วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (เกษตรทิพย์)


“รางวัลวิสาหกิจชุมชน – สัมมาชีพ”
ประเภท               การผลิตและการแปรรูป
องค์กร                 วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (เกษตรทิพย์)    
ผู้นำองค์กร          นายบุญมี สุระโคตร

ความเป็นมา
“วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง” เป็นวิสาหกิจของชุมชนที่จัดตั้งขึ้นที่หมู่บ้านอุ่มแสง ตำบลดู่ อำเภอราศีไศล  จังหวัดศรีสะเกษ จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 โดยมีนายบุญมี สุระโคตร เป็นประธาน เมื่อปี พ.ศ.2549 เป็นกลุ่มที่มีการรวมตัวกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ดำเนินการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนทางการผลิต พึ่งตนเองตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มทำการเกษตรด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ รักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ และให้ความสำคัญต่อสุขภาพของผู้ผลิต/ผู้ใช้และผู้บริโภคควบคู่กัน เป็นการจัดการต่อประเด็นต้นทุนการผลิตที่มาจากปุ๋ยเคมีราคาแพง สารเคมีมีผลกระทบต่อผู้ผลิต/ผู้ใช้และผู้บริโภค แรกเริ่มก่อตั้งด้วยสมาชิก 47 คน (ปัจจุบันมีสมาชิก 1,258 ราย) และระดมเงินกองทุนได้ 608,000 บาท ทั้งนี้ การจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนในกิจการนี้ได้จดพร้อมกับ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์เกษตรทิพย์”

ข้อมูลสถิติของจังหวัดศรีสะเกษ จากการสำรวจข้อมูล จปฐ.ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ.2558 เป็นจังหวัดที่มีตัวเลขรายได้ครัวเรือน 224,045 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขเฉลี่ยของประเทศ 245,980 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ประชาชนโดยส่วนใหญ่มีอาชีพทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับ ข้าว มันสำปะหลัง หอมแดง กระเทียม ข้าวโพด ปอแก้ว และถั่วลิสง


การสร้างสรรค์เศรษฐกิจชุมชน
การมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อผลิตข้าวอินทรีย์ วิสาหกิจชุมชนนี้ ได้ดำเนินการผสมผสานกระบวนการผลิต การตลาด และการจัดการต่างๆเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย 1) การส่งเสริมให้มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้เพียงพอต่อการปลูกข้าว 2) ประสานความร่วมมือจากสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย และบริษัท ไบโออะกริเสิร์ช (ไทยแลนด์) จำกัด ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องระบบเกษตรอินทรีย์สากลเพื่อการส่งออก และรู้เท่าทันต่อสถานการณ์การค้าข้าวของโลก (รวมทั้งประสานลูกหลานสมาชิกซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วม) 3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานต่างๆและเป็นที่ยอมรับของสากล เช่น สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ไทย (Organic Thailand) International Federation of Organic Agriculture Movements : IFOAM, การรับรองผลิตภัณฑ์อาหารและออร์แกนิคของสหรัฐอเมริกา (USDA) FLO ID 27806 ของ FAIRETRADE มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป (EU-NOP) มาตรฐานข้าวหอมะลิไทย และการรับรองมาตรฐานของผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์

ในแต่ละปี วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวบ้านอุ่มแสง จะรับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิก แล้วไปผลิตเป็นข้าวอินทรีย์ชนิดต่างๆ ประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวมะลิแดง ข้าวมะลินิล ข้าวเหนียวดำ ข้าว Rice Berry และข้าวชัยนาท 1 เพื่อสนองตอบต่อความต้องการทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ          ตามมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขาย โดยมี “กลุ่มวิสาหกิจโรงสีข้าวอินทรีย์” ซึ่งจะมีทั้งโรงสีของศูนย์ และโรงสีอื่นๆ ที่สามารถสีข้าวได้ตามมาตรฐานการรับรอง ไม่ว่าจะเป็นโรงสีสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธกส.ศรีสะเกษ จำกัด (สกต.) ทั้งในจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง เช่น โรงสีเกษตรอินทรีย์สุรินทร์ โรงสีเกษตรอินทรีย์น้ำอ้อมยโสธร

ปีหนึ่งๆ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวบ้านอุ่มแสง ปีหนึ่งๆ จะผลิตข้าวอินทรีย์เพื่อตลาดภายในประเทศ 30% และเพื่อการส่งออกประมาณ 70% จะรวมเอาการจัดการการปลูก การแปรรูป และการตลาดมาจัดการรวมเข้าด้วยกัน เพื่อเอาราคาขายข้าวอินทรีย์ที่ขายได้ไปจัดความสัมพันธ์กับราคาการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาสมาชิกได้

จากข้อมูลผลประกอบการของวิสาหกิจในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีรายได้จากการขายข้าวอินทรีย์ชนิดต่างๆ ในปี พ.ศ.2556 จำนวน 9.5 ล้านบาท ปี พ.ศ.2557 จำนวน 38 ล้านบาท ปี พ.ศ.2558 จำนวน 55 ล้านบาท โดยรับซื้อข้าวจากชาวนาสมาชิกในปี พ.ศ.2556 ประมาณ 1 ล้านตัน ปี พ.ศ.2557 ประมาณ 2.5 ล้านตัน และปี พ.ศ.2558 ประมาณ 3.5 ล้านตัน จะเห็นได้ว่า การประกอบการของวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวบ้านอุ่มแสง เติบโตอย่างก้าวกระโดด (ยอดขายเพิ่มขึ้น 478% ปริมาณรับซื้อข้าวเปลือกเพิ่มขึ้น 250%) ในรอบ 3 ปี ที่ผ่านมา มีกำไรโดยต่อเนื่อง ปี พ.ศ.2556 มีกำไร 0.85 ล้านบาท ปี พ.ศ.2557 มีกำไร 1.34 ล้านบาท และปี พ.ศ.2558 มีกำไร 1.38 ล้านบาท โดยนำเอา 15% ของกำไรจัดสรรเป็นเงินปันผลให้กับสมาชิกจำนวน 1,258 ราย พร้อมกับการจัดการเพื่อการต่างๆ สำหรับสมาชิกและชุมชน เช่น ประกันความเสี่ยง สมทบสวัสดิการของกลุ่มสมาชิก ทุนการการศึกษาของลูกหลานสมาชิก สมทบทุนเพื่อสาธารณะประโยชน์ของชุมชน ฯลฯ แล้ว วิสาหกิจนี้ ยังนำเอารายได้พิเศษที่ได้รับจากองค์กร Fair Trade ไปสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจสอบแปลงนาให้เป็นไปตามมาตรฐาน จัดทำกองทุนเมล็ดพันธ์และปุ๋ย ผลิตน้ำดื่มชุมชน รวมทั้งการจัดการเพื่อสาธารณกุศลในชุมชนอีกส่วนหนึ่งด้วย

กล่าวได้ว่า การที่วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ขายข้าวอินทรีย์ชนิดต่างๆ เป็นเงิน 55 ล้านบาทได้นั้น เป็นผล มาจากการสามารถสร้างตลาดที่ขายไปยังต่างประเทศได้ด้วยการเลือกที่จะเป็นผู้ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์และผลของการได้รับรองมาตรฐาน ในขณะเดียวกัน ในขณะที่เกษตรกรทั่วไปขายข้าวให้กับรัฐบาลได้ในราคา 11,000 บาทต่อตันนั้น สมาชิกของวิสาหกิจนี้ สามารถขายได้ในราคา 15,000 บาทต่อตันโดยประมาณ ดังนั้น เฉพาะปี พ.ศ.2558 ที่วิสาหกิจนี้รับซื้อข้าวจากชาวนาสมาชิก จำนวน 3.5 จึงเท่ากับได้ “เพิ่ม” ส่วนที่เกิดจากผลการดำเนินงานตามระบบเกษตรอินทรีย์และการรับรองมาตรฐานคิดเป็นเงิน 14 ล้านบาท เงินที่ส่วนเพิ่มนี้ นอกจากจะเป็นสร้างสรรค์การไหลเวียนทางเศรษฐกิจของชุมชนและท้องถิ่นแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ต่อครัวเรือนของสมาชิกเพิ่มขึ้นจากวิถีการผลิตแบบปกติทั่วไป หากคิดเป็นรายการต่อครัวเรือน ซึ่งสมาชิกหนึ่งรายจะเป็นตัวแทนของครัวเรือนหนึ่งครัวเรือน ปีหนึ่งๆ สมาชิกจะนำข้าวเปลือกมาขายให้กับวิสาหกิจ ประมาณ 3 ตันต่อรอบการผลิต โดยปีหนึ่งจะมีรอบการผลิต 2 รอบ ก็จะคิดเป็นรายได้ที่เกิดจากมูลค่าเพิ่มนี้ทั้งสิ้น 24,000 บาทต่อครัวต่อปี หรือเท่ากับ 11% ของรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อปี

การจัดการองค์กร
วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวบ้านอุ่มแสง มีสมาชิก 1,258 ราย ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 20,716 ไร่ 22 หมู่บ้าน 5 ตำบล 2 อำเภอ (อำเภอราศีไศล และอำเภอ ...) มีกรรมการวิสาหกิจทั้งหมด 17 คน   มีเจ้าหน้าที่ประจำ 5 คน แบ่งงานออกเป็นฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายบริหาร ฝ่ายประสานงาน ฝ่ายตรวจสอบแปลงข้าว ฝ่ายรับรองแปลงข้าว นอกจากนี้ ยังมี “กรรมการหลัก” จำนวน 112 คน เพื่อทำหน้าที่ดูแลและเป็นพี่เลี้ยงให้กับสมาชิก โดยมีอัตราส่วน 1 : 10 หรือ 1 : 12 คน

การจัดการของวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวบ้านอุ่มแสง ที่เน้นการจัดการตามมิติความสัมพันธ์ตามห่วงโซ่ของธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แล้ว ยังมีการจัดการกลุ่มวิสาหกิจสนับสนุน นับตั้งแต่การจัดตั้งวิสาหกิจกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์เกษตรทิพย์แล้ว ก็ยังมี “กลุ่มวิสาหกิจพืชหลังนา” เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับสมาชิกที่สนใจจะปลูกพืชผักบางชนิด เช่น แตงกวา คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือ มะละกอ ตะไคร้ ฯลฯ “กลุ่มวิสาหกิจเครื่องจักรกล” เพื่อรวมพื้นที่การเพาะปลูกให้สอดคล้องกับการคุ้มค่าการใช้เครื่องจักรกลทั้งการจ้างเพื่อการใช้งาน และการซ่อมบำรุง

การให้ความสำคัญต่อหลักสัมมาอาชีวะ
การมุ่งเน้นการเปลี่ยนวิถีการผลิตจากการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นปุ๋ยอินทรีย์ นั้น แสดงถึงการดำเนินธุรกิจที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยจิตสำนึก    เป็นเบื้องต้น รวมทั้งในการนี้ ยังจัดให้มีกระบวนการดำเนินการที่ต่อเนื่องกันไปตั้งแต่การปลูกและการจัดการแปรรูป ตามเกณฑ์มาตรฐาน

ยิ่งไปกว่านั้น การดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวบ้านอุ่มแสง ยังสะท้อนความสำเร็จของการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการดำเนินธุรกิจด้วยการจัดการแบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นธุรกิจและตลาดแบบทางเลือก (ตลาดกระแสรอง) ที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้น

ประวัติผู้นำองค์กร

นายบุญมี สุระโคตร เกิดในครอบครัวชาวนา หลังจากเรียนการศึกษาประถมที่ 7 ก็ช่วยทางบ้านทำนามาโดยตลอด และศึกษาเพิ่มเติมจบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ปี พ.ศ.2556

บุญมี เริ่มการทำนาแบบอินทรีย์เพื่อหาทางลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี โดยการน้อมนำเอาปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 เริ่มด้วยการลดรายจ่าย ลดต้นทุนการผลิตควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่เผาตอซังแต่จัดการโดยการไถกลบและหว่านพืชที่สามารถเป็น    ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปอเทืองและถั่วพร้า รวมกลุ่มเพื่อนบ้านเป็นกลุ่มเพื่อจัดทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การสกัดสารจากพืชสมุนไพรเพื่อไล่แมลงศัตรูพืช โดยเพาะเพลี้ยและเชื้อราในข้าว การปรับที่นาให้สม่ำเสมอ       เพื่อสามารถควบคุมปริมาณน้ำในแปลงนา ปลูกไม้ยืนต้น เช่น มะม่วง ยูคา และตะกู บริเวณโดยรอบแปลงนา ฯลฯ ด้วยสภาพพื้นที่นาของบุญมี อยู่นอกเขตชลประทาน เขาจึงขุดบ่อสร้างแหล่งน้ำเพื่อนำน้ำมาใช้ในการทำนาให้ได้มากกว่า 1 ครั้งต่อปี โดยใช้พื้นที่บางส่วนของพื้นที่นาที่ทำนาในฤดูฝน จำนวน 22 ไร่ มาใช้เพาะปลูกข้าวนาปรังได้ 5 ไร่

จากการพยายามพัฒนากระบวนการทำนา ในพื้นที่ 22 ไร่ ทำนา 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 ทำในพื้นที่ 5 ไร่ จึงทำให้บุญมีสามารถมีรายได้ระหว่างปี พ.ศ.2551 - 2553 เฉลี่ยปีละ 136,534 บาท โดยที่แต่ละปีมีรายได้เพิ่มขึ้น (จากปี พ.ศ.2551 มีรายได้ 125,600 บาท ปี พ.ศ.2553 มีรายได้ 144,500 บาท) จนเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ได้รับเชิญจากจังหวัดต่างๆ ให้เป็นวิทยากรแนะนำการผลิตข้าวอินทรีย์และอื่นๆ ในนามของ “กลุ่มเกษตรกรเกษตรทิพย์” และ “ข้าวตราลุงบุญมี” ได้รับการยกย่องให้เป็น “ปราชญ์ชาวบ้านเรื่องเกษตรอินทรีย์” เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลดู่ เป็นกรรมการโรงเรียนหวายคำวิทยา/โรงเรียนบ้านกระเดาอุ่มแสง เป็นประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลดู่ เป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านอุ่มแสง เป็นประธานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นประธาน OTOP ระดับอำเภอราษีไศล เป็นรองประธานเครือข่าย OTOP จังหวัดศรีสะเกษ และเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ด้านวิสาหกิจชุมชน

....
ข้อมูล ณ วันที่ 2 มกราคม 2560








 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube