10 ประเทศยอดแย่สำหรับ 'คนทำงาน'


หลายปีที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยถูกจับจ้องและตรวจสอบอย่างหนักหน่วงจากต่างชาติในประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น การใช้แรงงานเด็ก และการใช้แรงงานต่างด้าวทำงานหนักในอุตสาหกรรมประมง เป็นต้น แต่จากรายงานการสำรวจ 2015 ITUC Global Rights Index ของสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation – ITUC) เมื่อปี 2558 โดยเป็นการสำรวจใน 141 ประเทศ ITUC ได้ระบุว่าประเทศจีนเป็นประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงาน ตามมาด้วย เบลารุส, โคลัมเบีย, อียิปต์, กัวเตมาลา, ปากีสถาน, กาตาร์, ซาอุดิอาระเบีย, สวาซิแลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
 
ในรายงานของ ITUC ระบุว่า ประเทศจีน ล้มเหลวเหลวในการปกป้องสิทธิแรงงาน โดยแรงงานต้องเผชิญภัยคุกคามทั้งจากรัฐบาลและนายจ้าง ทั้งนี้รัฐบาลจีนมักจะไม่ยอมรับสิทธิการหยุดงานเพื่อเจรจาต่อรองของฝ่ายแรงงานเนื่องจากต้องการรักษาเสถียรภาพด้านอุตสาหกรรมในประเทศ และมักจะมีการจับกุมคุมขังนักสหภาพแรงงานอยู่บ่อยครั้ง ตัวอย่างกรณีฉาวโฉ่เมื่อปี 2557 คนงานโรงพยาบาลในกว่างโจว (Guangzhou) ถูกจับกุมและคุมขังกว่า 8 เดือน จากการที่พวกเขาออกมาประท้วงเรียกร้องหลังจากที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่มีค่าชดเชย
 
ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่ติด 10 อันดับ ได้แก่ เบลารุส ประเทศในยุโรปตะวันออกแห่งนี้ ITUC ระบุว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อแรงงาน ใช้แรงงานบังคับ มีการใช้สัญญาระยะสั้นในการจ้างงาน นอกจากนี้ยังยังมีการปราบปรามการประท้วงและการเรียกร้องสิทธิของแรงงานของแรงงาน ตัวอย่างเช่น แรงงานในอุตสาหกรรมเหล็กที่ออกมาอดอาหารประท้วง ก็ถูกรัฐบาลจับกุมคุมขังไว้ โคลัมเบีย ประเทศในละตินอเมริกา ที่ว่ากันว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เป็นอันตรายต่อสหภาพแรงงานมากที่สุด เพราะมักจะมีข่าวคราวการสังหารนักสหภาพแรงงานอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังมีการเลือกปฏิบัติต่อแรงงาน และการเจรจาต่อรองของแรงงานมักจะถูกทำลายอย่างสม่ำเสมอในประเทศแห่งนี้
 
อียิปต์ หลังจากความล้มเหลวของขบวนการประชาธิปไตย ‘อาหรับสปริง’ ที่สามารถล้มล้างการปกครองของมูบารักได้เมื่อปี 2554 สถานการณ์ด้านสิทธิแรงงานในอียิปต์ก็เริมถดถอยตาม นักกิจกรรมและนักสหภาพแรงงานถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถูกลักพาตัว รวมทั้งมีการทำร้ายร่างกายไปจนถึงการลอบสังหารอีกด้วย กัวเตมาลา ประเทศในอเมริกากลางซึ่งมีอุตสาหกรรมการปลูกกล้วยเป็นเสาหลักของประเทศ และนักสหภาพมักจะถูกโจมตีด้วยกองกำลังติดอาวุธรวมถึงการฆาตกรรม นอกจากนี้ยังมีข่าวคราวการละเมิดสิทธิและเลือกปฏิบัติต่อสหภาพแรงงานของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่อย่าง โคคา โคลา (Coca Cola) อีกด้วย
 
ปากีสถาน นอกจากแรงงานในปากีสถานจะถูกจับกุม (เมื่อออกมาเรียกร้องสิทธิ) และความรุนแรงแล้ว กฎหมายแรงงานภายในประเทศก็ไม่ได้ปกป้องสิทธิแรงงานเท่าที่ควรนัก สวาซิแลนด์ ประเทศในเขตแอฟริกาตอนใต้ สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มสหภาพแรงงานนั้น รัฐบาลสวาซิแลนด์กลับมองเป็นภัยความมั่นคงถึงขั้นต้องใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายจับกุมตัวนักสหภาพเลยทีเดียว
 
อีก 3 ประเทศ มาจากประเทศในตะวันออกกลาง ได้แก่ กาตาร์ ประเทศที่ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2565 มีข่าวคราวเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติที่เข้าไปก่อสร้างสนามแข่งขันรวมทั้งสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่ไว้สำหรับรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลก ส่วน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ ซาอุดิอาระเบีย ประเทศซึงมีกำลังแรงงานจากแรงงานข้ามชาติเป็นหลัก พบว่ากฎหมายแรงงานกลับมีลักษณะการใช้แรงงานบังคับ แรงงานข้ามชาติถูกแสวงหาประโยชน์มากเกินควร นายจ้างมักจะค้างชำระค่าแรง แรงงานข้ามชาติมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และแรงงานข้ามชาติไม่ได้มีสิทธิที่จะเข้าร่วมสหภาพแรงงานรวมถึงการหยุดงานประท้วงได้
 
ส่วนประเทศไทยในรายงานฉบับนี้ยังระบุว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นระบบ (ระดับความรุนแรงที่ 4 จากความรุนแรงมากที่สุดคือ +5 และรุนแรงน้อยที่สุดคือ 1) มีทั้งหมดรวม 27 ประเทศ ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกา, พม่า และอินโดนีเซีย ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
 
ทั้งหลายทั้งปวงที่ยกมานี้เพียงแค่จะบอกว่าปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานยังมีอยู่เกือบทั่วโลกครับ ไม่ใช่เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง
 
 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube