“เวทีนี้เป็นที่รวมคน รวมกำลังทั้งภาคราชการ ภาคผู้ประกอบการ และภาคประชาชน รวมทั้งนักวิชาการ และสื่อมวลชน ไม่ว่าท่านจะมาจากไหน แต่วันนี้ทุกคนอยู่ที่นี่ ท่านจึงเป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ปัญหาสิ่งแวดล้อมในบ้านเราวันนี้มีความสลับซับซ้อนเกินกว่าที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะแก้ปัญหาได้เพียงลำพัง ผมหวังว่าการผลึกกำลังกันครั้งนี้ จะทำให้การจัดการสิ่งแวดล้อมบ้านเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นการสร้างเศรษฐกิจไปพร้อมๆกับการดูแล สังคม สิ่งแวดล้อมให้มีสภาพน่าอยู่ โดยมีเครือข่ายอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็นเวทีให้เราได้ประชุมพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแบบนี้อย่างต่อเนื่อง” มันเป็นคำกล่าวทิ้งทายของแกนนำชุมชนก่อนปิดเวที ในการประชุมจัดตั้งเครือข่ายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อย่างมีความหวัง
การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ผ่านมา จะมุ่งเน้นผลกำไรที่เกิดจากการผลิตในปริมาณมากๆเป็นหลัก ทำให้เกิดการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ในระยะต่อมาเกิดการรวมกลุ่มกันในลักษณะนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม หรือเขตอุตสาหกรรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการลดต้นทุนการผลิต โดยการใช้ระบบสาธารณูปโภคร่วมกัน แต่ผลกระทบที่ตามมาของการรวมกลุ่มดังกล่าวคือ เกิดการรวมแหล่งปลดปล่อยมลพิษและเกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของชุมชน เช่น การขาดแคลนน้ำใช้ คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมลง การเพิ่มขึ้นของขยะอุตสาหกรรม กลิ่นเหม็น และเสียงดังจากการเดินเครื่องจักรอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อความสมดุลของความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงระบบนิเวศน์ต่างๆ ผลกระทบที่เห็นอย่างชัดเจน จากการพัฒนาคือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Global Climate Change) ทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม รวมถึงประชาชนทั่วไปหันมาสนใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
ด้วยเหตุนี้คณะรัฐมันตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2556 ที่มอบให้กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศึกษารูปแบบการจัดทำเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่อุตสาหกรรมเดิม ได้แก่จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร และระยอง และเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่จังหวัดฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี รวม 5 จังหวัด บัดนี้ได้แผนแม่บทการพัฒนาเมืองเข้าสู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์ประเทศที่มุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้มีความสมดุลอย่างยั่งยืนเรียบร้อยแล้ว
เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial) หมายถึงเมืองหรือพื้นที่ซึ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยให้มีความเชื่อโยงของนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือชุมชนอุตสาหกรรมกับกลุ่มโรงงาน องค์กร หน่วงงานท้องถิ่นและชุมชนโดยรอบ ให้เจริญเติบโตไปด้วยกัน ภายใต้การกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดี และร่วมมือกันขับเคลื่อนอย่างจริงจังของคนในพื้นที่ แบ่งรูปแบบการดำเนินการได้ 3 ระดับ ได้แก่
1) ระดับปัจเจกชน เช่น ครอบครัว และโรงงาน (Eco Family / Green Factory)
2) ระดับกลุ่มอุตสาหกรรมหรือชุมชน เช่นนิคมอุตสาหกรรมหรือหมู่บ้านหรือตำบล (Eco
Industrial Zone / Estate)
3) ระดับเมือง (Eco Town / Eco City) หรือเครือข่ายของเมือง หรือจังหวัด
เครือข่ายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Network) หมายถึงความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคผู้ประกอบการ ภาคท้องที่ท้องถิ่นชาวบ้าน ภาคราชการ และภาคประชาสังคม ซึ่งอยู่รวมกันในเมือง หรือพื้นที่ที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรม ให้เจริญเติบโตไปด้วยกัน ภายใต้การกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดี
เครือข่ายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็นกลไกกลางในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แก้ไขปัญหา และประสานเชื่อมโยงข้อมูล ความต้องการของทุกภาคส่วน ได้แก่ภาคราชการ ภาคท้องที่ท้องถิ่น ภาคผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคม ซึ่งอยู่ร่วมกันในพื้นที่เมือง หรือที่ที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรม ให้เจริญเติบโตไปด้วยกัน เนื่องจากเมืองอุตสาหกรรมมีสถานการณ์ปัญหาที่ซับซ้อน อ่อนไหวเกินกว่าที่จะใช้กำลังเพียงภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งแก้ไขให้ยุติลงได้
ดังนั้นเครือข่ายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จึงมีความสำคัญต่อการเจริญเติมโตของเมืองอุตสาหกรรมอย่างมาก เพราะเป็นกลไกนอกระบบ ทำงานแบบผลึกกำลังกันทำงานในประเด็นสิ่งแวดล้อมของเมือง ในลักษณะแนวราบ ไม่มีโครงสร้างเชิงอำนาจ และใช้สถานการณ์ปัญหาในพื้นที่เป็นตัวตั้ง การดำเนินการขึ้นอยู่บริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งแตกต่างกันไป กลไกนี้จึงมีความคล่องคัว และมีแนวคิดเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
"เวทีนี้เป็นที่รวมคน รวมกำลังทั้งภาคราชการ ภาคผู้ประกอบการ และภาคประชาชน รวมทั้งนักวิชาการ และสื่อมวลชน ไม่ว่าท่านจะมาจากไหน แต่วันนี้ทุกคนอยู่ที่นี่ ท่านจึงเป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ปัญหาสิ่งแวดล้อมในบ้านเราวันนี้มีความสลับซับซ้อนเกินกว่าที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะแก้ปัญหาได้เพียงลำพัง เครือข่ายอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (ECO Network) จึงเป็นกลไกใหม่ที่เหมาะสมกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเป็นอย่างยิ่ง เราจะเดินหน้าไปพร้อมๆกันทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”
วีระ นิจไตรรัตน์
13 ตุลาคม 2558