11 ก.ค.62 - สํานักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ นำร่อง 10 วิสาหกิจชุมชน จัดเก็บพืชพันธุ์ท้องถิ่น เข้าสู่ธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
สํานักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO เตรียมยกระดับชุมชน ทั่วประเทศ เป็น Community BioBank หรือ ธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพระดับชุมชน โดย เบโด้ ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชน 10 แห่งทั่วประเทศ นำร่องส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสำรวจ รวบรวมและบันทึกข้อมูลชนิดพันธุ์ทรัพยากรชีวภาพที่มีในท้องถิ่น โดยมีการลงนามบันทึกข้อตกลงสนับสนุนเงินในโครงการของชุมชนด้านธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพระดับชุมชน ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กล่าวว่า ธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพระดับชุมชน จะเป็นแหล่งเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาชุมชน แห่งเดียวในประเทศไทยและแห่งเดียวในโลก ด้วยไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและมีพันธุ์พืชหลากหลายสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าในอุตสาหกรรมของชาติได้ โดยแนวคิดการจัดทำธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพระดับ ชุมชน หรือ Community BioBank เป็นการนำชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นพื้นที่ต้นทางทรัพยากรชีวภาพ เข้ามามีส่วนร่วมในการสำรวจ รวบรวมและจัดเก็บทรัพยากรชีวภาพที่มีในท้องถิ่น จัดเข้าระบบฐานข้อมูล ใช้เป็นต้นแบบพัฒนาด้านการดูแลรักษาทรัพยากรชีวภาพ ต่อยอดเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับในปีนี้มีวิสาหกิจชุมชน 10 แห่งเข้าร่วมโครงการ ซึ่งรวบรวมพืชพันธุ์เฉพาะถิ่น หายาก และใกล้สูญหาย ได้แก่
1. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประดิษฐ์และแปรรูปผลิตภัณฑ์ตําบลแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ มีทรัพยากรชีวภาพสมุนไพรพื้นบ้าน พืช ประจำถิ่นและผักพื้นบ้าน
2. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มหมู่บ้านสมุนไพรและการท่องเที่ยวบ้านเมืองกื้ด ตําบลกื้ดช้าง จังหวัดเชียงใหม่ รวบรวมและจัดเก็บพืชตระกูลขิง ข่า ว่าน พืชสมุนไพรท้องถิ่น และพืชอนุรักษ์โครงการ อพ.สธ.
3. วิสาหกิจชุมชนวิถีเกษตรตําบลเมืองจัง ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ ตําบลเมืองจัง อําเภอภูเพียง จังหวัดน่าน รวบรวมและจัดเก็บพันธุ์พืช พริก มะเขือ ฟักทอง แตง ข้าวโพด ถั่วฝักยาว บวบเหลี่ยม น้ำเต้า มะเขือเทศ และแตงกวา
4. วิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชน บ้านวังส้มซ่า จังหวัดพิษณุโลก รวบรวมและจัดเก็บ กล้วยน้าว้ามะลิอ่อง กล้วยหอมเขียว และกล้วยหอมทอง
5. วิสาหกิจชุมชนทับสะแกซีเล็ค อําเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวบรวม มะพร้าวแกงพันธุ์พื้นเมืองทับสะแก
6. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเครือข่ายการจัดการความรู้ทรัพยากรชีวภาพบ้านห้วยตะพาน ตําบลหนองโรง จังหวัดกาญจนบุรี รวบรวมและจัดเก็บ “ต้นแจง” พันธุ์ไม้โดดเด่นในพื้นที่ป่าชุมชน
7. วิสาหกิจชุมชนทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ ตําบลท่าก้อน จังหวัดสกลนคร รวบรวมและจัดเก็บพืชสมุนไพรตระกูลหัว
8. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูข้าวพันธุ์พื้นเมือง “หอมดอกฮัง” และข้าวพื้นเมืองกว่า 110 สายพันธุ์ ตําบลอุ่มจาน จังหวัดสกลนคร
9. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตสมุนไพรเกษตรอินทรีย์บ้านโกทา ตําบลพระธาตุ จังหวัดมหาสารคาม รวบรวมปงเหลี่ยม พืชเศรษฐกิจของชุมชนและมีแนวโน้มที่จะสูญหาย พืชหายากและใกล้สูญพันธุ์ และพืชหายากในพื้นที่และสามารถ ต่อยอดได้ในเชิงเศรษฐกิจ
10. วิสาหกิจชุมชนจัดการสมุนไพรวนเกษตร-ป่าตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา จัดเก็บ เท้ายายม่อม และพืชหัวพวกมัน หัวกลอย
ทั้งนี้ เป็นการยกระดับชุมชน ให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรที่เป็นระบบและมีความถูกต้องตามหลักวิชาการ สร้างความตระหนักในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ของชุมชนที่จะเป็นเครือข่ายในการดูแลรักษาสายพันธุ์ทางชีวภาพอย่างยั่งยืน-สำนักข่าวไทย
ที่มา : tna.mcot.net