นักประดิษฐ์ชาวบ้าน กิจการในชุมชน


 

ถ้ามีสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้งานได้จริงเกิดขึ้น สิ่งนั้นสมควรเรียกให้เท่ๆ ว่า “นวัตกรรม”

ความเท่ยิ่งเพิ่มเป็นสองสามเท่าถ้า “นวัตกรรม” นั้นเกิดขึ้นจากฝีมือชาวบ้านที่ไม่ได้ร่ำเรียนมาจากรั้วมหาวิทยาลัยชื่อดัง แต่มาจากทักษะชีวิตล้วนๆ เป็นช่างชำนาญการ ลองผิดลองถูกจนสามารถแหวกพงหนามสร้างทางเป็นของตนเอง

 

นี่คือ 4 นวัตกรรมตัวอย่าง ที่เกิดขึ้นจากนักประดิษฐ์ชาวบ้านแท้ๆ

 

.....

 

“รถตัดหญ้านั่งขับ นักประดิษฐ์ ป.4”

 

ลุงประภา ผ่องบำรุง นักประดิษฐ์ ป.4 วัย 68 ปี แห่งบ้านวังวน ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

ใช้ทักษะช่างสร้างนวัตกรรมพลิกชีวิต “รถตัดหญ้านั่งขับ”  ประสิทธิภาพสูงไปได้ทุกที่ ตัดหญ้าตามร่องสวนหรือสถานที่อื่นๆสารพัดนึกสะดวดสบายปลอดภัย

 

ลุงประภา คืออดีตช่างกลึงที่โดนจระเข้ฟาดหาง จากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ต้องกลับคืนถิ่นเกิด เมื่อต้องกลับมายังบ้านเกิด สิ่งแรกที่เรียกพลังความฮึกเหิมคือลมหายใจที่ยังมีความฝัน

 

 

“เริ่มประดิษฐ์ รถตัดหญ้านั่งขับ เมื่อปี 2541 หลังจากกลับมาอยู่บ้าน ก่อนหน้านั้นทำงานอยู่หลายที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเป็นช่างกลึง ชีวิตของช่างกลึงทำงานหนักมากต้องใช้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่เสมอ ทำไปทำมาก็ต้องออกจากงาน ผลพวงของวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 กลับมาบ้านจึงหาอะไรทำ เพราะคิดว่าลมหายใจยังมี ความสามารถที่ติดตัวคงทำกินได้ ก็เลยเริ่มนำชิ้นส่วนเศษเหล็กมาทำเป็นรถตัดหญ้าเพื่อใช้เองในสวนในไร่ พัฒนาเรื่อยมาจนกลายมาเป็นรถตัดหญ้านั่งขับในปัจจุบัน”

 

นวัตกรรมจากมันสมองลุงประภาราคา เริ่มที่ 150,000 บาท ทำเองด้วยมือล้วนๆ ต่อคันใช้เวลาสร้างราว 2 เดือน ลูกค้ามีมาอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ ชนิดที่คำสั่งซื้อไม่ขาดมือเชียว ไม่เพียงแค่นี้เท่านั้น ลุงประภายังมีสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆเกิดขึ้นอีกหลายชิ้น เช่น เครื่องล็อคน้องหมา ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่เห็นทีมปศุสัตว์ออกมาฉีดยาหมาแมว ป้องกันโรคกว่าจะได้ฉีดยาก็ทุลักลุเทเอาการจึงคิดค้นขึ้นมา เครื่องช่วยผู้ป่วยติดเตียง เก้าอี้เอนกประสงค์ นั่งทำงานได้ นอนทำงานก็ยังได้

 

สุดยอดไปเลยครับลุง

 

 

......

 

“รถไถนาสามล้อ ป.7”

 

นายสุรินทร์ นันทวงศ์ หรือ ช่างต๋อย นายช่างสารพัดนึก วัย 58 ปี ชาวบ้านโคกพะทาย ต.โพนทอง อ.บ้านแพง จ.นครพนม ผู้สร้างนวัตกรรมสามล้อไถนา เพื่อแก้ปัญหาว่าไม่อยากเดินสูดกลิ่นควันอีกต่อไป

 

 

“เริ่มที่รู้สึกว่า เราขับรถไถนาเดินตาม วันๆหนึ่งกว่าจะเสร็จสิ้นงานไถนา เราต้องทนสูดกลิ่นควันไม่น้อย แค่อยากทำนาทำไร่ให้สบายขึ้นกว่านี้ และไม่ต้องทนสูดกลิ่นควันไอเสีย ปี 2549 จึงเริ่มพัฒนาขึ้นมาใช้เอง จากเครื่องต้นแบบลงทุนประมาณ 30,000 บาท จากนั้นก็พัฒนาเรื่อยมาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เป็นที่ประทับใจลูกค้ามีคนสั่งซื้อเข้ามาเรื่อยๆ”

 

ช่างต๋อย เป็นนายช่างประจำหมู่บ้านซ่อมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ สั่งสมประสบการณ์มาทั้งชีวิต แม้เจ้าตัวบอกเพียงว่าการศึกษาในชั้นเรียนจบลงแค่ชั้น ป.7 แต่ผลงานที่ช่างต๋อยสร้างขึ้นไม่ธรรมดาเลยทีเดียว นวัตกรรมรถไถนาสามล้อนั่งขับนี้ สนนราคาที่ 160,000 บาท ขึ้นไป ตามขนาดของเครื่องยนต์ที่นำมาดัดแปลง และออฟชั่นเสริมที่ใส่เข้าไป

 

แหม๋... ทักษะช่างชำนานการสร้างเงินเข้ากระเป๋าไม่น้อยเลยทีเดียว แถมยังชักชวนเพื่อนบ้านที่ว่างงานมาร่วมด้วยช่วยทำงาน ในยามที่คำสั่งซื้อล้นมืออีกต่างหาก

 

คือการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนนั่นเอง

 

 

...............

 

“รถไถนาจิ๋ว นายช่าง ม.6”

 

นี่เป็นตัวอย่างจากกิจกรรมเล็กๆ กลายมาเป็นกิจการในชุมชน ที่ดูแลพี่น้องในชุมชนราว 10 ครัวเรือน ให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน

 

“นายวิทย์ธชัย ขันอาษา” หรือที่ชาวบ้านเรียกขานว่า “เสี่ยกรุง” หนุ่มใหญ่วัย 39 ปี แห่งอำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ประดิษฐ์รถไถจิ๋ว ราคาเริ่มต้นที่ 16,000 บาทต่อคัน ส่งขายทั่วประเทศ

 

“ทักษะชีวิตมีแค่การเป็นช่างเชื่อมเหล็กเรียนจบ ม.6 เริ่มทำรถไถจิ๋วเพราะอยากได้เครื่องทุ่นแรงมาใช้ในงานทำไร่มันสำปะหลัง ก่อนหน้านั้นพี่น้องเกษตรกรที่ทำไร่มัน เมื่อถึงช่วงที่ต้องใส่ปุ๋ย ก็จะใช้คันไถเอามาแบกแล้วเดินถอยหลังเพื่อพรวนดินขึ้นมา กว่าจะไปสุดแถวก็เหนื่อยเอาการทีเดียว

 

ผมคิดจากจุดนั้นเพื่อจะหาวิธีผ่อนแรง จึงหาซื้อเศษเหล็กมาเชื่อมเป็นโครงย่อส่วนรถไถนาเดินตามให้สามารถเข่าร่องมันได้ เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2556 จากแรกๆทำคนเดียว พอผลงานเริ่มเป็นที่รู้จักพี่น้องเกษตรกรก็มีคำสั่งซื้อเข้ามาเรื่อยๆ จึงเริ่มชักชวนเพื่อนบ้านมาทำงานด้วยกัน แบ่งปันรายได้เป็นค่าจ่างที่พออยู่ได้ อาศัยความเป็นพี่น้องเครือญาติกัน ช่วยกันทำงานและถ่ายทอดทักษะต่างๆให้อย่างไม่หวงวิชา”

 

กิจกรรมเล็กๆ กลายเป็นกิจการใหญ่ขึ้นตามพัฒนาการที่ควรเป็นไป ปัจจุบันเสี่ยกรุงจดทะเบียนการค้าเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีระบบการจ้างงานระบบบัญชีระบบภาษีอย่างถูกต้อง

 

 

เสี่ยกรุงบอกว่า รถไถจิ๋วกระจายไปทั่วประเทศแล้ว ยอดขายต่อปีตกราวๆ 50-60 คัน เฉลี่ยแล้วต่อเดือนก็ไม่น้อยกว่า 4-5 คัน ลองคำนวณจากราคาขายเริ่มต้นที่ 16,000 บาทต่อคัน

ไม่ธรรมดาจริงๆ

 

.......

 

“รถไถนาไร้คนขับ นายช่าง ปวส.”

นายอาทิตย์ เพ่งกิจ หนุ่มนักประดิษฐ์วัย 37 ปี ชาวตำบลเกาะตาเลี้ยง อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย เขาคือลูกชาวนาที่ส่งตัวเองเรียนจนจบระดับชั้น ปวส. สาขาช่างไฟฟ้า แม้จะมีงานประจำในกรุงเทพฯ ในตำแหน่งที่สอดคล้องกับที่เรียนมา แต่ด้วยความเป็นนักฝันที่ไม่ลืมบ้านเกิด จึงใช้เวลาว่างหลังเลิกงานค่อยๆคิดค้นประดิษฐ์ รถไถนาไร้คนขับคันต้นแบบขึ้น จนเป็นที่ฮือฮาในโลกออนไลน์

 

 

“เริ่มพัฒนาเมื่อปี 2560 ที่คิดประดิษฐ์รถไถไร้คนขับก็เพราะเราเป็นลูกชาวนา อยากหาอะไรที่เป็นเครื่องทุ่นแรงให้ชาวนาได้ใช้ พัฒนาระบบไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้ก็ยังไม่หยุดพัฒนา หวังให้เป็นเครื่องต้นแบบที่ดีที่สุด แล้วนำไปขยายผลให้ใช้งานจริงอย่างมีประสิทธิภาพ”

 

รถไถนาไร้คนขับจากมันสมองลูกชาวนา กำลังขับเคลื่อนเรื่องการจดสิทธิบัตร พร้อมๆกับการตัดสินใจครั้งสำคัญของอาทิตย์ ที่ยื่นใบลาออกจากงานประจำ คืนสู่ถิ่นเกิดเพื่อลุยสร้างนวัตกรรมชิ้นนี้ ให้มีมูลค่าที่มากกว่าความฮือฮาบนโลกออนไลน์

 

สู้ๆ เป็นกำลังใจให้ครับ

 

 

.....

 

นี่คือนวัตกรรมขับเคลื่อนชีวิต สิ่งประดิษฐ์จากทักษะช่าง จากจุดเริ่มเพียงเล็กๆ กลายเป็นกิจการในชุมชน เป็นเศรษฐกิจเม็ดใหม่ที่เกิดขึ้นในชุมชน จากมันสมองลูกชาวบ้านโดยแท้

ABOUT

'ร้อยพลัง'  ไม่มุ่งหวังให้ทุกความคิด ความรู้ หรือความเห็น จำเป็นต้องเหมือนหรือไปในทิศทางเดียวกันเสมอ หากแต่เรามุ่งหวังว่า แต่ละพื้นที่ความคิดจะสามารถมองเห็นกันและกันจากบริบทที่แตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้านและมองหาข้อเท็จจริงร่วมกันได้ 
read more

SUBSCRIBE

Facebook      YouTube