ลมพัดไออุ่นของแสงอาทิตย์ยามสายแก่ๆ เขาอาบแดดอุ่นๆ ชายร่างกำยำเพื่อนบ้านกำลังไถนา อย่างขยันขันแข็ง ผมเห็นนกกระยางหลายตัวเดินตามคันไถ กลายเป็นเพื่อนต่างสายพันธุ์ เดินเล่นกลางนา แหม๋...เป็นภาพที่หาชมได้ไม่ง่ายนัก
ขอบคุณภาพจาก : holidaythai.com
แต่มองอีกมุม อ้าว!!! เจ้านกกระยางมันฉลาด หรือว่าชอบเอาเปรียบกุ้ง หอย ปลา ปู ตัวเล็กๆ ที่อยู่ใต้พื้นดิน......ความคิดนี้ แว้บ....เข้ามาในหัว .......เฮ้อ...มันเป็นห่วงโซ่อาหารที่สัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็ก ผู้ที่แข็งแรงเท่านั้นจึงจะมีชีวิตอยู่รอด...เสมือนกับชุมชนที่กำลังหลงทางว่าจะเดินทางไปในรูปแบบไหนดีหว่า......
นั่งดูนกกระยางเพลินๆ กลับมีประกายความคิดแว๊บ.....เข้ามาจนได้ ตั้งคำถามในใจว่าวิถีชาวนาสมัยใหม่จะสู้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้หรือเปล่าหนอ.....ว่าแล้วก็เลยลองเจาะเวลาหาอดีตของพี่ไทยว่า รายได้ที่มาจากการท่องเที่ยวเป็นไงบ้างเอ่ย.....
ในปี 2551 รัฐบาลตั้งเป้ารายได้จาการท่องเที่ยวประมาณ 7 แสนล้านบาท จากนักท่องเที่ยว 20 ล้านคน พร้อมมีนโยบายทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเอเชีย (tourism of ASIA) หวังทำกำไรกับโครงการอันซีนไทยแลนด์ (นสพ.ข่าวสด, 18 พฤศจิกายน 2549) ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าจาก 10 ปีที่แล้ว (ปี 2541 รายได้ท่องเที่ยวราว 2.4 แสนล้านบาท นักท่องเที่ยวต่างชาติ 7 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 5 ของGDP) ในขณะนั้น (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2545 อ้างใน มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2548))
อย่างไรก็ตาม แม้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการท่องเที่ยว แต่ก็มีผลกระทบต่อชุมชนในท้องถิ่นทั้งวิถีชีวิตและวัฒนธรรม รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถูกกระทำแน่นอน!!!
เฮ้อ!!! แต่สิ่งที่ได้มากลับเป็นเป็นความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยว และต้องไปของบประมาณมาอุดหนุนบูรณะกันเกินความจำเป็นและยังเป็นแหล่งเงินให้กับใครบางคน? หรือเปล่าไม่รู้...ฮ่าๆๆๆ
โอ้ละหนอโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อชุมชนมากมายราวโดมิโน คนในชุมชนได้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง บางครั้งอาจถึงขั้นรู้สึกโดดเดี่ยวเพราะถูกตัดขาดจากกัน เนื่องเพราะเกิดบางสิ่งบางอย่างที่มาทำลายวัฒนธรรมจารีต ประเพณี
ภาพเขียน วัดตะคุ ต.ตะคุ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา
แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่แง่ร้ายด้านลบเพียงอย่างเดียว สิ่งที่ทางเราพบเห็นในชุมชนเพิ่มขึ้น คือ แนวคิดกระแสชุมชนท้องถิ่น (Localization) ที่ให้ความสำคัญแก่คนและชุมชนในการกำหนดแนวทางการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับสังคมวัฒนธรรมของตน เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความหมาย มีค่าและมีศักดิ์ศรีของคนในชุมชน เป็นจุดเชื่อมโยงถึงกันแบบองค์รวม (Holistic) การนำเสนอประสบการณ์ของคนในชุมชน มีการพัฒนาบนพื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรมเรียกร้องให้ผู้คนหันกลับมาทบทวนแนวคิดและแนวทางการพัฒนาชุมชนของตนเอง จนกระทั่งแนวคิดใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเคยเป็นกระแสรองมาก่อนหน้านี้ได้กลายเป็นกระแสหลักของการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน
แต่ผม!!!!!! มอง......ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นการทำลายชุมชนอย่างแน่นอน!!!!!!!!! แม้ว่า นักการเมือง หรือนักเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นเม็ดเงินที่เป็นรายได้เข้าประเทศ แต่มันเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ชุมชนต้องพึ่งตนเอง (Self-Reliance) หรือการทำเซรุ่มป้องกันชุมชนของตนเอง ให้สามารถอยู่ต่อไปให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของกระแสนี้ให้ได้ เพื่อที่จะก้าวผ่านคำว่า “ประเทศโลกที่สามหรือประเทศที่กำลังพัฒนา”
ดังนั้น การเตรียมชุมชนในการรองรับไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการส่งเสริมนโยบายการพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง การตั้งรับสิ่งเหล่านี้ต้องมามองหาเซรุ่ม คือ ต้องเป็นการพัฒนาชุมชนบนพื้นฐานทางภูมิปัญญาท้องถิ่น มีการประยุกต์ภูมิปัญญาเพื่อการพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง มีการรักษาคุณค่า อัตตาลักษณ์ชุมชนตนเองที่โดดเด่น แต่ไม่ถูกกลืนกินทางวัฒนธรรมตะวันตก
มาถึงจุดนี้สิ่งที่เราพยายามจะต้องสร้าง ต้องค้นหาให้เจอสิ่งแรกคือ รูปธรรมและนามธรรมของชุมชน หรือ อัตลักษณ์ เพื่อแปลงให้เป็นจุดแข็งและเพื่อรักษาดุลยภาพของชุมชน สิ่งที่สองคือ คุณค่าและมูลค่า คือสามารถที่จะประยุกต์เอาภูมิปัญญา จิตวิญาณ รากเหง้า ศิลปะ สถาปัตยกรรมมาสร้างสมดุลให้แก่ชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืน (sustainable) แต่จะต้องยึดหลักของ “ธรรมมาภิบาล” (Good Governance) แต่ผู้นำท้องถิ่นจะเข้าถึงและเข้าใจหลักการนี้หรือไม่นั้น ต้องค่อยๆ เปิดใจเรียนรู้กันไป ที่สำคัญควรจะต้องมีการทบทวนกรณีศึกษา ถอดบทเรียนความสำเร็จมาปรับใช้ ให้มากขึ้น
ซึ่งที่สุดแล้ว ผู้มองเข้ามายังชุมชนย่อมมองเห็นได้เองว่า ชุมชนของเรากำลังพัฒนาทางด้านโครงสร้างวัตถุหรือการพัฒนาทางด้านจิตใจมากกว่ากัน!!!!!
เล่ามาถึงจุดนี้นึกถึงกรณีตัวอย่างหนึ่ง อาจจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมด แต่ก็พอเห็นภาพที่ชัดขึ้นบ้าง ขอยกตัวอย่างกรณีข่าวดัง ทั้งสื่อกระแสหลักและโซเชียล
เมื่อปี 2558 ในพื้นที่ของ อบต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา มีโครงการทอสคาน่า วัลเล่ย์ เขาใหญ่ ได้ก่อสร้างหอเอนปิซ่าเสร็จแล้ว ท่ามกลางกระแสการคัดค้านของนักอนุรักษ์ป่า ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่!!!!! การมีเงินก็สามารถสร้างได้ มันไม่ได้มาจากความต้องการของชาวบ้านจริงๆ แต่!! มาจากความต้องการของสถานประกอบการบวกกับผู้นำท้องถิ่นที่คิดว่าจะได้ภาษีจากสถานประกอบการเท่านั้นเอง อย่างนี้? เรียกว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนหรือเปล่า...หนอ...
แตกต่างกับภูลมโล หรือที่รู้จักกันในนามดินแดนแห่งซากุระเมืองไทย ในพื้นที่ชุมชนกกสะทอน ต.กกสะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย อย่างสิ้นเชิง เพราะนี่คือชุมชนต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้บริหารจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อร่วมพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ
สรุปได้ว่า สถานที่แห่งแรกเป็นความร่วมมือจาก 2 กลุ่ม คือสถานประกอบการกับท้องถิ่น และผลกำไรที่ได้จะตกอยู่กับเจ้าของสถานประกอบการเพียงคนเดียว
แต่สถานที่แห่งที่สอง เป็นการร่วมมือกันระหว่าง 3 กลุ่มด้วยกัน คือ ท้องที่ ท้องถิ่น และชาวบ้าน ร่วมมือกันสร้างความยั่งยืนในการรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กับชาวบ้านและชุมชน
วิถีชุมชนอันเป็นจุดแข็งที่สามารถแปลงเป็นจุดขายใหม่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว หากขาดความเข้าใจอย่างแท้จริง วิถีชุมชนอาจถูกปู้ยี้ปู้ยำ ที่สุดแล้วการท่องเที่ยวชุมชนอาจพลัดตกหลุมพรางของกลุ่มทุน เมื่อเดินมาถึงแยกวัดใจยุคไทยแลนด์ 4.0
เอ๊ะๆๆๆ .......มั่วแต่นั่งดูนกกระยางขายาวๆ กินหอยเชอรี่อย่างเพลิดเพลิน........ ได้เวลาไปอาบน้ำเพื่อเดินทางกลับไปสู่ชีวิตของชาว กทม.อีกแล้ว........ครับพระเจ้าจ๊อด !!!!!!!
โดย....ไม้เอก ปักธงชัย
ที่มา :