ต้นไม้ใหญ่ริมคลอง...ความรื่นรมย์ของชุมชน


เรื่อง-สุทธิโชค จรรยาอังกูร

-พื้นที่สีเขียวของคนกรุงเทพฯ ถือว่าน้อยกว่าค่าที่ควรจะเป็น เราทุกคนรู้กันดี ถ้าไม่ใช่สวนสาธารณะ ก็แทบไม่มีที่อยู่ให้ต้นไม้อีกแล้ว น่าสนใจที่ชุมชนริมคลองหลายแห่งยังเก็บรักษาต้นไม้ใหญ่ไว้ได้ คงเพราะพวกเขายังมีรูปแบบชีวิตที่ต้องพึ่งพิงต้นไม้ ชุมชนริมคลองจึงเป็นที่เก็บรักษาต้นไม้ของเมืองใหญ่ที่เหลืออยู่ไม่มาก-

       ต้นไม้น้อยใหญ่เรียงรายอยู่ริมคลองแสนแสบ ถือเป็นทิวทัศน์ที่เจนตาใครหลายๆ คน ด้วยเพราะความร่มรื่นที่ปกคลุมแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมฝั่งน้ำ บวกกับความผูกพันที่ฝังแน่นระหว่างคนกับธรรมชาติมานานนับชั่วอายุคน กลายเป็นมนต์เสน่ห์ที่ช่วยรักษาต้นไม้เหล่านี้ให้อยู่คู่กรุง

ไม่เพียงคลองสายนี้ที่ยังชุกชมไปด้วยต้นไม้ แม้แต่คลองลาดพร้าว คลองบางหลวง หรือคลองอื่นๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครก็ยังคงรักษาสภาพภูมิทัศน์เอาไว้พอสมควร ถึงเวลานี้เมืองบางกอกจะเติบโตไปไกล แต่กลับน่าฉงนว่าทำไมต้นไม้เหล่านี้ถึงยังรอดพ้นจากการถูกทำลาย กลายเป็นปอดสีเขียวขนาดย่อมให้แก่คนกรุงเทพฯ ได้จนถึงปัจจุบัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีอยู่ของต้นไม้ใหญ่นานาพันธุ์ถือเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทยซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านริมน้ำ เพราะนอกจากจะเป็นร่มเงาให้แก่บ้านเรือน ช่วยบังแดด บังลม บังฝนได้แล้ว ต้นไม้บางต้นยังมีคุณสมบัติยึดเกาะพื้นดินได้ดี เช่น ต้นปาล์ม แม้จะเผชิญกับคลื่นที่กระทบฝั่งอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ยังสามารถพยุงตลิ่งให้แข็งแรง ไม่ทรุดหรือพังลงได้ง่ายๆ ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงพยายามปลูกต้นไม้เพื่อเป็นแนวกั้นน้ำท่วม น้ำหลาก

ที่สำคัญกว่านั้น คือต้นไม้ใหญ่นั้นเข้ามาตอบโจทย์วิถีของผู้คน ดังเช่นในชุมชนบ้านครัว ซึ่งขนาบข้างด้วยถนนเพชรบุรีและคลองแสนแสบ สมชาย โสภณศิริ ซึ่งใช้ชีวิตกว่าค่อนอยู่ริมคลอง ถ่ายทอดวิถีของชุนชนมุสลิมเก่าแก่นี้ว่า มีชื่อเสียงในด้านการทอผ้า ย้อมผ้าเป็นเวลาร่วมร้อยปี และด้วยภูมิปัญญาที่มีอยู่จึงมีการปลูกต้นไม้บางต้นเพิ่มเติม เพื่อนำเปลือกไม้หรือใบไม้มาสกัดเป็นสีทอผ้า

       “สมัยก่อนแถบนี้เป็นป่าหมดเลย ตอนนั้นผมยังเป็นเด็กอยู่เลย แล้วบางต้นมันก็ขึ้นมาเองตามธรรมชาติ บางต้นเป็นร้อยปีแล้ว อย่างต้นนกยูง ต้นก้ามปู ต้นจามจุรี ซึ่งก็ไม่มีใครไปยุ่งกับมันสักเท่าไหร่ คือไม่ตัดไม่ทำลาย จะมาแค่ตกแต่งกันนิดๆ หน่อยๆ” ผู้อาวุโสในชุมชนกล่าวอย่างอารมณ์ดีระหว่างที่พาชมต้นไม้ใหญ่ริมคลอง

สิ่งเหล่านี้ยืนยันได้จากการที่สถานที่สาธารณะในพื้นที่ถูกรอบล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ อย่างเช่นลานออกกำลังกายของชุมชน ซึ่งแม้จะอยู่ที่โล่งแจ้ง แต่ก็ไม่ได้รับผลกระทบจากแสงแดดเท่าใดนัก

       “ชาวบ้านเขาอนุรักษ์ต้นไม้พวกนี้ให้อยู่คู่ชุมชน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะผูกพันกันมานาน หากต้นไม้ใหญ่เหล่านี้จะหายไปจากชุมชนเสียเฉยๆ ก็คงน่าเสียดายมาก แต่ก็มีเหมือนกันที่ต้องไปจัดการ เช่นต้นที่รากเน่าแล้ว อาจจะลงขันกันเพื่อตัดทิ้งไป แล้วนำลำต้นมาใช้ประโยชน์ทำโต๊ะ ทำเก้าอี้กันตามความเหมาะสมต่อไป”

แม้วันนี้หลายพื้นที่จะยังคงมีต้นไม้ริมคลองกระจายอยู่ในพื้นที่ หลายแห่งนำต้นไม้เหล่านี้มาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย หากแต่นั้นก็ไม่ใช่สัญลักษณ์ของความยั่งยืนเสียทีเดียว

เพราะยังมีความเสี่ยงบางอย่างที่กำลังรอคุกคามต้นไม้ใหญ่เหล่านี้อยู่อย่างช้าๆ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่
เฟสบุค Khon-Kool-Klong 
https://www.facebook.com/KhonKoolKlong

 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube