คุยกับนักทำความสะอาดคลอง (1) “ทำให้พวกเขารู้สึกได้รับความเป็นธรรม”


 

-ฟังนักวิชาการ ฟังชาวบ้านกันมามากแล้ว คราวนี้ มาฟังคำบอกเล่าของคนทำความสะอาดคลองถึงชีวิต การทำงาน และมุมมองที่พวกเขามีต่อนโยบายไล่รื้อ-

เรื่อง-ทวีศักดิ์ เกิดโภคา

       หากพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคลอง นอกเหนือจากเรื่องราวชีวิตผู้คนที่อาศัยอยู่ริมคลองแล้ว ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องผ่านการยึดโยงกับการทำมาหากิน แต่พวกเขาอาจจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากคลองโดยตรง ในทางกลับกัน อาชีพที่เขาทำคือการทำให้คลองสามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้อยู่ อย่างน้อยก็ทำให้ปริมาณขยะที่คนเมืองผลิตในแต่ละวันถูกส่งไปยังแหล่งกำจัดที่เหมาะสม

แน่นอน เรากำลังพูดถึงคนเก็บขยะในคูคลอง อาชีพที่ไม่อาจขาดหายไปได้สำหรับการดำรงอยู่ของเมืองใหญ่ เป็นที่ทราบกันดีในอีกมุมหนึ่งของความเจริญ การเดินทางของเงิน สินค้า และบริการซึ่งหมุนเวียนในแต่ละวัน กรุงเทพฯ ยังถูกขับเคลื่อนด้วยคนตัวเล็กๆ เหล่านี้

เราพูดคุยกับพี่ภูริ (ไม่เปิดเผยนามสกุล) พนักงานเก็บขนทั่วไปของสำนักงานเขตห้วยขวาง ส่วนงานที่เขาทำคือการเก็บขยะทางน้ำ เวลาเริ่มงานของคนทำงานเก็บขยะเริ่มขึ้นในเวลาตีห้าและไปสิ้นสุดลงประมาณสี่ถึงห้าโมงเช้า ขึ้นอยู่กับขยะที่มีว่าจะมากหรือน้อย สัปดาห์หนึ่งมี 7 วัน เขาทำงานเต็มสัปดาห์

       “ผมทำงานมาตั้งแต่ปี 2545 ก่อนจะมาทำงานที่นี่เป็นช่างเชื่อมอยู่ที่ราชบุรี ก็ยังไงล่ะ มันรู้สึกไม่มีอนาคต เหมือนอยู่ไปวันวัน ก็เลยย้ายเข้ามาหางานในกรุงเทพ ตอนนั้นก็ยังไม่ได้มาเป็นพนักงาน แต่ก็ไปช่วยเขาก่อนที่เขตคลองเตย คือเป็นคนช่วยรถเก็บขยะ รอเขาเปิดรับสมัคร” พี่ภูริเล่าที่มาที่ไปของการมาเป็นพนักงานเก็บขนทั่วไป

พี่ภูริบอกเราว่า เขาเรียนจบเพียง ป.6 ก็จำเป็นต้องออกมาทำงานเลี้ยงดูตัวเองและช่วยเหลือทางบ้าน แน่นอนถ้าเลือกได้เขาอย่างมีชีวิตที่ดีกว่า ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ที่ชุมชนบึงพระราม 9 ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีบ้านเรือนหลายหลังที่ปลูกรุกล้ำคูคลองออกมา เขามองว่าเรื่องดังกล่าวแม้จะผิดกฏหมาย แต่คนที่มาอยู่เองก็ไม่มีทางเลือกมากนัก ส่วนใหญ่เป็นคนหาชาวกินค่ำ ทำอาชีพรับจ้างทั่วไป เก็บของเก่าขาย เก็บขยะขาย ขับวินมอเตอร์ไซด์ บางคนทำงานเป็นพนักงานของ กทม. ก็มี ซึ่งโดยพื้นเพแล้วคนเหล่านั้นเป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น

เช่นเดียวกันกับพี่แหวน เพ็ชรตระกั่ว อายุ 49 ปี พื้นเพเดิมเป็นคนนครราชสีมา เริ่มต้นทำงานที่สำนักงานเขตห้วยขวางเมื่อ 25 ปีก่อน ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่งานรักษาความสะอาด ชำนาญงาน เขามองว่าการลุกล้ำที่คูคลอง เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่การแก้ปัญหาตอนนี้เป็นเรื่องยาก เพราะคนที่เข้ามาอยู่ไม่ได้เพิ่งเข้ามาเพียงปีสองปี แต่อยู่กันมานานบางพื้นที่ 50-60 ปี คนที่อยู่มานานแล้ว มีอาชีพ มีชุมชน มีทุกอย่างอยู่ในพื้นที่แล้ว ภาครัฐจะจัดการอย่างไรให้คนเหล่านี้รู้สึกได้รับความเป็นธรรม

       “ผมไม่ไม่โทษประชาชนนะ มันเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ซึ่งปล่อยปละละเลยมานาน ปล่อยให้ประชาชนเขาบุกรุกเข้ามา จนชั่วลูกชั่วหลาน พอปล่อยมาถึงปัจจุบันมันทำให้การไล่รื้อลำบาก แต่ถ้ามีการดำเนินการแก้ไขปัญหาตั้งแต่แรกๆ ก็คงไม่ยากเหมือนทุกวันนี้” พี่แหวนกล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่
เฟสบุค Khon-Kool-Klong 

https://www.facebook.com/KhonKoolKlong

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube