การจัดตั้ง ‘เครือข่ายอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จังหวัดระยอง ‘ กำลังเป็นอีกประเด็นที่น่าจับตา โดยเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 58 ที่ผ่านมา บริษัท อิมเมจพลัส จำกัด (IMP) ในฐานะที่ปรึกษาของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และความร่วมมือจาก อบจ.ระยอง ที่ยินดีให้ใช้เป็นสถานที่จัดประชุมตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆราว 30 คน ทั้งจากภาครัฐ ผู้ประกอบการ นักวิชาการ สื่อ และภาคประชาสังคม เพื่อรับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนนำไปสู่การจัดทำแผนการสร้างเครือข่ายดังกล่าว
ทบทวนข้อสรุปเวที ครั้งที่ 1
วันที่ 3 มิถุนายน 2558 ได้มีการพูดคุยในเรื่องเครือข่ายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศครั้งแรก โดยมีประเด็นหลักที่ถูกให้ความสำคัญ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม เช่น กลิ่น น้ำ เสียง ประชากรแฝง เรื่องของความปลอดภัยและยาเสพติด รวมไปถึงปัญหาเรื่องขยะ
ทั้งนี้ ยังได้มีความเห็นร่วมกันในความจำเป็นที่จะต้องมีการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน โดยให้ภาคประชาชนเป็นหน่วยงานหลักในฐานะผู้เฝ้าระวัง ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่คอยสนับสนุน และจะมีการจัดตั้งศูนย์การจัดการสิ่งแวดล้อมจังหวัด นอกจากนี้ยังเห็นร่วมกันว่า องค์กรและกลไกที่จะเกิดขึ้นควรจะมีโครงสร้างแบบหลวมๆ
ในส่วนของแนวทางการทำงาน แต่ละภาคส่วนมีความเห็นว่า ควรมีการศึกษากลุ่มเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมระยองที่มีการทำงานอยู่แล้วให้ชัดเจน และควรจะมีการแบ่งโซนพื้นที่ในการรับผิดชอบ อีกทั้งควรมีการเปิดเผยและแบ่งปันข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน ต้องมีการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นในการสร้างจัดสำนึกของคนในพื้นที่ และสุดท้ายคือต้องมีการเชื่อมโยงการสื่อสารผ่านวิทยุชุมชน เคเบิ้ลท้องถิ่น หนังสือพิมพ์ชุมชนและเว็บไซด์
ความคืบหน้า ‘อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ’ จากฝ่ายนโยบาย
ประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจและมีการอภิปรายอย่างมาก คือการนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมของตัวแทนจาก IMP ในเรื่อง ‘แผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ’ ที่ได้ทำแล้วเสร็จแล้วในเดือนเมษายน ปี 2558 โดยในแผนดังกล่าวจะมีการดำเนินการ 5 มิติ 22 ด้าน (โครงการ) ภายใต้งบประมาณ 1600 ล้านบาท ในกรอบเวลา 5 ปี โดยจะมีการดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก
ลำดับต่อมาคือ ปัจจุบันได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จังหวัดระยอง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นามในวันที่ 3 มีนาคม 58 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการทั้งสิ้น 62 คน
บางความเห็นจากผู้ร่วมประชุม
ในความเห็นของตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งสำคัญที่หายไปจากแผนคือ ‘โครงสร้าง’ ที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งแม้จะพูดคุยกันมาแล้วดังที่ผ่านมา แต่หากไม่สามารถไปเชื่อมเข้ากับแผนของคณะกรรมการชุดใหญ่ที่แต่งตั้งมาได้ก็ไม่ก่อให้เกิดผล ดังนั้น ควรมีการตั้งโครงสร้างถาวรที่มีพลังอย่างยั่งยืนและเชื่อมต่อกับโครงสร้างที่เป็นทางการให้ได้ ต้องมีการสร้างโครงสร้างที่ชัดเจน
ทั้งนี้ ในประเด็นดังกล่าว มีการแสดงความเห็นจากที่ประชุมเพิ่มเติมว่า ต่อให้มีการตั้งเครือข่ายในอนาคต แต่ปัญหาก็คือกรมอุตสาหกรรมไม่มีงบประมาณหรือระเบียบรองรับ การจัดตั้งจะเป็นการตั้งที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคลที่รับนโยบายซึ่งจะเป็นไปในลักษณะมาแล้วจากไปเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต
เช่นเดียวกับตัวแทนสื่อมวลชนจังหวัดระยอง ที่กล่าวถึงปัญหามาบตาพุดว่ามีมายาวนาน แต่การแต่งตั้งคนมักทำมาจากกรุงเทพ มักไม่มีคนในพื้นที่อยู่ในโครงสร้าง ในหลายองค์กรก็ไม่มีคนในพื้นที่เป็นตัวแทนพูดคุย การทำงานของหน่วยงานราชการจึงเป็นไปในลักษณะทำแล้วทิ้ง
นอกจากนี้ ในช่วงท้ายที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า ควรมีการตั้งชุด ‘อนุกรรมการ’ ที่เป็นภาคประชาสังคม เพื่อก่อให้เกิดการทำงานเชิงรุก ซึ่งหากมีช่องทางในการจัดตั้งอนุกรรมการ อาจจะมีการแบ่งปันงบประมาณมาช่วยเหลือในการตั้งเครือข่ายการทำงาน เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
“เรื่องของโครงสร้าง เห็นด้วยว่าในส่วนของโครงสร้างมีการจัดตั้งขึ้นอย่างมากมาย ในฐานะที่อยู่ข้างล่างขอบอกว่าข้างล่างมีกลุ่มคนที่มีใจที่จะทำ แต่ไม่มีอำนาจในการสั่งการ อยากให้เห็นว่า ปัญหาของคนที่อยู่ส่วนล่างจะแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อแต่ละภาคส่วนต้องมีการพูดคุยกัน ยุทธศาสตร์ของภาคประชาชนในปีนี้ คือการกระจายอำนาจ การรักษาแหล่งอาหารและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น การที่จะเชื่อมโยงโดยเครือข่ายองค์กรชุมชนจะช่วยเหลือในการกระจายข้อมูลจากแท่งต่างๆไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมหรืออื่นๆไปสู่พื้นที่แนวราบที่ได้รับผลกระทบ” สุธีรา ผ่องใส ผู้ประสานงานกลางเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดระยอง กล่าว
เสนอสร้าง Social Network ‘ร้อยพลัง’
อีกข้อเสนอหนึ่งในการประชุม โดย IMP คือ การสร้าง Social Network ขึ้น โดยบริษัทกำลังจัดทำเว็บไซต์และเครือข่ายออนไลน์ในชื่อ ‘ร้อยพลัง’ โดยนอกจากโครงสร้างทางการที่มีการอภิปรายไปแล้ว ในส่วนนี้คือทางเลือกที่สามารถผลักดันประเด็นต่างๆได้ด้วยพลังของสื่อใหม่ผ่าน Social Network ต่างๆ โดยทาง IMP ได้เชิญชวนให้ผู้มาประชุมมาร่วมกันเป็นเครือข่ายในทางนี้ด้วย
ตัวแทนจาก IMP กล่าวด้วยว่า แม้จะพูดว่า ‘สื่อใหม่’ แต่ความจริงอาจไม่ใช่เรื่องที่ใหม่แล้ว เพราะจากสถิติปี 2557 จะพบว่าคนไทยใช้สมาร์ทโฟนมากกว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศเสียอีก หากนับเฉพาะที่ใช้เฟซบุ้คก็มีถึง 24 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ดังนั้น เครือข่ายทางสังคมดังกล่าวจึงน่าจะเป็นเครื่องมือที่ชาวระยองสามารถนำมาใช้ให้เกิดพลังได้
และนอกจากการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายแล้ว สิ่งที่อิมเมจพลัสกำลังทำคู่กันไปด้วยก็คือ การพัฒนาจากงานพื้นที่ให้กลายมาเป็นงาน ‘องค์ความรู้’ หรือ ‘ฐานข้อมูล’ ที่สามารถแบ่งปันกันได้ โดยเครื่องมือที่เรากำลังจะพัฒนาคือwww.roypalang.org ที่เชื่อมกับ Social Media ต่างๆ ไม่ว่า Facebook ,Twitter หรือ Youtube เป็นต้น โดยในเว็บจะมีส่วนที่เป็นฐานข้อมูลหรือ library ไว้ให้เครือข่ายสืบค้นองค์ความรู้ที่ต้องการได้