บทบาทภูมิทัศน์กับความมั่นคงของชุมชน


     

     การรวบรวม เรียบเรียงและผลิตบทความชิ้นนี้ขึ้นมา  สืบเนื่องมาจากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ  “การศึกษาและวัดค่าการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ในภูมิทัศน์ โหนด นา เล   จ.สงขลา” จัดโดยสถาบันลูกโลกสีเขียว  ในพื้นที่ ต.ท่าหิน อ.สทิงพระ  จ.สงขลา ซึ่งถือได้ว่าเป็นประสบการณ์ครั้งใหม่ของผู้เขียนที่ได้มีโอกาสมาสัมผัสวิถีชีวิต  ภูมิประเทศที่ตั้งของชุมชนรอบทะเลสาบสงขลาที่ถือได้ว่าเป็นทะเลสาบที่มีความสำคัญอันดับต้นๆของประเทศ

     อย่างไรก็ตาม  ด้วยระยะเวลาในการเข้าร่วมกิจกรรมมีเพียงระยะเวลาสั้นๆ ผู้เขียนมีความสนใจในพื้นที่จึงได้ดำเนินการศึกษา  หาความรู้เพิ่มเติมจากสื่อออนไลน์  ทั้งนี้อาจด้วยข้อจำกัดในหลายๆประการ  โดยเฉพาะข้อจำกัดในการศึกษาในเรื่องของเวลาและการลงพื้นที่สัมผัส เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนที่จำกัดของตัวผู้เขียนเอง  ส่งผลทำให้บทความฉบับนี้  ยังคงมีข้อบกพร่องและความผิดพลาดในหลายๆ ประการ  ข้าพเจ้าในฐานะของผู้เขียน  ผู้เรียบเรียง จึงขอกราบขออภัยมา ณ ที่นี้

................................................................................

     การตั้งถิ่นฐาน  สร้างบ้านแปลงเมือง  ก่อตั้งเป็นชุมชนของผู้คนในอดีต  ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงภูมิความรู้ในการคัดสรร  คัดเลือกและการสั่งสมความรู้ที่ลึกซึ้งและเกี่ยวเนื่อง สัมพันธ์กับภูมิศาสตร์ที่ตั้ง  อันนำไปสู่การบรรลุความต้องการในการดำรงชีวิตและสืบทอดเผ่าพันธุ์ของตนเองได้อย่างปรกติสุข  การเปลี่ยนแปลงและความสามารถในการปรับตัวของผู้คนให้สอดคล้องกับสภาพภูมิทัศน์  ย่อมมีผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกชุมชนคนในภูมิภาคนั้นเฉกเช่นเดียวกัน

    การเปลี่ยนแปลงหรือพลวัตรของภูมิทัศน์  โดยเฉพาะภูมิทัศน์ที่มีระบบนิเวศน์เกษตรเป็นพื้นฐาน มีความสัมพันธ์กับการใช้ประโยชน์ที่ดิน  ดังรูปธรรมที่สะท้อนได้จากการพัฒนาประเทศ  ผ่านเครื่องมือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม  โดยเฉพาะในระหว่างแผนฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 7 ที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการเกษตรที่มุ่งเน้นการผลิตเพื่อการส่งออก ส่งเสริมระบบการผลิตที่เข้มข้น การปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว การใช้ปัจจัยการผลิตที่เน้นการใช้สารเคมีและเครื่องจักรกลในการดำเนินการเพาะปลูก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจส่งผลทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงเป็นจำนวนมาก สวนทางกับปริมาณพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้นอย่างเท่าทวี  ส่งผลทำให้ภูมิทัศน์ในหลายพื้นที่ได้สูญเสีย เสื่อมโทรมลงจนบางพื้นที่ไม่สามารถฟื้นฟูให้กับมาอยู่ในสภาพที่ตอบสนองความต้องการในการดำรงชีวิตของสมาชิกชุมชนนั้นได้อย่างที่ผ่านมา

ภูมิทัศน์   (Landscape)  เป็นพื้นที่หรือบริเวณหรือภูมิประเทศแห่งหนึ่ง ที่อาจมีความหมายครอบคลุมถึงลุ่มน้ำหรือผืนป่าเป็นต้น เป็นบริเวณที่มีพื้นผิวดินและสิ่งปกคลุมผิวดินผิดแผกแตกต่างกันไป จนมีความเป็นอเนกภาพ (heterogeneity) เกิดเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิต (habitat) หรือระบบนิเวศน์ย่อยมากมาย (สมศักดิ์ สุขวงศ์, 2551 หน้า 9) การตั้งถิ่นฐานและการดำรงชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะในภาคชนบท ส่วนใหญ่อาศัยการเก็บหาหรือการผลิตอาหาร จากระบบนิเวศน์หรือแหล่งต่างๆในภูมิทัศน์ร่วมกัน

     ดังความเห็นของสมศักดิ์  สุขวงศ์  ที่ว่า  “คนในชนบทนอกจากมีแปลงผักของเขาเองแล้ว  เขายังอาศัยแม่น้ำลำคลองหาอาหารหรือขึ้นไปหาผัก  หาน้ำผึ้งบนภูเขา  อีกด้วย  ซึ่งจากการศึกษาพบว่าผู้ที่มาขับเคลื่อนงานเรื่อง “ป่าชุมชน”ในประเทศไทย วัตถุประสงค์คือต้องการ “ปกป้องแหล่งอาหาร” และก็ต้องการอาณาเขตที่กว้างใหญ่พอสมควร”

     โดย สมศักดิ์  สุขวงศ์   นำเสนอภาพความคิดเรื่องภูมิทัศน์ไว้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ

“คำว่า Landscape มักไม่แน่นอน เหมือนกับคำว่า “ระบบนิเวศน์” คือจะกว้างใหญ่แค่ไหนก็ได้ แล้วแต่จะอธิบาย ส่วนของเขตที่ใดที่หนึ่งที่ขับเคลื่อนงานนั้น เรียกว่า site จากหลายๆ site เรียกว่า Landscape จากหลายๆ Landscape เรียกว่า ecology ซึ่งผมเรียกว่า ภูมินิเวศน์” แล้วหลายๆ ecology ก็เป็นโลกของเรา ซึ่งในโลกของเราก็มีประมาณ 800 ภูมินิเวศน์ ในแต่ละภูมินิเวศน์ก็จะมีภูมิอากาศเหมือนกัน รวมถึงมีองค์ประกอบ อาทิ ป่า คลอง ต้นไม้ นา อีกทั้งมีแต่ละองค์ประกอบก็มีหน้าที่ (function)ของมัน  เช่น  ภาคใต้มีฤดูฝน 8 เดือน ฤดูร้อน 4เดือน ทั้งยังเป็นป่าดิบ ฉะนั้นก็ถือเป็น 1 ภูมินิเวศน์” ...(สมศักดิ์  สุขวงศ์,(มปป))

     ตำบลท่าหิน อำเภอสทิงพระ  จังหวัดสงขลา  เป็นชุมชนหนึ่งในชุมชนรอบๆ ทะเลสาบสงขลา  ซึ่งถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  ด้วยลักษณะของทะเลสาบสงขลามีลักษณะเป็น ลากูน (Lagoon) หรือทะเลสาบที่อยู่ติดกับทะเล โดยมีบริเวณตอนล่างเปิดเข้าสู่อ่าวไทย เป็นทะเลสาบที่มีลักษณะของน้ำในทะเลสอบ 3 น้ำ คือ น้ำจืด, น้ำกร่อยและน้ำเค็ม  มีแม่น้ำและคลองหลายสายที่ไหลเข้าสู่ทะเลสาบ ทำให้น้ำมีการเปลี่ยนแปลงเสมอตามฤดูกาล  โดยขึ้นอยู่กับกระแสน้ำในแม่น้ำสายต่างๆ  ที่ไหลเข้าสู่ทะเลสาบและกระแสน้ำทะเลหนุน  จึงมีการถ่ายเทของลักษณะน้ำทั้ง3ลักษณะตลอดเวลา ส่งผลทำให้มีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ มีความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งที่ขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตชุมชนชาวประมงในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตลอดมา

     ที่ตั้งของ ต.ท่าหิน  อยู่ในตอนกลางของทะเลสอบสงขลา  อยู่ในคาบสมุทรสทิงพระ  ที่มีรูปทรงแหลมยาวยื่นลงไปในทะเล  ด้านหนึ่งขนาบด้วยทะเลอ่าวไทย อีกด้านขนาบด้วยทะเลสาบสงขลา  ในอดีตถือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของภาคใต้ แต่ในปัจจุบันเกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านวิถี ระบบการผลิต  การดำรงชีวิต  รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่เป็นผลมาจากกระบวนการพัฒนาพื้นที่ ส่งผลทำให้บทบาทในฐานะแหล่งผลิตอาหารหล่อเลี้ยงภูมิภาคนี้ลดบทบาทลง

     ดังข้อมูลจากโครงการแนวทางการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารของชุมชน ภายใต้วิถีโหลด-นา-เล ในคาบสมุทรสทิงพระ ที่กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ พบว่า จากการสำรวจข้อมูล ปี พ.ศ.2537 พบว่าพื้นที่นาปีมีอยู่จำนวน 3.24ล้านไร่ ได้ลดลงในปี 2540 เหลือ 2.92 และในปี 2542 ลดลงเหลือ 2.77 ล้านไร่ พื้นที่นาเหล่านี้ส่วนหนึ่งถูกเปลี่ยนเป็นนากุ้ง พื้นที่นามีสภาพไม่เหมาะสม เช่น เป็นนาลุ่มจัด หรือนาดอน  การปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากการทำนาไปเป็นไร่นาสวนผสม การปลูกปาล์มน้ำมัน ปลูกไม้ผลตามโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตทางการเกษตร  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตร ตลอดจนเป็นผลกระทบจากการดำเนินโครงการต่างๆของรัฐบาลในพื้นที่

     การตั้งถิ่นฐานของชุมชนในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ พบว่า มีการตั้งถิ่นฐานกระจายไปตามแนวสันทรายและพื้นที่ราบลุ่มในหลายช่วงสมัย และแบ่งเป็นหลายกลุ่มชน  จากหลักฐานพบว่า การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์  เริ่มมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 6000ปี มาแล้ว

     โดยชุมชนในภูมิทัศน์ทะเลสอบสงขลาต่างพึ่งพิงทรัพยากรรอบทะเลสาบในการดำรงชีวิต  อาศัยศักยภาพของพื้นที่และที่ตั้ง  ที่เป็นที่ราบลุ่มทำนา  ก่อให้เกิดเป็นวิถีการผลิตในเรื่องของการเพาะปลูก  อาศัยความสมบูรณ์ของทะเลสอบสงขลาที่เป็นระบบนิเวศน์สามน้ำเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัว  เกิดเป็นวิถีชาวเลในการทำประมงขนาดเล็กหรือประมงพื้นบ้าน

     

     รวมทั้งพื้นที่บริเวณคาบสมุทรสทิงพระ พบการกระจายตัวของต้นตาลโตนดอยู่เป็นจำนวนมากตามบริเวณคันนา  ซึ่งสันนิฐานว่ามีการปลูกตาลโตนดครั้งแรกในบริเวณแถบจังหวัดภาคใต้  โดยเฉพาะเมืองท่าที่มีการค้าขายกับชาวอินเดียในอดีต โดยปัจจุบันแหล่งของต้นตาลโตนดในประเทศไทย พบได้ทั่วไปในทุกภาค  แต่พบมากที่สุด  คือ  พื้นที่ภาคใต้  ได้แก่  จังหวัดสงขลาที่พบมากที่สุด  รองลงมาคือจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดอื่นๆ

     ตาลโตนดถือได้ว่ามีความสำคัญในฐานะเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่งของภาคใต้  โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ราบทางฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพรเรื่อยมาจนถึงพัทลุง สงขลาและปัตตานีในอำเภอสทิงพระ  จังหวัดสงขลาพบว่า  พื้นที่นา 1 ไร่ มีต้นตาลโดยเฉลี่ยประมาณ 20-110 ต้น โดยการสำรวจข้อมูลในปี 2525 พบว่าอำเภอสทิงพระ พบว่ามีต้นตาลโตนดจำนวนมากถึง 500,000 ต้น (โครงการแนวทางการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ภายใต้วิถี โหลด-นา-เลในคาบสมุทรสทิงพระ,  (มปป.))

     ความสำคัญของต้นโตนดจึงอาจกล่าวได้ว่ามีส่วนสำคัญในการหล่อเลี้ยงผู้คนในคาบสมุทรสทิงพระและสมาชิกในชุมชน ต.ท่าหินมาโดยตลอด  ก่อเกิดเป็นวิถีโหลดและภูมิปัญญาในการจัดการที่สั่งสมจนมาถึงปัจจุบัน  โดยประโยชน์ที่ผู้คนได้รับจากตาลโตนด ไม่ได้มีเฉพาะแค่น้ำตาลเพียงอย่างเดียว แต่สามารถนำมาแปรรูปเป็นน้ำส้มหมัก น้ำหวาก(เหล้าพื้นบ้าน)  โดยที่เกือบทุกส่วนของตาลโตนดมีประโยชน์  ไม่ว่าจะเป็นลูกตาลที่นำมาทำขนมขายหรือลูกตาลอ่อนที่เป็นผลผลิตสร้างรายได้หรือนำมาประกอบอาหารได้อย่างหลากหลาย  กาบหรือกิ่งก็สามารถนำมาทำฟืน  เนื้อไม้สามารถนำมาสร้างบ้านหรือทำสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ รากของตาลโตนดยังใช้เป็นยารักษาโรคบางชนิดได้ จึงทำให้เกิดกลุ่มผลิตภัณฑ์จากตาลโตนดขึ้นมามากมาย  มีการส่งเสริมเรื่องของตาลโตนด การคิดค้นผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด เกิดเป็นกลุ่มอาชีพที่หลากหลาย ก่อให้เกิดเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชนอย่างมีนัยความสำคัญ ซึ่งพบว่าในหลายครัวเรือนมีรายได้หลักมาจากการใช้ผลผลิตจากต้นตาลโตนด จึงถือได้ว่าตาลโตนดเป็นพืชที่มีบทบาทสำคัญในการหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจของครัวเรือนในคาบสมุทรสทิงพระ

     ปัจจุบันพบว่าสมาชิกชุมชนในคาบสมุทรสทิงพระ มีวิถีการดำรงชีวิตอยู่ 3วิถี คือ วีถีการเก็บหาใช้ประโยชน์จากต้นตาลโตนด วิถีการทำนาและวิถีอาชีพการประมง ซึ่งไพฑูรย์ ศิริรักษ์ อธิบายถึงวิถีในแต่ละด้านและความสัมพันธ์ระหว่างวิถีไว้อย่างน่าสนใจกล่าวคือ

…ชาวชุมชนบนคาบสมุทรสทิงพระ หรือ “ชาวบก” ในอดีต จะมีวิถีการทำมาหากินอยู่ ๓ วิถี คือ วิถีอาชีพการขึ้นโหนดคาบตาลเอาน้ำหวาน วิถีอาชีพการทำนา และวิถีอาชีพการออกทะเลหาปลา เรียก ๓ วิถีอาชีพนี้ว่า สามเกลอหัวแข็ง” เพราะสามารถสืบทอดต่อกันมานานนับ ๑,๐๐๐ ปี และใน ๓ วิถีอาชีพนี้จะจับคู่ทำร่วมกันได้อยู่ ๒ คู่อาชีพ คือ วิถีการทำนา จะทำคู่กันกับขึ้นโหนด หมดหยาม(ฤดู)การทำนา ก็จะเริ่มขึ้นโหนดคาบตาล และ วิถีออกเลหาปลา สามารถทำคู่กับวิถีการทำนา ไม่ปรากฏหรือพบว่า วิถีการขึ้นโหนด ทำคู่กับการออกเลหาปลา เป็นเพราะฤดูกาล และวิถีอาชีพโดยธรรมชาติเป็นกรอบกำหนด ในวิถี โหนด-นา-เล ของผู้คนในชุมชนบนคาบสมุทรสทิงพระ...

     จากการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การศึกษาและวัดค่าการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ในภูมิทัศน์ โหนด นา เล จ.สงขลา” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมบทบาทและพัฒนาศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น ได้เข้าใจถึงความสำคัญและบทบาทของต้นไม้ในการกักเก็บคาร์บอนและลดปัญหาภาวะโลกร้อน พัฒนาการเรียนรู้ของชุมชนในด้านการใช้เครื่องมือที่พิสูจน์ถึงบทบาทของชุมชนในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ด้วยวิถีที่ผูกพัน  พึ่งพิงและใช้ประโยชน์แล้วยังสามารถมีส่วนในการบรรเทาปัญหาปรากฏการณ์เรือนกระจกและนำไปสู่การขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป พบว่า

     นอกจากบทบาทของต้นโตนดในเรื่องประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของชุมชนแล้ว  บทบาทที่สำคัญอีกประการของต้นตาลโตนดคือบทบาทในทางระบบนิเวศน์และการมีส่วนช่วยในการกักเก็บคาร์บอนลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ  ซึ่งจากการศึกษาด้วยวิธีวัด สต็อกของคาร์บอนโดยตรง(Stock based approach) จากมวลชีวภาพที่มีชีวิต (living biomass) ซึ่งในที่นี้คือ ต้นตาลโตนด พบว่า

     โดยเฉลี่ยต้นตาลโตนดในพื้นที่ ตำบลท่าหิน มีความสูงเฉลี่ยต้นละ 10.84 เมตร โดยสามารถคิดเป็นน้ำหนักแห้งได้ 84.12 กิโลกรัม/ต้น เป็นค่าคาร์บอนที่ต้นตาลโตนดเก็บกักไว้ที่ 42.06 กิโลกรัม/ต้น จากข้อมูลที่มีการสำรวจจำนวนต้นตาลในพื้นที่ ต.ท่าหิน พบว่ามีต้นตาลโตนดที่มีความสูงเกิน 5เมตร ซึ่งเป็นความสูงที่ต้นตาลโตนดสามารถให้ผลผลิตได้ ประมาณ 300,000ต้น

     โดยที่ผ่านมาจะพบว่าต้นตาลโตนดใน ต.ท่าหิน กว่า 300,000ต้น สามารถกักเก็บปริมาณคาร์บอนไว้ได้ที่ 12,618,000กิโลกรัม หรือ 12,618ตัน และจากการประเมินบทบทของต้นตาลโตนดในอนาคต 1ปี ในเรื่องการกักเก็บคาร์บอนและการผลิตออกซิเจนจะพบว่า ในระยะเวลา 1 ปี ต้นตาลโตนดจะมีการเติบโตโดยมีค่าความสูงเฉลี่ยที่ 50เซนติเมตร/ต้น

     

      เพราะฉะนั้นใน 1ปีข้างหน้า น้ำหนักแห้งของต้นตาลโตนดในเขต ต.ท่าหิน จะเพิ่มขึ้น 3.84 กิโลกรัม/ต้น โดยคิดเป็นคาร์บอนที่กักเก็บได้ 1.92 กิโลกรัม/ต้น คิดเป็นการปริมาณการปลดปล่อยปริมาณออกซิเจน (O2)ที่ 5.12 กิโลกรัม/ต้น/ปี หรือ1,536ตัน/300000ต้น/ปี โดยเป็นปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ต้นตาลโตนดกักเก็บไว้ไม่ปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนกว่า 2,112ตัน/300,000ต้น/ปี  ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของบทบาทต้นตาลโตนดในภูมิทัศน์คาบสมุทรสทิงพระได้เป็นอย่างดี  ว่านอกจากจะมีบทบาทในการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากและความมั่นคงด้านอาหารของชุมชนแล้ว ต้นตาลโตนดในฐานะที่เป็นเพียงหย่อม (Patch) และทางเชื่อมระบบนิเวศน์พื้น (background ecosystem) ที่เป็นนาข้าว มีความสำคัญในฐานะการเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนและการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสามารถมีส่วนในการบรรเทาปัญหาปรากฏการณ์เรือนกระจก แก้ไขภาวะปัญหาภาวะโลกร้อน ได้อย่างมีนัยสำคัญ

     แต่อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ปัจจุบัน จากการพัฒนาตามแนวคิดเพื่อนำไปสู่ความทันสมัย มุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  ที่ล้วนก่อให้เกิดเป็นวิกฤตการณ์พัฒนา  ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ  สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ฐานทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมลงอย่างเห็นได้ชัดเจน  ข้าวได้ผลผลิตไม่ดี  ราคาผลผลิตตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง วิถีตาลโตนดซึ่งมีความผูกพันกับชุมชนในคาบสมุทรสทิงพระ  ได้รับการละเลย  ไม่มีการสืบทอด  ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาลดลงประกอบกับทะเลสาบตื้นเขิน ระบบนิเวศน์เสื่อมโทรม  ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในการดำรงชีวิตของชุมชน  ความมั่นคงทางอาหารได้รับผลกระทบวิถีชีวิตผูกติดกับตลาดมากขึ้น  สมาชิกในชุมชนต่างต้องดิ้นรนเพื่อให้สามารถดำรงชีวิต  เลี้ยงดูครอบครัวให้อยู่รอด  ภายใต้สถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้น  บางครอบครัวต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเขตเมือง  ส่งผลทำให้เกิดปัญหาการขาดแรงงานในอาชีพการทำนา  ทำตาลโตนด ทำประมงน้อยลง  ก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว  ยาเสพติดตามมา

     สภาพการณ์ในข้างต้น  ส่งผลทำให้ผู้นำและสมาชิกในชุมชนร่วมกันคิดค้นหาทางในการจัดการปัญหาผ่านกระบวนการจัดทำแผนชุมชน  ที่มุ่งเน้นถึงความสำคัญในการฟื้นฟูทรัพยากรตาลโตนด  นาข้าว  สัตว์น้ำ ในทะเลสาบสงขลา การรวมกลุ่มทำอาชีพเสริมแปรรูปตาลโตนด การจัดทำแนวเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ  การฟื้นฟูระบบการทำนา  การใช้เมล็ดพันธุ์ในท้องถิ่นและการใช้สารชีวภาพในการดูแล  เพื่อนำไปสู้ความมั่นคงทางอาหารและวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น  พัฒนาอาชีพในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และฟื้นฟูประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญาของชุมชน  โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน  ที่นำไปสู่การกลับคืนมาสู่ความยั่งยืน บนรากฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในวิถีวัฒนธรรม โหนด-นา-เล แห่งคาบสมุทรสทิงพระ

     บทบาทของภูมิทัศน์จึงมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในขอบเขตบริเวณพื้นที่ภูมิทัศน์นั้นตั้งอยู่  ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ว่าทั้งในด้านใด ย่อมส่งผลกระทบเชื่อมโยงไปสู่มิติอื่นๆ ควบคู่กัน เพราะฉะนั้นการรักษา ฟื้นฟู ดูแลเฉพาะพื้นที่ทรัพยากรที่เป็นป่า  แหล่งน้ำหรือการอนุรักษ์ดิน  เพียงอย่างเดียวย่อมมิอาจส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ  รวมทั้งไม่สามารถรักษาบทบาทความสำคัญของภูมิทัศน์ในการตอบสนองต่อการดำรงชีวิตได้อย่างปรกติ หากเพียงแต่ต้องพิจารณาถึงระบบนิเวศน์พื้น(Background ecosystem) หย่อม (patch) และทางเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่บริเวณต่างๆ ในภูมิทัศน์เข้าด้วยกัน ซึ่งในกรณีของ ต.ท่าหินคือพื้นนาและต้นโตนด พื้นที่ทะเลสาบและพื้นที่รอบทะเลสาบ รวมทั้งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น

     ซึ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ ระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนที่นำสู่การเสริมสร้างอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง  สังคม รวมทั้งสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ตามนิยามความหมาย สัมมาชีพชุมชน” อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและเป็นฐานเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศชาติต่อไป...

 

บรรณานุกรม

โครงการแนวทางการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ภายใต้วิถี โหนด นา เลในคาบสมุทรสทิงพระ.(มปป.). วิถีชีวิตผู้คนภายใต้วิถีโหลด นา เล. สืบค้นวันที่ 14 มีนาคม 2559, จาก http://www.nodnalay.com

เจตน์สฤษฏิ์ สังขพันธ์ และคณะ. (2558).คนขึ้นตาล กับความมั่นคงทางอาหารภายใต้วิถีโหนดในคาบสมุทรสทิงพระ.มหาวิทยาลัยหาดใหญ่.บทความวิชาการ,สงขลา

ปรีดา  คงแป้น.(มปป.).รักษ์ชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม : ชาวท่าหินปรับตัวรับมือภัยพิบัติ เพื่อคงวิถี ‘โหลด นา เล’. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559, จากhttp://www.komchadluek.net/detail/20150913/213247.html

พูนทรัพย์ ศรีชู.(2557).โครงการวิจัยการส่งเสริมวิถีวัฒนธรรมโหนด-นา-เล คาบสมุทรสทิงพระ.ชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วิถีโหนด-นา-เล.รายงานวิจัย, สงขลา

ไพฑูรย์  ศิริรักษ์.(มปป.).วิถีโหนด-นา-เล ภูมิปัญญาชาวบก บนคาบสมุทรสทิงพระ.สืบค้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2559, จาก http://www.gotoknow.org/posts/466755

สมศักดิ์  สุขวงศ์.(มปป.). ภูมิทัศน์ความมั่นคงทางอาหาร. สืบค้นเมื่อวันที่14มีนาคม 2559, จากhttp://www.sathai.org/autopagev4/show_page.php?topic_id=1099&auto_id=23&topicPk

สมศักดิ์  สุขวงศ์.(2551). ภูมิทัศน์วัฒนธรรมกับโลกใบนี้. คณะทำงานรางวัลลูกโลกสีเขียว  บริษั ปตท.จำกัด(มหาชน),กรุงเทพฯ

“สทิงพระ” เมืองอู่ข้าวอู่น้ำของสงขลา บนพื้นที่คาบสมุทรอันอุดมสมบูรณ์. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 , จาก http://furd-rsu.org/?page_id=340

 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube