ส่องเฟสสองทีมเศรษฐกิจ : กองทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และภารกิจปฏิรูป 4 ด้านของ 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์'


"สิ่งที่ทำในช่วงเวลา 1 เดือนเศษที่ผ่านมา ไม่มีเจตนาในการผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) โตสวนกระแสโลก เราเพียงแค่ต้องการยับยั้งการทรุดตัวของเศรษฐกิจ เมื่อมาถึงจุดนี้ ก็ควรรอดูประเมินผลก่อนว่า จะใช้มาตรการอะไรต่อไปและแค่ไหน”

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

ที่มาภาพ Mthai.com

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในงาน “Post Forum 2015 ร่วมสร้างเศรษฐกิจไทย พูดคุยกับทีมเศรษฐกิจใหม่” เพื่อแสดงวิสัยทัศน์เรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและทิศทางของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ว่า วันแรกที่เข้ามาทำงานได้ให้ข่าวว่าประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ เพียงแต่เผชิญความท้าทาย 2 ประการที่ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ

1. ความซบเซาทางเศรษฐกิจที่เกิดจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

2. ภาคส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยอย่างต่อเนื่อง

โดยเรื่องที่สองมีความสำคัญกว่า เพราะเกี่ยวข้องกับ “ความสามารถเชิงแข่งขัน” ของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ที่ค่อยๆ เสื่อมถอยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น สิ่งที่เราเคยคิดว่าได้เปรียบก็สูญเสียความได้เปรียบไป หลายอย่างเริ่มไม่สอดคล้องกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกภายนอก ถ้าเราไม่เร่งแก้ไขในวันนี้ วันข้างหน้าจะยิ่งถดถอยกว่านี้ และต้องใช้เวลายาวนานในการฟื้นคืน

เดือนเศษกับงานกระตุ้นเศรษฐกิจ

สิ่งที่เข้าไปทำคือเข้าไปชะลอการทรุดตัวลงของภาวะเศรษฐกิจด้วยมาตรการหลายชุดที่ออกมาเพื่อเพิ่มปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบโดยพุ่งเป้าไปที่

1. เกษตรกรหรือผู้มีรายได้น้อย

2.วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่กำลังเผชิญกับความยากลำบาก

3. การกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าไม่สูงมากนัก เพื่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

4. มาตรการว่าด้วยอสังหาริมทรัพย์ เพราะถือว่าอสังหาริมทรัพย์เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ถ้าซบเซาขึ้นมาก็จะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจ จึงต้องประคับประคองให้อยู่ได้ เป็นตัวค้ำจุนอีกหลายธุรกิจที่จะตามมา

วางพื้นฐานปูทางปฏิรูปเศรษฐกิจ

เป้าหมายรัฐบาล  ใช้เวลาของรัฐบาลอีก 1 ปีเศษ มุ่งไปที่การแก้ปัญหาฐานรากของประเทศไม่ใช่เพียงแค่กระตุ้นเศรษฐกิจ

แนวทางดการกระตุ้นเศรษฐกิจให้น้ำหนักกับ 'งานปฏิรูป'

มุ่งปฏิรูป 4 ด้าน

1. พัฒนาอย่างสมดุลหันมองชนบท

"ด้วยนโยบายที่ทิ้งน้ำหนักให้กับท้องถิ่นมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้ก็คือสิ่งที่นายกฯ เรียกว่า “ประชารัฐ” ท่านจะเห็นภาครัฐร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาชนที่มีอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งหากเราทำกันอย่างจริงจัง มีการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ ผมเชื่อว่าเม็ดเงินและความพยายามเหล่านี้จะสามารถสร้างความเจริญในชนบทได้"

ต้องปรับโครงสร้างการเติบโตของเมืองไทยให้มีความสมดุลมากขึ้นกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเติบโตจากการส่งออกเป็นพื้นฐาน ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา แล้วก็ enjoy กับส่วนต่างเพียงเล็กน้อย โดยละเลยที่จะเข้าไปดูแลภาคอื่นๆ ที่เป็นรากฐานของประเทศ

"ผมเคยเปรียบเทียบโครงสร้างเศรษฐกิจไทยกับคนที่เป็นโปลิโอ ขาข้างหนึ่งแข็งแรง คือการส่งออก ส่วนใหญ่คือนักลงทุน แต่ขาอีกข้างเต็มไปด้วยคนจำนวนมาก โดยเฉพาะเกษตรกรกลับอ่อนแอ ยากจน ไม่ได้รับการพัฒนา ประเทศไทยพอก้าวออกไปจาก กทม. ก็จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ประเทศไทย แต่เป็นประเทศที่ยากจนอย่างยิ่ง แล้วเราก็ไปหลงคารมต่างชาติว่าเราเป็นประเทศรายได้ปานกลาง มันปานกลางตรงไหน ลองไปดูในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมันปานกลางอย่างไร แต่ถ้าคิดเป็นค่าเฉลี่ยออกมา เราปานกลางแน่นอน"

แนวทาง

- ทำให้เกิดการเติบโตจากภายใน ตัวตั้งจะไม่ได้อยู่ที่งานของแต่ละกระทรวง แต่อยู่ที่พื้นที่ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน  

- เส้นทางของนโยบายจะมองไปที่พื้นที่ ทั้งเรื่องการผลิต แปรรูป ท่องเที่ยว สาธารณสุข การศึกษา รวมไปถึงการส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจชุมชน เส้นทางของการหันไปทางนั้นทำได้ 2 แบบ

          1) แบบปกติ traditional คือกระทรวงลงไปที่จังหวัด แล้วผู้ว่าราชการจังหวัดเรียกประชุมกับภาคเอกชน-ประชาชน เรียกง่ายๆ คือใช้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทุกจังหวัดจะมีโครงการพัฒนาของตัวเอง นี่คือเส้นทางที่เคยมีมาแต่เดิม และถูกใช้ประโยชน์ในสมัยรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์

          2) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากที่แท้จริง ต้องมีการขับเคลื่อนในแนวราบด้วย โดยใช้ภาคประชาชนและเครือข่าย รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้รวมกลุ่มกันช่วยทำให้เกิดการผลิต แปรรูป สร้างมูลค่าในสินค้าที่ผลิตให้ได้ ทำอย่างไรจะสร้างการท่องเที่ยวท้องถิ่นขึ้นมา

2. เลิกขายของถูก สร้าง 'นวัตกรรม' เพิ่มมูลค่า

"เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตไทย จากที่เคยขับเคลื่อนโดยธุรกิจขนาดใหญ่ มาเป็นขับเคลื่อนด้วยผู้ประกอบการจำนวนมาก สร้าง SME สร้าง startup ปลูกเป็นป่าขึ้นมา ให้ต้นไม้เหล่านี้เป็นแหล่งสร้างงานในอนาคต ไม่ใช่ว่ากระจุกตัวอยู่กับบริษัทใหญ่ไม่เกิน 50 บริษัท เรามีคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดอ่านสูงมาก ทำอย่างไรให้ startup เกิดขึ้นมาให้มากมาย"

เป้าหมาย แปรสภาพจากที่เน้นความถูก ต้นทุนต่ำ เน้นปริมาณ ไปสู่สิ่งที่เรียกว่าผลิตภาพการผลิต สู่นวัตกรรม สู่การเพิ่มคุณค่าของสินค้า

แนวทาง

 - กระทรวงอุตสาหกรรมและคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (The Board of Investment of Thailand: BOI) เลิกสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นขาลง sunset industry เป็นการดันให้ภาคเอกชนไทยหันมาเอาจริงเอาจังกับการลงทุนเพื่อยกระดับตัวเอง

- กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นแม่งานรวบรวมกลุ่มคณะกรรมการ องค์กร องคาพยพต่างๆ ในกระทรวง สถาบันการศึกษา กระทรวงอุตสาหดกรรมที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างสิ่งใหม่ๆ จะร่วมกับขับเคลื่อนตั้งแต่ไอเดียออกมาจนขายได้ สร้างบริษัทใหม่ สร้าง startup และช่วยให้ค้าขายได้ รวมทั้งประยุกต์นวัตกรรมนั้นสู่ภาคอื่นๆ ทั้งเกษตร สังคม การศึกษา ฯลฯ

- สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ภาคอุตสาหกรรม และอีกกลุ่มธนาคาร ต่างๆ สนับสนุนเรื่องเงินทุน เรื่องการร่วมทุน venture capital ทำให้เกิดเป็นบริษัท หาตลาด เพื่อสร้างฐานการจ้างงาน เนื่องจาก SME 1 แห่ง มีการจ้างงานอย่างน้อย 5 คน ถ้าปลูกป่า SME ป่า startup ได้ อนาคตมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น

3. สร้าง cluster ชูท่องเที่ยว เชื่อมโยงอาเซียน

"ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผมเที่ยวมากกว่าทำงาน การไปเที่ยวเป็นการไปเจอวัฒนธรรมใหม่ๆ ถ้าจะให้ท่องเที่ยวเบ่งบาน มันไม่ใช่แค่ sea sand sun ทุกจังหวัดมีพื้นที่ท่องเที่ยวอยู่ คนในท้องถิ่นรู้ว่ามีที่ไหน เราต้องพัฒนาให้มีเสน่ห์ขึ้นมา ผมนั่งรถยนต์จาก กทม. ไปเขาค้อ ใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง ไม่มีอะไรบอกเลยว่ามีที่เที่ยวอยู่ตรงไหนบ้าง แต่พอไปประเทศญี่ปุ่น ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ มีแหล่งท่องเที่ยวหมด นี่คือการพัฒนาท่องเที่ยวที่แท้จริง"

เป้าหมาย การรวมกลุ่มอุตสาหกรรม (cluster) ต้องมี s-curve ตัวใหม่ขึ้นมาแทนที่ตัวเก่าที่ผ่านมา ระบบ cluster เป็นสิ่งจำเป็นมากที่จะดึงนักลงทุนจากต่างประเทศให้มาลงทุน

แนวทาง

- มีนโยบายให้ BOI จูงใจให้เกิดการลงทุนเรื่องการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวท้องถิ่น ซึ่งไม่ใช่แค่การสร้างโรงแรม แต่หมายถึงการมีแหล่งท่องเที่ยวจริงๆ ที่ผุดขึ้นมา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวแม่ของอุตสาหกรรมอื่นจึงต้องเริ่มทำสิ่งนี้

- เพิ่มความเข้มแข็งภาคบริการ เนื่องจาก GDP ภาคบริการของไทยใหญ่มากกว่าภาคการผลิต และจุดเข้มแข้งของภาคบริการก็คือการท่องเที่ยว

- เชื่อมโยงอาเซียนยกระดับการแข่งขันในระดับโลก ปลายปี 2558 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) จะเกิด โดย AEC กระทรวงคมนาคมจะต้องเข้าไปดูแลให้ประเทศไทยเป็นจุดตัดเหนือ-ใต้ ออก-ตก ให้มีเส้นทางเชื่อมโยงระหว่าง cluster และการท่องเที่ยว จะเป็นกระบวนการลงทุนครั้งใหญ่ ใน 4-5 ปีข้างหน้า

- IT กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ดูแล ป็น Digital Thailand

4. ดึงเอกชนร่วมลงทุน ลดภาระรัฐ พัฒนาตลาดการเงิน

"งบการศึกษาได้อยู่ที่ปีละ 7-8 แสนล้านบาท แต่สอบ O-Net ตก แล้วงบวิทยาศาสตร์ที่เป็นงบแห่งอนาคตกลับมีแค่ 1.2 หมื่นล้านบาท แล้วเราจะอยู่อย่างไรในอนาคต อันนั้นจึงต้องปฏิรูปแน่นอน บอร์ดของงบประมาณจะต้องมีคนนอกเข้าไปนั่งด้วยเพื่อให้เกิดความโปร่งใส มีคำแนะนำใหม่ๆ คิดนอกกรอบ"

เป้าหมาย ลดภาระทางการเงิน

แนวทาง

- ใช้การร่วมทุนกับเอกชน (Public–Private Partnership: PPP) จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการเจรจา โดยกระทรวงการคลังและคณะทำงานกำลังดูวิธีลัดขั้นตอนเพื่อให้การพิจารณาเร็วขึ้น

- เรื่อง PPP จะตามประกบกับกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตามแนวคิดของกระทรวงการคลังและออกแบบให้สอดรับกับการลงทุนของกระทรวงคมนาคม

- ระบบงบประมาณ มีความซ้ำซ้อน การจัดทำงบประมาณจะมี 2 สิ่งใหญ่ คือ

          (1) งบประจำที่จำเป็น

          (2) งบที่ใช้ในเรื่องสำคัญ เช่น การพัฒนาท้องถิ่นหรือนโยบายใหญ่ๆ จะต้องมีการสร้างระบบงบประมาณแบบบูรณาการ ดึงทุกฝ่ายมาร่วมกันว่างานนั้นเป็นของกระทรวงไหน แล้วแจกจ่ายงบประมาณไปตามงาน หากเกิดขึ้นจะประหยัดงบประมาณได้อย่างมหาศาล คาดว่าจะลงตัวได้ในระยะเวลา 2-3 ปี  ไม่เช่นนั้นงบประมาณจะบิดเบี้ยวอยู่ตลอด

- เรื่องระบบการเงิน-การคลังไทย ทั้งเรื่องภาษี ตลาดเงิน และตลาดทุน จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการระดมทุนและจัดสรรทรัพยากร โดยเบื้องต้นจะหารรือกับผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในเรื่องการรื้อกฎเกณฑ์ในตลาดทุนให้มีประสิทธิภาพ สอดรับกับสากล และสะท้อนความเป็นจริงแห่งอนาคต

- เรื่องรัฐวิสาหกิจให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ดูแล เพราะทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจมีขนาดเทียบเท่ากับ GDP มีรายจ่ายเพื่อการลงทุนมากกว่ารายจ่ายของรัฐบาล แต่ผลตอบแทนที่ได้กลับมายังไม่ดีพอ หากสามารถทำให้รัฐวิสาหกิจเข้มแข็งได้จะหมายถึงรายได้และเงินเป็นกอบเป็นกำ

ก.คลัง ชงตั้ง 'กองทุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน'

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนา Post Forum 2015 “ร่วมสร้างเศรษฐกิจไทย กับทีมเศรฐกิจใหม่” โดยระบุว่า หลังจากรัฐบาลได้มีนโยบายลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่หลายโครงการ ทั้งรถไฟ ระบบราง ถนนมเตอร์เวย์ ท่าเรือน้ำลึก และที่ผ่านมา กองทุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) กระจายอยู่หลากหลายกองทุน กระทรวงการคลังจึงมีแนวคิดรวมเป็นกองทุนขนาดใหญ่ทั้งประเทศเป็นกองทุนเดียวกัน เพื่อระดมทุนจากทั้งรายย่อย นักลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนประกันสังคม บริษัทประกัน กบข. กองทุนรวม ที่ต้องการลงทุนในระยะยาว เพื่อนำเงินไปลงทุนโครงการของรัฐ โดยรัฐบาลพร้อมค้ำประกันผลตอบแทนในช่วงแรก เนื่องจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ช่วงแรก 4-5 ปี จะไม่มีผลตอบแทนหรือผลตอบแทนต่ำ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กล่าวว่า เมื่อบริหารกองทุนอย่างเป็นระบบ รัฐบาลค้ำประกันให้ผลตอบแทน กองทุนโครงสร้างพื้นฐานจะได้รับการจัดเรตติ้งสูงขึ้น และยังเปิดให้กองทุนต่างชาติเข้าร่วมลงทุนด้วย อีกทั้งการรับเหมาก่อสร้าง ต้องการเปิดให้บริษัทเอกชนหลายกลุ่มร่วมตัวยื่นข้อเสนอเข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐบาล เพื่อไม่ให้การรับเหมาโครงการใหญ่ของรัฐบาลกระจุกตัวเพียงเอกชนรายเดิม 4-5 รายในปัจจุบัน

นายอภิศักดิ์ กล่าวอีกว่า เป้าหมายหลักต่อไป ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินนั้น ต้องการผลักดันระบบ E-Payment โดยดึงทุกหน่วยงานมาร่วมทำงานอย่างบูรณาการ เพื่อลดการชำระด้วยเงินสด และหันไปใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แทน และเชื่อมโยงระบบกับกรมสรรพากรในการหักภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีการชำระค่าสินค้าและบริการ ช่วยให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านบัตรประชาชน เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินมาตรการอุดหนุนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยโดยตรง คาดว่าแนวทางดังกล่าวจะได้เห็นโครงร่างภายใน 1 เดือนนับจากนี้

ด้านนางอรรชกา ศรีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ต้องการส่งเสริมภาคเอกชนผ่านการพัฒนาด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีชั้นสูง ผ่านกลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี จะได้รับการยกเว้นภาษีอย่างเต็มที่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยี่ เช่น ไบโอ ฟู้ดไฮโดรโพรนิกส์ อุปกรณ์การแพทย์ รองรับการเป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลต้องการเร่งเดินหน้าวางระบบขนส่งเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทวายและท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านความร่วมกับไทย-ญี่ปุ่น ในการสร้างระบบราง กาญจนบุรี-กทม.-สระแก้ว- แหลมฉบัง เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งด้านตะวันตก ตะวันออกจากเมียนมา ผ่านไทย ไปกัมพูชา และเวียดนาม กลางปีหน้าจะเสนอ ครม.พิจาณาได้ นอกจากนี้ยังต้องการเดินหน้าการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก ตะวันออกด้านบน ผ่านด่านแม่สอด-นครสวรรค์-มุกดาหาร และเร่งเจรจากับจีนเพื่อเดินหน้าสร้างรถไฟฟ้าเส้นทาง กทม.-หนองคาย เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายครอบคลุมมากขึ้น

นายบรรยง พงษ์พานิช คณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ กล่าวในงาน Post Forum 2015 ว่า สถานะของรัฐวิสาหกิจถือว่ามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจค่อนข้างมาก เนื่องจากในปัจจุบันรัฐวิสาหกิจมีทรัพย์สินรวมกันมากถึง 12 ล้านล้านบาท และมีงบลงทุนสูงถึง 5.1 ล้านล้านบาท มากกว่างบประมาณแผ่นดินถึง 2 เท่า การครอบครองทรัพย์สินในระบบเศรษฐกิจไว้ในมูลค่าที่สูง ประกอบกับเป็นทรัพย์สินที่เป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศนั้น ทำให้รัฐวิสาหกิจจึงมีความสำคัญในแง่พื้นฐานระบบเศรษฐกิจที่ทำให้ส่วนอื่นๆ ต้องมาใช้ประโยชน์หรือต่อยอดจากจุดนี้

นายบรรยง กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจที่มีกำไรมักจะมีการผูกขาด ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนจะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ตัองมีการแข่งขันกับภาคเอกชน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งไม่ใช่การแก้ไขเป็นครั้งคราว แต่จะต้องเป็นการแก้ไขที่ยั่งยืน และเพิ่มประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงานให้มากขึ้น

โดยเป้าหมายในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่สำคัญ 4 เรื่อง คือ 1.ปฏิรูปให้รัฐวิสาหกิจทำภารกิจที่ควรจะทำ และบูรณาการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ 2.ปฏิรูปให้รัฐวิสาหกิจทำภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ ประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน 3.ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้ทำภารกิจอย่างโปร่งใส ไม่เกิดความรั่วไหลในเรื่องของงบลงทุนที่มีสูงถึง 5.1 ล้านล้านบาท และ 4.ปฏิรูปให้รัฐวิสาหกิจใช้ทรัพยากรของชาติได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด

นายบรรยง กล่าวว่า การแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟู 7 แห่ง มีประเด็นว่าต้องทำอย่างไรให้รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ประสบความสำเร็จในระยะยาว และจะมีรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่ถูกดึงไปอยู่ภายใต้ซุปเปอร์โฮลดิ้ง เช่น  บมจ.ทีโอที ที่มีพนักงานกว่า 2,000 ราย ขาดทุนปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่ได้สิทธิลงทุน 3G โดยไม่ต้องเสียค่าสัมปทาน ซึ่งปรากฎว่าปัจจุบัน 3G มีอยู่ 85 ล้านเลขหมาย แต่ บมจ.ทีโอที กลับมีส่วนแบ่ง 3G แค่ 4 แสนเลขหมาย ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าถ้าไม่มีการปรับโครงสร้างก็คงต้องออกไปจากการแข่งขันกับเอกชนรายอื่น

เรียบเรียงจาก :  ไทยพลับบิก้า,ผู้จัดการออนไลน์ และryt9.com

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube