กลุ่มทางสังคมและการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน


กลุ่มทางสังคม
              คำว่ากลุ่มทางสังคม (Social group) มีผู้ให้ความหมายไว้หลายแนวทางด้วยกัน เช่น R.M. Williams ระบุว่า กลุ่มทางสังคมเป็นผลรวมของการรวมตัวกันของผู้คนที่มีบทบาทเกี่ยวข้องและยอมรับซึ่งกันและกัน รวมทั้งเกี่ยวข้องและยอมรับผู้อื่น / ส่วนอื่น ในฐานะที่เป็นหน่วยทางสังคมที่มีความสัมพันธ์ต่อกันและกัน Ogburn and Nimkoff อธิบายว่า เมื่อคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมารวมกันและไปมีอิทธิต่อบุคคลอื่น เขาเหล่านั้นได้สร้างความเป็นกลุ่มทางสังคมขึ้นแล้ว Maclever ชี้ว่า คำว่ากลุ่มมีความหมายว่ามีการเลือกสรร /รวมตัวกันของคนในสังคมเกิดขึ้นแล้ว และกำลังสร้างความแตกต่างระหว่างคนอื่นๆ ทางสังคม (Sharma. 2007 : 123 - 124) ดังนั้น ในความหมายของคำว่า กลุ่มทางสังคม จึงหมายถึง คนตั้งแต่สองคนขึ้นไปรวมตัวกันเพื่อกระทำการร่วมกันต่อบุคคลอื่นผ่านความสัมพันธ์ทางสังคม

          ในทางสังคมยังแบ่งกลุ่มทางสังคมออกเป็น 2 ลักษณะ คือ (1) กลุ่มปฐมภูมิ (Primary group) และ (2) กลุ่มทุติยภูมิ (Secondary group) โดยกลุ่มปฐมภูมิเป็นกลุ่มเล็กๆ มีความสัมพันธ์มาเป็นระยะยาวนาน มีปฏิกิริยาต่อกันแบบเผชิญหน้าและมีความเกี่ยวข้องต่อกันอย่างแนบแน่น เช่น ครอบครัว และเพื่อน ในขณะที่กลุ่มแบบทุติยภูมิ เป็นกลุ่มที่ขนาดใหญ่กว่าและมีความสัมพันธ์แบบเป็นทางการ มีความสัมพันธ์ในระยะสั้นๆ และมีความเกี่ยวข้องกับภาวะทางอารมณ์น้อย
    

ลักษณะของความเกี่ยวข้องของสังคมในการสร้างเศรษฐกิจ
          ด้านหนึ่ง เป็นไปตามบทบาทของความเกี่ยวข้องของแนวความคิดในการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable development) ที่ประกอบด้วยความสัมพันธ์ 3 ส่วนที่การดำเนินธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญ คือ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม หรือการอธิบายที่ขยายความออกไปเป็น Triple bottom line ที่ประกอบด้วย กำไร โลก และผู้คน

           แนวคิดในการมีส่วนของสังคมกับธุรกิจ จะผูกโยงกับความรับผิดชอบต่อทั้งส่วนที่เป็นกำไร (Profit) ของการดำเนินงาน และส่วนที่เป็นความรับผิดชอบต่อการสนองตอบต่อความต้องการพื้นฐานและประเด็นทางสังคม (Social issue) โดยความเกี่ยวข้องของสังคมจะเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจเพื่อหวังต่อผลประการหลังมากกว่าประการแรก ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานแบบสหกรณ์ หรือ การดำเนินการโดยกลุ่ม และ วิสาหกิจชุมชน โดยที่ยังคงความสามารถของการแข่งขันทางการตลาดไว้

กรณีตัวอย่าง
กลุ่มบ้านสามขา
          จัดตั้งกลุ่มขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในชุมชน โดยรวมเอาศักยภาพของบุคลากรที่มีอยู่ มาร่วมกันคิด จัดทำแผนงาน และจัดทำความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน โดยได้รับการสนับสนุนจาก SCG ในเวลาต่อมา สามารถจัดการเงินกองทุนหมู่บ้าน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ จัดกลุ่มพัฒนาอาชีพ แกะสลัก จักสาน ทอผ้า ท่องเที่ยวชุมชน เพื่อสร้างรายได้ใหม่ให้กับชุมชน


(ที่มาภาพ : http://bit.ly/2uNF4Vk)

กลุ่มออมทรัพย์คลองเปียะ
         จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ ธกส.โดยการรวมกลุ่มออมทรัพย์ แรกเริ่มจากสมาชิก 51 คน โดยเงิน 2,850 บาท จนขยายตัวเป็นกองทุนย่อยๆ ขึ้นในตำบลคลองเปียะมากกว่า 20 กองทุน เพื่อรับผิดชอบดูแลในเรื่องต่างๆ ของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิก 7,200 คน มีเงินทุนหมุนเวียนทั้งสิ้น 252 ล้านบาท

ศูนย์ปราชญ์ / ศูนย์เรียนรู้
          ในที่นี้ยกตัวอย่างศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียงและศูนย์เรียนรู้คุ้มตาหนุ่ย ซึ่งมีลักษณะเป็นศูนย์ข้อมูล สร้างความรู้ พัฒนาทักษะและการฝึกอบรม เป็นลักษณะของการสร้างหน่วยงานสนับสนุนขององค์กรหรือกลุ่มทางสังคม (เช่นเดียวกับสถาบันการศึกษาและสถาบันฝึกอบรมของสังคมโดยทั่วไป)

ผลิตภัณฑ์ชุมชน / หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์
          ในที่นี้ยกตัวอย่างการเริ่มต้นพัฒนาของ OVOP จากเมืองโออิตะของประเทศญี่ปุ่นในปี 1979 จนขยายตัวออกไปทั้งจังหวัดและสร้างเศรษฐกิจใหม่ของเมืองขึ้นแทนที่จะพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมเช่นเมืองอื่นๆ มากไปกว่านั้น ยังขยายตัวออกไปยังต่างประเทศทั้งไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เปรู และอีกหลายประเทศทั่วโลก

(ที่มาภาพ : http://bit.ly/2wlxdOl)

สมาคมและมูลนิธิ
          สมาค เป็นการจัดตั้งกลุ่มทางสังคมที่เป็นนิติบุคคล โดยเป็นการรวมตัวเพื่อการใดการหนึ่ง ที่แจ้งความประสงค์ที่จะจัดตั้งเป็นสมาคม ตามกฎหมายว่าด้วยวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2485 เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นแบบไม่ใช่เป็นการหากำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับมูลนิธิ โดยที่ทั้ง 2 นิติบุคคลนี้ ต้องเป็นการรวมตัวกันของคนอย่างน้อย 3 คนขึ้นไป
          โดยทั่วไป หลักเกณฑ์เกี่ยวกับมูลนิธิจะเข้มงวดกว่าสมาคมฯ อย่างไรก็ตาม ในความเกี่ยวข้องต่อการดำเนินธุรกิจนี้ ในปัจจุบัน ทั้งสมาคมและมูลนิธิ มีความเกี่ยวข้องกับการเป็นองค์กรสนับสนุนเพื่อการใดการหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ เช่น การทำหน้าที่ให้ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ การประสานงาน รวมทั้งการร่วมผลักดันนโยบาย ฯลฯ ซึ่งเป็นบทบาททางอ้อม ที่มีความสำคัญต่อการแข่งขันในทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน

การประกอบการวิสาหกิจชุมชน
          ในยุคสมัยของรัฐบาลทักษิณ ในปี พ.ศ.2548 รัฐบาลได้ตรากฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เพื่อจดทะเบียนรับรองลักษณะการประกอบวิสาหกิจร่วมกันของชุมชน ซึ่งไม่ใช่วิสาหกิจส่วนตัวหรือการประกอบกิจการแบบการมุ่งกำไรเป็นหลัก โดยให้ความหมายว่า เป็นกิจการของชุมชน ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบใดหรือไม่เป็นนิติบุคคล เพื่อสร้างรายได้เพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน

การประกอบกิจการเพื่อสังคม (Social enterprise)
          เป็นกิจการรูปแบบใหม่ ที่มีการส่งเสริมในประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรป อเมริกา เกาหลีใต้ ไต้หวันและญี่ปุ่น โดยในกรณีของไทยก็มี สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม (Thai Social Enterprise Office : TSEO) ก็ได้ริเริ่มการดำเนินงานกิจการประเภทนี้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 เป็นต้นมา
          ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการรณรงค์สร้างเศรษฐกิจแขนงใหม่ที่ไม่มุ่งสร้างกำไรเป็นเป้าหมายสูงสุด โดยการเพิ่มเติมวัตถุประสงค์และการดำเนินงานเพื่อสนองตอบต่อความต้องการและประเด็นทางสังคมรวมเข้าไว้ด้วย
















 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube