รายงานพิเศษ : สังเคราะห์ยุทธศาสตร์ 'การขับเคลื่อนภาคประชาสังคมในอนาคต'


สถานการณ์ปัจจุบันที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้าเป็นโจทย์ที่ 'ยาก' และ 'ซับซ้อน' ที่สุดเท่าที่เคยเจอ..

เป็นเสียงสะท้อนที่ดังชัดและมาจากจากประสบการณ์ของผู้ทำงานภาคประชาสังคม โดยเฉพาะในทัศนะของคนรุ่นอาวุโส ในเวทีสัมมนา “สังเคราะห์ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนภาคประชาสังคมในอนาคต” ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15 – 17 ตุลาคม 2558 ณ อิงธารรีสอร์ท จังหวัดนครนายก โดยมีคณะอนุกรรมการสนับสนุนภาคประชาสังคม พอช. เป็นตัวกลางเชื่อมประสานให้ตัวแทนภาคประชาสังคมทั้งรุ่นเก่า กลางและใหม่จากทั่วประเทศกว่า 120 คนได้มาพูดคุยเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกันของภาคประชาสังคม

ประเมินสถานการณ์ภาพรวม

"โจทย์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของไทยเท่าที่เห็นมาไม่เคยยากเท่านี้มาก่อน มันท้าทายจนไม่เห็นว่าใครจะตอบโจทย์นี้ได้โดยคนๆเดียวหรือกลุ่มเดียว การมาเจอกันครั้งนี้จึงเหมาะสมพอที่จะตอบโจทย์พวกนี้ร่วมกัน" ศรีสุวรรณ ควรขจร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)กล่าว

 

ทั้งนี้ เขาอธิบายต่อว่า ไทยกำลังเข้าสู่ภาวะชะงักงันของเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันเรื่องสภาวะแวดล้อมก็กำลังเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ดังเช่นที่สหประชาชาติกำหนดให้ทุกประเทศต้องไปนำเสนอแผนและเป้าหมายการลดภาวะเรือนกระจก ซึ่งประเทศไทยเสนอว่าจะลดลงให้ได้ 20 เปอร์เซ็นต์จากที่ปล่อยจากในปี 2005 แต่ในความเป็นจริงมันมหาศาลมากจนมองไม่เห็นว่าจะลดได้อย่างไร ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อรัฐคิดจะทำโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือโครงการขนาดใหญ่เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจต่างๆการไปสู่เป้าหมายนี้จึงเป็นไปไม่ได้

"เรื่องพวกนี้เราพูดไม่ได้เพราะต้องไปวิจารณ์กระทรวงต่างๆซึ่งทำไม่ได้ในภาวะเช่นนี้ ภววิสัยทางการเมืองไม่เอื้อให้เราพูดได้" เขากล่าวถึงอุปสรรคใหญ่และยืนยันว่า ประชาธิปไตยยังคงเป็นวาทกรรมที่มีอำนาจในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันวาทกรรมการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยังคงเป็นที่ยอมรับ ซึ่งมิจฉาทิฏฐิของรัฐยังคงเป็นแบบเดิม คือ ตลาดต้องใหญ่และแยกเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจากความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้น แนวทางจึงออกมาในรูปเขตเศรษฐกิจพิเศษ โรงไฟฟ้า รถไฟฟ้า แต่ในภาพใหญ่ก็คือการอำนวยความสะดวกให้คนมีเงิน ซึ่งในจินตภาพส่วนตัวคิดว่าต้องมีอะไรที่มากกว่าการมองเรื่องอำนาจเงิน อำนาจปืน หรือมวลชน ซึ่งเวลานี้ไม่สามารถแสดงออกได้ แต่เป็นช่วงเวลาที่ยากที่สุดที่ไม่เคยเจอมาก่อนและเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างแท้จริง

เปิดเสียงสถานการณ์ 5 ภาค 'ภัยแล้ง' อาจยกระดับเผชิญหน้า  

ภาคอีสาน

- มีรูปธรรมของทุนที่เคลื่อนมาค่อนข้างหนักหน่วงทั้งทุนในชาติและข้ามชาติ แผนพัฒนาทั้งอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตกอยู่ความขัดแย้งจากการแผ่อิทธิพลของประเทศตะวันตกและจีน เขตเศรษฐกิจพิเศษ การทะลักเข้ามาของอุตสาหกรรมขนาดกลางและใหญ่ มีความพยายามเปลี่ยนแปลงแผนแม่บทผังเมือง

- ความขัดแย้งมีการขยายตัวและร้อนแรงขึ้นมาก ทั้งในส่วนของการรุกทรัพยากรป่าไม้ ที่ดิน เหมืองทอง เหมืองแร่โปแตช การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เป็นต้น  

- การรวบอำนาจโดยรัฐที่มีแนวโน้นกลับเข้าสู่ 'รัฐข้าราชการ' ซึ่งมีอิทธิพลค่อนข้างมากในระดับท้องถิ่น

ภาคใต้

- ด้านสถานการณ์ทะเล อิทธิพลจากมาตรการของยุโรปส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางทะเลที่ดีขึ้น

-สิทธิชุมชน ป่าไม้ ที่ดิน รัฐได้นำแผนแม่บทการจัดการป่าไม้มาใช้ มีการตรวจ ยึด จับ ตัด โค่นต้นยาง แต่มีการต่อรองได้ระดับหนึ่ง

- ด้านพลังงาน แบ่งเป็น 2 ประเด็น

          1. การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 8-9 โรง ตามแผนของ ปตท. จะมีการกระจายออกไปทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งคัดง้างได้ลำบากในรัฐบาลปัจจุบัน เช่น สถานการณ์ที่จังหวัดกระบี่ มีการนำกำลังทหารคุ้มกันกระบวนการเหล่านี้

          2. การตั้งแท่นขุดเจาะสำรวจแหล่งพลังงานใกล้เคียงแหล่งท่องเที่ยวและการรุกของโรงไฟฟ้าขนาดเล็กชีวมวล

- โครงการขนาดใหญ่ ที่ชัดเจนคือรัฐบาลสั่งทำทบทวนแลนบริดจ์ บน กลาง ล่าง ของภาคใต้ การทำ EHIA โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล การพยายามสร้างโรงถลุงเหล็กและนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล

- สถานการณ์ 3  จังหวัด เป็นปัญหาที่หาคำตอบยากแต่มีความพยายามของรัฐที่จะเจรจา แต่ในมิติของนักพัฒนาเอกชนยังคงเข้าไปขับเคลื่อนได้ยาก

- คนรุ่นใหม่ ในมุมนักพัฒนาน้อยลง แม้แต่กลุ่มนักศึกษาที่เริ่มหายไป

ภาคกลาง

- ความมั่นคงด้านอาหารและน้ำซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญที่สุดของคนภาคกลางกำลังเจอสถานการณ์รุกเข้ามาช่วงชิง จึงมีการคัดค้านเมกาโปรเจ็คใหญ่ของรัฐเรื่องการจัดการน้ำ ฟลัดเวย์ เขื่อนแม่วงศ์ รวมไปถึงการสัมปทานเหมืองแร่ต่างๆ

- ภัยแล้งน่าวิตกมาก เพราะสถานการณ์ทำให้คนในชุมชนขาดเสถียรภาพและความเชื่อมั่น จะคิดถึงตัวเองและจะเกิดปัญหาในที่สุด

- เรื่องผังเมืองรวมที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และการรุกเข้ามาของภาคอุตสาหกรรม

ภาคตะวันออก

- เป็นเขตอุตสาหกรรมจึงมีปัญหาหลายมิติ  อาจแยกโซนปัญหากว้างๆได้เป็น

สระแก้ว - เกษตรพันธสัญญา

ปราจีนบุรี - สถานการณ์หนักคือโรงงานอุตสาหกรรมย้ายจากอยุธยาและกำลังมีปัญหาเรื่องน้ำมาก

นครนายก - ขยะและแม่น้ำเริ่มได้รับผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรม

แปดริ้ว - การดูแลลุ่มน้ำบางปะกง

ชลบุรี- การทำท่าเรือแหลมฉบัง

ระยอง - เป็นเขตอุตสาหกรรมหนักรวมไปซึ่งการพบแร่ทองคำระหว่างรอยต่อจันทบุรี  

ตราด - เขตเศรษฐกิจพิเศษ

ภาคเหนือ

- เขตเศรษฐกิจพิเศษ

- การเปิดประเทศของพม่า ลาว

- การรุกของทุนที่ใช้ทรัพยากรมาก เช่น ไร่ข้าวโพด

- กลุ่มภาคเหนือตอนล่างกำลังประสบปัญหาจากภัยแล้งอย่างมีนัยยะสำคัญ ได้แก่

          1. การห้ามการทำนาปรังรอบที่ 3 อาจทำให้วิถีชาวนาล่มสลายและเป็นวิกฤติเงียบ โดยปัจจุบันชาวนากำลังเผชิญปัญหาขาดรายได้และกำลังนำไปสู่การสูญที่ดินครั้งใหญ่ รวมไปถึงอาจสร้างการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐในอนาคตเนื่องจากมีอารมณ์ที่ไม่พอใจเจ้าหน้าที่ที่มาคอยควบคุมกำกับการใช้น้ำในการเกษตรอย่างเข้มงวดแตกต่างจากภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ด้านล่างลงมา   

          -รัฐบาลส่งเสริมอาชีพเสริมโดยมีโครงการบังคับลงมา เช่น แจกถั่วเหลืองซึ่งก็ต้องใช้น้ำปลูก ราคาไม่ดี ตลาดไม่มี  หรือเยียวยาไม่ตรงตามสภาพปัญหาที่แท้จริง

          - แนวนโยบายตำบลละ 5,000,000 บาท เป็นการสร้างกลไกรัฐให้แข็งแรงโดยให้นายอำเภอมีอำนาจ เพราะต้องส่งแผนไปให้นายอำเภออนุมัติงบประมาณ

          - สัมปทานเหมืองกำลังสร้างผลกระทบร้ายแรงโดยเฉพาะด้านสุขภาพ

'กลไกปฏิปักษ์เสียงข้างมาก' จะปรากฏในโครงสร้าง รธน.

ในทางการเมือง นายไพโรจน์ พลเพชร นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ วิเคราะห์ว่า ร่าง รธน.ฉบับที่เพิ่งตกไปบัญญัติให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ให้พื้นที่ทหารมีอำนาจอยู่ในนั้น คือแนวคิดของสถาบันปฏิปักษ์เสียงข้างมาก สะท้อนความเชื่อว่า ถ้าไม่มีพื้นที่ทางการเมืองให้ทหารอยู่ก็จะเกิดการรัฐประหารและความรุนแรงเกิดขึ้นได้อีก แต่หากทหารอยู่ก็สามารถแทรกแซงได้ ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ก็จะยังคงกลไกแบบนี้อยู่ดี

ทั้งนี้ เขาอธิบายว่า สถาบันปฏิปักษ์เสียงข้างมากคือการคนส่วนหนึ่งเห็นด้วยว่าต้องมีทหารมาพิทักษ์กฏ และต้องมีระยะเปลี่ยนผ่านก่อนจะเป็นประชาธิปไตย เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญในหลายประเทศ เช่น ชิลี หรือแอฟริกาใต้ แต่สาระสำคัญคือ อำนาจตาม ม.44 หรือคำสั่งที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ทหารสามารถจับกุม สอบสวนได้ จะอยู่ไปอย่างน้อยถึงปี 2560 เป็นเครื่องมืออำนาจในการกำราบเพื่อความสงบให้ขยายการลงทุนได้อย่างราบเรียบ

"ทหารคือการ์ดของทุน คือผู้พิทักษ์นายทุน จะเห็นว่าเวลาเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะเอาที่ดินคืนมา ต้องเอาทหารไปด้วย นายทุนด้านพลังงานจะขุดบ่อแก็สก็มีทหารมาคุม การที่มีทหารในอำนาจรัฐ ไม่ได้เป็นผลบวกต่อชาวบ้านในแง่ของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของภาครัฐ การรื้อฟื้นอำนาจข้าราชการภูมิภาค ทอนอำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็เป็นแนวโน้มที่เป็นอยู่ ชัดเจนว่าทหารมีเจตจำนง เป็นประชาธิปไตยช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นแนวคิดสถาบันปฏิปักษ์เสียงข้างมาก คือคนไทยปฏิเสธเสียงข้างมาก จึงเข้าได้กับความเชื่อของคนไทยบางกลุ่ม แต่ในอีกด้านอีกของการเข้ามาก็เป็นการเพิ่มอำนาจรัฐให้กับทุน และข้าราชการ"

ทั้งนี้ นายไพโรจน์ กล่าวตอนท้ายว่า พลังการเติบโตของภาคประชาชนที่ไม่ยอมจำนน ที่ได้เรียนรู้สิทธิ เข้าใจสิทธิ ปกป้องสิทธิ เป็นวิญญาณที่อยู่ในตัวประชาชน วิญญาณนี้ต่อให้มนต์วิเศษของรัฐใช้มาอย่างไร เชื่อว่าท้ายสุดจะสะกดไม่อยู่  

จับตา 'ขบวนการใหม่' ภาคประชาสังคม 

 

ปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้สร้างผลกระทบต่อภาคประชาสังคมเช่นกัน โดยเฉพาะรอยร้าวทางความเชื่อและอุดมการณ์จึงทำให้การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมที่เคยมีพลังในการตรวจสอบทัดทานอำนาจรัฐดูแผ่วเบาและเงียบลงไปในระยะหลัง ซึ่งในเวทีสัมมนาครั้งนี้ก็ได้นำปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาขบคิดเพื่อมองหาทางในการทำงานต่อไปเช่นกัน

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เครือข่ายการศึกษาทางเลือก เสนอผลระดมความคิดเห็นจากการหารือในกลุ่มนักพัฒนาที่ทำงานขับเคลื่อนสังคมมานานกว่า 20 ปี โดยมีข้อสรุปร่วมกันว่า จะสถาปนา 'ขบวนการใหม่'โดยแบ่งออกเป็น 2 แนว ซึ่งยังต้องมีการหารือเพิ่มเติมในรายละเอียดต่อไป

แนวทางที่หนึ่งคือ การสร้างขบวนการสร้างสังคมอนาคต เพื่อสังคมอนาคต และอีกแนวทางหนึ่งคือการตั้งพรรคการเมือง เพราะจะเป็นการสถาปนาตัวตนให้มีสถานะ แต่การจัดพรรคจะต้องรองรับความหลากหลาย รองรับความซับซ้อนได้ ไม่รวมศูนย์ แต่ก็ไม่ใช่เครือข่ายที่กระจัดกระจายไร้พลัง โดยมีเป้าหมายคือ “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม”

นอกจากนี้ ขบวนใหม่จะต้องประกาศต่อสังคมว่าเราคือใคร มีข้อเสนอ ทิศทาง อย่างไร และจะสร้าง “ธรรมนูญประชาชน” ร่วมกัน โดยจะเดินตามสิ่งที่กำหนดนี้ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ตาม และคงต้องมีปฏิบัติการโดยจะทดสอบพลังจากกรณีที่กำลังเป็นปัญหาเฉพาะหน้าได้แก่ การทวงคืนผืนป่า เศรษฐกิจพิเศษ และกรณีเรื่องเหมือง แต่ขยับอย่างไรจะนำเสนอในนามขบวนการใหม่ต่อไป

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube