-ชีวิตคนทำความสะอาดคลองตื่นตีห้า เก็บกวาดขยะในคูคลอง 2 ตันต่อวัน กับคนที่ทำงานในคลอง พวกเขาเห็น ‘ขยะ’ ต่างจากที่ใครๆ เห็น และกับเทศกาลลอยกระทงที่กำลังมาถึง พวกเขาก็พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่กับคำขอเล็กๆ ที่ฝากมาถึงทุกคน-
เรื่อง-ทวีศักดิ์ เกิดโภคา
“เมื่อก่อนก็เคยเข้าใจว่า คนริมคลองนี่แหละที่ทิ้งขยะ ทำให้น้ำเน่าเสีย แต่จริงๆ มันไม่ใช่ คลองสายหนึ่งมันยาว ขยะมันก็ไหลมาตามน้ำ คนนั้นที่หนึ่ง คนนี้ทิ้งที่หนึ่ง คนเดินผ่านคลองบางคนมักง่ายก็ทิ้งลงคลองไป พอมารวมกันเข้ามันก็เยอะ จะไปโทษแต่คนริมคลองอย่างเดียวไม่ได้” พี่แหวน เพ็ชรตระกั่ว เจ้าหน้าที่งานรักษาความสะอาด ชำนาญงาน สำนักงานเขตห้วยขวาง บอกเล่า
นั้นเป็นมุมมองของคนที่ทำอาชีพเก็บขยะจากคลอง พี่แหวนเล่าให้เราฟังต่อไปว่า คนเราทุกคน ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว เราเหมือนกันตรงที่เราผลิตขยะกันทุกวัน จะแตกต่างกันก็เพียงใครจะมีวินัยในการทิ้งขยะมากกว่ากันเท่านั้น
ใกล้เคียงกันกับพี่ภูริ พนักงานเก็บขนทั่วไป ซึ่งคือผู้ปฏิบิตงานเก็บขยะทางน้ำ เขาเห็นว่า ชุมชนริมคลองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น้ำเสีย แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะน้ำเสียที่ลงมาอยู่ในคลองไม่ได้มาจากชุมชนริมคลองแต่เพียงเท่านั้น แต่มาจากหลายที่เพราะท่อระบายน้ำทุกที่ในกรุงเทพ จะไหลมาลงคลองทั้งหมด ไม่คลองใดก็คลองหนึ่ง
สำหรับการจัดเก็บขยะในแต่ละวันจะเริ่มต้นในเวลาตีห้า ส่วนรายละเอียดของงานจะแตกต่างกันไปในแต่ละว่า พี่ภูริเล่าให้ฟังว่า เรือเก็บขยะของสำนักงานเขตห้วยขวางมีทั้งหมด 3 ลำ โดยจะแบ่งกันไปในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ
ในส่วนที่พี่ภูริดูแลอยู่นั้น งานหลักจะเป็นการเก็บขยะตามบ้านเรือน งานที่เสริมเข้ามาคือการเก็บของใหญ่ เช่น ตู้ เตียง โซฟาที่เจ้าของไม่ใช้แล้ว บางวันก็มีการช้อนขยะในคูคลองขึ้นมาด้วย และในบางวันก็จะมีการกำจัดวัชพืชบริเวณริมคูคลอง โดยกิจกรรมส่วนใหญ่ที่ทำจะได้รับความช่วยเหลือและให้ความร่วมมือจากชุมชนริมคลองเป็นอย่างดี
ปริมาณขยะที่เก็บได้ในแต่ละวันของคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อที่อยู่ในช่วงเขตห้วยขวาง พี่แหวนให้ข้อมูลว่า ส่วนมากเป็นขยะที่เก็บจากบ้านเรือนเป็นหลัก เฉลี่ยวันหนึ่งประมาณ 2 ตัน โดยมีการออกเก็บขยะทุกวัน และส่วนมากไม่ค่อยเห็นขยะที่อยู่ในคูคลองมากเท่าไหร่
เมื่อถามถึงการทำงานในช่วงลอยกระทง พี่ภูริ ยอมรับว่างานหนักมากขึ้นกว่าวันปกติ จากเดิมที่เคยเริ่มงานช่วงตีห้า ก็ต้องเปลี่ยนเวลามาเริ่มงานตอนเที่ยงคืนแทน เพื่อที่จะจัดการเก็บขยะให้หมดทันในวันรุ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าไม่ใช่ภาระที่มากมายอะไรนัก ด้วยเหตุผลที่ว่า การลอยกระทงเป็นประเพณีที่ดีของไทยและหนึ่งปีมีเพียงครั้งเดียว แต่หากเป็นไปได้อยากขอความร่วมมือจากประชาชนทั่วไปให้ลอยกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ จะง่ายต่อการย่อยสลาย พร้อมทั้งอยากให้ลอยกระทงในที่ที่มีการจัดโซนไว้เท่านั้น เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลความสะอาด
เช่นเดียวกับพี่แหวน เขามองว่างานลอยกระทงไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้น้ำเน่าเสีย เพราะหากมีการจัดการที่ดี ก็จะสามารถรักษาคุณภาพน้ำได้
“คือลอยกระทงมันมีปีละครั้งนะน้อง ก็อาจจะทำน้ำเน่าได้ หากไม่มีการดูแล แต่ของเราก็จัดที่ลอยกระทงให้คนไปลอย แล้วก็รีบดูแลจัดการ มันไม่เหมือนเวลาคนทิ้งขยะลงคลองทุกวัน อันนั้นน่ะเป็นปัญหาที่ทำให้น้ำเสียมากกว่า” พี่แหวนกล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่
เฟสบุค Khon-Kool-Klong