เรามักจะได้ยินได้ฟังข่าว การรวมตัวกันของชาวบ้านประท้วงต่อต้าน (mob) โครงการของรัฐ หรือการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมของภาคธุรกิจเอกชนในท้องถิ่นต่างๆ อยู่เป็นระยะๆ เช่นการประท้วงโรงไฟฟ้าถ่านหิน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่ตำบลคลองขนาด อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ เนื่องจากชาวบ้านกังวลว่าจะกระทบกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวการประท้วงต่อต้านโรงไฟฟ้าขยะของบริษัทเอกชน ที่ตำบลบ้านป่า อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากบริษัทเอกชนร่วมมือกับราชการเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ โดยที่ไม่มีการสอบถามความเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่เลย การสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ของกรมเจ้าท่า ที่ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล เนื่องจากชาวบ้านกังวลเรื่องผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
เหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า โครงการขนาดใหญ่หลายโครงการต้องยุติ หยุดชะงักไป ดำเนินการต่อไม่ได้ ซึ่งหลายโครงการมีลักษณะเดียวกัน คือภาครัฐหรือหน่วยงานระดับนโยบายเป็นผู้คิดริเริ่มจากนั้นผลักดันให้มีการนำลงไปดำเนินการในพื้นที่โดยไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน (participation) ตั้งแต่ต้น ซึ่งมักจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาเสมอ
ที่ผ่านมาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เมื่อต้องการดำเนินงานโครงการขนาดใหญ่ ถึงเวลาก็จะใช้กลยุทธ์คล้ายๆกัน คือจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA ย่อมาจาก Environmental Impact Assessment) จ้างทีมประชาสัมพันธ์วางแผนเตรียมการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น (hearing) ตามที่กฎหมายกำหนดนอกจากนี้ยังใช้วิธีแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ (lobby) กับผู้มีอำนาจ ผู้มีบารมีในท้องถิ่น พาแกนนำไปท่องเที่ยว โดยมุ่งหวังให้เกิดการสนับสนุนโครงการ โดยไม่สนใจการมีส่วนร่วม และการตอบข้อซักถาม ข้อกังวลใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่อย่างแท้จริง ชาวบ้านไม่เข้าใจว่าจะเข้าไปทำอะไรในพื้นที่ของพวกเขา ชาวบ้านจะได้ประโยชน์อะไรจากโครงการ ความกังวลต่อผลกระทบที่จะตามมา และความไม่ชัดเจนในมาตรการดูแลและป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่สบายใจและนำไปสู่การประท้วงต่อต้านโครงการนั้นในที่สุด
การพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ไม่มีใครปฏิเสธว่าธุรกิจอุตสาหกรรมมีส่วนสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น และประเทศชาติอย่างมาก คำถามคือเราจะสร้างความเข้าใจกับชุมชนชาวบ้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่อย่างไร ให้เกิดความเข้าใจร่วมกันว่าธุรกิจอุตสาหกรรม ชุมชนสังคม และสิ่งแวดล้อมสามารถพัฒนาควบคู่ไปพร้อมกันได้ ตามกรอบแนวทางการพัฒนาอย่างสมดุลยั่งยืน (sustainable development)
บริษัทธุรกิจเอกชน หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวความคิด และแนวทางการทำงาน ในการเตรียมการจัดทำโครงการขนาดใหญ่เสียใหม่ โดยเชื่อมั่นแนวทางการทำงานแบบมีส่วนร่วม และหลีกเลี่ยงการใช้วิธีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับผู้มีอำนาจ และผู้มีบารมีในท้องถิ่น แต่เน้นการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น โดยการจัดทำโครงการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นรอบพื้นที่โครงการ 1-2 ปีและใช้กิจกรรมการพัฒนาชุมชนเป็นเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วม ตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมดำเนินการ ร่วมติดตามประเมินผล และรับประโยชน์ร่วมกัน เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่อย่างลึกซึ้ง จริงใจ โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA)
อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าวต้องใช้เวลา และต้องใช้งบประมาณ เพื่อการเตรียมการจัดสร้างโครงการขนาดใหญ่พอสมควร แต่เชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และยอมรับให้ธุรกิจอุตสาหกรรม ชุมชนสังคม และสิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลยั่งยืน และลดการประท้วงต่อต้านโครงการขนาดใหญ่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี..
......................................................................
วีระ นิจไตรรัตน์