สัมมาชีพชุมชน เมื่อพูดถึงเรื่องสัมมาชีพชุมชน หลายคนอาจนึกไม่ออกว่า หมายถึงอะไรกันแน่ บ้างก็คิดว่าเป็นเรื่องการประกอบอาชีพที่สุจริต บ้างก็คิดว่าเป็นเรื่องการทำงานที่ไม่โกงไม่กิน ไม่ทุจริต แท้จริงความหมายของคำว่า “สัมมาชีพ” นั้น อาจเทียบได้กับความหมายของคำว่า “สัมมาอาชีวะ” ๑ ในมรรค ๘
เมื่อพูดถึงคำว่า “มรรค ๘” ทุกท่านที่นับถือพุทธศาสนาย่อมเข้าใจว่าหมายถึง หนทาง
ถึงความดับทุกข์ เป็นส่วนหนึ่งของอริยสัจ หรือการลงมือปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์ และนับเป็นหลักธรรมสำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยกรอบการปฏิบัติ ๘ ประการด้วยกัน เรียกว่า “มรรคมีองค์แปด” หรือ “มรรคแปด” คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ
โดยคำว่า “สัมมาอาชีวะ” หมายถึง “การประกอบอาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมายเลี้ยงชีพโดยชอบธรรม ทำด้วยความสุจริต และถูกต้องตามหลักศีลธรรม” ฉะนั้น คำว่า “สัมมาชีพ” จึงยึดแนวความหมายของคำว่า “สัมมาอาชีวะ” ข้างต้น โดยมีความหมายว่า “การทำมาหากินโดยไม่ได้เอากำไรสูงสุดเป็นตัวตั้งหรือเป็นเป้าหมายสุดท้าย และต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมทางสังคม กล่าวคือ ความสุขของตนและคนทำงานรวมถึงประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้รับบริการหลัก โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่มุ่งไปกระตุ้นตัณหา
อันเป็นเหตุแห่งทุกข์” ซึ่ง นพ.ประเวศ วะสี ได้ให้ความหมายที่สั้นกระชับว่าหมายถึง “อาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้” และหากนำมารวมกับคำว่า “ชุมชน” เป็น “สัมมาชีพชุมชน” จึงหมายถึง “ชุมชนที่มีการประกอบอาชีพโดยชอบ ซึ่งมีรายได้มากกว่ารายจ่าย โดยลดการเบียดเบียนตนเองผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ต้องมีความสอดคล้องกับวิถีของชุมชนเพื่อความมุ่งหมายในการสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชน”
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้มีการริเริ่มอาสานำร่องเพื่อดำเนินการพัฒนาที่มุ่งผสานพลังด้านบวกขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ๓ บริษัท กับชุมชนเข้มแข็ง ๕ ตำบล ในชื่อ"หนึ่งตำบล หนึ่งบริษัท" โดยมูลนิธิสัมมาชีพเป็นองค์กรประสาน ได้ข้อค้นพบที่สำคัญคือกระบวนการพัฒนาร่วมกันทุกภาคส่วนโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area base collaborative development) เป็นหัวใจของความสำเร็จในพื้นที่ตำบลมีปัจจัยภายในที่เกี่ยวข้อง ๓ ประการ คือ (๑) ผู้นำทั้ง ๔ ภาคส่วน (จตุพลัง) คือ ผู้นำธรรมชาติ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และหน่วยราชการในพื้นที่ ร่วมกันคิดเรื่องการพัฒนา (๒) ใช้ข้อมูลที่คนในชุมชนร่วมกันทำ และ แปลงเป็นแผนในการบริหารการพัฒนาของชุมชน (๓) คนในชุมชน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ ร่วมเรียนรู้ และร่วมตรวจสอบ กระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ และทำให้การผสานพลัง สร้างเศรษฐกิจฐานล่างที่ยั่งยืนได้จริง คือ กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่องผ่านการปฏิบัติ (Interactive learning though action) เป็นการผสานพลังของวิถีที่แตกต่างกันของวิถีธุรกิจ เข้าไปเติมเต็มวิถีชุมชน โดยถือหลักปฏิบัติที่สำคัญ คือ "ไปหาชาวบ้าน อยู่กับเขา เรียนรู้จากเขา วางแผนกับเขา ทำงานกับเขา เริ่มจากสิ่งที่เขารู้ สร้างจากสิ่งที่เขามี สอนโดยชี้ให้เห็น เรียนจากการทำ” (ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์)
กระบวนการนี้ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยน Mind set และ skill set ที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกแบบมีจุดยืนในภาคชุมชน ขณะเดียวกัน ผู้นำในภาคธุรกิจของทั้งสามบริษัท เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่เน้นการลดความเหลื่อมล้ำ ไปสู่ “ความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจสู่ความยั่งยืนของการพัฒนา” (sustainable business in sustainable development) นั่นคือการริเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีปฏิบัติ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันระหว่างธุรกิจและชุมชน จะเห็นได้ว่ามีหน่วยงาน และองค์กรทั้งที่เป็นภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ประชาสังคมและองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่ไม่แสวงหากำไรมากมายที่ลงไปทำงานสนับสนุนชุมชนในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และสามารถผนึกกำลังกันส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดระบบสัมมาชีพชุมชนได้ หากมีการทำงานแบบบูรณาการและสานพลังเป็นภาคียุทธศาสตร์กันได้
การขับเคลื่อนแนวคิดสัมมาชีพชุมชน ถูกนำสู่การปฏิบัติผ่าน โครงการ “๑ ตำบลสัมมาชีพ ๑ บริษัท CSR” เป็นการต่อยอดงานพัฒนาเดิมหรือศักยภาพของชุมชนให้เกิดรูปธรรม และพร้อมที่จะขยายสู่ “สัมมาชีพเต็มพื้นที่” คือ ชุมชนมีรายได้มากว่ารายจ่าย ลดการเบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม โดยให้ภาคธุรกิจเข้าไปสนับสนุนชุมชนในเรื่องที่ชุมชนยังขาดอยู่ เช่น ด้านการตลาด การบริหารจัดการ เป็นต้น โดยมีพื้นที่นำร่อง ๕ ตำบล ได้แก่ (๑) ตำบลโพนทอง จังหวัดชัยภูมิ (๒) ตำบลเขาถ่าน จังหวัดสุราษฎร์ธานี (๓) ตำบลบางสน จังหวัดชุมพร (๔) ตำบลบัวใหญ่ จังหวัดน่าน และ (๕) ตำบลแจงงาม จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ โดยมีภาคธุรกิจที่สนใจและเข้าร่วม ๓ บริษัท ได้แก่ (๑) บริษัท ไทยเบเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (๒) บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเช่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) (TUF) และ (๓) บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด โดยมีมูลนิธิสัมมาชีพทำหน้าที่ในการจับคู่ (Matching) หรือเป็นพ่อสื่อแม่ชักระหว่างบริษัทดังกล่าวกับ พื้นที่ที่มีความพร้อม ประกอบด้วย (๑) ผู้นำร่วมมือกันได้ดี (จตุพลังในการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่น) (๒) มีแผนชุมชน/แผนแม่บทชุมชน (๓) มีความสัมพันธ์ของคนในชุมชน (หัวบ้าน-ท้ายบ้านถึงกัน) และ (๔) ภาคธุรกิจที่มีความสามารถในการผลิตและการตลาดที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนท้องถิ่น
ตำบลบางสน อำเภอประทิว จังหวัดชุมพร แบ่งการปกครองเป็น ๘ หมู่บ้าน คือ บ้านหน้าทับ บ้านดอนตะเคียน บ้านเกาะเสม็ด บ้านบางเสียบ หัวนอน บ้านคอกม้า บ้านบางสน (ตัวเมืองปะทิว) และบ้านแหลมยาง มีประชากรประมาณ ๓,๑๓๗ คน แยกเป็นชาย ๑,๖๑๕ คน หญิง ๑,๕๒๒คน ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปมีลักษณะแบบลูกคลื่นลอนลาด มีภูเขาน้อยใหญ่ทางทิศตะวันตกและทางทิศใต้ (ส่วนใหญ่เป็นภูเขาดิน) และถ้ำสวยงาม ๑ แห่ง คือ ถ้ำนางทอง และชุมชนกำลังพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ส่วนทางทิศเหนือเป็นที่ราบ และทิศตะวันออกจะเป็นที่ราบติดชายฝั่งทะเล มีชายหาดและอ่าวที่สวยงาม เช่น อ่าวหน้าทับ อ่าวบางสน เป็นต้น โดยมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ๒ หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๘ ส่วนหมู่ที่ ๒ เป็นพื้นที่ที่มีลำคลอง เรียกว่า คลองบางสน – ท่าชันมีพื้นที่เชื่อมต่อกับชายฝั่งทะเลปากคลองบางสนของหมู่ที่ ๑ สภาพพื้นที่ด้านในทางฝั่งทิศตะวันออก และลำคลองยังเป็นที่หลบลมให้กับเรือประมง และมีพื้นที่ป่าชายเลนทั้ง ๒ ริมฝั่งคลอง ทำให้ชุมชนในพื้นที่ดังกล่าวประกอบอาชีพได้ทั้งสองอย่าง คือ อาชีพประมงชายฝั่ง และอาชีพเกษตรกรรม รายได้จากการประกอบอาชีพประมงเฉลี่ยต่อครอบครัวประมาณปีละ ๑๕๐,๐๐๐ – ๒๕๐,๐๐๐ บาท จากการทำการเกษตรกรรม ประมาณปีละ ๑๒๐,๐๐๐ – ๒๐๐,๐๐๐ บาท และจากการค้าขายแบบธุรกิจชุมชน ประมาณปีละ ๑๒๐,๐๐๐ – ๒๐๐,๐๐๐ บาท
อ่าวทะเลปะทิว ประกอบไปด้วย ๔ ตำบล ได้แก่ ตำบลปากคลอง ตำบลชุมโค ตำบลบางสนและตำบลสะพลี โดยมีความยาวของแนวชายฝั่งประมาณ ๖๒ กิโลเมตร มีระบบนิเวศป่าชายเลนที่สำคัญในพื้นที่ตำบลปากคลองและปากคลองบางสน ตำบลบางสน ระบบนิเวศเกาะต่าง ๆ อีกทั้งยังมีแนวกำแพงหินธรรมชาติที่เป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งหากิน วางไข่ ของสัตว์ทะเล และระบบนิเวศชายฝั่งทะเลที่มีความหลากหลายระบบ อีกทั้งชายฝั่งทะเลปะทิวยังมีชุมชนที่เห็นความสำคัญของพื้นที่ได้รวมกลุ่มกันในการปกป้อง รักษา ดูแลเฝ้าระวังทรัพยากรทางทะเลอย่างสม่ำเสมอ ตัวบ่งชี้ถึงความสำคัญของชายฝั่งทะเลปะทิว คือ ความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของหอยมือเสือ ซึ่งสัตว์ทะเลชนิดนี้ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีความบริสุทธิ์และความอุดมสมบูรณ์ของทะเลเท่านั้นถึงจะมีสัตว์น้ำชนิดนี้ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ชนิดนี้ชุมชนชายฝั่งตำบลชุมโค ได้จัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์หอยมือเสือ เพื่อเฝ้าระวัง อนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรหอยมือเสือให้อยู่คู่กับอ่าวทะเลปะทิว สัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ ที่สามารถบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของชายฝั่งทะเลอ่าวปะทิว ได้แก่ ปลาโลมา ปลาฉลามวาฬ ปลาฉลาม เต่าทะเลและพยูน อีกทั้งการที่ชุมชนชาวประมงในพื้นที่สามารถที่จะจับสัตว์น้ำได้เยอะอย่างต่อเนื่องของสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น ปูม้า ปลาทู ปลาตระกูลสีกุน ปลาอินทรีย์ ปลาสาก ปลาทราย ปลาโฉมงาม และปลาเก๋า เป็นต้น
ในช่วงครึ่งปีหลังของปี ๒๕๕๖ โครงการวิถียั่งยืนของชุมชนชายฝั่งตำบลบางสน และโครงการทียูเอฟ ชายด์ แคร์ เซนเตอร์ จังหวัดสมุทรสาคร เป็นการลงทุนเพื่อชุมชนตามแผนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ทางบริษัทจึงได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิสัมมาชีพในการสร้างสัมมาชีพชุมชน เพื่อเป็นการตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนที่เป็นความท้าทายสองประการหลักที่บริษัททียูเอฟเผชิญอยู่ คือ การประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ยั่งยืน และจริยธรรมต่อแรงงาน ด้วยงบลงทุนเบื้องต้นกว่า ๓.๑ ล้านบาท ด้วยประสบการณ์ที่มีมาอย่างยาวนานในฐานะหนึ่งผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลกและตระหนักดีว่าความยั่งยืนทางธุรกิจของบริษัท การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม และคุณภาพสิ่งแวดล้อม มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไม่อาจแยกได้ โดยให้นิยามความยั่งยืนของบริษัท หมายถึง ศักยภาพทางธุรกิจในการส่งเสริมพัฒนาการทางสังคม และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในระยะยาว ซึ่งบริษัทใช้เป็นกรอบความคิดที่ทำให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ และเส้นทางเดินไปสู่อนาคต
ด้วยความคิดในการทำงานร่วมกับชุมชนชายฝั่งที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์ร่วมจากทรัพยากรทางทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่หล่อเลี้ยงมนุษยชาติ และเป็นแหล่งวัตถุดิบหลักของทียูเอฟ โครงการพัฒนาวิธีที่ยั่งยืน
จึงเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชนในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ วางแผนและออกแบบเส้นทางสู่ความยั่งยืน ภายใต้บริบทความยั่งยืนที่ประกอบด้วยเศรษฐกิจชุมชน ทรัพยากรท้องถิ่น และวิถีชนบท ผลการดำเนินการปีที่หนึ่งเป็นที่น่าพอใจ เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะผู้รับผิดชอบโครงการของทียูเอฟ มีความแตกฉานทั้งแนวทางและวิถีปฏิบัติ และภาคชุมชนที่สามารถใช้จุดแข็งของภาคธุรกิจและภาคส่วนต่าง ๆ มาเติมเต็มแผนและแนวทางที่ยั่งยืนของชุมชนได้อย่างดีเกินคาด
ต่อมาเมื่อปี ๒๕๕๗ ได้มีกลุ่มนักธุรกิจจิตอาสา ได้รับทราบความต้องการของชาวบ้านตำบลบางสนในการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะปลาชนิดต่างๆ ให้กลับคืนมายังอ่าวบางสน รวมถึงเต่าทะเล ซึ่งเคยมาวางไข่ที่เกาะไข่ แต่ปัจจุบันลดน้อยลงมาก จึงได้เกิดเวทีพูดคุยร่วมกันระหว่างกลุ่มแกนนำชาวบ้าน กลุ่มนักธุรกิจจิตอาสา จาก (๑)สำนักงานพัฒนาสหกรณ์ สหกรณ์ออมทรัพย์กรมสรรพาวุธทหารเรือ จำกัด (๒) มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (๓) มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร และ (๔) บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้เกิด “โครงการมัจฉาสตรีท” ขึ้น เพื่อสร้างปะการังให้เป็นที่พักพิงของสัตว์น้ำวัยอ่อน และการฟื้นฟูปะการังใต้น้ำ เพื่อให้อ่าวบางสน กลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชนตามที่ชุมชนได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่ยั่งยืน บนฐานเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชิตและสิ่งแวดล้อม ปี ๒๕๕๗ – ๒๕๖๕ ซึ่งมีวิสัยทัศน์ว่า “บางสนน่าอยู่ : ด้วยพลังปัญญา พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฟื้นฐานทรัพยากรที่ยั่งยืน ให้มวลประชาอยู่เย็นเป็นสุข” ซึ่งจากการวิเคราะห์ศักยภาพชุมชนร่วมกันพบว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นสิ่งที่น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้เพราะตรงกับความต้องการของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
สิ่งที่เกิดขึ้น คือการขยายกลุ่มและการทำงานด้านการท่องเที่ยว จนเกิดเป็นเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชน จากเดิมกระจัดกระจายของใครของมัน ปัจจุบันมีการประสานการทำงานทั้งกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มโฮมสเตย์ เครือข่ายเด็กและเยาวชน เครือข่ายประมงชายฝั่ง ที่จะร่วมกันสร้างเศรษฐกิจของชุมชนร่วมกัน สิ่งที่ชุมชนขาดได้รับการเติมเต็มจากภายนอก เช่น การสร้างอาชีพ การพัฒนากลุ่มดำน้ำ เพื่อพานักท่องเที่ยวดำนำไปยังเกาะไข่โดยกลุ่มเด็กและเยาวชน การแปรรูปสินค้าพื้นบ้านของกลุ่มสตรีเพื่อจำหน่ายและเป็นอาหาร สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาพักโฮมเสตย์ การฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมของชุมชนเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทำให้เกิดการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยศักยภาพของสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ที่ดูเหยี่ยวอพยพที่เขาดินสอ ถ้ำนางทอง หาดทรายที่อ่าวบางสนซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่บริสุทธิ์ ประกอบกับอยู่ใกล้สนามบินชุมพร ทำให้ทุกฝ่ายเห็นโอกาสร่วมกันในการสร้างเศรษฐกิจชุมชนร่วมกัน
นับจากนี้ การขับเคลื่อนระบบสัมมาชีพชุมชนที่ได้ก่อตัวขึ้นที่ตำบลบางสนแล้วนั้น กำลังขยับขับเคลื่อนไปด้วยกัน เข้มบ้าง อ่อนบ้างในแต่ละกลุ่ม ตามความสนใจและการรับรู้ของคนบางสน สิ่งที่จะสะท้อนความสำเร็จของชุมชนก็คือ เศรษฐกิจโดยรวมของคนบางสน แต่สิ่งที่จะวัดได้โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมือที่ซับซ้อนคือ คนบางสนลดการเบียดเบียนตนเอง ลดการเบียดเบียนผู้อื่น และลดการเบียดเบียนสิ่งแวดล้อมได้จริงหรือไม่ เป็นคำถามที่คนบางสน ทีมผู้ประสานงาน นักธุรกิจจิตอาสา และมูลนิธิสัมมาชีพจะต้องช่วยกันค้นหาคำตอบร่วมกันต่อไป