-คุยเรื่องหนักๆ กันบ้าง ว่าด้วยปัญหาที่ดินในเมืองแบบภาพใหญ่ ที่ทุกวันนี้เราปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอยู่ฝ่ายเดียว ถึงมันจะทำงานได้ดี เราก็ปล่อยให้มันทำงานอยู่ฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้ว คนที่ไม่มีกำลังซื้อจะกลายเป็นเหยื่อของกลไกตลาด-
เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
เราพูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่ชุมชนริมคลองลาดพร้าวกำลังเผชิญกันไปแล้วในหลายองศา เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ ที่หยิบจับมาปะติดปะต่อกันจนเห็นเค้าร่างของปัญหาเรื่องที่ดินและที่อยู่อาศัยในเมือง คราวนี้เราจะมาดูภาพใหญ่ในมิติเชิงนโยบายและการจัดการที่ดินและที่อยู่อาศัยของบ้านนี้เมืองนี้ เมื่อนำภาพเล็กกับภาพใหญ่มาประกบกัน เราคงเห็นปัญหาได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น
เราเลือกที่จะสนทนาข้ามโลกผ่านสไกป์กับ ผศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ อาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ ‘ปริทัศน์สถานภาพความรู้ เศรษฐกิจที่ดินของประเทศไทย’ ซึ่งเริ่มต้นอธิบายว่า ปัญหาที่ดินกับคนจนในเมืองสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของนโยบายของรัฐในเรื่องที่ดินกับที่อยู่อาศัยในเมือง ที่เมื่อก่อนรัฐค่อนข้างจะเป็นตัวหลักในการจัดหาที่ดินและที่อยู่อาศัยให้กับคนที่ด้อยโอกาส
“คนด้อยโอกาสอาจจะไม่ใช่คนจนจริง เพราะคนจนเมื่อก่อนอยู่ในชนบทเป็นหลัก นโยบายที่ดินสำหรับคนจนสมัยก่อนจะไปพร้อมกับนโยบายที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนั้น ที่ดินสมัยก่อนเวลาพูดถึงที่ดินในเมืองและที่อยู่อาศัยจึงรู้สึกว่าเป็นนโยบายสำหรับชนชั้นกลาง”
ครั้นเมื่อเมืองเติบโตและพัฒนาเร็วขึ้น ความพยายามของรัฐในการจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับคนจนเมืองก็เริ่มลดน้อยลง เป็นความตั้งใจหรือไม่ ผศ.ดร.อภิวัฒน์ บอกว่า ตอบได้ยาก แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ ที่อยู่อาศัยและที่ดินในเมืองถูกปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกลไกตลาดในการจัดสรร
“คนจนในเมืองก็ต้องเป็นคนรับเคราะห์ ตลาดจัดสรรให้เท่าไหร่ก็แค่นั้น ส่วนคนที่หาไม่ได้ตามกลไกตลาดก็ต้องดิ้นรนไป”
ผศ.ดร.อภิวัฒน์ เพิ่มเติมว่า ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่ากลไกตลาดเลวร้าย อันที่จริงกลไกตลาดช่วยให้เกิดการสร้างที่อยู่อาศัยจำนวนมากได้ดีกว่ารัฐและช่วยคนจนได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องเป็นคนจนที่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวและมีกำลังซื้อในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของกลไกตลาดอยู่ที่มันผลักราคาที่ดินจนสูงขึ้นมาก ที่อยู่อาศัยในราคาที่พอเอื้อมถึงจึงต้องขยับออกไปไกลจากตัวเมืองและแหล่งงาน
“กลไกตลาดจึงทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถอยู่ใกล้ที่ทำงานได้ เพราะรัฐไม่ได้คิดไว้ก่อนว่าคนเหล่านี้ต้องอยู่ในเมือง จึงไม่มีที่ดินของรัฐในเมืองที่จะพัฒนาได้ กลายเป็นเหยื่อของกลไกตลาด สำหรับผมตรงนี้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำอะไรสักอย่างให้คนแหล่งงานได้”
ยังไม่รวมถึงคนที่อยู่ในชุมชนแออัดที่คุณภาพที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมไม่ดีที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ซึ่งยังมีอยู่หลายแห่ง แต่รัฐและกลไกตลาดก็ไม่สามารถจัดการได้
ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่
เฟสบุค Khon-Kool-Klong
https://www.facebook.com/KhonKoolKlong