ช่วยด้วย !!!! ฉันถูกยำ...........


โอ๊ย !!!!!!!  ข่อยสิ.....ตายหยังเขียดบ่หน่อ.........

เสียงคร่ำครวญของชาวนา  ชาวไร่  แม้แต่ตัวเราเองที่ต้องเจอกับสถานการณ์สภาวะเศรษฐกิจของโลก รวมทั้งยังเจอกับการถูกลงโทษจากธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากน้ำมือของมนุษย์เอง ไม่ว่าจะเกิดน้ำท่วมที่ภาคใต้ สภาวะแห้งแล้งขาดน้ำในภาคอีสาน หลายคนไม่รู้ว่าจะกล่าวโทษใครได้ นอกจากคำว่า “ชะตากรรม” 

หลายคนบอกว่า  อย่างงี้ !!!!!!!  มันต้องมาพัฒนาชุมชนท้องถิ่นซ้ำๆ อีก  มุมมองของผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาหรือนักวิชาการหลายๆ ท่านกำลังคิดอยู่ในใจ  แต่หากหลงลืมไปว่า  ขณะนี้ ชุมชนท้องถิ่นกำลังถูกปู้ยี้ปู้ยำ จากหลายกลุ่มชนชั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ  ชาวไร่  ชาวนา แม้แต่ตัวของชาวบ้านเอง ใครบ้างที่หันหลังกลับไปมองทางที่เราเคยเดินย่ำเหยียบ ?????   บัณฑิตหลายคนที่ได้รับการศึกษาทำให้เกิดสำนึกรักบ้านเกิดอย่างกะทันหัน! อยากกลับไปพัฒนาชุมชนท้องถิ่น[1] ตัวเอง  ต้องการที่จะต่อสู้กับกระแสโลกาภิวัตน์เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ (Self-reliance) หรือช่วยตนเองได้ (Relf-help) ในการคิดตัดสินใจและดำเนินการแก้ไขปัญหา ตลอดจนตอบสนองความต้องการของตนเองและส่วนรวม

 


[1] ชุมชนท้องถิ่น หมายถึง ถิ่นฐานอันเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีความเกี่ยวพันกับสภาพทางภูมิศาสตร์และระบบความสัมพันธ์ในสังคมซึ่งอิงอาศัยความเอื้ออาทร ความผูกพันและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นเครื่องดำเนินการเพื่อให้มีชีวิตที่ดีร่วมกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ชุมชนท้องถิ่น หมายถึง การรวมกันของกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันทั้งความสัมพันธ์ใน เชิงพื้นที่และความสัมพันธ์ทางสังคม เป็นหน่วยพื้นฐานของการพึ่งพาและการจัดการตนเอง มีการเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมขบวนการขับเคลื่อนทางสังคม และหน่วยจิตวิทยาวัฒนธรรมอันเป็นคุณค่าที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตน (Identity) ของชุมชนโดยเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ สิทธิ และอำนาจในการจัดการ

แต่อนิจจา !!!!  ชุมชนท้องถิ่นจะพัฒนาได้หรือไม่ และดำเนินไปในทิศทาง จึงต้องมีองค์ประกอบของแนวคิดพื้นฐานการพัฒนาชุมชน หลักการพัฒนาชุมชน และการดำเนินงานพัฒนาชุมชน รวมทั้งการปรับตัวให้ทันต่อภาวการณ์เปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาชุมชนในระดับการปฏิบัติ มีดังนี้
1. การมีส่วนร่วมของประชาชน (People Participation) เป็นหัวใจของงานพัฒนาชุมชน ให้เขาได้มีร่วมคิด ตัดสินใจ วางแผน ลงมือทำ และช่วยกันดูแล
2. การช่วยเหลือตนเอง (Aided Self - Help) คือ ให้ประชาชนในท้องถิ่นพึ่งตนเองได้มากขึ้น โดยมีรัฐคอยให้การช่วยเหลือ สนับสนุน ในส่วนที่เกินขีดความสามารถของประชาชน  
3. ความคิดริเริ่มของประชาชน (Initiative) ในการทํางานกับประชาชนต้องยึดหลักการที่ว่า ความคิดริเริ่มต้องมาจากประชาชนในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งต้องใช้วิถีแห่งประชาธิปไตย และหาโอกาสกระตุ้นให้การศึกษา ให้ประชาชนเกิดความคิด และแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอันเป็น ประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น หมู่บ้าน ตําบล
4. ความต้องการของชุมชน (Felt - Needs) การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นต้องให้ประชาชน และองค์กรประชาชนคิดและตัดสินใจบนพื้นฐานความต้องการของท้องถิ่นเอง เพื่อให้เกิดความคิดที่ว่างานเป็นของประชาชน และจะช่วยกันดูแลรักษาต่อไป

ดังนั้น การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่แท้จริง คือ หลักของประชาชน   ได้แก่
1. เริ่มต้นที่ประชาชน โดยยืนจุดเดียวกับประชาชน มองโลก มองชีวิต มองปัญหา จากตัวเอง
2. ทำงานร่วมกับประชาชน โดยการคำนึงถึงการที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจปัญหาของตนเองหรือชุมชนอย่างแท้จริง
3. ยึดประชาชนเป็นพระเอก โดยประชาชนต้องเป็นผู้กระทำการพัฒนาด้วยตนเอง

พอให้นึกถึงประชาชนเป็นพระเอ๊ก พระเอก  ทำให้คิดถึงกรณีของหลวงพ่อปรีชา “ปราชญ์แห่งป่า ห้วยหินลาดใน” ขึ้นมาทันทีเลย!

เพราะถือเป็นคลาสสิคเคส  (Classic Case) ที่มีการนำไปถอดบทเรียนความสำเร็จ สู่การปรับใช้ได้แทบจะทุกพื้นที่ เป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากชุมชน โดยชุมชน สร้างชุมชนที่แข็งแกร่งอย่างแท้จริง

“ปรีชา ศิริ” หรือที่ชาวชุมชนห้วยหินลาดใน เรียกขานอย่างสนิทใจว่า “พ่อหลวงปรีชา” ด้วยความเคารพนับถือในหัวใจแห่งการอนุรักษ์ สร้างชุมชนให้มีความเข็มแข็งพึงพาตนเองได้ใช้ลมหายใจ ร่วมกับป่า เขามีส่วน สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการนำพาชาวชุมชนหินลาดในก้าวขึ้นไปยืนบนโพเดี้ยมรับรางวัลอันทรงเกียรตินั้น 

พ.ศ. 2542 ชุมชนหินลาดใน ได้รับ “รางวัลลูกโลกสีเขียว” พ.ศ.2548 “รางวัลสิปปนนท์เกตุทัต 5 ปี แห่งความยั่งยืน” จากมูลนิธิลูกโลกสีเขียว และเกียรติประวัติอันยิ่งใหญ่ในระดับนานาชาติของพ่อหลวงปรีชา คือการคว้า“รางวัลวีรบุรุษผู้รักษาป่า” (Forest Hero) เป็น 1 ใน 5 ของผู้นำชุมชนของโลกที่ได้รับรางวัลนี้ จากการประชุมองค์การสหประชาชาติเรื่องป่าไม้ที่ประเทศ ตุรกี ในปี พ.ศ.2556 

'สภากองไฟ' ปฐมบทการจัดการป่า
พ.ศ. 2517 ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เพราะการที่มีถนนหนทางตัดผ่าน เท่ากับว่าความเจริญทางวัตถุ ย่อมรุกล้ำเข้ามาอย่างยากปฏิเสธได้ ปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะข้าวโพด พื้นที่ป่าเริ่มถูกแปลงสภาพเป็นไร่เลื่อนลอย จนเป็นที่มาของมติ ครม. เห็นชอบในการเตรียมประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติในป่าหลายพื้นที่ในเชียงราย และในปี พ.ศ.2525 ประกาศดังกล่าวก็ได้เข้าไปถึงที่ป่าแม่ปูนหลวง แม่ปูนน้อย และห้วยโป่งเหม็น ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านห้วยหินลาดใน

อย่างไรก็ตามในช่วงปี พ.ศ.2529 - 2533 รัฐบาลยังได้ให้สัมปทานบริษัทเอกชนเข้าไปทำป่าไม้พร้อมกับมีบรรดามอดไม้ลักลอบตัดไม้เถื่อนคอยผสมโรง แม้เป็นช่วงสั้นๆ ไม่กี่ปี แต่กล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ผืนป่าและต้นไม้ใหญ่แถบนี้ได้สูญเสียไปอย่างรุนแรงที่สุด การทำสัมปทานได้ทำให้ผืนแหว่งเว้า ราวกับคนฟันหัก ไม่เพียงแค่ป่าหมดไปแต่หมายรวมถึงสัตว์ป่าหายไปด้วย บางชนิดก็สูญพันธ์ไป ขณะที่บางส่วนก็เหลือน้อยเต็มที สถานการณ์ดังกล่าวดูคลี่คลายลงหลังรัฐบาลประกาศปิดป่าสัมปทานทั่วประเทศ

จุดเปลี่ยน         
ปี พ.ศ.2538 มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติขุนแจทับซ้อนเข้ามาในพื้นที่ ด้วยข้อบังคับทางกฎหมาย กิจกรรมต่างๆ ที่เคยเป็นวิถีชีวิตของชุมชนทำได้ยากขึ้น มีบางคนถูกดำเนินคดี อันเนื่องมาจากกิจกรรมการดำรงชีวิต จนต้องใช้คำว่าชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ แต่การต่อสู้ใช่ว่าชาวบ้านจะชนะได้ จึงเปลี่ยนแนวทางให้มาเป็นการทำความเข้าใจ สภากองไฟจึงเกิดขึ้นโดยมีรูปแบบเหมือนการนั่งล้อมวงคุยก่อกองไฟขับไล่ความหนาว ถกปัญหาด้วยสาระเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยเลือกวันที่ 10 ของทุกเดือนเป็นวันประชุม เหตุที่ใช้วันที่ 10 เพราะการประชุมครั้งแรก วันที่ 10 ตรงกับวันพระ ซึ่งแต่ละคนต่างเว้นการนัดหมายสำคัญอย่างอื่นไว้แล้ว จึงถือนัดแรกของการประชุม กำหนดเป็นนัดหมายทำกิจกรรมร่วมกันเป็นประจำทุกเดือน โดยมีการจัดวางโครงสร้างที่ได้รับการยอมรับของชุมชนและมีการเลือกให้ ผมเป็นผู้นำดำเนินการประชุม มีผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชนอื่นๆ ร่วมประชุมด้วย รวมทั้ง นุ ปะปะ ซึ่งเป็นผู้นำตามพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวปกากะญอ ร่วมพิธีการก่อนประชุมด้วย

ตกผลึกจากสภากองไฟ

การอยู่ร่วมกับป่าต้นน้ำของชุมชน
การปรึกษาหารือกันของสภากองไฟ ได้ยืนยันที่จะกำหนดพื้นที่ใช้สอยและพื้นที่อนุรักษ์ของป่าต้นน้ำ เพื่อร่วมรักษาและใช้ประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ในพื้นที่ต้นน้ำและลำห้วย 14 สายที่น้ำจะไหลไปรวมกับห้วยแม่ฉางข้าวก่อนจะไหลสู่แม่น้ำใหญ่ พื้นที่ใช้สอยของชุมชนห้วยหินลาดใน จะใช้ประโยชน์สำหรับการผลิตเพื่อยังชีพ ไม่ใช่เพื่อการขาย ซึ่งเป็นไปในหลักการเดียวกับการทำนาในพื้นราบ ในขณะเดียวกันก็อธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง “ไร่หมุนเวียน” กับ “ไร่เลื่อนลอย” ซึ่งมีมิติที่แตกต่างกันโดยวิถีของการผลิต เพราะไร่หมุนเวียนของชุมชนนั้น เป็นไปในลักษณะของการใช้ที่ดินเพื่อการเพาะปลูกพืชไร่ของชุมชนที่หมุนเวียนเพื่อพักฟื้นแร่ธาตุของหน้าดิน ซึ่งเป็นวิถีการผลิตของชุมชนที่สืบทอดต่อกันมา การร่วมสร้างฉันทามติที่จะเลือกทำหรือไม่ทำตามโครงการแนะนำของรัฐ เช่น การไม่เลือกที่จะปลูกข้าวโพดเพื่อสร้างเศรษฐกิจ เพราะจะต้องถางพื้นที่ใหม่ การท่องเที่ยวและการปลูกป่าของกรมป่าไม้เพราะเป็นโครงการที่ไม่มีกระบวนการว่าด้วยการมีส่วนร่วม ฯลฯ ในขณะเดียวกัน ก็จัดตั้งกองทุนดูแลป่า โดยเรียกเก็บรายได้จากผู้ที่ใช้ประโยชน์จากป่าในอัตรา 10%

นอกจากนี้ยังมีการการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง โดยชุมชนหินลาดใน สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับชุมชนใกล้เคียง 4 หมู่บ้าน เพื่อร่วมบริหารงานป่าและผลต่อเนื่องที่มาจากการสัมปทานป่าไม้ โครงการจากภายนอก และร่วมกันต่อต้านการลักลอบตัดไม้ สภากองไฟ เป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งจากกรณีที่ตัวแทนชุมชนออกไปประชุมกับชุมชนอื่นแล้วนำความรู้มาเล่าให้ฟังกับมีตัวแทนจากชุมชนเครือข่ายอื่นๆมาร่วมประชุม ประสานกับเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.)เพื่อร่วมผลักดันสิทธิชุมชน และพรบ.ป่าชุมชน

บทสรุปอย่างง่ายๆ   เป้าหมายการพัฒนาชุมชน จึงอยู่ที่ การทำให้ชุมชน (ประชาชน) สุขสมบูรณ์ การทำให้ประชาชนพึ่งตนเอง ช่วยตนเองได้ในการแก้ไขปัญหาส่วนตัว และแก้ไขปัญหาส่วนรวมได้ รวมทั้งในการยังชีพตนเองหรือการมีงานทำ และยังประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้ ใช่จะวัดผลสำเร็จแต่เพียงว่าเขียนโครงการจากส่วนกลาง แล้วให้ประชาชนดำเนินการตามกรอบ บริบทที่แตกต่างความต้องการที่แท้จริงกับสิ่งที่เอาลงไปให้ ยากที่จะสำเร็จได้

สุดท้ายก็อาการคล้ายๆเครื่องเทศเครื่องยำมีพร้อม แต่วัตถุดิบที่นำมาปรุง มันไม่สด แล้วจะได้รสอร่อยได้ไง ท่านว่า จริงหรือเปล่าครับ

 

เอกสารอ้างอิง
นิรันดร์ จงวุฒิเวศน์. (2550). กถาพัฒนากร.กรมการพัฒนาชุมชน. บริษัท รำไทยเพรส จำกัด

 

 

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube