เรื่องและภาพ-นภัทร พิลึกนา
-ตามไปดูวิถีชีวิตริมคลองพระโขนง ร้านเก่าแก่ คนขับเรือ ทอดแหจับปลามากิน พายเรือหากัน แทบไม่น่าเชื่อว่ายังมีภาพเก่าเล่าอดีตเช่นนี้อยู่ในบางกอก การพัฒนาคงหยุดไม่ได้ แต่จะให้พัฒนากันไปโดยหลงลืมมิติวัฒนธรรมและชุมชนหรือ?-
เมื่อเอ่ยชื่อ คลองพระโขนง เราอาจนึกถึงเรื่องราวของแม่นาก พระโขนง แต่หากได้นั่งเรือล่องไปตามลำน้ำสายนี้ เราจะพบว่าลำคลองแห่งนี้ไม่เพียงเป็นความทรงจำร่วมในเรื่องราวของแม่นาก แต่ยังเต็มไปด้วยร่องรอยและตัวตนของวิถีชีวิตคนริมน้ำอันเป็นชุมชนปฐมฐานที่นำมาสู่ก่อร่างสร้างกรุงเทพมหานครแห่งนี้
อย่างไรก็ตาม ในนามของนโยบายเพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ลำคลองที่ยังมีชีวิตและเต็มไปด้วยเรื่องราวสายนี้จึงเป็น 1 ใน 9 คลองที่รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะขุดลอกเพื่อขยายพื้นที่ลำคลอง ซึ่งแม้ว่าขณะนี้นโยบายจะกำลังเริ่มดำเนินการที่คลองลาดพร้าวก่อนเป็นลำดับแรก แต่คนริมคลองพระโขนงเองก็เริ่มแสดงความเห็นต่อนโยบายนี้
ลุงพรชัย ธรรมขันธ์ อายุ 56 ปี คนขับเรือโดยสารสาธารณะตลอดคลองพระโขนงเล่าอดีตให้ฟังว่า ตนเกิดและเติบโตที่ริมคลองพระโขนงแห่งนี้ ทำอาชีพขับเรือรับจ้างต่อจากคุณพ่อมาตั้งแต่หนุ่ม ตลอดเวลาที่ผ่านมาเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ น้ำในคลองเน่าเสียมากขึ้น ปลาในคลองเริ่มลดน้อยลง โดยส่วนตัวจึงอยากให้ทางกรุงเทพมหานครเข้ามากวาดลอกขยะจากคูเล็กๆ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากตลอดคลองพระโขนง เพราะจะช่วยให้น้ำไหลเวียนได้ดีขึ้น
การนั่งเรือสังเกตบ้านเรือนตลอดคลองไปพร้อมกับฟังลุงพรชัยเล่าเรื่องราวในอดีตยิ่งทำให้ภาพที่คุณลุงพูดถึงฉายชัดมากขึ้น เพราะจากการสังเกตบ้านเรือนริมคลองยังคงมีท่าน้ำอยู่หน้าบ้าน บ้างผุพัง บ้างยังใช้การได้และเกือบทุกหลังจะมีเรือผูกไว้หน้าบ้าน ผู้คนยังคงพายเรือไปมาหาสู่กันในระยะใกล้ๆ นอกจากนี้ยังมีการลงไข่หาปลา และนำลอกมาดักปลาอยู่ทั่วไป
ฉันถามลุงพรชัยว่า ยังหาปลาได้อยู่หรือ ลุงพรชัยบอกว่า ยังหาปลาได้เรื่อยๆ ส่วนใหญ่ได้ปลาสวาย และปลาดุก
ลุงพรชัยยังชี้ให้ดูบ้านไม้ริมน้ำหลังหนึ่งและเล่าว่านี่คือร้านค้าเก่าแก่ของชุมชนละแวกนี้ ฉันจึงขอลงเรือตรงร้านค้านี้และขอตัวลาจากลุงพรชัย
เมื่อขึ้นจากท่าน้ำและฉันเดินกลับมายังร้านค้าเก่าแก่ที่ลุงพูดถึงและพบกับคุณป้าลัดดา สุขอร่าม อายุ 68 ปี เจ้าของร้านเก่าแก่ของชุมชนริมคลองพระโขนงที่เปิดขายของมาตั้งแต่สมัยปู่ย่า ตา ยาย จนปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว คุณป้าลัดดา เล่าว่า สมัยก่อนร้านขายของมากกว่านี้ มีทั้งกะปิ น้ำปลา และของสด แต่ตอนนี้ผู้คนไปเข้าห้างสรรพสินค้าหรือเข้าเซเว่นกันหมด ปัจจุบันร้านจึงขายของน้อยลงและมีแต่ผู้คนบ้านใกล้เรือนเคียงเท่านั้นที่มาซื้อ การค้าขายทางเรือก็ซึมเซาลงเช่นกัน จากสมัยก่อนที่มีผู้คนล่องเรือออกมาขายของจนแน่นขนัด ตอนนี้เหลือเรือที่ยังล่องขายอยู่เพียงสามลำเท่านั้น คือเรือลูกชิ้น เรือก๋วยเตี๋ยว และเรือกาแฟ แต่เห็นแล้วก็ยังรู้สึกดีใจที่ยังมีเรือขายของอยู่บนลำน้ำสายนี้
ฉันถามคุณป้าต่อว่า ทราบหรือไม่ว่าคลองพระโขนงเป็น 1 ใน 9 คลอง ที่สำนักระบายน้ำจะดำเนินการขุดลอกและอาจต้องมีการไล่รื้อชุมชนเพื่อป้องกันน้ำท่วม คุณป้าลัดดาตอบว่า
“พอทราบจากข่าวมาบ้าง แต่ไม่รู้ว่าทำไมถึงมีคลองพระโขนงเพราะว่าที่นี่น้ำไม่ท่วม เมื่อเหตุการณ์ปี 2554 น้ำก็ไม่ท่วมเพราะอยู่ใกล้ประตูระบายน้ำ ป้าเลยไม่เชื่อว่านโยบายนี้มาทำที่นี่จริงๆ”
และนี่คือวิถีชีวิตของชุมชนที่ยังพึ่งพาธรรมชาติและยังมีอยู่จริงในกรุงเทพมหานคร ซึ่งหากมีการขุดรื้อคลองแห่งนี้โดยขาดการคำนึงถึงมิติทางด้านวิถีชุมชน ก็ไม่เพียงจะทำให้ชาวบ้านละแวกนี้ต้องมีต้นทุนชีวิต
ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่
เฟสบุค Khon-Kool-Klong