ชื่อบทความเดิม
โครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด: (Vocational Chemical Engineering Practice College : V-ChEPC) ในมิติของการสร้างสรรค์มูลค่าธุรกิจคู่สังคม และพลังแห่งความร่วมมือ
ความเป็นมา
V-ChEPCเป็นโครงการริเริ่มจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มูลนิธิศึกษาพัฒน์ และสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ทดลองเปิดรับนักศึกษาระดับ ปวช. จากทั่วประเทศ เข้าศึกษาในโครงการพิเศษ สาขาปิโตรเคมี ซึ่งเป็นการศึกษาในระดับ ปวส.ที่วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นโครงการทดลองพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ตามยุทธศาสตร์สำคัญของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยโครงการนี้ได้เริ่มขึ้นปี พ.ศ. 2551
ความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาความสามารถของทรัพยากรในด้านนี้ของไทย ก็เป็นเพราะว่า ที่ผ่านมาระบบการศึกษาของไทยผลิตบุคลากรไม่สอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจมีความต้องการแรงงานในด้านอาชีวะ ทักษะฝีมือแรงงาน แต่ระบบการศึกษาและค่านิยมของประชาชนกลับนิยมเรียนในระดับมหาวิทยาลัยด้านสังคมศาสตร์ ประกอบกับ SCG Chemicalมีประสบการณ์ความสำเร็จร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการนำเอาวิธีการเรียนรู้ตามทฤษฎีว่าด้วย “แนวทางการเรียนรู้เพื่อการสร้างสรรค์ด้วยปัญญา”Constructionism เข้ามาใช้ในการผลิตช่างเทคนิคโดยหลักสูตร 1 ปี ตามโครงการที่เรียกว่า C-ChEPS (Constructionism Chemical Engineering Practice School)การดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว “...ทำให้ SCG สามารถเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ลดการสูญเสีย ลดอุบัติเหตุ ประหยัดพลังงานและมีการปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ...” [1]ม
การดำเนินงาน
โครงการ V-ChEPCที่ดำเนินงานโดยวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด ได้ดำเนินการในทางปฏิบัติด้วยการสนับสนุนและการจัดการในด้านต่างๆ ประกอบด้วย 1) ความร่วมมือในการสนับสนุนงบประมาณสถานที่ฝึกงาน และวิทยากรพี่เลี้ยง จาก PTT Chem, SCG Chemical, Dow, UBE, SPRC และ Thai oil 2) การสนับสนุนงานด้านวิชาการจากมูลนิธิศึกษาพัฒน์ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 3) การสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาครูผู้สอนให้เข้าใจในบทบาทของการสนับสนุนการเรียนรู้ Facilitator) มากกว่าที่จะบรรยายสอนหน้าชั้นเรียน ซึ่งเป็นความร่วมมือกับโรงเรียนดรุณสิกขาลัย – โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย โครงการ PI-ChEPS[2]ของบริษัท ปตท.เคมีคอล จำกัด (มหาชน) และ C-ChEPS ของ SCG Chemicalเพื่อสร้างให้ครูผู้สอนได้เข้าใจในกระบวนการและเครื่องมือต่างๆ เช่น Mediation, Dialogue, Mind Mapping, Portfolio, 7 Habits, Six Hat, และ Relations
การเรียนการสอนของโครงการ V-ChEPCจะดำเนินการตามกรอบของ Constructionism Learning Modelประกอบไปด้วย Learn how to Learn, Thinking and Problem Solving Skills, Learner Center Learning และ Project Based Learning ซึ่งมีรายละเอียดต่างๆ เช่น การสร้างสติและสมาธิ การเสริมสร้างกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ การเสริมสร้างจินตนาการ การทำงานเป็นทีม การแก้ไขปัญหาด้วย LEGO-Logo การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติการจริง การแสวงหาความรู้จนสามารถนำเสนอจุดของการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนความรู้ การเรียนรู้จากการทำโครงงานและการนำเสนอผลงาน ฯลฯ
นักศึกษาในโครงการนี้ จะได้รับทุนการศึกษาค่าเล่าเรียน มีหอพักให้นักศึกษาพักในวิทยาลัย และมีงานให้ทำหลังจากจบการศึกษาทั้งในกลุ่มบริษัทที่สนับสนุนข้างต้นหรือบริษัทอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเคมี ด้วยค่าจ้างที่สูงกว่าผู้ที่จบการศึกษาในระดับ ปวส.ของหลักสูตรทั่วไป ปัจจุบัน (พ.ศ.2558) มีนักเรียนเข้ามาศึกษาในโครงการนี้ทั้งสิ้น 204 คน ได้ทำงานแล้วกับ SCG Chemical 35 คน DOW 17 คน ฝึกงานกับ SCG Chemical 56 คน อยู่ระหว่างการศึกษา 74 คน
การสร้างสรรค์มูลค่าธุรกิจคู่สังคม (Creating Shared Value : CSV)
การอธิบายลักษณะของการดำเนินงานโครงการข้างต้น อธิบายตามหลักการที่มีวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด เป็นผู้ดำเนินงาน มีบริษัทเอกชนร่วมสนับสนุนโครงการ พร้อมกับมีองค์กรภาครัฐ และภาคประชาสังคม ร่วมสนับสนุนตามบทบาทต่างๆ แต่หากอธิบายตามบทบาทของธุรกิจที่มีต่อสังคม ก็จะอธิบายได้ว่า ธุรกิจเอกชน 6 แห่ง ร่วมกันดำเนินงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามโครงการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ กับภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคม การพิจารณาตามแง่มุมหลังนี้ จะอธิบายถึง CSV ได้ ดังนี้
ผลลัพธ์ต่อธุรกิจ
นอกจากบริษัทผู้ร่วมสนับสนุนโครงการ จะได้รับประโยชน์จากการมีผู้ร่วมบริหารจัดการงบประมาณเพื่อสาธารณกุศลอย่างมีกลยุทธ์ เป็นหุ้นส่วนความร่วมมือแบบ 3 ฝ่าย (ความร่วมมือนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรียกว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนแบบ Public Private Partnership : PPP)แล้ว กรณีของ SCG Chemicalและ DOW ที่รับบุคลากรเหล่านี้เข้าไปร่วมงาน ยังจะได้รับผลประโยชน์ทางตรงจากการลดงบประมาณเพื่อการแสวงหาและคัดเลือกบุคลากรจากสถาบันการศึกษาโดยทั่วไป ที่อาจจะไม่ตรงกับคุณสมบัติที่ต้องการ (อันเนื่องมาจากข้อจำกัดของกระบวนการคัดเลือก) แต่บริษัทจะทราบก็ต่อเมื่อบุคลากรเหล่านั้นร่วมงานกับบริษัทไปในระยะหนึ่งแล้ว และหากผ่านระยะเวลาการทดลองงานไปแล้ว ก็จะเป็นปัญหาที่จะต้องจัดสรรงบประมาณอีกจำนวนหนึ่งเพื่อมาพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคคลเหล่านี้
ผลลัพธ์ต่อสังคม
ในขณะเดียวกัน การดำเนินงานตามโครงการนี้ นอกจากจะสอดคล้องนโยบายของภาครัฐและยุทธศาสตร์ของประเทศว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งเป็นนโยบายในระดับประเทศแล้ว จากข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์จากบริษัทผู้จ้างงาน ระบุว่า นักศึกษาในโครงการนี้จะได้รับค่าจ้างเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 26,000 บาท/เดือน ซึ่งสูงกว่ารายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยของประเทศ[3] ย่อมแสดงว่า หากครอบครัวใดมีลูกที่จบจากโครงการนี้ นอกจากจะเรียนจบแล้วมีงานรองรับแล้ว ครอบครัวนั้น ยังจะมีรายได้สูงกว่ารายได้โดยเฉลี่ยอีกลำดับหนึ่งด้วย
ด้วยเหตุดังกล่าว ในเวลาต่อมา สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จึงได้จัดทำโครงการติวเตอร์เพื่อกระตุ้นและเตรียมความพร้อมของเด็กนักเรียนในจังหวัดระยองเป็นการเฉพาะ ในปี พ.ศ. 2555 มีนักเรียนจากจังหวัดระยองเข้าร่วมในโครงการนี้มากถึง 40 % ซึ่งถือได้ว่า เป็นโครงการที่ตอบสนองสังคมในพื้นที่ตั้งของโรงงานของผู้สนับสนุนงบประมาณโดยตรง
พลังของความร่วมมือ (The Power of Collaboration)
โครงการ V-ChEPCและการเรียนการสอนตามกรอบ Constructionism Learning Modelได้รับความสนใจจากสถาบันอาชีวศึกษาในอินโดนีเซีย และ UNESCO กรุงเทพฯที่จะขยายความร่วมมือและขยายผลการดำเนินงานตามโครงการในลักษณะเดียวกันนี้ให้กว้างขวางออกไป อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า ความร่วมมือแบบ PPP ในโครงการนี้ แท้ที่จริงแล้ว เป็นความร่วมมือของผู้มีส่วนได้เสียแบบหลายภาคส่วน (Multi-Stakeholder Collaboration) มาตั้งแต่ต้น กล่าวคือ ความร่วมมือของภาครัฐระหว่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฐานะที่เป็นองค์กรระดับนโยบาย กับกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในฐานะองค์กรระดับปฏิบัติการ เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาที่ไม่สนองตอบต่อความต้องการของตลาดและความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยความร่วมมือดังกล่าวยังร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชน และมูลนิธิศึกษาพัฒน์ และสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคม ไปพร้อมๆกันด้วย
ขณะเดียวกัน แนวคิดว่าด้วย Constructionism Learning Model ที่มาปรับใช้เพื่อการเรียนการสอนในโครงการนี้ ก็ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนดรุณสิกขาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ประสบการณ์จากโครงการPI-ChEPSและ C-ChEPSยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการสร้างความร่วมมือกับบริษัทเอกชน ในการใช้สถานที่ของโรงเรียน และวิทยากรพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นทรัพยากรของบริษัทเอกชน ความร่วมมือของการสร้างความรู้ข้างต้น สอดคล้องและตอกย้ำความสำเร็จของ Constructionism
พลังของความร่วมมือที่หลากหลายการทำงานที่เป็นขั้นเป็นตอนและการวางอยู่บนรากฐานของการพัฒนา จึงทำให้โครงการนี้ จัดการปัญหาได้ทั้งการเรียนการสอน การจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการ ความสามารถของบุคลากร ประสิทธิภาพการผลิตของบริษัท ความมั่นคงของกิจการ ความสามารถทางการแข่งขันและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะเดียวกันด้านของสังคม นอกจากจะสร้างความสามารถส่วนบุคคลแล้ว ยังสร้างรายได้ที่ดีให้กับครอบครัว และเป็นการตอบสนองการอยู่ร่วมกันของโรงงานกับชุมชนโดยรอบได้อย่างเป็นรูปธรรม
……………..
สุนทร คุณชัยมัง
Expert Aspect International Co.,Ltd
19 สิงหาคม 2558
[1]ศุภชัย วัฒนางกูร, สารจากกรรมการอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ,สรุปผลการดำเนินโครงการ V-ChEPCตั้งแต่ปี 2551-2553 : 7
[2] PI-ChEPS&C-ChEPSเป็นโครงการพัฒนาประสิทธิภาพบุคลากรของพนักงานในเครือ PTT Chemical และ SCG ตามลำดับ
[3]รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนทั่วประเทศของปี 2557 เท่ากับ 25,194 บาท/ครัวเรือน/เดือน