทบจะสุญพันธุ์ โดยเฉพาะหอยทรายที่เคยมีอยู่ชุกชุมเริ่มลดน้อยลงจนเห็นได้ชัด ชาวบ้านเกิดการตั้งคำถามว่าปัญหาน้ำเน่าเสียต้องมาจากโรงงานใด โรงงานหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมคลองพระปง เพราะมีทั้งโรงงานแป้งมันสำปะหลัง โรงงานฟอกย้อมและโรงงานผลิตกระดาษจำนวนหลายโรง ชาวบ้านจึงร่วมกันสำรวจ พบว่า โรงงานมีการทิ้งน้ำเสียลงคลองโดยไม่ได้ผ่านการบำบัด
จากการสำรวจพบต้นตอของปัญหาในครั้งนั้น จึงนำไปสู่การร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ และกรมประมงให้เข้ามาตรวจสอบ ในที่สุดกรมประมงในฐานะผู้เสียหายจากกรณีโรงงานแห่งหนึ่งปล่อยน้ำทิ้งจนทำให้สัตว์น้ำตาย จึงเป็นโจทย์ยื่นฟ้องร้องโรงงานดังกล่าว ขณะที่กลุ่มชาวบ้านที่ริเริ่มรวมตัวกันจึงได้จัดตั้งเป็น“เครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำพระปรง” ขึ้นมาในปี 2549 และได้รับงบประมาณจาก สำนักงานส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการจัดทำข้อมูลพื้นถิ่น เช่น ข้อมูลการใช้ที่ดิน การใช้ทรัพยากร จำนวนชาวประมง รวมทั้งรายได้ในการจัดสัตว์น้ำเพื่อเปรียบเทียบ เป็นต้น ข้อมูลดังกล่าว จะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการนำไปคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหา
2.2 จุดเปลี่ยนของการเริ่มต้น
การเคลื่อนไหวของชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ จนขยายเป็นเครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำพระปรงนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย เพราะตอนแรกๆ ทั้งชาวบ้านและกลุ่มผู้นำในตำบลบางส่วนก็ยังไม่เข้าใจ เมื่อสายตาของคนในตำบลเห็นว่าเครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำพระปรงทำงานกันอย่างจริงจังเพื่อส่วนรวมและไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง เครือข่ายฯ จึงได้รับการสนับสนุนจากชุมชน รวมทั้งหน่วยงานราชการในอำเภอกบินทร์บุรีด้วย
เลื่อน บ่อจักรพันธุ์ แกนนำสำคัญ กล่าวว่า แม้ว่าชาวบ้านจะร้องเรียนโรงงานที่เป็นต้นเหตุในการทำให้น้ำในลำคลองเน่าเสีย แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้มองว่าโรงงานอุตสาหกรรมเป็นศัตรูกับชาวบ้าน อีกทั้งโรงงานก็จะต้องเปิดดำเนินการต่อไป คงไม่มีใครยอมปิดโรงงานแน่ ดังนั้นชาวบ้านจึงคิดกันว่าทำอย่างไร โรงงานจะอยู่ร่วมกับชุมชนได้
ในช่วงแรกโรงงานหลายแห่งก็ยังไม่ยอมให้ความร่วมมือ ไม่ให้ความสนใจ เช่นโรงงานผลิตเยื่อกระดาษบางแห่ง จนเปลี่ยนผู้บริหารโรงงานไปแล้วหลายรุ่น แต่ชาวบ้านก็ยังไม่ย่อท้อ ยังชักชวนโรงงานให้มาร่วมกับชุมชน โดยใช้วิธีการพูดคุย รูปแบบที่ไม่เป็นทางการทั้งในวงอาหาร วงกาแฟ หรือแม้แต่วงเหล้าจนนำไปสู่ความร่วมมือในการที่จะแก้ปัญหาปัญหาร่วมกัน
โดยร่วมกันกำหนดวาระงานร่วมกัน ได้แก่
1) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
2) การเฝ้าระวังมลพิษและคุณภาพน้ำ
3) ในกรณีที่บางโรงงานสามารถปล่อยน้ำเสียได้ ออกข้อตกลงร่วมกันในการพาประชาชน หน่วยงานท้องถิ่น ส่วนกลาง กรมควบคุมมลพิษ ไปดูเวลาปล่อยน้ำเสียด้วย
3.กลไกการทำงาน
3.1องค์ประกอบและโครงสร้างเครือข่าย “กลุ่มไตรภาคี” ที่ประกอบด้วย 3 ภาคส่วน
1)หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 9 ตำบล
2)ผู้ประกอบการจำนวน 7 โรงงานที่อยู่ริมคลองพระปรง
3)ประชาชน ได้แก่ สมาชิก 9 ตำบลที่ตั้งอยู่ริมคลองพระปรงในเขตอำเภอกบินทร์บุรีเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่าย คือ ตำบลนนทรีย์ วังตะเคียน บ้านนา บ่อทอง เมืองเก่า กบินทร์ เขาไม้แก้ว วังท่าช้าง และย่านรี
3.2 การจัดความสัมพันธ์
เป็นเครือข่ายแนวราบไม่มีประธาน ไม่มีหัวหน้า ทุกคนสามารถให้ความคิดเห็น ร่วมกันติดตามความก้าวหน้าของสมาชิกให้เป็นไปตามแผนงาน ช่วยเหลือ พึ่งพา ลงขัน มีผู้ประสานงานของแต่ละสมาชิกในเครือข่าย
3.3บทบาทการดำเนินงาน
การแบ่งงานกันทำเป็นส่วนๆเช่น ฝ่ายผู้ประกอบการ มีหน้าที่คอยดูแลในส่วนของโรงงานเอง ฝ่ายอบต.คอยประสานงานภายในท้องถิ่น ฝ่ายอำเภอ คอยประสานงานกับสายงานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส่วนชุมชนประชาชน ทำหน้าที่คอยเฝ้าระวัง โดยสมาชิกก็ได้มีการประชุมร่วมกัน 2 เดือน/ครั้ง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนสถานที่ประชุมไปตามตำบลต่างๆ โดยใช้สถานที่ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล สถานประกอบการ เป็นต้นประชาชนดูแลและเฝ้าระวังมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม
3.4 บทบาทของภาคีความร่วมมือ
จากการเริ่มต้นการดำเนินการทำงานจากกลุ่มเล็กๆ และก่อรูปกันเป็นเครือข่าย อีกทั้งมีการชวนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสถานประกอบการ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมทรัพยากรน้ำกรมโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจังหวัดเป็นต้น เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนทั้งด้านความรู้ ด้านงบประมาณในรูปแบบการลงขัน โดยไม่ได้หวังพึ่งพาจากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงด้านเดียว
3.5 งบประมาณ การจัดการงบประมาณแบ่งออกเป็น 3 ส่วน
1) กองทุนดูแลสิ่งแวดล้อมคลองพระปง เป็นกองทุนที่ใช้ในการดูแลฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยมีโรงงาน 7 โรง สมทบทุน 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 350,000 บาท ใช้งานในการดำเนินงาน ด้านการตรวจคุณภาพน้ำด้านการเฝ้าระวัง เท่านั้น หากโรงงานใดถูกพบว่า กระทำผิดก็จะมีการชดใช้เงินที่นำไปใช้ด้านการเฝ้าระวังและตรวจสอบ มาสมทบให้ครบตามจำนวนเดิมที่มีอยู่ โดยเปิดบัญชี ร่วมกัน 3 ส่วนคือ ตัวแทนชาวบ้าน ผู้ประกอบการ และหน่วยงานราชการ(อุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรีและ ปราจีนบุรี)
2) กรณีที่โรงงานต้องการจัดกิจกรรมกับชุมชน โรงงานจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง
3) กรณีที่เครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำพระปรงต้องการจัดกิจกรรมเฉพาะกิจ จะมีการนำเรื่องไปพูดคุยกับฝ่ายโรงงาน ว่าจะมีใครสนใจในการเป็นเจ้าภาพ “เครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำพระปรง” และจะมีการลงขันตามกำลังของแต่ละหน่วยงาน
4.กระบวนการ
4.1 การวางแผนการดำเนินงาน
ใช้ทั้งรูปแบบการพูดคุยทั้งเป็นทางการ(พูดคุยวงประชุม)และไม่เป็นทางการ(พูดคุยวงย่อย) ในการร่วมกันกำหนดรูปแบบและแนวทางการทำงาน โดยใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นสำคัญ
4.2การดำเนินงาน
เครือข่ายฯ จะดำเนินงานตามแผนงานที่ได้กำหนดที่เกิดจากการหารือ วางแผน ร่วมกัน โดยแบ่งบทบาทตามความถนัดและความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสนับสนุน ทุกหมู่บ้านและทุกตำบล หากพบเห็นว่ามีน้ำเน่าเสีย หรือมีปลาตายมากผิดปกติ สมาชิกก็จะแจ้งให้เครือข่ายรับทราบ หลังจากนั้นสมาชิกเครือข่ายก็จะร่วมกันสำรวจข้อมูลว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร น้ำเน่าเสียเกิดจากโรงงานจริงหรือไม่ หากพบข้อมูลชัดเจนก็จะร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการกับโรงงานต่อไปและนำข้อมูลที่ได้แจ้งกลับไปที่ผู้ร้องเรียน ในรูปแบบการพูดคุยนอกจากนั้น องค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง 9 ตำบล ยังได้ออกข้อบัญญัติชุมชนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมในตำบล
4.3 การติดตามผลการดำเนินงาน
ใช้เวทีการประชุมเครือข่ายฯ ในการติดตามผลความก้าวหน้าการดำเนินงานของสมาชิกเครือข่าย รวมทั้งการเฝ้าระวังเหตุต่างๆที่เกิดขึ้น นอกจากนั้น ปัจจุบัน มีการรายงานต่างๆผ่านเครื่องมือสื่อสาร เช่น เฟซบุ๊ก โปรแกรมไลน์กลุ่ม เป้นต้น
5.รูปธรรมความสำเร็จ
5.1 ด้านสิ่งแวดล้อม
แม่น้ำ ลำคลอง ที่เครือข่ายฯ ช่วยกันดูแลกลับสู่สภาพเดิมที่มีความสะอาด ส่งผลให้ระบบนิเวศต่างๆกลับคืนมาและเกิดความหลากหลายทางชีวภาพเกิดขึ้น
5.2 ด้านความร่วมมือ
1) จากการก่อรูปของคนกลุ่มเล็กๆเพียงไม่กี่คนที่มีความพยามยาม ผ่านช่วงเวลาหนึ่งเกิดพลังใหม่เกิดขึ้นมากมาย ที่ให้ความร่วมมือจนยกระดับตนเองเป็น เครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำพระปรง ที่มีคนจากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมทำงาน
2) มีหน่วยงานภาคีทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ดังที่ได้กล่าวมา มาร่วมกันพัฒนา ส่งเสริม ทั้งส่วนของงบประมาณ องค์ความรู้ จนก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีทิศทางและเป้าหมาย
3) คนในพื้นที่ มีความเข้าใจการทำงานของเครือข่ายมากขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิบัติที่มีความจริงใจ ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง
4) เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับพื้นที่อื่นๆในการศึกษาดูงาน และยังเป็นพื้นที่ในการศึกษาวิจัยให้กับนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
5.3 ด้านวิธีคิดของแกนนำในการจัดการปัญญา
1) ผลลัพธ์สำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จนั้น เกิดจากการเคลื่อนงานจากกลุ่มเล็กๆและขยายผลอย่างต่อเนื่อง ใช้ความพยายามในการแก้ปัญหาและการพูดคุยกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
2) รูปแบบการทำงานแนวราบ ไม่มีประธาน ไม่มีหัวหน้า เป็นแนวทางสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความสำเร็จ เนื่องจาก เป็นการทำงานเครือข่ายที่ไม่แข็งตัว ทุกคนมีความเท่าเทียม สามารถแสดงความคิดเห็นต่างๆอย่างมีอิสระ
3) การสร้างสมดุลการอยู่ร่วมกันระหว่างวิถีเดิมกับทุนใหม่ เป็นแนวคิด ที่ก่อให้เกิด การพัฒนาอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน
5.4 รางวัล
ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทชุมชน ปี พ.ศ.2553จากการเริ่มต้นของคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีสำนึกในการรักษ์ถิ่น และมีความเข้าใจต่อเหตุปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น ระหว่างวิถีเดิมกับทุนใหม่ที่กำลังถาโถมเข้ามา จึงได้เกิดความพยายามในการจัดการตนเองภายใต้การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ก่อให้เกิดพลังใหม่ที่ก่อตัวและขยายผลอย่างรวดเร็ว ภายใต้ความตระหนักและจิตสำนึกที่ดีงาม